• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 3)

“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเอง และญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนเป็นหมอได้ เราจะเสนอท่านเป็นประจำ เริ่มลงตั้งแต่ฉบับที่ 1 ปีที่ 1”

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 3)

ก. การตรวจร่างกายทั่วไป (ต่อ)

นอกจากการตรวจร่างกายทั่วไป โดยการสังเกตกิริยาท่าทางของคนไข้ดังได้แสดงไว้ในตัวอย่างที่เกี่ยวกับการเดิน การพูดจา และกิริยาท่าทางอย่างอื่นๆ ในครั้งก่อนแล้ว การตรวจร่างกายทั่วไป ยังรวมถึงการตรวจดูสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

2. รูปร่าง คนเราโดยทั่วไปจะมีรูปร่างสูงบ้าง ต่ำบ้าง อ้วนบ้าง ผอมบ้าง ต่างๆ กันไป รูปร่างของคนเราอาจจะแบ่งออกเป็น

ก. พวกที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งหมายถึง คนที่มีรูปร่างต่างๆ กัน แต่ยังสามารถทำงานทำการและดำรงชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีโรคอะไรในตัวที่เป็นสาเหตุทำให้รูปร่างของคนผิดปกติไป รูปร่างที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ อาจจะแบ่งออกเป็น

2.1 รูปร่างผอมสูง ซึ่งในที่นี้หมายถึง รูปร่างผอมบางตามปกติ (ดูรูปที่ 1) ไม่ใช่ผอมเพราะเป็นโรคขาดอาหาร หรือเป็นวัณโรค หรืออื่นๆ คนผอมมักจะเป็นคนที่มีความรู้สึกไว จึงเสียใจ หรือดีใจง่าย อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ขี้อาย ไม่ใคร่ชอบเข้าสังคม อาจจะวิตกกังวลและคิดมากด้วย คนที่มีรูปร่างผอมอาจจะแบ่งออกเป็น

2.1 ก รูปร่างผอมสูง (คุณยาวหรือคุณโย่ง) คนที่มีรูปร่างผอมสูงหรือรูปร่างระหง แขนขายาว นิ้วอาจจะมีโอกาสเป็นโรคบางอย่างมากกว่าคนอื่น เช่น

1.โรคผนังกั้นกลางระหว่างหัวใจห้องบน 2 ห้อง ไม่ปิดสนิทหลังคลอดจากท้องแม่ หรือจะเรียกว่า โรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว ซึ่งเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดหนึ่ง ทำให้เกิดอาการเหนื่อย หอบ และบวม ถ้าเป็นมาก

2. โรคลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นแผล ทำให้มีอาการปวดท้องเวลาหิว พอกินข้าวหรือนมเข้าไปแล้ว อาการปวดท้องจะหายไป นอกจากถ้าปล่อยให้หิวมากๆ หรือปวดมากๆ แล้วอาการปวดท้องอาจไม่ดีขึ้น หรืออาจทรุดลงหลังกินข้าวก็ได้

2.1 ข รูปร่างผอมแต่ไม่สูง (คุณผอม) คนที่มีรูปร่างแบบนี้ อาจจะมีโอกาสเป็นโรคลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นแผลได้ง่ายกว่าคนอ้วน เช่นเดียวกับคนที่รูปร่างผอม

2.2 รูปร่างอ้วน (คุณอ้วนหรือคุณตุ่ม) คือ คนที่รูปร่างกลมมนไหล่กลมลู่ เนื้อดูนุ่มนิ่ม (ดูรูปที่ 2) อาจจะมีลักษณะตั้งแต่ท้วมๆ ไปจนถึงลักษณะอ้วนเต็มที่ กล้ามเนื้อไม่ค่อยเป็นมัด และมักจะหย่อนยาน ทำให้ดูนุ่มนิ่มไปหมด เพราะไขมันไปอยู่ตามส่วนต่างๆ

คนท้วมและคนอ้วน มักจะทำอะไรๆ เชื่องช้ากว่าคนผอม มักเป็นคนใจเย็น ไม่ค่อยวิตกกังวล ชอบอาหาร รักบ้าน คบหาสมาคมได้ง่ายกว่า เพราะค่อนข้างจะเงียบ และสุขุมกว่าคนผอม

