• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้างหลังโรงพยาบาล

ประชาชนที่มาโรงพยาบาล จะพบเห็นและรู้จักหมอ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด เจ้าหน้าที่เอกซเรย์ เจ้าหน้าที่ห้องตรวจปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่เวชระเบียน พนักงานผู้ช่วยเหลือคนไข้ และพนักงานเข็นเปล

อาคารสถานที่ที่ประชาชนพบเห็น เริ่มตั้งแต่ด้านหน้าโรงพยาบาล ห้องตรวจคนไข้ฉุกเฉิน ห้องตรวจคนไข้นอก ห้องจ่ายยา ห้องตรวจปฏิบัติการต่างๆ ห้องผ่าตัด ห้องคลอด รวมทั้งห้องพักคนไข้

แต่ยังมีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ทำงานอยู่ข้างหลังโรงพยาบาล ที่ไม่มีคนรู้ ไม่มีคนเห็น ไม่เพียงแต่คนไข้และญาติ แม้แต่เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลบางส่วนยังไม่รู้เห็นเช่นเดียวกัน แต่งานของคนเหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบการรักษาความสะอาด การป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ การรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อคุณภาพการให้บริการและคุณภาพการรักษาพยาบาล นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชุมชนนอกโรงพยาบาลด้วย

วันหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ผมได้เยี่ยมสำรวจระบบกำจัดขยะ และบำบัดน้ำเสียในโรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ได้พบเรื่องราวของคนข้างหลังโรงพยาบาลที่มีประเด็นน่าสนใจ จึงขอนำมาเขียนเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

โรงพักขยะ
โรงพักขยะอยู่ด้านหลังโรงพยาบาล ใกล้บ่อบำบัดน้ำเสีย และใกล้ลำน้ำสาธารณะ โรงพักขยะเป็นเรือนไม้เก่าๆ ประตูชำรุดปิดไม่สนิท สุนัขสามารถเข้าไปคุ้ยเขี่ยได้ พื้นรอบๆเป็นดินแฉะๆ ภายในโรงพักขยะมีกองขยะถุงสีแดงอยู่ด้านหนึ่ง และถุงสีดำอยู่อีกด้านหนึ่ง ถุงขยะมีมากจนล้นห้อง บางส่วนจึงยังกองอยู่บนถนนหน้าโรงพักขยะ

ภายในถุงพลาสติกสีแดงเป็นที่เก็บขยะติดเชื้อ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จากบริษัทมาเก็บไปเผาทำลาย ส่วนถุงพลาสติกสีดำเป็นขยะทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะนำไปเผาที่เตาขยะสัปดาห์ละ 3 วัน

ผมสังเกตว่าถุงพลาสติกเหล่านี้บางถุงมีรอยแตก บางถุงเชือกรัดปากถุงหลุด และบางถุงมีของเหลวอยู่ในถุง

ตามมาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ ต้องรัดปากถุงให้แน่น ถุงที่แตกต้องบรรจุซ้อนด้วยถุงใบใหม่ และต้องไม่มีของเหลวบรรจุอยู่ในถุง เพราะของเหลวอาจซึมตามรอยรั่วของถุง ทำให้ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นการเผาขยะที่มีของเหลวปนจะสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น

แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ต้องเทของเหลว ทิ้งในโถส้วมจากหน่วยให้บริการต้นทาง เพื่อเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียโดยตรง

ข้างโรงพักขยะมีอ่างน้ำเพื่อใช้สำหรับล้างมือหนึ่งอ่าง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยใช้ อาจจะเนื่องจากไม่สะดวก เพราะมีอยู่เพียงจุดเดียว หรือจะเป็นด้วยความไม่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการล้างมือ

เมื่อมือจับต้องสิ่งของที่ไม่สะอาด ควรล้างมือบ่อยๆ เพราะสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคที่ติดกับมือสามารถเข้าสู่ร่างกายตนเองและผู้อื่นได้ โดยการสัมผัสหรือปนเปื้อนอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้เจ็บป่วยได้

ตามมาตรฐานการล้างมือที่ถูกต้อง ต้องใช้น้ำสะอาด ฟอกมือกับสบู่หรือน้ำยาล้างมือ โดยต้องฟอกทำความสะอาดให้ทั่วทั้งฝ่ามือ หลังมือ ซอกนิ้วมือ ซอกเล็บมือ รวมทั้งข้อมือและท่อนแขน เสร็จแล้วเช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาด

การสื่อสารเพื่อถ่ายทอดความรู้และทักษะจนผู้ปฏิบัติแต่ละคนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็น รวมทั้งการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้จริง เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกัน


