• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การทำแผล (ตอนที่ 3 : การปฐมพยาบาลบาดแผล)

การทำแผล (ตอนที่ 3 : การปฐมพยาบาลบาดแผล)


การทำแผลมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้แผลสะอาด ป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับบาดแผล เช่น การตกเลือด หัวใจของการทำแผล คือ ต้องกระทำด้วยวิธีที่สะอาดที่สุดเท่าที่จะทำได้

หลักสำคัญในการปฐมพยาบาลบาดแผล

⇒ แผลช้ำ
ควรประคบบริเวณนั้นด้วยความเย็นทันที เพื่อให้เลือดออกน้อยลง พันผ้าให้แน่นพอสมควร (อาจใช้ผ้ายืด ซึ่งมีขายตามร้านขายยา) ให้บริเวณนั้นพักนิ่ง หลังจากนั้น 24 ชั่วโมงถ้ามีช้ำเขียว ควรประคบด้วยความร้อนเพื่อให้ยุบบวม

 

แผลแยก
ถ้ามีการตกเลือด ต้องห้ามเลือดก่อน
ถ้ามีอาการเป็นลมหรือช็อก ต้องแก้ไขก่อน
เมื่อเลือดหยุดแล้ว จึงทำความสะอาดบาดแผล
ส่วนมากแผลแยกมักมีสิ่งสกปรกติดค้างอยู่ (ถ้าบริเวณนั้นมีน้ำสะอาด ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดก่อน และถ้ามีสบู่ด้วย ให้ชำระล้างแผลและบริเวณรอบๆด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ไม่ควรใช้ผงซักฟอก เพราะจะเกิดการระคายเคือง)

 

แผลข่วนหรือแผลถลอก เมื่อล้างแผลสะอาดแล้ว เช็ดรอบๆแผลด้วยแอลกอฮอล์ 70% ใส่ยาฆ่าเชื้อโรคอ่อนๆ เช่น ยาแดง ทิงเจอร์เมอร์ไธโอเลท ถ้าเป็นแผลเล็กๆ บริเวณที่ไม่เหยียบย่ำไม่ต้องปิดแผล แผลจะหายเอง

 

แผลตัด ถ้าแผลตื้น หลังจากทำความสะอาดบาดแผลแล้ว เช็ดรอบๆบาดแผลด้วยแอลกอฮอล์ 70% ใส่ยาฆ่าเชื้อโรค ปิดด้วยผ้าปิดแผลสะอาด พันผ้า ไม่ให้ถูกน้ำ แต่ถ้าแผลลึก ห้ามเลือดแล้วส่งสถนพยาบาล

 

แผลฉีกขาด หลังทำความสะอาดบาดแผลแล้ว ถ้าบาดแผลกระรุ่งกระริ่งมาก ต้องนำส่งสถานพยาบาล เพราะอาจได้รับอันตรายจากการติดเชื้อโรค

 

แผลถูกแทง ถ้ามีสิ่งหักคา อย่าพยายามดึงออก เพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้น ให้รีบส่งสถานพยาบาลโดยเร็วที่สุด บางรายอาจใช้เปลหาม

 

แผลถูกยิง ให้ผู้ได้รับบดเจ็บนอนนิ่งๆ ห่มผ้าป้องกันการช็อก และไม่ควรให้อาหาร น้ำ และยาทางปาก เพราะบางรายอาจต้องทำการผ่าตัดด่วน


วิธีทำความสะอาดบาดแผล
1. ผู้ทำต้องล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ก่อนตกแต่งบาดแผลทุกครั้ง

2. บริเวณบาดแผลอาจใช้น้ำต้มสุก น้ำเกลือ น้ำด่างทับทิม หรือน้ำยาบอริก 3% ล้างและซับให้แห้งด้วยผ้าปิดแผลสะอาด

3. ใช้สำลีพันปลายไม้ชุบแอลกอฮอล์ 70% หมาดๆ เช็ดบริเวณรอบๆแผล วนออกจากบาดแผล (ไม่เช็ดซ้ำรอยเดิม)

4. ปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลสะอาด

5. ปิดปลาสเตอร์ หรือจะใช้ผ้าพันไว้ เลือกตามความเหมาะสม เพราะอวัยวะบางแห่งเคลื่อนไหวมาก ต้องปิดผ้าแล้วพันผ้าทับ เพื่อมิให้หลุดเนื่องจากการเคลื่อนไหว

หมายเหตุ : ไม่แนะนำให้ใช้สำลีปิดแผล เพราะเมื่อแผลแห้ง สำลีจะติดทำให้ดึงออกยาก เกิดความเจ็บปวด และทำให้เลือดไหลได้อีก

 

ข้อมูลสื่อ

87-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 87
กรกฎาคม 2529
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์