• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการเจ็บอก (ต่อ)

การตรวจรักษาอาการเจ็บอก (ต่อ)
 

 

ในฉบับที่แล้วเราได้กล่าวถึงอาการเจ็บอก การตรวจรักษาคนไข้เป็นขั้นเป็นตอน และอาการเจ็บหัวใจไม่คงที่ ในฉบับนี้จะได้กล่าวถึงอาการเจ็บหัวใจจากหัวใจขาดเลือด (angina pectoris)

อาการเจ็บหัวใจจากหัวใจขาดเลือด (angina pectoris) ส่วนใหญ่จะวินิจฉัยได้จากอาการ (ประวัติของอาการ) ที่พบว่าอาการเจ็บอกนั้นมีลักษณะดังนี้


 

1. ตำแหน่งที่เจ็บ :
มักจะเจ็บบริเวณกลางอกด้านหน้า และ/หรือด้านหลัง , บริเวณยอดอกหรือลิ้นปี่ , อาจเจ็บบริเวณที่อกซ้ายส่วนล่างบริเวณหน้าหัวใจ (precordium) , ไหล่, แขนด้านใน, ลำคอส่วนลึก, ขากรรไกรล่าง, และหู (ดูรูปที่ 1)ไม่เจ็บที่บริเวณอกด้านขวา ด้านข้าง ด้านหน้าซ้ายส่วนบน หรือด้านหลัง ยกเว้นบริเวณส่วนตรงกลาง ระหว่างสะบัก หรือส่วนในของปีกสะบัก


2. ลักษณะอาการ :
มักเจ็บแบบลึกๆ (ปวดลึกๆ) หรืออาจไม่รู้สึกเจ็บหรือปวด แต่เป็นอาการจุกแน่นเสียด หายใจไม่ออก อึดอัด (เหมือนลมตีขึ้นหรือเหมือนกินอาหารอิ่มจัดๆ แน่นท้อง ลมดันขึ้น) หรือบางคนอาจจะบอกว่าเหนื่อย หรือแสบอาการเจ็บดังกล่าว เมื่อเป็นแล้วจะคงที่อยู่สักพักหนึ่ง แล้วจึงหาย ไม่เจ็บจี๊ดขึ้นมาแล้วหายไป ไม่เจ็บแปลบปลาบ แบบเป็นเร็วหายเร็ว (ดูรูปที่ 2)อาการเจ็บหัวใจนั้น ไม่เจ็บมากขึ้นเวลาหายใจลึกๆ ไอหรือจาม หรือเวลาแบะอก หรือห่อไหล่




3. การเกิดของอาการ  :

อาการเจ็บ มักเกิดขณะหรือหลังเครียด ไม่ว่าจะเครียดทางกายหรือทางใจ
ความเครียดทางกาย เช่น การออกกำลังกาย การร่วมเพศ การอาบน้ำเย็น การกินอาหารอิ่มเกินไป การทำอะไรแบบหักโหมทำหรือแบบรีบร้อน (ฉุกละหุก) เป็นต้น
ความเครียดทางใจ เช่น ความตื่นเต้น ความวิตกกังวล ความโกรธ ความตกใจ หรืออารมณ์รุนแรงอื่นๆ
อาการเจ็บมักไม่เกิดขณะอยู่ว่างๆเช่น กำลังฟังเพลง นอนเล่น นั่งเล่น อ่านหนังสือ เป็นต้น


4. การหายของอาการ  :
คนที่เกิดอาการเจ็บหัวใจจากหัวใจขาดเลือด (ไม่ว่าจะเป็นอาการแบบเจ็บปวด จุก แน่น หรือเหนื่อย) เมื่อเกิดอาการขึ้น มักจะทำให้คนไข้หยุดทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่ทันที เช่น กำลังเดินอยู่ก็จะหยุดเดิน กำลังหิ้วของอยู่ก็จะหยุดหิ้ว เป็นต้น มีน้อยรายที่สามารถฝืนใจทำต่อ ถ้าฝืนใจทำต่อมักจะเกิดอาการมากขึ้น (ดังนั้นคนที่มีอาการแล้วยังสามารถทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ต่อไปได้ในลักษณะเดิมจึงมักไม่ใช่อาการเจ็บหัวใจจากหัวใจขาดเลือด)การหยุดพักสักครู่หนึ่ง ประมาณ 5-10 นาที มักจะทำให้อาการดีขึ้น และหายไปหลังจากนั้นอาจจะทำในสิ่งที่หยุดทำไปได้ใหม่ เช่น เดินต่อไปได้ แต่ถ้าทำในลักษณะเร่งรีบ หรือหนักหน่วงเท่าเดิมก็อาจจะทำให้เกิดอาการขึ้นมาใหม่ได้

ถ้าคนไข้เกิดอาการในขณะนอนอยู่ คนไข้มักจะต้องลุกขึ้นนั่งหรือครึ่งนั่งครึ่งนอนอาการจึงจะดีขึ้น (ถ้าคนไข้เกิดอาการในขณะที่นั่งอยู่หรือยืนอยู่ แล้วบอกว่ารู้สึกดีขึ้นเมื่อนอนราบลงกับพื้น อาการที่เกิดขึ้นนั้นมักไม่ใช่อาการเจ็บหัวใจจากหัวใจขาดเลือด หรือคนไข้ที่เกิดอาการในขณะนอนอยู่แล้วบอกว่ารู้สึกดีขึ้นเมื่อตะแคงตัวหรือนอนคว่ำ หรือนอนหงายโดยไม่ต้องลุกขึ้นนั่ง ก็มักจะไม่ใช่อาการเจ็บหัวใจ เช่นเดียวกัน)ถ้าให้คนไข้อมยาไนโตรกลีเซอรีน (nitroglycerine) ไว้ใต้ลิ้น อาการจะดีขึ้น และหายภายในเวลา 2-3 นาที (ถ้าอาการหายหลังอมยาตั้งแต่ 5 นาทีขึ้นไป อาการนั้นมักไม่ใช่อาการเจ็บจากหัวใจขาดเลือด แต่เป็นอาการจากสาเหตุอื่นๆที่ไม่มีอันตรายใดๆ และยาอมใต้ลิ้นนี้เพียงแต่ช่วยให้จิตใจรู้สึกดีขึ้น ทำให้อาการหายไป)