ระบบบำบัดน้ำเสีย
หลังจากสัมภาษณ์ทีมงานบำบัดน้ำเสียแล้ว ผมได้ตระเวนดูบ่อบำบัดน้ำเสีย ท่อระบายน้ำ รวมทั้งบ่อพักตามจุดต่างๆ

ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เรื่องการบำบัดน้ำเสีย คือมีสิ่งของอุดตันท่อระบาย สิ่งของที่พบบ่อยคือ ถุงยางอนามัย ถุงมือ ผ้าก๊อซ ผ้าอนามัย และเศษวัสดุต่างๆ การแก้ไขนั้นเจ้าหน้าที่ต้องเปิดบ่อพักดูตามจุดต่างๆ จุดที่ท่อระบายอุดตันน้ำในบ่อพักจะแห้ง เจ้าหน้าที่ต้องหย่อนตัวลงไปในบ่อพัก ซึ่งมีขนาดกว้างด้านละประมาณ 1 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร เขาจะใช้ไม้ไผ่แทงเข้าไปในท่อ เพื่อเกี่ยวสิ่งของที่อุดตันออกมา

สิ่งของไม่พึงประสงค์เหล่านี้มีคนทิ้งจากต้นทางลงในโถส้วม อาจด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความละเลยไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่บ่งบอกไว้ มีผลกระทบต่อระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลอย่างมาก ทำให้ท่อระบายอุดตัน น้ำเสียจากหน่วยปฏิบัติงานไม่สามารถไหลลงสู่บ่อบำบัดได้ และที่สำคัญสร้างปัญหาและความเสี่ยงต่อเพื่อนที่อยู่ข้างหลังโรงพยาบาลอย่างน่าเห็นใจ

การป้องกันปัญหาเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งผู้บริหารต้อง ให้ความสำคัญ ต้องมีระบบการควบคุมกำกับการทิ้งของลงท่อระบายน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องอาศัยทั้งการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งการสร้างความเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกันให้เกิดขึ้นในโรงพยาบาล

การปรับปรุงและพัฒนา
สองปีต่อมาผมได้มีโอกาสเยี่ยมสำรวจโรงพยาบาลนี้อีกครั้งหนึ่ง พบการปรับปรุงและพัฒนาที่ดีขึ้นหลายประการ ได้แก่
โรงพยาบาลได้สร้างโรงพักขยะใหม่ เป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐฉาบปูน ลักษณะอาคารสามารถป้องกันแมลงและสัตว์ เช่น สุนัข ไม่ให้เข้าไปตอมหรือคุ้ยเขี่ยได้ ขนาดอาคารใหญ่พอเก็บถุงขยะได้เป็นสัดส่วน พื้นรอบๆ อาคารเทคอนกรีต เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำล้างทุกวันเวลาบ่าย น้ำที่ล้างจะไหลลงท่อระบายสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย ทำให้ดูสะอาด และที่สำคัญไม่มีกลิ่นเหม็นรบกวน

ทางโรงพยาบาลจัดทำอ่างล้างมือ เตรียมน้ำยาล้างมือและผ้าเช็ดมือเรียบร้อย และได้ปรับปรุงอาคารหลังหนึ่งสำหรับเป็นที่พักกินอาหารของเจ้าหน้าที่ ซึ่งแต่เดิมเจ้าหน้าที่หุงหาอาหารและกินอาหารด้านหลังโรงเก็บเครื่องมือและเคมีภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผงคลอรีนและน้ำยาต่างๆ

เมื่อสอบถามเรื่องสุขภาพ พบว่าหน่วยงานอาชีวอนามัยของโรงพยาบาล ได้จัดการการตรวจสุขภาพประจำปีแก่เจ้าหน้าที่ตามความเสี่ยงของลักษณะงาน รวมทั้งการจัดหาอุปกรณ์การป้องกันตัวต่างๆ ได้แก่ ถุงมือ ผ้าปิดปากและจมูก ผ้าคาดเอวกันเปื้อน รวมทั้งรองเท้าบู๊ตกันน้ำสำหรับเจ้าหน้าที่ทุกคน

ระบบการบำบัดน้ำเสีย และกำจัดขยะของโรงพยาบาลดีขึ้น คุณภาพน้ำเสียที่ทิ้งออกจากโรงพยาบาลได้มาตรฐานไม่ก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นพิษต่อชุมชนรอบโรงพยาบาล

นอกจากนั้นยังเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของบุคลากรข้างหลังโรงพยาบาล ทั้งในด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และเชิดชูคุณค่าการเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาระดับโรงพยาบาลมาตรฐานทั้งด้านการรักษาพยาบาลและการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

 

ข้อมูลสื่อ

349-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 349
พฤษภาคม 2551
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์