• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย (ต่อ)

“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเอง และญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนเป็นหมอได้ เราจะเสนอท่านเป็นประจำ เริ่มกันที่ตั้งแต่ฉบับที่ 1 ปีที่ 1”

11. การตรวจร่างกาย (ต่อ)

ก. การตรวจร่างกายทั่วไป (ต่อ)

การตรวจร่างกายทั่วไป นอกจากจะสังเกตกิริยาท่าทาง และลักษณะรูปร่างของคนไข้แล้ว การตรวจร่างกายทั่วไปยังรวมถึง

3. หน้าตา : ตามปกติหน้าตาของคนเราย่อมแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ก็จะเหมือนพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย มีส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจจะมีหน้าตาผิดพี่ผิดน้องไปบ้าง แต่ก็มักจะมีเค้าเดิมตามเชื้อสายของตนเหลืออยู่ แต่ถ้าผิดแปลกออกไปมากๆ ละก็ อาจจะมีสิ่งผิดปกติ หรือมีโรคเกิดขึ้น

ลักษณะของหน้าตาบางชนิดก็ทำให้เราบอกได้ทันทีหรือบอกได้อย่างค่อนข้างจะถูกต้องว่าคนไข้เป็นโรคอะไร เช่น

3.1 หน้ากระดูก คือ เห็นแต่หนังหุ้มกระดูก แสดงถึงภาวะขาดอาหารอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อตาโบ๋แก้มตอบ (ดูรูปที่ 1) นั่นคือ ตาจะบุ๋มลึกลงไป เพราะไขมันหลังตาลดลง แก้มก็จะบุ๋มลึกเพราะขาดไขมันในกระพุ้งแก้มเช่นเดียวกัน

คนที่มีหน้ากระดูกอาจจะเกิดจากการขาดแคลนอาหารโดยตรงหรืออาจเกิดจากมีโรค หรือความผิดปกติในร่างกาย ทำให้ร่างกายนำอาหารที่กินเข้าไป ไปใช้ไม่ได้ เช่น โรคพยาธิในลำไส้บางชนิดจะทำให้การย่อยและการดูดซึมอาหารเป็นไปได้ยาก หรือเกิดจากมีโรค หรือความผิดปกติในร่างกาย ทำให้ร่างกายใช้อาหารมากเกินกว่าที่ได้รับ เช่น คนไข้ที่เป็นโรคคอพอกเป็นพิษ (ต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ) จะกินอาหารจุ แต่ก็อาจจะผ่ายผอม เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกได้

3.2 หน้าอ้วน คือ หน้าที่อ้วนมาก จนอาจจะมีกระพุ้งแก้มยุ้ยเป็นพวง หนังตาหนาจนตาตี่แคบ ซึ่งอาจเกิดจาก

ก. การกินอาหารมากเกินไป ทำให้ร่างกายโดยทั่วไปอ้วนมากขึ้นด้วย (ดูรูปที่ 2)

ข. หน้ากลม คือ ลักษณะที่หน้ากลมเหมือนพระจันทร์ ซึ่งเกิดจากการใช้ยาจำพวกสเตอรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซน เพร็ดนิโซโลน คอร์ติโซน หรือยาที่มียาสเตอรอยด์ผสมอยู่ เช่น ยาบูตาเพร็ด ยาบูตาโลน สำหรับแก้ปวด ยาแอสมาซิล ยาแอสมาโซโลน ยาพรีแดสมาล สำหรับแก้หืด พวกยาชุดสำหรับเจริญอาหาร หรือทำให้อ้วนโดยใช้ยาสเตอรอยด์ผสมอยู่และพวกยารักษาโรคมะเร็ง หรือโรคเรื้อรังบางชนิด ซึ่งใช้ยาสเตอรอยด์ร่วมด้วย ทำให้คนที่ใช้ยานี้มีหน้ากลมมนคล้ายคลึงกัน แม้จะไม่ใช่พี่น้องกัน (ดูรูปที่ 3)

