• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน (ต่อ)

สำหรับคนไข้คลื่นไส้อาเจียนที่ไม่มีอาการเจ็บหนักหรือฉุกเฉินอาจตรวจรักษาเป็นขั้นตอนตามแผนภูมิที่ 2
(สำหรับคนไข้คลื่นไส้อาเจียนที่เจ็บหนักหรือฉุกเฉินให้ตรวจรักษาตามที่กล่าวไว้ในมาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 107)

คนไข้ที่อาเจียนมักจะเริ่มด้วยอาการคลื่นไส้ ตามมาด้วยอาการขย้อน แล้วจึงเกิดอาการอาเจียนคนไข้ที่คลื่นไส้อาเจียน มักจะมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วยเสมอ

คนไข้ที่มีอาการเบื่ออาหารเพียงอย่างเดียว
โดยไม่คลื่นไส้ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการรุนแรง สาเหตุที่ทำให้เบื่ออาหาร เช่น ความเครียด ความหงุดหงิด ความไม่สบายจากไข้หวัด หรืออื่นๆ หมดไปคนไข้จะกินอาหารได้ใหม่และจะหายเบื่ออาหารเอง ส่วนใหญ่จึงไม่ต้องการยารักษาอาการเบื่ออาหาร แต่อาจต้องการยาแก้เครียด (แก้หงุดหงิด) แก้ไข้ หรืออื่นๆ

คนไข้ที่เบื่ออาหารรุนแรงจนไม่ยอมกินข้าวกินน้ำและซูบผอมหรือแห้งลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องให้น้ำและอาหารทางเส้นเลือดหรือทางท่อที่ใส่ผ่านรูจมูกลงไปในกระเพาะอาหาร เพื่อให้น้ำและอาหารประทังชีวิตไว้ก่อน ในขณะที่ค้นหา และรักษาสาเหตุ

คนไข้ที่คลื่นไส้ มักจะเบื่ออาหารด้วย ถ้าคลื่นไส้และเบื่ออาหารโดยไม่อาเจียน ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการรุนแรง และมักจะกินน้ำ น้ำหวาน นม หรืออาหารบางประเภทได้ ทำให้ร่างกายไม่ซูบผอม หรือแห้งลงมากนัก แต่ถ้ากินไม่ได้เลย ก็อาจจะต้องการน้ำ และอาหารทางเส้นเลือด หรือทางท่อเช่นเดียวกับกรณีที่เบื่ออาหารรุนแรง

ในกรณีที่อาการคลื่นไส้รบกวนคนไข้มาก การใช้ยา เช่น เมโตโคลปราไมด์ (Metoclopraminde)
หรือที่มีชื่อการค้าต่างๆ เช่น นอสิ้ว (Nausil) พลาสิ้ว (Plasil) พริมพีแรน (Primperan) พูลิน (Pulin) ครั้งละ 1 เม็ดก่อนอาหาร 3 เวลา หรือเวลาที่มีอาการคลื่นไส้มมาก ก็จะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ลงได้

ส่วนคนไข้ที่คลื่นไส้ และมีอาการเวียนศีรษะ หรือเมารถเมาเรือ
ควรใช้ยาไดเมนฮัยดรีเนต (dimenhydrinate) หรือที่มีชื่อการค้าว่า ดรามามีน (Dramamine) กราวอล (Gravol) เม็ดฮัยคลีเนต (Med-Hydrinate) ครั้งละ 1 เม็ดขณะที่มีอาการ จะให้ผลดีกว่า

สำหรับคนไข้ที่คลื่นไส้และอาเจียน หรืออาเจียนอย่างเดียว โดยไม่มีอาการเจ็บหนักหรือฉุกเฉิน ให้วินิจฉัยจากประวัติการอาเจียน และ/หรือสิ่งที่อาเจียนที่ออกมา เช่น

ถ้าอาเจียนหลังตื่นนอนตอนเช้าเป็นส่วนใหญ่ มักเกิดจาก
1. การแพ้ท้อง รู้ว่าท้อง (ตั้งครรภ์) เพราะขาดประจำเดือน เต้านมโตและแข็งขึ้นและตรวจปัสสาวะพบว่าตั้งครรภ์จริง ในกรณีที่แพ้ท้อง ควรกินยา Dedoxia หรือ Vominox 1-2 เม็ดก่อนนอน ถ้าแพ้ท้องมาก อาจกินเพิ่มอีก 1 เม็ด ตอนเช้า และเที่ยง เป็นต้น

2. พิษเหล้า
โดยเฉพาะคนที่กินเหล้ามากในคืนก่อน หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ตื่นเช้าขึ้นมาจะคลื่นไส้อาเจียน

