• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการปวดท้อง (ต่อ)

การตรวจรักษาอาการปวดท้อง (ต่อ)


              


ในฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงอาการปวดท้องที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน (ระดู) ในฉบับนี้จะมาว่าต่อด้วย อาการปวดท้องที่เกี่ยวข้องกับการกินอาหาร

2. ประเภทที่เกี่ยวข้องกับการกินอาหาร เช่น
2.1 ปวดท้องเวลาหิว (hunger pain) คือ เกิดอาการปวดท้อง แสบท้อง หรือแน่นท้อง เวลาหิวข้าว ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนถึงมื้ออาหาร (ก่อนถึงเวลากิน) หรือเกิดเพราะกินอาหารไม่ตรงเวลา (ถึงเวลาแล้วยังไม่ได้กิน) ก็ได้ หรืออาจเกิดอาการเวลากินเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หรือกินกรด เช่น น้ำส้มสายชู (กรดอะซีติก) แอสไพริน (กรดซาลิซิลิก) หรือกินสิ่งที่กระตุ้นกรดในกระเพาะ เช่น เครื่องดองของเมา กาแฟ เป็นต้น
อาการเช่นนี้ ทำให้นึกถึงโรคของกระเพาะอาหาร (stomach) หรือลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenum) ที่เกิดจากกรดในกระเพาะมากเกินไป ชาวบ้านมักเรียกรวมๆกันว่า “โรคกระเพาะ” ซึ่งอาจจะเป็นเพียงโรคกระเพาะลำไส้อักเสบหรือโรคกระเพาะลำไส้อักเสบเป็นแผล หรือแผลเป็ปติก (peptic ulcer) ก็ได้

สาเหตุที่ทำให้เกิด “โรคกระเพาะ” มักเกิดจาก
1. ความเครียด ความห่วงกังวล หงุดหงิด ทะเยอทะยาน หรืออารมณ์เครียดอื่นๆ ทำให้กรดในกระเพาะออกมามาก จึงระคาย (กัด) เยื่อบุกระเพาะลำไส้ทำให้อักเสบ และต่อมาเกิดเป็นแผลขึ้น

2. การกินอาหารผิดเวลา (ไม่ตรงเวลา) ทำให้กรดที่ออกมาไม่มีอาหารที่ที่จะเจือจางหรือทำลายมัน มันจึงไประคาย (กัด) เยื่อบุกระเพาะลำไส้

3. การกินอาหารที่เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด มีกรด หรือสารกระตุ้นกรด ดังกล่าวแล้วข้างต้น ทำให้กรดในกระเพาะมาก จึงไประคาย (กัด) เยื่อบุกระเพาะลำไส้

4. การกินยาบางชนิด เช่น แอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก เพร็ดนิโซโลน บูตาโซน บูตาโลน หรือยาระคายกระเพาะอื่นๆ ก็อาจทำให้กระเพาะลำไส้เป็นแผลได้

การรักษา
1. เลิกกินอาหารผิดเวลา หรืออาหารที่เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด มีกรดหรือกระตุ้นกรด และยาที่ระคายกระเพาะ

2. ถ้าเครียดมากหรือบ่อย ให้กินยาไดอะซีแพม (ขนาด 2 หรือ 5 มิลลิกรัม) ครั้งละ ½-1 เม็ด หลังอาหารเช้าและเย็น ถ้ากลางคืนหลับไม่สนิท ให้กิน 1 เม็ดก่อนนอนด้วย

3. กินยาลดกรดครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ทุก 1-2 ชั่วโมงถ้าเป็นมาก ถ้าเป็นไม่มาก กินครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ 1-2 ชั่วโมงหลังอาหารแต่ละมื้อและก่อนนอน และเวลาที่ปวดท้อง แสบท้อง หรือเรอเปรี้ยว

4. ถ้ารักษาตามข้อ 1-3 แล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล
การป้องกัน ให้ทำตามวิธีรักษา ข้อที่ 1 และ 2

2.2 ปวดท้องเวลากินอาหาร คือ การเกิดอาการปวดท้อง แสบท้อง หรือแน่นท้อง เวลากินข้าวหรืออาหารธรรมดาที่ไม่มีรสจัด หรือระคายกระเพาะ มักจะมีอาการเบื่ออาหาร หรือคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
อาการเช่นนี้ทำให้นึกถึงโรคกระเพาะอาหารอักเสบ (gastritis) แผลในกระเพาะอาหาร (gastric ulcer) กระเพาะอาหารเลื่อน (hiatal hernia) หลอดอาหารส่วนล่างอักเสบ (lower esophagitis) หรือเป็นแผล (esophageal ulcer) และภาวะแทรกซ้อน เช่น การอุดตันของกระเพาะหรือหลอดอาหารจากสาเหตุดังกล่าว

สาเหตุ มักเกิดจาก
1. การกินอาหารหรือสารที่ระคายหลอดอาหารและกระเพาะอย่างรุนแรง เช่น ของที่ร้อนจัด เผ็ดจัด สุรายาเมาที่เข้มข้น กรดหรือด่างอย่างแรง เป็นต้น

2. สาเหตุที่ยังไม่รู้แน่ เช่น มะเร็ง เป็นต้น
การรักษา เช่นเดียวกับข้อ 2.1 (ปวดท้องเวลาหิว)
การป้องกัน หลีกเลี่ยงอาหารหรือสารที่ระคายหลอดอาหารและกระเพาะดังที่กล่าวไว้ในสาเหตุ

