• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระโดดเชือก

กระโดดเชือก

 

                                    

 

ในฉบับที่แล้วได้แนะนำการวิ่งอยู่กับที่ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ดีมากอย่างหนึ่งสำหรับผู้ที่เริ่มออกกำลังกาย ผู้มีปัญหาในการวิ่งนอกบ้าน หรือแม้แต่นักวิ่งทั่วไปก็สามารถนำไปใช้ได้
ผู้อ่านหลายท่านสงสัยว่า การกระโดดเชือก นี่ดีไหม เพราะไม่เห็นผู้เขียนเอ่ยถึงในตัวอย่างออกกำลังกายแบบแอโรบิก การกระโดดเชือกนี่ดีแน่ครับ เป็นการกำลังกายแบบแอโรบิกร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าทำให้ถูกวิธี แถมยังถูกสตางค์ด้วย เพราะเชือกสำหรับกระโดดเส้นหนึ่งราคาไม่กี่สิบบาทไหนๆจะกระโดดเชือกกันทั้งทีก็ขอให้ลงทุนในเรื่องนี้ก่อน ท่านอาจซื้อเชือกพลาสติกธรรมดาจากร้านขายของชำมาใช้กระโดดก็ได้ แต่ท่านจะประสบปัญหาว่า กระโดดแล้วติดบ่อยๆ เพราะแกว่งไม่ถนัด หรือไม่เชือกก็หลุดมือ สู้ซื้อที่เขาทำขายสำเร็จ มีด้ามจับถือ หมุนได้คล่องตัวดีกว่า

แต่ซื้อมาแล้ว ก็ยังไม่ใช่เล่นได้ง่ายๆ บอกตรงๆ ผู้เขียนไม่คิดว่า การกระโดดเชือกเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้เริ่มต้นออกกำลังกายต้องคนที่ร่างกายฟิตจริงๆจึงกระโดดเชือกได้ดี เพราะถ้าท่านต้องการกระโดดเชือกให้เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ท่านต้องสามารถกระโดดติดต่อกันได้อย่างน้อย 10 นาทีสำหรับผู้ที่ร่างกายยังไม่ฟิต อย่าว่าแต่ 10 นาทีเลย 10 ทีก็จอดแล้ว ไม่เชื่อปลดเชือกราวตากผ้ามากระโดดดูก็ได้ เพราะถ้าท่านจะกระโดดไม่ให้เชือกติด ท่านต้องแกว่งราว 80 รอบต่อนาที นั่นก็หมายความว่า ท่านต้องสามารถกระโดด 80 ครั้งต่อนาที ได้ด้วยถ้าเทียบออกมาเป็นการวิ่ง ก็เท่ากับวิ่งด้วยความเร็ว 4 นาที 35 วินาทีต่อหนึ่งกิโลเมตร ร่างกายท่านต้องฟิต จึงจะสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วขนาดนั้นติดต่อกันได้นาน 10 นาที

ฉะนั้นถ้าท่านริจะเล่นกระโดดเชือกเป็นกีฬา อย่างแรกก็ต้องเริ่มด้วยใจเย็นๆเล่นแค่วันละนิดวันละหน่อยระหว่างที่ร่างกายยังไม่ฟิต หรือมือเท้ายังทำงานประสานกันได้ไม่เคยชิน ท่านอาจต้องใช้เวลานับเดือนกว่าจะกระโดดเชือกได้ติดต่อกัน 10 นาที อย่าลืมยืมหลักวันหนัก-วันเบา ของการวิ่งมาใช้ในการฝึกกระโดดเชือกวันหนักท่านอาจกระโดดจนกล้ามเนื้อเมื่อยตึง วันเบากระโดดแค่ 1-2 นาที สลับกันไปดังนี้เรื่อยๆ จนกว่าจะถึงเป้าหมาย

ข้อดีอย่างหนึ่งของการเชือกคือ ไม่ต้องลงทุนอะไรมากกว่าซื้อเชือกสำหรับกระโดด รองเท้าท่านอาจใช้รองเท้าผ้าใบธรรมดา เพราะว่าในการกระโดดเชือกเท้าไม่ต้องรับแรงกระแทกมากเหมือนการวิ่ง และท่านกระโดดลงที่ปลายเท้าไม่ใช่ที่ส้นเท้า ถ้าท่านกระโดดบนพื้นที่ไม่กระด้างหรือสากนัก เช่น พื้นไม้ในบ้าน ท่านอาจไม่ต้องการรองเท้าเลยก็ได้ อย่างไรก็ดี เวลากระโดดควรย่อเข่าเล็กน้อยเวลาเท้ากระทบพื้นเพื่อช่วยรับแรงกระแทก และโน้มตัวไปข้างหน้านิดหน่อยเพื่อให้ทรงตัวได้ดี
อ้อ! เกือบลืมบอกไปว่า เวลาซื้อเชือกกระโดด วิธีวัดดูว่าความยาวพอดีกับเราไหม คือ ยืนทับเชือกตรงกลางแล้วดึงปลาย 2 ข้างขึ้นมา ถ้าเสมอรักแร้พอดี ก็เป็นอันใช้ได้


สรุปว่า การกระโดดเชือกนี้ ถ้าท่านทำได้ดี สามารถเผาผลาญพลังงานชั่วโมงละ 600 แคลอรี่ ได้อย่างสบาย ใช้ทดแทนการวิ่งในวันฝนตกหรือเบื่อที่จะออกวิ่งนอกบ้านได้
อย่างไรก็ดีการกระโดดเชือกไม่ใช่ของเล่นสำหรับนักกีฬาหน้าใหม่

 

ข้อมูลสื่อ

95-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 95
มีนาคม 2530
วิ่งทันโลก
นพ.กฤษฎา บานชื่น