ออกกำลังกายคลายเครียด
ผู้คนทุกวันนี้คงจะมีน้อยมากที่ไม่เคยเกิดอารมณ์เครียดหรือความเครียด ยิ่งถ้าเป็นผู้ที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆเช่น ชาวกทม.ด้วยแล้ว จะต้องเคยเกิดอารมณ์เครียดกันแทบทุกคน จะต่างกันก็เพียงแต่มากหรือน้อย หรือเกิดขึ้นบ่อยเพียงใดเท่านั้น
วงการแพทย์ในปัจจุบันนี้ยอมรับว่า อารมณ์เครียดนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง เพราะในขณะที่เกิดมีอารมณ์เครียดภายในร่างกายจะจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นผลร้ายต่อสุขภาพทั้งสิ้น โดยเฉพาะถ้าผู้ที่เกิดอารมณ์เครียดไม่สามารถที่จะระบายอารมณ์เครียดของตนออกไปได้ อารมณ์เครียดนอกจากจะเกิดผลร้ายมากมายแล้วยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายเสื่อมลงด้วย (ร้ายราวกับโรคเอดส์ทีเดียว) จึงไม่น่าแปลกใจที่เคยพบเสมอว่าผู้ที่มีเรื่องกลัดกลุ้มหรือมีอารมณ์เครียดมากๆ มักจะถูกโรคร้ายอื่นๆมารุมแทรกซ้อนอยู่เสมอ
เป็นที่ยอมรับกันว่าเหตุที่คนในปัจจุบันต้องเจ็บป่วยตลอดจนถึงหัวใจวายกันมากมาย ทั้งๆที่การแพทย์ก็เจริญรุดหน้าไปมากนั้น ก็เพราะมีความเครียดทางอารมณ์เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง เรื่องนี้ผู้เขียนเองเชื่อมาก เพราะจะสังเกตเห็นว่าผู้ที่มีสุขภาพจิตดี หรือมีอารมณ์เครียดน้อยจะมีร่างกายแข็งแรง เจ็บป่วยน้อย และอายุยืน
แท้จริงแล้วมนุษย์ตลอดจนสัตว์โลกทุกชนิด ล้วนเกิดอารมณ์เครียดได้ทั้งสิ้น และการเกิดอารมณ์เครียดนั้นก็เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีมานานนักหนาแล้ว ย้อนไปยังมนุษย์โบราณที่อยู่ป่าอยู่ถ้ำและล่าสัตว์กินเป็นอาหาร ชีวิตของมนุษย์ก็คล้ายกับสัตว์ป่าอื่นๆ คือต้องระวังภัยที่จะมาถึงตัวเมื่อใดก็ได้ มนุษย์เราจึงพร้อมเสมอที่จะ “สู้ หรือ หนี” (fight or flight หรือ fight or flee) เช่น เมื่อบังเอิญไปจ๊ะเอ๋กับกระทิงหรือเสือเข้าในระยะกระชั้นชิด สมองก็จะสั่งการลงมาทันทีว่า ควรสู้หรือหนีโดยพิจารณาจากสภาพแวดล้อม เช่น อาวุธที่มีอยู่ในขณะนั้น หรือระยะทางว่าถ้าหนีจะหนีพ้นหรือไม่ การตัดสินใจที่ถูกจ้องเท่านั้นที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตรอดอยู่ได้
ในขณะที่รอการตัดสินใจว่าจะสู้หรือหนีดีนั้น ร่างกายก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายพร้อมกับอารมณ์เครียดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์เบื้องหน้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในร่างกายทั้งหมดนี้จะเหมือนๆกัน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์โบราณที่อยู่ถ้ำ หรือมนุษย์สมัยใหม่ที่อยู่ตึกระฟ้า แต่จะมีข้อแตกต่างที่สำคัญก็คือ มนุษย์โบราณนั้นอารมณ์เครียดที่เกิดขึ้นจะอยู่ไม่นาน คือเมื่อได้ตัดสินใจว่าหนีก็หนีไป หรือถ้าตัดสินใจว่าสู้ก็สู้ และเมื่อได้ทำตามที่ตัดสินใจแล้ว อารมณ์เครียดที่มีอยู่ก็หมดไป