คนอ้วนอาจจะมีโอกาสเป็นโรคบางอย่างมากกว่าคนผอม เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดในสมองตีบตันหรือแตก ทำให้เป็นอัมพาต โรคกระดูกและข้อเสื่อมเร็วโดยเฉพาะข้อเข่าและหลัง ทำให้ปวดหลังและปวดเข่าได้ง่าย

2.3 รูปร่างล่ำสัน คือ คนที่มีรูปร่างบึกบึน กล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ไหล่ตั้ง กระดูกใหญ่ (ดูรูปที่ 3) มักจะเป็นคนที่ชอบทำงานหนักหรืองานผจญภัย เช่น นักรบ นักกีฬา นักเผชิญโชค นักเลง ผู้ใช้แรงงาน จึงอาจจะมีโอกาสเป็นโรคที่เกิดจากอุบัติเหตุ การต่อสู้ หรือความรุนแรงอื่นๆ และโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ มากกว่าคนที่มีรูปร่างผอม คนที่มีรูปร่างล่ำสัน อาจจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

ก. ล่ำสันใหญ่โต (คุณยักษ์) เพราะมีโครงกระดูกสูงใหญ่

ข. ล่ำสันพอดี (คุณล่ำ)

ค. ล่ำสันแบบเตี้ย (คุณม่อต้อหรือคุณมะขามข้อเดียว) รูปร่างล่ำแต่เตี้ย คอและแขนขาแลดูสั้นกว่าปกติ

2.4 รูปร่างธรรมดา คือ คนที่มีรูปร่างที่ไม่เข้ากับลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่กล่าวแล้วข้างต้น (ดูรูปที่ 4)

รูปร่างที่อยู่ในเกณฑ์ปกติเหล่านี้ เพียงแต่ช่วยให้คิดถึงโอกาสที่จะเป็นโรคบางชนิดได้มากกว่าหรือน้อยกว่าเท่านั้น จะใช้วินิจฉัยว่าเป็นโรคนั้นโรคนี้ทันทีไม่ได้ เพราะไม่แน่นอนและผิดพลาดได้มาก ดังนั้นการจะวินิจฉัยโรค จะต้องอาศัยอาการ (ประวัติ) ของคนไข้และการตรวจร่างกายอย่างอื่นประกอบ ห้ามใช้รูปร่างอย่างเดียว นอกจากรูปร่างนั้นจะผิดปกติ จนสามารถทำให้เราบอกได้ว่าเป็นโรคอะไร เช่น

ข. รูปร่างที่ผิดปกติ

2.5 รูปร่างผอมมาก จนเห็นแต่หนังหุ้มกระดูก กระพุ้งแก้มไม่มี (แก้มตอบ) ตาโบ๋ เห็นซี่โครงเป็นซี่ๆ (รูปที่ 5) คนที่ผอมมากเช่นนี้เกิดจากการขาดอาหาร ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไม่มีอาหารจะกิน อย่างเช่น ชาวเขมร ที่บ้านแตกสาแหรกขาด หรือเกิดจากเป็นโรคต่างๆ แล้วทำให้เบื่ออาหาร กินไม่ได้ หรือเกิดจากโรคที่ร่างกายใช้อาหารมากทำให้ร่างกายผอมลง แม้จะกินอาหารได้มาก เช่น โรคคอพอกเป็นพิษ (ต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ) หรือเกิดจากพยาธิลำไส้คอยก่อกวน และแย่งอาหารไปกิน เป็นต้น

2.6 รูปร่างอ้วนมาก จนอุ้ยอ้าย เดินไม่ค่อยจะไหว ถ้านั่งสักพักอาจจะฟุบหลับ ความคิดอ่านเชื่องช้า ค่อนข้างซึม ทำงานทำการไม่ค่อยไหว มีแต่นั่ง นอน และกินเท่านั้น (ดูรูปที่ 6) คนที่อ้วนมากเช่นนี้เกิดจากการกินอาหารมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากความตะกละหรือความชอบกินผิดปกติ หรืออาจจะเป็นโรคของสมอง ส่วนที่ทำให้อยากกินอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น