ในกรณีที่เกิดจากการกินเหล้ามากในคืนก่อน จนเกิดอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ในเช้าวันรุ่งขึ้น ให้กินอาหารอ่อน กินยาพาราเซตามอลแก้ปวดศีรษะและกินไดเมนฮัยดรีเมต 1-2 เม็ด กับยาลดกรด เพื่อแก้อาการเวียนศีรษะและคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งเกิดจากพิษสุรา และกระเพาะอาหารอักเสบจากสุรา

ส่วนในกรณีที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง คนไข้จะรู้สึกดีขึ้นหลังกินเหล้า (ที่คนไข้เหล่านี้เรียกเสียโก้ว่า “กินเพื่อถอนพิษ” เสียหน่อย) ทำให้ไม่หายจากการเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังได้ การรักษาค่อนข้างยุ่งยากเพราะเป็นการรักษา “ผู้เสพติด” ซึ่งต้องการกำลังใจทั้งของคนไข้ ครอบครัว เพื่อนฝูง และสังคมรอบข้างด้วย

3. ไตล้ม (ไตวาย) ทำให้ของเสียคั่งในร่างกายทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน การรักษาที่จะช่
วยได้มากคือ การลดอาหารจำพวกเนื้อ นม ไข่ (อาหารโปรตีน) ลงให้มากๆ กินอาหารหวานและอาหารแป้ง (เช่น ข้าว) เพิ่มขึ้น (ถ้าไม่เป็นเบาหวาน) อย่าให้ท้องผูก และใช้ยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนดังกล่าวข้างต้น ถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องฟอกช่องท้อง (peritoneal dialysis) หรือฟอกเลือด (hemodialysis) เพื่อกำจัดของเสียออก

4. หลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร
ให้ใช้ยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนบรรเทาอาการสักระยะหนึ่ง แล้วอาการคลื่นไส้อาเจียนจะค่อยๆหายไป

ถ้าอาเจียนเวลาไหนก็ได้ และไม่สัมพันธ์กับการกินอาหารมักเกิดจาก
1. สมองผิดปกติ โดยเฉพาะถ้าอาเจียนพุ่ง ให้นึกถึงภาวะแรงดันสูงในกะโหลกศีรษะ ถ้ามีอาการปวดศีรษะ ตามัว และไม่มีอาการทางกระเพาะอาหารมาก่อนให้นำส่งโรงพยาบาล

2. สารพิษ
เช่น กินสิ่งเป็นพิษเข้าไป หรือพิษเกิดขึ้นภายในร่างกาย เช่น เบาหวาน เป็นพิษ ไตล้ม (ไตวาย) เป็นต้น ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที

3. จิตใจ
ความเครียดความกังวล โรคจิต โรคประสาท อาจทำให้คลื่นไส้อาเจียนในเวลาใดก็ได้ หรืออาจเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนในขณะกินอาหารหรือหลังกินอาหารทันที ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

ถ้าอาเจียนในขณะกินอาหารหรือหลังกินอาหารทันที มักเกิดจาก
1. จิตใจ ความเครียด ความกังวล โรคจิต โรคประสาท รู้ได้เพราะคนไข้มีเรื่องเครียด และไม่มีความผิดปกติอื่น ให้ยาคลายเครียด เช่น ไดอะซีแพม และยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนดังกล่าวข้างต้น

2. กระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน
(acute gastritis) จากการกินเหล้า ของเผ็ด (ของแซ่บ) หรืออื่นๆ ให้กินยาลดกรด และยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนดังกล่าวข้างต้น

3. การกินอิ่มมากเกินไป
เมื่ออาเจียนออกแล้วจะรู้สึกสบายขึ้น ไม่ต้องกินยาอะไร ถ้ากินอิ่มมากเกินไปจนปวดท้อง หรือแน่นจนหายใจไม่สะดวก ถ้าไม่อาเจียนเอง ควรล้วงคอให้อาเจียนออก จะได้สบายขึ้น

ถ้าอาเจียนหลังอาหาร1 ชั่วโมงขึ้นไป มักเกิดจาก
1. กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นอุดตัน ซึ่งส่วนมากเกิดจากเป็นกระเพาะลำไส้เป็นแผลเรื้อรัง ซึ่งมีอาการปวดท้องเวลาหิวหรืออิ่มมาเป็นเวลานาน และสิ่งที่อาเจียนออกมามักจะเป็นอาหารที่กินมาหลายชั่วโมง หรือเป็นอาหารที่บูดเน่าแล้ว ควรล้วงคอให้อาเจียนออกให้หมด งดน้ำและอาหารทางปาก ให้น้ำเกลือเข้าเส้น และส่งโรงพยาบาล