ต่างกับมนุษย์ในปัจจุบันซึ่งเมื่อได้เผชิญกับสิ่งที่ไม่พึงประสงค์และเกิดมีอารมณ์เครียดขึ้นแล้ว มักจะหาทางที่จะระบายความเครียดนั้นไม่ค่อยได้ คือ คิดจะสู้ก็ไม่ได้ จะหนีก็ไม่ได้ อารมณ์เครียดจึงไม่หมดไปง่ายๆ ซ้ำยังมักจะมีมาสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลร้ายจึงเกิดตามมา เช่น เป็นแผลในกระเพาะอาหาร เป็นโรคลำไส้ ปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดหลัง เป็นลมพิษ ตลอดจนถึงหัวใจวาย ,
เรื่องของอารมณ์เครียดนี้ ไม่จำต้องเกิดจากเหตุการณ์คับขันเฉพาะหน้าเท่านั้น อะไรที่ทำให้กลัดกลุ้มหรือเสียใจก็เกิดได้ เช่นการพลัดพรากจากคนรักเป็นต้น ได้มีการทดลองแยกลิงบาบูนตัวเมียออกจากคู่ของมันให้ไปอยู่กับตัวผู้ตัวอื่น โดยให้ตัวผู้ตัวเดิมได้เห็นตำตาอยู่ทุกๆวัน ผลปรากฏว่าเพียง 6 เดือนเท่านั้น บาบูนตัวผู้ที่เป็นแฟนเก่าก็ต้องตายเพราะความเครียด (ตรอมใจ) ซึ่งความจริงทำนองนี้เราเห็นได้มากมายในมนุษย์หลายๆคนที่ทำใจไม่ได้ เพียงการเกษียณอายุจากราชการ ก็เกิดความเครียดจนตัวเองอายุสั้นได้
มีตัวอย่างของความเครียดที่เป็นเหตุให้เกิดอาการหัวใจวายที่ดีที่สุดคือเรื่องของนายแพทย์ Robert Eliot ซึ่งตัวท่านเองเป็นแพทย์ทางโรคหัวใจที่มีชื่อเสียง และวันหนึ่งในขณะที่แพทย์ผู้นี้กำลังยืนบรรยายเรื่อง “วิธีป้องกันไม่ให้เกิดหัวใจวาย” อยู่นั้น ตัวท่านเองก็เกิดอาการหัวใจวายขึ้นต่อหน้าผู้ฟังมากมาย แต่ก็โชคดีที่ท่านไม่ตาย เรื่องนี้เกิดขึ้นมานาน 13 ปีแล้ว และหลังจากที่ท่านรอดตายมาได้ ท่านก็ได้พยายามศึกษาวิเคราะห์เรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวของท่านว่าทำไมจึงเกิดอาการหัวใจวายขึ้นมาได้ เพราะปัจจัยเสี่ยงที่เชื่อกันว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้เกิดหัวใจวาย ท่านก็ไม่มีสักอย่าง เช่น
ท่านไม่มีบรรพบุรุษที่เป็นโรคหัวใจ
ท่านไม่มีแรงดันเลือดสูง และไขมันในเลือดก็ไม่สูง
ท่านไม่เป็นเบาหวาน ไม่สูบบุหรี่ และก็ไม่มีน้ำหนักตัวเกินด้วย
แต่ท่านก็ยังเกิดอาการหัวใจวายในขณะที่กำลังสอนผู้อื่นว่า จะป้องกันอาการหัวใจวายได้อย่างไร ซึ่งถ้าจะว่ากันไปแล้ว ก็นับว่าเสียหน้าพอสมควร ดังนั้นท่านจึงต้องพยายามหาสาเหตุให้ได้ และท่านก็หาพบจนได้ว่า สาเหตุที่ทำให้ท่านหัวใจวาย ทั้งที่ไม่น่าจะเกิดนั้นก็คือ ความเครียดทางอารมณ์นั่นเอง นายแพทย์ Robert Eliot นั้นเป็นผู้ที่ทำงานหนักและจริงจังมากตามประสาแพทย์ผู้กำลังดัง จนได้รับฉายาว่า “Robert the Robot” คือทำงานราวกับหุ่นยนต์นั่นเอง ดังนั้น จึงมีอารมณ์เครียดเกิดขึ้นอยู่เสมอ ในวันศุกร์ที่จะเกิดหัวใจวายนั้น ท่านหงุดหงิดมาตลอดแล้วยังต้องให้ภรรยาขับรถฝ่าสายฝนเป็นระยะทางไกลถึง 200 ไมล์เพื่อไปบรรยายเรื่อง วิธีป้องกันไม่ให้เกิดหัวใจวายดังกล่าว ผลก็คือตัวท่านเกิดอาการหัวใจวายเสียเองบนเวทีนั่นเอง นับเป็นการบรรยายที่มีการสาธิตประกอบที่ยอดเยี่ยมที่สุด
