• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาการปวดท้อง (ต่อ)

อาการปวดท้อง (ต่อ)

                  
การตรวจรักษา

ในฉบับก่อนๆ ได้กล่าวถึงอาการปวดท้องที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนและเกี่ยวข้องกับการกินอาหาร ในฉบับนี้จะมาว่ากันด้วยเรื่องอาการที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายอุจจาระ

3. ประเภทที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายอุจจาระ เช่น
3.1 ปวดอุจจาระหลังอาหาร ให้ดูในข้อ 2.3

3.2 ปวดท้องร่วมกับอาการท้องผูก คนที่ไม่ถ่ายอุจจาระเป็นเวลาหลายวันทั้งที่กินอาหารตามปกติ อาจเกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด หรือมีอาการไม่สบายในท้องอื่นๆ

ดังนั้นคนที่ปวดท้องร่วมกับการไม่ถ่ายอุจจาระมาหลายวัน ควรตรวจคลำหน้าท้อง อาจคลำได้ก้อนอุจจาระในลำไส้ใหญ่ (ดูรูป) และถ้าจะให้แน่นอนยิ่งขึ้น ควรตรวจทางทวารหนัก (ดูวิธีตรวจทางทวารหนัก ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 52) จะพบก้อนอุจจาระแข็งในทวารหนัก ควรล้วงก้อนอุจจาระที่แข็งและอุดปากทวารอยู่ออก แล้วสวนอุจจาระด้วยน้ำสบู่หรือยาสวน (fleet enema) เมื่ออุจจาระออกแล้ว อาการปวดท้อง แน่นท้อง หรืออื่นๆก็จะดีขึ้น

ต่อไปควรป้องกันอาการท้องผูกโดยการถ่ายอุจจาระเป็นเวลา ห้ามกลั้นอุจจาระ ดื่มน้ำมากๆ กินผัก ผลไม้ และออกกำลังให้มากขึ้น ถ้าไม่หายให้กินมะขามเปียกหรือน้ำมะขามเปียก หรือเนื้อในฝักคูนต้มเอาน้ำดื่มถ้ายังไม่ถ่าย ให้ใช้ยาดีเกลือหรือน้ำมันละหุ่งก็ได้

3.3 ปวดท้องร่วมกับอาการท้องเดิน ให้แยกเป็น

3.3.1 ถ้าอุจจาระเป็นน้ำหรือเป็นมูก และเกิดร่วมกับอาการท้องผูก และถ้าตรวจทางทวารหนัก พบอุจจาระแข็งอุดอยู่ อาการปวดท้องร่วมกับอาการท้องเดินนั้น เกิดจากภาวะท้องผูก ให้ทำการรักษาเช่นเดียวกับข้อ 3.2 อาการต่างๆจะหายไป

3.3.2 ถ้าอุจจาระเป็นน้ำซาวข้าว และถ่ายครั้งละมากๆ โดยไม่มีอาการปวดท้องหรือปวดท้องเพียงเล็กน้อย และคนไข้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมอย่างรวดเร็ว รีบให้น้ำเกลือทางปากหรือทางเส้นและส่งโรงพยาบาล

3.3.3 ถ้าอุจจาระเหลวมากและไม่เป็นมูกเลือด ถ้าไม่มีอาการอื่น และถ่ายเพียงไม่กี่ครั้งก็หยุดถ่าย ไม่ต้องกินยาอะไร

 

                               

ถ้าอ่อนเพลีย ให้กินน้ำเกลือชาวบ้าน (น้ำ 1 ขวดกลมแม่โขง เกลือป่นประมาณครึ่งช้อนชา น้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ) หรือน้ำมะพร้าว หรือน้ำข้าวใส่เกลือเล็กน้อย จนหายเพลีย ถ้าถ่ายมากและถ่ายหลายครั้งแล้วหรือปวดมวนท้องมาก อาจกินทิงเจอร์ฝิ่นการบูรครั้งละ 1-2 ช้อนชา ซ้ำได้ทุก 1-2 ชั่วโมง อีก 2-3 ครั้ง เพื่อให้อาการปวดท้องและอาการท้องเดินมากลดลงหรือกินชาจีนแก่ๆ หรือใช้ใบฝรั่งต้มน้ำกิน หรือใช้เปลือกทับทิมฝนกับน้ำกิน
ถ้าถ่ายแล้วมีฟองหรือมูก หรือถ่ายกะปริดกะปรอย ให้กินยาซัลฟากัวนิดีน ครั้งแรก 4 เม็ด ต่อไป 2 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมงจนกระทั่งท้องหยุดเดิน ระหว่างกินซัลฟากัวนิดีนควรดื่มน้ำมากๆ

3.3.4 ถ้ามีไข้ (ตัวร้อน) หรือหนาวสั่น หรืออุจจาระเป็นมูกเลือดที่ไม่เหม็นเน่า ควรกินยาฆ่าเชื้อ เช่น โคไตรมอกซาโซล (cotrimoxazole) ครั้งละ 2 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมง หรือแอมพิซิลลิน (เม็ดละ 500 ม.ก.) ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง จนไข้ลงและหยุดถ่ายแล้วประมาณ 2 วัน หรือใช้ดอกกานพลูต้มเอาน้ำดื่ม

3.3.5 ถ้าอุจจาระเป็นมูกเลือดและมีกลิ่นเหม็นเน่า (เหม็นเหมือนหัวกุ้งเน่า) ให้กินเมโทรไนดาโซล (metronidazole) ครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลาหลังอาหารเป็นเวลา 10 วัน หรือใช้เปลือกต้นโมกหลวงต้มเอาน้ำดื่ม

ถ้าให้การรักษาแล้วคนไข้มีอาการทรุดลง หรือไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรให้ไปตรวจอุจจาระและตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมที่โรงพยาบาล


                                                                                                                               (อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

95-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 95
มีนาคม 2530
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์