อาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นอาการที่พบบ่อย คนที่คลื่นไส้ไม่จำเป็นจะต้องอาเจียน และคนที่อาเจียนอาจจะอาเจียนโดยไม่คลื่นไส้ก็ได้ แต่อาการทั้งสองนี้มักเกิดขึ้นร่วมกัน จึงควรจะเข้าใจความหมายของอาการเหล่านี้ และอาการอื่นๆที่คล้ายกัน และอาจเกิดขึ้นร่วมกันได้
ความหมาย
คลื่นไส้ (nausea) หมายถึง อาการผะอืดผะอม อยากจะอาเจียนแต่ยังไม่อาเจียน มักจะทำให้รู้สึกไม่สบายได้อย่างมาก และอาจมากกว่าอาการอาเจียนด้วย
อาเจียน (vomiting) หมายถึงอาการสำรอกอย่างแรง เพื่อให้สิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหารย้อนกลับออกมาทางปาก (และบางครั้งทางจมูกด้วย) อย่างรวดเร็ว โดยใช้กำลังของกล้ามเนื้อท้องและกล้ามเนื้อหายใจ รวมทั้งกะบังลม
สำรอก (regurgitation) หมายถึง การเรอเอาสิ่งที่อยู่ในหลอดอาหารหรือในกระเพาะอาหารออกมา โดยไม่ใช้กำลังของกล้ามเนื้อท้องและกล้ามเนื้อหายใจรวมทั้งกะบังลม และไม่มีอาการคลื่นไส้
เรอ (belching) หมายถึง อาการอย่างหนึ่งที่ทำให้ลมในกระเพาะอาหารย้อนกลับออกมาทางปาก ถ้าเรอแรงๆอาจจะมีสำรอกร่วมด้วย การเรออาจจะทำให้มีเสียงดังในขณะที่ลมพุ่งออกทางปาก
ขย้อน (retching) หมายถึง อาการที่เกิดขึ้นก่อนอาการอาเจียน โดยมีการหายใจเข้าและหายใจออกอย่างรุนแรงเป็นจังหวะพร้อมกับการแขม่วท้อง คนไข้มักจะรู้สึกไม่สบายมาก ถ้าขย้อนแล้วไม่อาเจียน
อาเจียนพุ่ง (projectile vomiting) หมายถึง อาการอาเจียนที่รุนแรงมากและเกิดขึ้นทันทีโดยไม่มีอาการคลื่นไส้หรือขย้อนนำมาก่อน คนไข้มักจะอาเจียนอย่างรุนแรงจนอาหารและน้ำพุ่งออกจากปาก จึงเรียกว่า อาเจียนพุ่ง
อาการต่างๆเหล่านี้อาจเกิดขึ้นร่วมกัน หรือเกิดขึ้นเดี่ยวๆ และหลายครั้งทำให้คนไข้สับสน อาจจะมาบอกว่า “คุณหมอ ลูกฉันอาเจียนมาหลายครั้งแล้วค่ะ คุณหมอช่วยตรวจแกหน่อยนะคะ”
พอถามรายละเอียดเข้ากลับปรากฏว่า เด็กเล็กๆคนนั้นเพียงแต่เรอและสำรอกนมออกมาหลังจากที่ดื่มนมจนอิ่มเท่านั้น เพราะแม่ลืมอุ้มลูกขึ้นพาดบ่าในขณะที่ดื่มนมไปสักพัก (ยังไม่อิ่ม) เพื่อให้ลูกเรอลมออกก่อนจะให้นมต่อ ดังนั้นเมื่อลูกดื่มนมเข้าไปจนอิ่ม ลมจะขังอยู่ในกระเพาะอาหารมาก พอเรอลม ก็จะเกิดอาการสำรอกนมออกมามาก ทำให้คิดว่าลูกอาเจียนได้
ผู้ใหญ่ก็อาจจะสำรอกอาหารหรือสิ่งที่กลืนเข้าไปออกมา แล้วคิดว่าเป็นการอาเจียนได้เช่นเดียวกัน
หลายครั้ง ที่คนไข้อาจจะมีอาการคลื่นไส้ แล้วมาบอกว่าอาเจียน พอถามอาการให้ละเอียดขึ้น ก็จะพบว่า สิ่งที่อาเจียนออกมาเป็นแต่น้ำใสๆ ไม่เปรี้ยว ไม่ขม ไม่มีสี นั่นคือ อาเจียนแต่น้ำลายออกมา อาการแบบนี้อันที่จริงแล้ว ควรเรียกว่า “คลื่นไส้แล้วบ้วนน้ำลาย” ไม่ใช่ “คลื่นไส้แล้วอาเจียน” ซึ่งมักจะเกิดจากสาเหตุที่รุนแรงกว่าคนไข้ที่คลื่นไส้แล้วบ้วนน้ำลาย
คนไข้ที่อาเจียน ต้องสำรอกเอาอาหารหรือสิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหารออกมาอย่างแรง ดังนั้นสิ่งที่อาเจียนออกมาจะเป็นอาหารที่เพิ่งกินเข้าไป หรือเป็นอาหารที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารมานาน (จนมีกลิ่นบูดเน่า)
ถ้าคนไข้อาเจียนหลายครั้งจนไม่มีอาหารเหลืออยู่ในกระเพาะอาหาร หรือถ้าคนไข้ไม่ได้กินอาหารมานาน สิ่งที่อาเจียนออกมาคือน้ำเมือกสีขาว รสเปรี้ยว ซึ่งเป็นน้ำย่อยหรือกรดในกระเพาะอาหาร
ถ้าคนไข้อาเจียนรุนแรง สิ่งที่อาเจียนออกมาจะเป็นน้ำเมือกสีเหลืองๆและขม ซึ่งเป็นน้ำดีจากลำไส้เล็กที่ถูกลำไส้บีบตัวไหลย้อนกลับเข้ามาในกระเพาะอาหารและออกมาทางปาก