ทุกวันนี้ท่านมักจะเตือนคนไข้ของท่านเสมอว่า ขอให้คิดให้ดีๆ และจงถามตัวเองว่า งานที่เราจะมุทำและเกิดอารมณ์เครียดมากมายนี้มันสำคัญมากถึงกับจะเอาชีวิตของเราเข้าแลกแน่หรือ
อย่างไรก็ตามเราคงต้องยอมรับว่าชีวิตของผู้คนในปัจจุบันนี้คงจะหลีกหนีเรื่องที่จะทำให้เกิดอารมณ์เครียดไม่ได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือพยายามอย่าให้อารมณ์เครียดนั้นอยู่กับเรานานเกินไป
คือเมื่อเกิดมีอารมณ์เครียดขึ้นแล้วก็พยายามปัดเป่าออกไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ จะโดยวิธีเอาธรรมะเข้าข่ม หรือนั่งวิปัสสนา หรืออะไรก็ได้ที่จะทำให้จิตใจสงบลงได้ แต่วิธีที่ดีที่สุด และผู้เขียนเองใช้เป็นประจำก็คือ การออกกำลังกายให้เหนื่อยจนเหงื่อโทรมกาย ใครที่ชอบวิ่งก็ใช้วิธีวิ่ง ซึ่งเมื่อคิดดูแล้วก็คล้ายวิธีของคนโบราณนั่นเอง เพียงแต่เราไม่ได้วิ่งหนีเสือหรือหนีกระทิงเพื่อเอาชีวิตรอด แต่เราวิ่งเพื่อปลดปล่อยสารเคมีทั้งหลายแหล่ที่มันเกิดขึ้นในขณะที่เกิดอารมณ์เครียดเพื่อเตรียมตัว สู้หรือหนี นั่นเอง เมื่อเราได้เลือกทางหนี คือวิ่งแล้วทุกอย่างก็จะเรียบร้อยได้เช่นที่บรรพบุรุษของเราเคยทำ ถ้าทำได้อย่างนี้อารมณ์เครียดก็จะไม่เหลืออยู่ แล้วสุขภาพทั้งกายและใจก็จะดีขึ้น
สำหรับผู้ที่ไม่ชอบวิ่ง (เช่นผู้เขียนในปัจจุบัน) หรือวิ่งแล้วเจ็บโน่นเจ็บนี่ ก็สามารถที่จะออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นๆอีกมากมาย เช่น ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ กรรเชียงเรือ เดินจ้ำเร็วๆ หรือแม้แต่การเข็นรถตัดหญ้า หรือเลื่อยไม้ ผ่าฟืน (สำหรับผู้ที่มีฟืนให้ผ่า) ก็ล้วนแต่ทำให้เหนื่อยและคลายเครียดได้ทั้งสิ้น
สำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้มีปัญหาเมื่อวิ่ง ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการเดินนั่นเอง แต่จะต้องเป็นการเดินเร็วๆ หรือเดินจ้ำ ถ้าพยายามให้ได้สักนาทีละ 100 เมตรก็จะดีมากทีเดียว รับรองว่าได้เหงื่อและคลายเครียดได้แน่ๆ
สำหรับผู้ที่ต้องการวิ่งเพื่อคลายเครียดนั้น ผู้เขียนอยากขอให้หลีกเลี่ยงการวิ่งแข่งขันทุกชนิด เพราะถ้ามีการแข่งขันแล้ว ความเครียดก็จะตามมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่เป็นผลดีแต่อย่างใด อีกอย่างที่ต้องระวังคืออย่าหักโหม เริ่มแต่น้อยๆ คอยสังเกตปฏิกิริยาของร่างกาย และไม่ควรวิ่งรวดเดียวเกิน 3 ไมล์หรือเกิน 5 กิโลเมตร ควรวิ่งในที่ ๆ มีอากาศปลอดโปร่ง และปลอดภัยจากอุบัติเหตุด้วย
ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า เราจะออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ใช่ออกกำลังกายไปก็ต้องหาหมอรักษาไป เพราะเจ็บนั่นเจ็บนี่อยู่ตลอดเวลา อย่าไปเอาอย่างนักวิ่งที่เขาวิ่งเป็นอาชีพ หรือเพื่อจุดประสงค์อื่นนอกเหนือจากสุขภาพ
- อ่าน 6,142 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้