5. ระยะเวลาที่มีอาการ  :
อาการเจ็บหัวใจจากหัวใจขาดเลือดจะมีอาการอยู่ไม่เกินครึ่งชั่วโมง (ส่วนมากจะไม่เกิน 10-15 นาที)
ถ้าเจ็บหัวใจนานกว่าครึ่งชั่วโมงจะเป็นอาการเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดมากจนกล้ามเนื้อหัวใจกำลังจะตาย ซึ่งจะทำให้มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หน้าซีด มือเท้าเย็น เหงื่อแตกทั้งตัว แน่นอึดอัด กระสับกระส่าย หายใจลำบาก หอบ เหนื่อย หน้ามืดเป็นลม หรือเดินไม่ไหว เป็นต้น และเมื่อให้อมยาไนโตรกลีเซอรีนใต้ลิ้นอาการมักจะไม่ดีขึ้น หรือถ้าดีขึ้นก็จะดีขึ้นเพียงเล็กน้อย
ถ้าเจ็บ จุก แน่น อึดอัด หรือเหนื่อย เป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ โดยไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย มักไม่ใช่อาการของภาวะหัวใจขาดเลือด หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย

 




6. ลักษณะของคนไข้  :

คนที่เจ็บหัวใจจากหัวใจขาดเลือด มักมีลักษณะดังนี้
6.1 มีอายุมากกว่า 30 ปี ถ้าเป็นชาย หรือมากกว่า 40 ปี ถ้าเป็นหญิง (โดยเฉพาะหญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว)
6.2 มีโรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง หรือโรคไขมันในเลือดสูงมาแต่กำเนิด
6.3 มีเรื่องเครียดเป็นประจำ
6.4 สูบบุหรี่จัดมานาน
6.5 ขาดการออกกำลังกายเป็นประจำ

ยิ่งมีลักษณะข้างต้นนี้หลายข้อ ยิ่งมีโอกาสเกิดอาการเจ็บจากหัวใจขาดเลือดมากขึ้น ดังนั้น ถ้าคนคนใดที่มีลักษณะข้างต้นหลายข้อเกิดอาการเจ็บ จุก แน่น เหนื่อย หรือไม่สบายขึ้นมาทันที ควรจะให้อมยาไนโตรกลีเซอรีน ถ้าอาการดีขึ้นและหายไปภายใน 2-3 นาที อาการนั้นน่าจะเกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือดอย่างไรก็ตามแม้จะไม่มีลักษณะข้างต้นหลายๆข้อ แต่ถ้ามีลักษณะในข้อ 6.1 หรือ 6.2 เพียงอย่างเดียว และเกิดอาการเจ็บ จุก แน่น เหนื่อย หรือไม่สบายขึ้นมาทันทีก็ควรจะลองให้อมยาไนโตรกลีเซอรีนเช่นเดียวกัน ถ้าอาการดีขึ้นและหายไปภายใน 2-3 นาที อาการนั้นน่าจะเกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือดเช่นเดียวกัน


ที่อธิบายอาการเจ็บอกจากอาการเจ็บหัวใจ(หัวใจขาดเลือด)ยืดยาวก็เพราะคนจำนวนไม่น้อยกลัวอาการเจ็บอกมาก เพราะคิดว่าอาการเจ็บอกของตนเป็นอาการเจ็บหัวใจทำให้กลัวและห่วงกังวลโดยไม่จำเป็น และเพราะว่าอาการเจ็บจากหัวใจขาดเลือด ต้องอาศัยการวินิจฉัยจากประวัติ(อาการ)เป็นสำคัญ




นอกจากนั้น คนที่เจ็บหัวใจจากหัวใจขาดเลือดที่เพิ่งเป็น(เป็นครั้งแรก) หรือมีลักษณะอาการเจ็บเปลี่ยนแปลงไป ที่เรียกว่า ภาวะเจ็บหัวใจไม่คงที่ (unstable angina oectorif) นั้นถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าให้คนไข้พักทั้งทางกายและทางใจ และอมยานโตรกลีเซอรีนบ่อยๆ (ทุกครั้งที่เริ่มมีอาการ) อาจให้ยากล่อมประสาท (ยาคลายกังวล) ยานอนหลับ และ/หรือยาช่วยลดการทำงานของหัวใจ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมากเกินไป จนกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
การรักษาภาวะเจ็บหัวใจไม่คงที่จึงแตกต่างจากการปฐมพยาบาลอาการฉุกเฉินอื่นๆ
สำหรับการปฐมพยาบาลอาการเจ็บหนัก หรืออาการฉุกฉินอื่นๆ ได้กล่าวไว้แล้วในมาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 64

เมื่อคนไข้พ้นจากอาการเจ็บหนักหรืออาการฉุกเฉินแล้ว การตรวจรักษาขั้นต่อไปจะเหมือนกับการตรวจรักษาคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉิน ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป


                                                                                                                              (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

89-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 89
กันยายน 2529
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์