2. กระเพาะลำไส้ทำงานน้อย
เช่น ในโรคเบาหวานเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษาหลังการตัดประสาทเวกัส (post-vagotomy) ในกรณีเช่นนี้ให้รัษาที่สาเหตุ เช่น คุมเบาหวานให้ดี หรือในกรณีที่ตัดประสาทเวกัสไปแล้ว ควรให้อาหารอ่อนครั้งละน้อยๆและบ่อยๆ จนกว่าร่างกายจะปรับตัวได้

3. ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
มักจะมีอาการปวดท้องรุนแรงร่วมด้วย ควรส่งโรงพยาบาล

ถ้าอาเจียนหลังกินยา มักเกิดจากพิษหรือฤทธิ์ข้างเคียงของยาให้เลิกกินยานั้น หรือถ้าจำเป็นต้องกินยานั้น ให้กินครั้งละเล็กละน้อย เช่น กินเพียงหนึ่งในสี่ของที่หมอสั่งในแต่ละครั้ง แต่กิน 4 ครั้ง ในระยะเวลาที่ห่างกัน และกินยาในขณะที่ท้องไม่ว่าง (ท้องอิ่ม) มักจะช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการกินยาลงได้

ถ้าอาเจียนหลังกินอาหารจานพิเศษ มักเกิดจากอาหารเป็นพิษ โดยเฉพาะถ้ามีอาการอุจจาระร่วง (ท้องเดินด้วย) ให้การตรวจรักษาเช่นเดียวกับภาวะปวดท้องและท้องเดิน (ดู “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 47-51)

สาเหตุ
สาเหตุของอาการคลื่นไส้อาเจียนมีมาก เช่น
1. สาเหตุทางจิตใจ (Psychogenic or emotional vomiting)
2. สาเหตุทางกาย เช่น ความผิดปกติ
2.1 ในช่องท้อง เช่น ไส้ติ่งอักเสบ กระเพาะลำไส้อักเสบ ทะลุ อุดตัน ไม่ทำงาน หรือขาดเลือด ตับและถุงหรือท้อน้ำดีอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ หลังผ่าตัดช่องท้อง เป็นต้น

2.2 ในกะโหลกศีรษะ
เช่น แรงดันสูงในกะโหลกศีรษะจากก้อนเลือดหรือเนื้องอก สมองพิการจากสารพิษ ลมตะกัง (ปวดศีรษะแบบไมเกรน) สมองหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

2.3 จากพิษ
เช่น
2.3.1 พิษจากการติดเชื้อ เช่น เลือดเป็นพิษ หรือเชื้อพิษในเลือด (septicemia) โดยเฉพาะในเด็กเล็ก แม้จะเป็นไข้จากปอดอักเสบ หรือที่อื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระเพาะ ลำไส้ หรือสมอง ก็จะทำให้เด็กคลื่นไส้อาเจียน และท้องเดินได้
2.3.2 พิษจากยาหรือสารพิษ
2.3.3 พิษจากโรคที่เป็นอยู่ เช่น เบาหวานเป็นพิษ (diabetic ketoacidosis) ไตล้ม (ไตวาย) หมวกไตพร่องวิกฤต (adrenal crisis) เป็นต้น
2.3.4 การแพ้ท้อง
2.4 จากหัวใจ เช่น หัวใจล้ม (หัวใจวาย) กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด เป็นต้น
2.5 จากอาการเจ็บปวดรุนแรง เช่น ปวดศีรษะมาก ปวดลูกอัณฑะมาก เป็นต้น

แม้ว่าสาเหตุของอาการคลื่นไส้อาเจียนจะมีมาก แต่การรักษาตามขั้นตอน ตามแผนภูมิที่ 1 และที่ 2 จะทำให้สามารถตรวจรักษาอาการนี้ ได้อย่างถูกต้องตามควร โดยที่คนไข้ที่มีสาเหตุที่รุนแรง จะมีอาการของการเจ็บหนัก หรือฉุกเฉิน ทำให้ต้องส่งคนไข้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล จะได้ไม่เสียเวลาตรวจหาสาเหตุที่บ้านหรือที่ร้าน ซึ่งเมื่อตรวจพบแล้วก็รักษาไม่ได้ ทำให้คนไข้เสียเวลา ซึ่งอาจทำให้โรคกำเริบ เป็นอันตรายต่อคนไข้ได้

ที่สำคัญ
คือ อย่ามองข้ามอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากการแพ้ยา แพ้อาหาร แพ้ท้อง และแพ้ใจ (แพ้อารมณ์) ซึ่งพบบ่อย และรักษาได้เองโดยไม่ต้องไปเสียเวลาที่โรงพยาบาล สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และอาจจะต้องเจ็บกายและเจ็บใจเพิ่มขึ้นด้วย

แผนภูมิที่ 2 การตรวจรักษาคนไข้ที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนและไม่เจ็บหนัก

              

 

ข้อมูลสื่อ

108-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 108
เมษายน 2531
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์