คนที่มีหน้ากลมเหมือนพระจันทร์ นอกจากจะเกิดจากการใช้ยาแล้ว ยังเกิดจากโรคที่ทำให้ร่างกายมีสเตอรอยด์หรือฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตมากเกินไป เช่น โรคต่อมหมวกไตทำงานมากเกินไป หรือมีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต เป็นต้น ซึ่งเมื่อรักษาหายแล้ว หน้าตาจะกลับเป็นปกติใหม่ (ดูรูปที่ 4 และ 5)

คนที่มีหน้ากลมเพราะยาสเตอรอยด์ หรือฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตมากเกินไป มักจะสังเกตได้ง่าย และแยกจากหน้าตาของคนอ้วนโดยทั่วไปได้เพราะ คนที่มีหน้ากลมเพราะสเตอรอยด์มักจะมีสิว หรือเม็ดตุ่มเล็กๆ ที่ผิวหนัง ตามใบหน้า หน้าอก และหลังด้านบน ผิวหนังที่ใบหน้าดูบอบบางและอาจมีเส้นแดงๆ เล็กๆ กระจัดกระจายทั่วไป หรือมีการอักเสบแดงเพราะผิวหนังอักเสบเป็นสิว นอกจากนั้น มักจะมีโหนกคอ และรูปร่างผิดปกติร่วมด้วย (ดูเรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 9, 10 ปีที่ 1)

3.3 หน้าบวมฉุ คือ ลักษณะที่หน้าตาดูบวมหรือดูฉุๆ ซึ่งอาจเกิดจาก

ก. หน้าบวม คือ ภาวะที่มีน้ำคั่งอยู่ในหน้า และหนังตามากเกินไปทำให้หน้าบวม และหนังตาบวม (ดูรูปที่ 6) ถ้าเป็นมาก หนังตาอาจจะบวมจนโป่งใส คล้ายถูกน้ำร้อนลวก และทำให้เปิดตาไม่ได้ คนที่หน้าบวม หนังตาบวม มักจะเกิดจากโรคไตหรือโรคภูมิแพ้ เช่น แพ้ยา แพ้อาหาร แต่ก็อาจจะเกิดจากโรคอื่นได้ โดยเฉพาะถ้าโรคนั้นๆ ทำให้เกิดอาการบวมทั้งตัวได้ เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคภูมิแพ้ เป็นต้น

ข. หน้าฉุ คือ ลักษณะที่หน้าตาแลดูฉุๆ ฟุๆ คล้ายกับหมอนหรือเตียงที่ยัดนุ่นไว้ไม่แน่น ผิวหน้าแลดูหยาบย่น (ผิดกับพวกหน้าบวมซึ่งผิวหนังจะค่อนข้างตึงและเรียบ) หนังตาจะหนาและหย่อน ทำให้ตาตี่ เปิดตาไม่ได้กว้าง (ดูรูปที่ 7) คนที่หน้าฉุ มักจะเกิดจากภาวะที่ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (hypothyroidism) ซึ่งอาจเกิดจากการตัดต่อมธัยรอยด์ออกมากเกินไป หรือได้รับยาไอโอดีนรังสีที่มากเกินไป ในการรักษาภาวะต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ (คอพอกเป็นพิษ) หรืออาจเกิดขึ้นเองโดยไม่ได้เกิดจากการรักษาก็ได้

3.4 หน้าดุ คือ ลักษณะหน้าตาที่แลดูดุดันกว่าปกติ เพราะผิวหน้าตึงและเรียบกว่าปกติ (หน้าตึง) และตาเปิดกว้าง ทำให้เห็นตาขาวอยู่รอบตาดำ รูม่านตาเปิดกว้าง ทำให้ตาดำเป็นประกายวาวแลดูน่ากลัว (ดูรูปที่8) คนที่หน้าดุนี้ มักจะเกิดจากภาวะที่ต่อมธัยรอยด์ทำงานมากเกินไป (ภาวะคอพอกเป็นพิษ) หรือ ภาวะที่ระบบประสาทสู้ (sympathetic nervous system) ทำงานมากเกินไป เช่น โรคเนื้องอกความดัน (pheochromocytoma)

(ระบบประสาทสู้ เป็นระบบประสาทอัตโนมัติ ที่คอยช่วยเหลือร่างกาย ในขณะที่เผชิญกับสิ่งคับขันเพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับสิ่งคับขันนั้นได้)