ถ้าคนไข้อาเจียนรุนแรงติดต่อกันหลายๆครั้ง อาจทำให้เกิดอาการเจ็บในช่องอก และ/หรืออาเจียนเป็นเลือดได้ เพราะหลอดอาหารแตก Boerhaave’s syndrome หรือฉีก (Mallory Weiss syndrome)
การถามประวัติ (ถามอาการ) คลื่นไส้อาเจียนให้ละเอียดจะทำให้เข้าใจและแน่ใจว่าเป็นอาการอะไร และจะทำให้ทราบถึงสาเหตุด้วย ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป
การตรวจรักษา
การตรวจรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้กระทำเป็นขั้นตอนได้เช่นเดียวกับการตรวจรักษาอาการอื่นๆ (แผนภูมิที่ 1) โดยในขั้นแรกให้แยกว่าคนไข้ที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนนั้นเจ็บหนัก หรือฉุกเฉินหรือไม่
คนไข้คลื่นไส้อาเจียนที่มีอาการเจ็บหนัก หรือฉุกเฉินจะมีอาการอื่นดังนี้
1. ช็อก คือ หน้าซีด เหงื่อออก ตัวเย็น มือเท้าเย็น สับสน หลงหรือไม่ค่อยรู้สึกตัว ชีพจรเบาเร็ว ความดันเลือดต่ำ และ/หรือหายใจหอบ
2. อาเจียนเป็นเลือด หรืออาเจียนเวลาไหนก็ได้ โดยไม่สัมพันธ์กับการกินอาหาร
3. ปวดท้องมาก หรือท้องอืดมาก หรือกดหน้าท้องเบาๆก็เจ็บ โดยเฉพาะถ้าหน้าท้องแข็งโดยที่คนไข้ไม่ได้ตั้งใจเกร็งหน้าท้องไว้ (ดูเรื่องการตรวจรักษาอาการปวดท้อง ใน มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 47-51)
4. อาการของการได้รับสารพิษ เช่น มีกลิ่นยาฆ่าแมลง กลิ่นเหล้า หรือกลิ่นสารพิษอื่น ปากคอมีรอยไหม้พอง น้ำลายฟูมปาก อาเจียนเปรอะเปื้อนตัวเอง อุจจาระปัสสาวะราด กล้ามเนื้อที่ใบหน้า หน้าอก แขนขา หรือส่วนอื่นเต้นริกๆ และ/หรือมีอาการชักกระตุกร่วมด้วย
5. อาการเจ็บหนักอื่นๆ (ดูการตรวจรักษาอาการฉุกเฉินและเจ็บหนัก ในใน มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 64-65)
สำหรับคนไข้ที่มีอาการในข้อ 1 ข้อ 2 หรือ ข้อ 3 ให้งดอาหารและน้ำทางปาก ให้นอนศีรษะต่ำ ให้น้ำเกลือเข้าเส้นถ้าทำได้ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
สำหรับคนไข้ที่มีอาการในข้อ 1 ข้อ 2 หรือข้อ 3 ให้งดอาหารและน้ำทางปาก ให้นอนศีรษะต่ำ ให้น้ำเกลือเข้าเส้นถ้าทำได้ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
สำหรับคนไข้ที่มีอาการคล้ายคนที่ได้รับสารพิษ ถ้าไม่มีกลิ่นน้ำมันก๊าดหรือน้ำมันเบนซิน ไม่มีรอยไหม้พองที่ริมฝีปากและในปาก และไม่มีภาชนะที่ใส่น้ำกรดและน้ำด่างหรือสารเคมีที่กัดผิวหนังอย่างรุนแรงอยู่ใกล้ตัวคนไข้ อันทำให้สงสัยว่าคนไข้จะกินเข้าไป และคนไข้ยังรู้ตัวดี (ไม่หมดสติ) ให้รีบช่วยคนไข้ดังนี้
1. ทำให้คนไข้อาเจียน โดยการล้วงคอ ให้กินน้ำปลา ไข่ดิบ 3-4 ฟอง หรือน้ำเชื่อมไอปิแกก Ipecac syrup 2 ช้อนโต๊ะ แล้วดื่มน้ำตาม 2-3 แก้ว
2. เมื่อคนไข้อาเจียนจนไม่มีอะไรออกมาแล้ว ให้กินผงถ่านพิเศษ (ผงถ่านกัมมันต์, activated charcoal ที่ใช้กรองน้ำก็ได้) ประมาณ 10 ช้อนโต๊ะ และให้ซ้ำได้ทุก 2-4 ชั่วโมง
ถ้าคนไข้กินยาฆ่าหญ้า (ยาฆ่าวัชพืช พวกกรามอกโซน) มักได้กลิ่นยาฆ่าหญ้า หรือมีภาชนะบรรจุยาฆ่าหญ้าที่คนไข้กินเข้าไปทิ้งอยู่ใกล้ๆ ให้คนไข้กินดินสอพอง หรือ Fulle’s earth เข้าไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ (10-20 ช้อนโต๊ะ)
3. รีบนำสิ่งโรงพยาบาล
สำหรับคนไข้ที่มีอาการเจ็บหนักรุนแรงอื่นๆ ให้ดูวิธีการตรวจรักษาคนไข้เจ็บหนัก ใน มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 64-65
สำหรับคนไข้ที่คลื่นไส้อาเจียน แต่ไม่เจ็บหนัก จะได้กล่าวถึงในฉบับต่อไป
แผนภูมิที่ 1 การตรวจรักษาคนไข้ที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนและเจ็บหนัก
- อ่าน 284,393 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้