2.3 ปวดท้องเวลาอิ่มหรือปวดท้องหลังอาหาร คือ การเกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง อึดอัดในท้อง ลมในท้องมาก หรือคลื่นไส้อาเจียนหลักจากกินอาหารแล้วสักพักหนึ่ง
อาการเช่นนี้อาจเกิดขึ้นในคนปกติที่กิน (สวาปาม) อาหารมากเกินไป มักพบบ่อยในเด็ก ถ้าเป็นมากเด็กจะอาเจียนอาหารที่เพิ่งกินเข้าไปออก แล้วก็จะหายปวดท้องและรู้สึกสบายขึ้น
 


ในภาวะที่เป็นโรค อาจเกิดจากโรคหรือภาวะในข้อ 2.1 และ 2.2 ได้ หรืออาจเกิดจากโรคของถุงน้ำดี เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ (cholecystitis) หรือมีนิ่ว (choletithiasis) ซึ่งจะกดเจ็บบริเวณถุงน้ำดี (ดูการตรวจถุงน้ำดี ในมาเป็นหมอกันเถิด หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 47) และอาจมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และมีไข้ หรืออาจจะเป็นโรคตับอ่อนอักเสบ (pancreatitis) ซึ่งมักมีอาการรุนแรงของคนไข้ฉุกเฉิน ทำให้ต้องส่งโรงพยาบาลทันที

อาการปวดท้องในคนที่ดื่มสุราเรื้อรัง หรือตัวเหลือง ตาเหลือง มีโรคของถุงหรือท่อน้ำดี ซึ่งอาจเกิดจากโรคตับอ่อนอักเสบได้
ในกรณีที่เกิดอาการปวดท้องถ่าย (ปวดอุจจาระ) หลังอาหารทุกครั้งอาจเกิดในกรณีที่ระบบประสาทไวเกิน (excessive gastro-colic reflex) ซึ่งลักษณะอาจจะเป็นปกติหรืออาจเกิดในกรณีที่มีทางทะลุระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้ (gastro-intestinal) หรือ (gastro-colic fistula) ซึ่งในกรณีเช่นนี้อุจจาระจะไม่มีลักษณะปกติ หรือลักษณะของกากอาหาร แต่จะมีลักษณะแบบอาหารที่ยังไม่ได้ย่อยหรือยังย่อยไม่สมบูรณ์ และคนไข้จะซูบผอม เนื่องจากการขาดอาหารด้วย (ถ้าคนไข้ไม่ซูบผอม ให้นึกถึงอาการปวดอุจจาระหลังอาหารที่เกิดจากระบบประสาทไวเกินก่อน)

สาเหตุ  ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น เช่น
1. ถ้าเป็นโรคกระเพาะ ก็เกิดจากสาเหตุดังที่กล่าวไว้ในข้อ 2.1 และ 2.2

2. ถ้าเป็นโรคของถุงน้ำดี มักเกิดจากความอ้วนมากเกินไป กินไขมันมากเกินไป กินยาบางอย่าง เช่น ยาลดไขมันบางชนิด โรคเม็ดเลือดแดงแตกเรื้อรัง ดื่มสุราเรื้อรัง เป็นต้น

3. ถ้าเป็นโรคของตับอ่อน มักเกิดจากการดื่มสุราเรื้อรัง โรคคางทูม เป็นต้น

การรักษา ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น เช่น
1. ถ้าเป็นโรคกระเพาะก็รักษาแบบข้อ 2.1 และ 2.2

2. ถ้าเป็นโรคถุงน้ำดีอักเสบ ให้ลดอาหารไขมัน ลดน้ำหนัก เลิกดื่มสุรา และให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้าปวดมาก ก็ให้ยาแก้ปวด ถ้ามีไข้ (ตัวร้อน) หนาวสั่น ก็ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น แอมพิซิลลิน เป็นต้น

3. ถ้าเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี ถ้าไม่มีอาการ อาจจะรอการผ่าตัดไปก่อนก็ได้ ถ้ามีอาการ ควรจะผ่าตัดเอานิ่วหรือถุงน้ำดีออก

4. ถ้าเป็นโรคของตับอ่อน คนไข้มักมีอาการรุนแรง ควรงดอาหารและน้ำ ให้น้ำเกลือ และยาแก้ปวด แล้วรีบส่งโรงพยาบาล ในคนที่ดื่มสุราเรื้อรังหรือตัวเหลือง ตาเหลือง จากโรคของถุงน้ำดีหรือท่อน้ำดี และมีอาการปวดท้องแต่ไม่รุนแรง ให้งดสุราและรักษาโรคของถุงและท่อน้ำดี อาการตับอ่อนอักเสบจะดีขึ้นได้

5. ถ้าปวดอุจจาระหลังอาหารจากระบบประสาทไวเกิน ให้กินอาหารมื้อละน้อยๆ และอาจใช้ยาไดอะซีแพม (ขนาด 2 หรือ 5 มิลลิกรัม) ครั้งละ ½ - 1 เม็ดก่อนอาหารประมาณ ½ - 1 ชั่วโมง หรือจะใช้ทิงเจอร์ฝิ่นการบูร ครั้งละ ½ - 1 ช้อนชา ก่อนอาหาร ประมาณ ½ - 1 ชั่วโมง ลองดูก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นควรไปโรงพยาบาล

6. ถ้ามีทางทะลุระหว่างกระเพาะกับลำไส้ ควรผ่าตัดและกำจัดทางทะลุนั้น เป็นต้น

ในฉบับหน้าเราจะมาว่ากันด้วยเรื่องอาการปวดท้องที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายอุจจาระ

                                                                                                                               (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

 

ข้อมูลสื่อ

94-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 94
กุมภาพันธ์ 2530
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์