• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการเจ็บอก (ต่อ)

การตรวจรักษาอาการเจ็บอก (ต่อ)



ฉบับที่แล้วได้อธิบายถึงการตรวจรักษาอาการเจ็บอกของไข้ประเภทที่หนึ่งไปแล้ว ในฉบับนี้จะได้กล่าวถึงการตรวจรักษาอาการเจ็บอกของคนไข้ประเภทที่สองต่อไป

2. สำหรับคนไข้ประเภทที่สอง
คนไข้ที่ไม่มีอาการกดเจ็บตรงบริเวณที่บ่นเจ็บ หรือไม่รู้สึกเจ็บมากขึ้นเวลาหายใจเข้าหรือออก เวลาไอจาม หรือเคลื่อนไหวอก ให้การตรวจรักษาดังนี้

2.1 ถ้าคนไข้เจ็บอกในเวลากลืนน้ำหรืออาหาร มักเกิดจากหลอดอาหารผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจาก
2.1.1 สิ่งแปลกปลอม เช่น ก้างปลา ซึ่งอาจยังค้างอยู่ หรือหลุดไปแล้ว แต่ทำให้หลอดอาหารเป็นแผลและอักเสบ ทำให้เกิดอาการเจ็บอกเวลากลืนน้ำหรืออาหารได้

2.1.2 กรดในกระเพาะ เช่น ในคนที่มีกรดในกระเพาะอาหารมาก หรือมีกระเพาะอาหารเลื่อนขึ้นมาในทรวงอก (hiatus hernia) ทำให้กรดในกระเพาะย้อนกลับขึ้นมาระคายในหลอดอาหาร ทำให้หลอดอาหารอักเสบ เป็นต้น

2.1.3 รูต่อระหว่างหลอดอาหารกับหลอดลม (tracheoesophageal fistula) ซึ่งนอกจากจะทำให้คนไข้เจ็บอกเวลากลืนน้ำหรืออาหารแล้ว ยังจะทำให้คนไข้ไอและมักจะไอเอาน้ำหรืออาหารที่เพิ่งจะกลืนลงไปออกมาด้วย

2.1.4 การอุดกั้นในหลอดอาหาร (esophageal obstruction) ซึ่งนอกจากจะทำให้แน่น อึดอัด หรือเจ็บอกหลังกลืนน้ำหรืออาหารแล้ว ยังทำให้อาเจียนน้ำหรืออาหารนั้นกลับออกมา

การอุดกั้นในหลอดอาหาร อาจเกิดจากเนื้องอก จากพังผืดหดรัด (stricture) และจากการหดเกร็งของหลอดอาหารบางส่วนหรือหูรูด (cardiospasm achalasia)
ในคนไข้ที่มีอาการมาก โดยเฉพาะคนไข้ในข้อ 2.1.3 และ 2.1.4 ควรจะส่งคนไข้ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์หลอดอาหารและกระเพาะอาหาร เป็นต้น จะได้ให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไปได้

สำหรับคนไข้ในข้อ 2.1.1 และ 2.1.2 ที่มีอาการน้อย ให้ยาคลายประสาท-กล้ามเนื้อ เช่น ไดอะซีแพม (เม็ดละ 2 หรือ 5 มิลลิกรัม) กินครึ่งถึงหนึ่งเม็ดหลังอาหารเช้าและเย็น และอาจกินอีก 1-2 เม็ดก่อนนอน ร่วมกับยาลดกรด เช่น ยาลดกรดชนิดต่างๆขององค์การเภสัชกรรม ครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ เวลามีอาการ และ 1-2 ชั่วโมงหลังอาหารทุกมื้อ และก่อนนอน ถ้าให้การรักษาเช่นนี้ แล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ ควรจะไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