บางครั้งคนที่อ้วนมาก อาจจะอ้วนผิดสัดส่วน เช่น อ้วนแต่เฉพาะลำตัว แต่แขนขาขนาดเท่าเดิม ทำให้แขนขาดูลีบเล็ก เมื่อเทียบกับลำตัวที่อ้วน หน้ากลมเหมือนพระจันทร์ (ดูรูปที่ 7) อาจจะมีโหนกตรงด้านหลังส่วนต้นคอ เหมือนโหนกวัว (ดูรูปที่ 8) อาจจะมีรอยแตกที่ผิวหนังหน้าท้อง สะโพก และต้นขา เป็นลายสีม่วงๆ ถ้าเห็นแบบนี้ ก็แสดงว่า คนนั้นอ้วนแบบคุชชิ่ง (Cushing’s syndrome) ซึ่งเกิดจากการกินยาอ้วนที่เข้าพวกเพร็ดนิโซโลน หรือฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตหรือเกิดจากต่อมหมวกไตทำงานมากเกินไป หรือมีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ทำให้มีฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตออกมามากเกินไป จึงทำให้เกิดการอ้วนผิดสัดส่วนแบบนี้ขึ้น

2.7 รูปร่างสูงผิดปกติ คือ สูงจนผิดหูผิดตา และมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หรืออาการอื่นๆ ร่วมด้วย คนที่รูปร่างสูงผิดปกตินี้ อาจจะเกิดโรคบางอย่าง เช่น

ก. โรคทางกรรมพันธุ์ เช่น โรคที่ทำให้กระดูกแขนขายาวผิดสัดส่วน ทำให้แขนขายาวเก้งก้าง นิ้วยาว รูปร่างมักจะสูงระหง (ดูรูปที่ 9) คนที่เป็นโรคนี้มักจะมีเส้นเอ็นที่ยืดยาว และหย่อนได้มากกว่าปกติ ทำให้ข้อต่างๆ เช่น ข้อไหล่ ข้อเข่า เลื่อนหลุดออกจากที่ได้ง่าย ทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจโป่งพองออกได้ง่าย ทำให้ลิ้นหัวใจรั่วได้ง่าย เกิดไส้เลื่อนได้ง่าย หน้าอกมักจะโป่งออกเหมือนอกไก่ หรือบุ๋มลึกเป็นหลุม กระดูกหลังมักจะคดหรือโก่ง เนื่องจากนิ้วมือยาวมาก ทำให้สามารถกำมือให้นิ้วหัวแม่มือ (นิ้วโป้ง)โผล่พ้นมืออกมาทางด้านตรงข้ามได้ (ดูรูปที่ 10) โรคนี้สืบทอดทางกรรมพันธุ์แบบธรรมดาอย่างแรง (Autosomal dominant) นั่นคือ ถ้าพ่อหรือแม่เพียงคนหนึ่งคนใดเป็นโรคนี้แล้วมีลูก 4 คน ลูก 2 คน จะเป็นโรคนี้ แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็น แล้วมีลูก 4 คน ลูก 3 คน จะเป็นโรคนี้ โรคนี้มีชื่อว่าโรคมาร์แฟน (Marfan’s syndrome)

ข. โรคของต่อมใต้สมอง (ต่อมปิตุอิตารีย์) เช่น เป็นเนื้องอก หรือต่อมทำงานมากเกินไป ทำให้ฮอร์โมนของการเจริญเติบโตหลั่งออกมามากผิดปกติ จึงทำให้รูปร่างสูงใหญ่ (ดูรูปที่ 11) จนชาวฝรั่งเรียกโรคนี้ว่า โรคคนยักษ์ (gaintism)

การดูลักษณะรูปร่างของคนไข้ให้ชำนาญ บางครั้งก็ช่วยทำให้วินิจฉัยโรคได้ในทันทีที่เห็นคนไข้ แต่ลักษณะรูปร่างจะบอกเฉพาะแต่โรคที่คนไข้เป็นมานานแล้ว ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับโรคหรือปัญหาที่นำคนไข้มาหาเราในครั้งนี้ เพราะฉะนั้นจะต้องถามถึงอาการที่นำคนไข้มาหาหมดเสมอ คือ “คุณมีอาการอะไรหรือที่มาหาหมอ” เพราะแม้ว่าคนไข้จะรูปร่างเป็นคนยักษ์ แต่เขาอาจจะมาหาหมอด้วยเรื่องท้องผูก (ขี้ไม่ออก) ก็ได้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคเดิม (โรคคนยักษ์) ของเขาแต่อย่างใด ในกรณีเช่นนี้ให้รักษาอาการท้องผูกของเขาก่อน แล้วจึงค่อยรักษาโรคคนยักษ์ของเขาต่อไป

ข้อมูลสื่อ

9-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 9
มกราคม 2523
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์