• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการเจ็บอก

การตรวจรักษาอาการเจ็บอก

 

 

               รูปที่ 1 ตำแหน่งของอาการเจ็บอกที่อาจเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
                                               ( ตำแหน่งที่ระบายไว้เป็นสีทึบ )

 

อาการเจ็บอก เป็นอาการที่พบบ่อยมากอีกอาการหนึ่ง และในปัจจุบันเนื่องจากมีคนกลัวเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจตีบกันมาก เวลาที่เจ็บอกขึ้นมาจึงคิดว่า อาการเจ็บอกของตนนั้นเกิดจากโรคหัวใจ ทำให้เกิดเป็นกังวล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และยิ่งเจ็บอกมากขึ้น
อาการเจ็บอกในที่นี้ หมายถึง อาการเจ็บ ปวด แสบ แน่น อึดอัด หรือไม่สบายที่อก จะเป็นที่อกด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง ด้านบน หรือด้านล่าง ลงไปถึงชายโครง ลิ้นปี่ หรือยอดอก

ดังนั้น การวินิจฉัยอาการเจ็บอก จึงอาศัยการซักประวัติเป็นสำคัญ ถ้ามีอาการดังที่กล่าวแล้วอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ให้ถือว่า เป็นอาการเจ็บอกได้ทั้งนั้น
เมื่อวินิจฉัยได้ว่า คนไข้มีอาการเจ็บอกแล้ว การตรวจและรักษาคนไข้เป็นขั้นเป็นตอนต่อไปให้กระทำดังนี้ (ดูแผนภูมิที่ 1)
  
1. ขั้นตอนที่ 1 : ให้แยกว่าผู้ป่วยฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน โดยอาศัยหลักเกณฑ์สำหรับแสดงความฉุกเฉิน

1.1 หน้าซีด มือเท้าเย็นซีด และเหงื่อออกทั้งตัว ซึ่งแสดงว่า คนไข้เจ็บมาก หรือกำลังช็อก (ภาวะช็อกในที่นี้หมายความว่า ภาวะที่คนไข้มีเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายไม่เพียงพอ ทำให้หน้าซีด มือเท้าซีดเย็น และเหงื่อออก และอาจมีอาการในข้อ 1.2 ด้วย)

1.2 กระสับกระส่าย สับสน (หลงหรือเลอะเลือน) หมดสติ อัมพาต หรือชัก ซึ่งแสดงว่า สมองได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่พอจากภาวะช็อก หรือจากการอุดตันของเส้นเลือดในสมองหรืออื่นๆ โดยเฉพาะถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นทันที(ไม่เคยเป็นมาก่อน) และเกิดร่วมกับอาการในข้อ 1.1

 



1.3 อาเจียนมาก หรืออาเจียนเป็นเลือด ซึ่งแสดงว่าหลอดอาหารและ/หรือกระเพาะอาหาร อักเสบ เป็นแผลรุนแรงจากสาเหตุอะไรก็ตาม

1.4 หอบเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ซึ่งแสดงว่าหัวใจล้ม หรือปอดผิดปกติมาก จากสาเหตุใดก็ตาม

1.5 ชีพจรเต้นผิดปกติ โดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือไม่แน่ใจว่า ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งแสดงว่าอาการเจ็บอกนั้นอาจจะเกิดจากโรคหัวใจ หรือรุนแรงมากจนกระทบกระเทือนหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ

 



1.6 ชีพจรบางแห่งหายไป เช่น ชีพจรที่ข้อมือหรือที่ขาหนีบข้างหนึ่งข้างใดหายไป ซึ่งทำให้คิดว่าเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงแขนหรือขาข้างนั้นถูกอุดกั้น ซึ่งอาจเกิดจากก้อนเลือดในหัวใจหลุดไปอุดกั้น หรือเกิดจากเส้นเลือดแดงใหญ่ในอกปริ (aortic dissection) จนอุดกั้นการไหลเวียนของเลือดไปสู่แขนหรือขาข้างนั้น

1.7 ไข้สูงมาก ซึ่งแสดงว่าอาจมีการติดเชื้อรุนแรงหรือมีการอักเสบรุนแรงในทรวงอก

1.8 ความดันเลือดสูงมาก ซึ่งแสดงว่า อาการเจ็บอกรุนแรงอาจเกิดจากหลอดเลือดอกแยก หรือในบางครั้งจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน เพราะหลอดเลือดหัวใจตีบตันหรือถูกอุดกั้น
(การตรวจชีพจร ไข้หรืออุณหภูมิร่างกาย และความดันเลือด ให้ดูในการตรวจร่างกายในมาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 16,18)

1.9 อาการเจ็บหัวใจไม่คงที่ (unstable angina or suspected unstable angina) ซึ่งถือว่า ฉุกเฉิน เพราะเป็นอาการที่เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่อาจลุกลามไปเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ จึงต้องการความสามารถในการวินิจฉัยอาการนี้ให้ได้แต่เนิ่นๆ จะได้ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้

อาการเจ็บหัวใจไม่คงที่ ในที่นี้ หมายถึงอาการเจ็บหัวใจจากหัวใจขาดเลือดที่เจ็บเป็นครั้งแรก หรืออากรเจ็บหัวใจนั้นเปลี่ยนลักษณะไป เช่น เปลี่ยนจากอาการเจ็บตอนบ่ายเป็นตอนเช้า หรือเปลี่ยนจากอาการเจ็บวันละ 2-3 ครั้งเป็นวันละ 9-10 ครั้ง หรือเปลี่ยนจากที่เคยออกกำลังแล้วจึงเจ็บมาเป็นอาการเจ็บแม้แต่ในขณะที่นั่งเฉยๆอยู่เป็นต้น


                                                 (ฉบับหน้าพบกับ การวินิจฉัยอาการเจ็บหัวใจจากหัวใจขาดเลือด)

 


 

ข้อมูลสื่อ

88-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 88
สิงหาคม 2529
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์