2.2 ถ้าคนไข้เจ็บอกเมื่อเครียด ไม่ว่าจะเป็นความเครียดทางกาย (เช่น การออกกำลัง การกินอาหารอิ่มเกินไป การกินของเย็นจัด การอาบน้ำเย็น การร่วมเพศ) หรือความเครียดทางใจ (เช่น โกรธเต็มที่ ตื่นเต้น กลัวมาก สนุกสนาน เป็นต้น)
ให้แยกว่าอาการเจ็บอกเมื่อเครียดนั้นมีลักษณะคล้ายอาการเจ็บอกจากหัวใจขาดเลือด (ดูมาเป็นหมอกันเถิด ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 89) หรือไม่

ถ้าใช่หรือสงสัย หรือไม่แน่ใจ ให้ลองอมยาไนโตรกลีเซอรีน 1 เม็ด ไว้ใต้ลิ้น ถ้าอาการเจ็บอกหายในทันที (ภายใน 1-2 นาทีที่ยาละลาย) ก็น่าจะใช่ ให้รักษาแบบภาวะหัวใจขาดเลือด (ดูมาเป็นหมอกันเถิด ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 89) ถ้าไม่ใช่ ให้ยาแก้ปวด ยาคลายประสาท-กล้ามเนื้อเช่นเดียวกับข้อ 1.1 ใน“หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 90 (คนไข้มีอาการน้อย และตรวจไม่พบสาเหตุ) ถ้าไม่ดีขึ้นควรให้ไปโรงพยาบาล

2.3 ถ้าคนไข้เจ็บอกในเวลาอื่นๆ และคนไข้ไม่สามารถบอกสาเหตุได้ ให้ตรวจร่างกายโดยเฉพาะส่วนอกและท้อง (ดูวิธีตรวจอกและท้อง ในมาเป็นหมอกันเถิด ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 35-51)

2.3.1 ถ้าพบสิ่งผิดปกติ ให้ตรวจรักษาตามสิ่งผิดปกติที่ตรวจพบ
2.3.2 ถ้าไม่พบสิ่งผิดปกติ และคนไข้เป็นชายอายุมากกว่า 30 ปี หรือเป็นหญิงอายุมากกว่า 40 ปี หรือมีโรคเบาหวาน หรือโรคความดันเลือดสูงอยู่ ให้ลองอมยาไนโตรกลีเซอรีน 1 เม็ด ไว้ใต้ลิ้น ถ้าอาการเจ็บแน่นอกหายภายใน 1-2 นาทีที่ยาละลาย อาการเจ็บแน่นอกนั้นอาจเกิดจากหัวใจขาดเลือด ให้รักษาแบบภาวะหัวใจขาดเลือด (ดูมาเป็นหมอกันเถิด ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 89)

ถ้าอมยาไนโตรกลีเซอรีนแล้วอาการเจ็บแน่นอกไม่หาย แต่อาการเจ็บแน่นอกไม่มากให้รักษาแบบข้อ 1.1 และ 2.1.1-2.1.2 ที่มีอาการน้อย (คือให้ยาพาราเซตามอล ยาไดอะซีแพม และยาลดกรดร่วมกันไป) ถ้าไม่ดีขึ้นหรือมีอาการมาก ควรไปโรงพยาบาล


3. สำหรับคนไข้ประเภทที่สาม
คือคนไข้ที่ให้ประวัติไม่ชัดเจนว่า อาการเจ็บอกนั้นสัมพันธ์กับอาการหายใจ ไอ จาม หรือเคลื่อนไหวอก หรือกดเจ็บหรือไม่
ให้แยกคนไข้ประเภทนี้ออกเป็น 2 พวก
3.1 พวกที่มีอาการน้อย ให้ตรวจรักษาแบบ ข้อ 2.3.2
ขั้นตอนการตรวจรักษาอาการเจ็บอกที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นหลักการง่ายๆเท่านั้น และใช้ได้สำหรับคนไข้เจ็บแน่นอกส่วนใหญ่ (แต่ไม่ใช่ทุกคน)
สำหรับคนไข้ที่มีอาการมาก หรือไม่ดีขึ้นจากการตรวจรักษาดังกล่าวควรไปโรงพยาบาลในทันทีที่ไปได้


                                                                                                                               (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

91-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 91
พฤศจิกายน 2529
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์