3.5 หน้าเฉย คือ ลักษณะหน้าตาที่แลดูเย็นชา ปราศจากอารมณ์และความรู้สึก เหมือนคนใส่หน้ากาก คนที่มีหน้าตาแบบนี้อาจจะเป็น

ก. โรคสั่นเมื่อว่าง (Parkinson disease) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติในสมอง ทำให้นิ้วมือและมือสั่นเวลาอยู่ว่าง แต่เวลาเอื้อมมือไปหยิบของหรือใช้มือทำงาน จะหายสั่นทันที นอกจากเมื่อเป็นมาก

ข. โรคแรงตกเร็ว (Myasthenia gravis) ซึ่งมักจะสังเกตได้ง่ายเมื่อคนไข้มีหนังตาตก (ลืมตาไม่ขึ้น) หลังจากให้คนไข้ลืมตา หลับตาติดๆ กันหลายครั้ง หนังตาจะตกลงๆ จนในที่สุดลืมตาไม่ขึ้น หรือ

ค. โรคจิต (คนบ้า หรือกำลังจะบ้า หรือเพิ่งจะหาย) ก็จะมีหน้าตาที่เย็นชา แววตากระด้าง ปราศจากการแสดงออกซึ่งอารมณ์ หรือความรู้สึก แม้จะมีอาการคลุ้มคลั่ง ดีใจ เสียใจ หรืออากัปกิริยาที่แสดงออกถึงอารมณ์อื่นๆ แต่หน้าตาและแววตามักจะกระด้าง และไม่เป็นไปตามอารมณ์นั้นๆ

3.6 หน้าเสพติด คือ ลักษณะหน้าตาที่แลดูเย็นชากระด้าง คล้ายพวกหน้าเฉย แต่มีลักษณะของความหิวกระจาย และแสดงการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ได้ง่าย (ผิดกับพวกหน้าเฉย) นอกจากนั้น หน้าเสพติดนี้ มักจะมีลักษณะอิดโรย คล้ายหน้าตาของคนอดนอน อาจจะร่วมด้วยท่าทางอ่อนเพลีย และเฉื่อยชาในเวลาส่วนใหญ่ด้วย

หน้าเสพติดนี้อาจจะมี ลักษณะพิเศษเฉพาะอีก เช่น

1. ลักษณะหน้าตาของผู้ติดสุราเรื้อรัง หน้าตาของผู้ติดสุราเรื้อรังมักจะไม่ซูบซีด บางคนอาจจะมีใบหน้าอ้วนใหญ่ แก้มยุ้ย และแดง แต่ผิวหนังมักจะหยาบและขรุขระโดยเฉพาะที่จมูก จมูกมักจะพองใหญ่ขรุขระ และอาจจะมีแผลเป็นในบริเวณใบหน้า จากบาดแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุ เพราะการเมาเหล้า หรือการทะเลาะวิวาท

2. ลักษณะหน้าตาของผู้ติดบุหรี่ ฝิ่น หรือเฮโรอีน มักจะซูบซีด อิดโรย และกระด้างกว่าพวกที่ติดเหล้า กิริยาท่าทางก็มักจะเงียบขรึมและลับๆ ล่อๆ มากกว่าพวกที่ติดเหล้าเพราะพวกติดเหล้ามักจะชอบแสดงออกมากกว่า

ลักษณะหน้าเฉย และหน้าเสพติดนี้ ไม่อาจจะนำภาพมาแสดงให้เห็นได้ เพราะเป็นการกระทบกระเทือนต่อผู้ที่แสดงภาพ โดยเฉพาะในด้านสังคม นอกจากนั้น ภาพเหล่านี้ก็ไม่สามารถทำให้เป็นการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ และแววตาตามลักษณะที่เป็นจริงได้

การหมั่นสังเกตด้วยตนเองและฝึกเปรียบเทียบลักษณะหน้าตาของบุคคลต่างๆ จะช่วยให้วินิจฉัยโรคและสาเหตุเบื้องหลังของการเป็นโรคได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

ข้อมูลสื่อ

11-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 11
กุมภาพันธ์ 2523
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์