• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ย่ำแดนมังกร ดูงานสาธารณสุขมูลฐาน

การประกันสุขภาพในประเทศจีน (12)

เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาสาธารณสุขของรัฐบาล พื้นที่ในแต่ละแห่ง ตั้งแต่ระดับภูมิภาคจังหวัดลงมาก็ต้องพยายามที่จะทำให้มีการบริการสาธารณสุขสามารถครอบคลุมประชาชนทุกหมู่เหล่าได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ จะทำเช่นนั้นได้จะต้องมีงบประมาณที่เพียงพอจึงจะทำได้

ดังนั้นแต่ละแห่งจึงพยายามหาแหล่งงบประมาณมาช่วยให้ตนเองบรรลุวัตถุประสงค์ งบประมาณทางด้านสาธารณสุขที่แต่ละภูมิภาคจังหวัด และอำเภอจะได้มาเพื่อการพัฒนาสาธารณสุข สามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้

1. งบประมาณกลางของรัฐบาล
ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงพยาบาล ศูนย์อนามัย และซื้อเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ

2. งบประมาณจากการจัดระบบประกันสุขภาพ
ประชาชนวิชาชีพต่างๆจะได้รับการประกันสุขภาพโดยวิธีที่ต่างๆกัน สามารถแบ่งอย่างน้อยได้เป็น 4 แบบ ดังนี้

แบบที่หนึ่ง
การประกันสุขภาพโดยรัฐบาล ผู้ที่จะถูกประกันสุขภาพภายใต้วิธีการนี้คือ ข้าราชการ ทหารนอกประจำการ ซึ่งคล้ายๆกับประเทศไทยของเรา ที่ข้าราชการทุกคนสามารถจะได้รับการรักษาพยาบาลฟรี โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้

แบบที่สอง
การประกันสุขภาพภายใต้ระบบแรงงาน ในประเทศสังคมนิยม คนงานหรือผู้ใช้แรงงานจะถูกให้ความสำคัญ ดังนั้นจึงมีการประกันสุขภาพในหมู่คนงานโดยโรงงาน รัฐวิสาหกิจ แต่ละแห่งซึ่งมีคนงานจะต้องจัดเก็บ 5% ของค่าแรง เพื่อรวมเป็นกองกลางสำหรับดูแลสุขภาพของคนงาน โดยจะครอบคลุมไม่เฉพาะแต่คนงาน แต่รวมถึงครอบครัวของคนงานด้วย

ในประเทศไทยของเราก็มีการประกันสุขภาพในหมู่คนงานเช่นกัน แต่ยังครอบคลุมได้ไม่กว้างขวางเท่าใด โดยมากจะครอบคลุมเฉพาะโรงงานในเขตเมืองใหญ่ๆ

แบบที่สาม
การประกันสุขภาพโดยสหกรณ์หมู่บ้าน ประเทศจีนมีสหกรณ์ในระดับหมู่บ้านมากมายโดยเฉพาะในสมัยก่อนการประกาศนโยบายสี่ทันสมัย อาจารย์ซางซึ่งเป็นผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำกลุ่มกล่าวว่า ดีมากในสมัยก่อน หมอเท้าเปล่า ผดุงครรภ์จะได้รับเงินเดือนจากสหกรณ์หมู่บ้าน การบริการแก่ประชาชนก็จะบริการฟรี โดยใช้งบสนับสนุนจากสหกรณ์หมู่บ้าน แม้จะส่งต่อไปรักษาที่อื่น สหกรณ์หมู่บ้านก็ยังคงให้การดูแลรับผิดชอบ

ปัจจุบัน หมอเท้าเปล่า ผดุงครรภ์ สามารถเรียกเงินค่าบริการจากผู้มารับบริการได้ ทำให้ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบเฉพาะของตนเองที่ต้องดูแลสุขภาพของตนเอง ทำให้การบริการที่มีอาจจะไม่ทั่วถึงเท่ากับในสมัยก่อน

แบบที่สี่
ในพื้นที่บางแห่งซึ่งมีสภาพเศรษฐกิจดีจะมีการจัดระบบประกันสังคม ซึ่งไม่ได้ประกันเฉาะในเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ประกันในเรื่องอื่นๆไปด้วย ผู้ที่เป็นผู้จัดทำมักจะเป็นรัฐบาล ผู้ซื้อประกันจะเป็นกลุ่มหรือเป็นรายบุคคลก็ได้

3. งบประมาณที่เก็บจากเงินค่าบริการประชาชน
ภายใต้นโยบายสี่ทันสมัยของนายเติ้ง เสี่ยวผิง มีการกระตุ้นการผลิตและการตลาด เพื่อทำให้สภาพเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนทุกคนมีแรงจูงใจในการที่จะผลิตมากขึ้น เพราะถ้าผลิตมากจะได้รับผลตอบแทนมาก ซึ่งแตกต่างจากเดิม คือผลิตได้เท่าใดก็เข้าสู่คอมมูน กรรมการคอมมูนจะเป็นคนจัดสรรส่วนแบ่งของผลประโยชน์ให้ ด้วยวิธีการเดียวกันนี้ จึงอนุญาตให้หมอเท้าเปล่า ผดุงครรภ์หรือสถานบริการระดับต่างๆสามารถเรียกเก็บค่าบริการจากประชาชนได้ ใครบริการดี มีประสิทธิภาพ บริการมากก็จะได้รับผลตอบแทนสูง

ดังนั้นประชาชนที่มารับบริการก็ต้องเสียค่าบริการให้กับผู้ให้บริการซึ่งจะเป็นใครก็แล้วแต่ จากวิธีการแบบนี้สามารถทำให้งบประมาณทางด้านสาธารณสุขมีมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาคือถ้าประชาชนอาศัยในเขตที่พื้นที่ไม่ดี ผลิตได้ไม่มาก แต่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยไม่มากก็ไม่อยากจะไปขวนขวายรักษาพยาบาล

ขณะเดียวกัน ประชาชนผู้ใดมีการเพาะปลูกดี ทำรายได้ให้กับตัวเองได้มาก ก็จะข้ามขั้นตอนไปซื้อบริการจากสถานบริการที่ใหญ่โตและคิดว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่าหมอเท้าเปล่าหรือผดุงครรภ์ในหมู่บ้าน ทำให้หมอเท้าเปล่ามีงานน้อยลง พอถึงหน้าของการผลิต หมอเท้าเปล่าก็จะไม่สนใจที่จะให้บริการประชาชน จะหันไปสนใจที่จะไปทำไร่ไถนาดีกว่า เพราะสามารถให้ผลผลิตตอบแทนในอัตราที่สูงกว่า

ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาปวดศีรษะของรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เพราะทำให้การสาธารณสุขมูลฐานไม่ได้รับความสำเร็จ ขณะเดียวกันทำให้พยายามที่จะพัฒนาส่วนปลายของระบบบริการสาธารณสุขให้มีคุณประโยชน์เสียไป

เพื่อชาวศรีลังกา ซึ่งมีปัญหาการได้รับบริการไม่ทั่วถึงของประชาชน และประชาชนข้ามขั้นตอนไปรับบริการในเมืองใหญ่ๆเหมือนกัน และยังกล่าวกับเราอย่างตลกๆว่า ในขณะที่พวกเราพยายามจะแก้ไขปัญหานี้ ประเทศจีนกำลังวิ่งเข้าไปหาปัญหา โดยไม่สามารถรักษาระบบที่ดีบางอย่างของตนเองเอาไว้
 

ข้อมูลสื่อ

106-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 106
กุมภาพันธ์ 2531
นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์