• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการเจ็บคอ ปวดคอ (ต่อ)

การตรวจรักษาอาการเจ็บคอ ปวดคอ (ต่อ)


ในฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงอาการเจ็บในคอหอยที่ไม่ฉุกเฉินหรือเจ็บหนักแต่ควรไปโรงพยาบาล และในฉบับนี้จะได้กล่าวถึงอาการเจ็บในคอหอยที่ไม่ฉุกเฉินหรือเจ็บหนัก และไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล (ดังอาการเจ็บคอที่กล่าวไว้ในฉบับก่อนๆ) อาจจะลองรักษาเองก่อนได้ โดย

1. ดูจากประวัติ
(อ่านเพิ่มเติมจากมาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 84)

1.1 ถ้ากลืนอาหาร น้ำ หรือน้ำลายแล้วเจ็บ หรือเจ็บมากขึ้น มักแสดงว่าเจ็บในคอหอย ให้ดำเนินการตรวจรักษาต่อไปตาม ข้อ 2

1.2 ถ้าแสบคอลึกๆ
ร่วมด้วย อาการไอรุนแรงหรือไอมาก อาจมีอาการคันคอ เจ็บคอร่วมด้วย มักแสดงว่าเจ็บในหลอดลม ให้ดำเนินการตรวจรักษาต่อไปตามข้อ 3

1.3 ถ้าแสบคอลึกๆ ร่วมด้วย อาการเสียงแหบ อาจมีอาการไอร่วมด้วย มักแสดงว่า กล่องเสียงอักเสบ ให้งดการใช้เสียง (งดพูด) ถ้าจำเป็นต้องใช้เสียง (ต้องพูด) ขอให้พูดด้วยเสียงเบาๆ (อย่าตะโกน) พูดให้สั้นที่สุดและพูดให้น้อยที่สุด แล้วอาการเสียงแหบจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว การรักษาอื่นๆ ให้รักษาแบบข้อ 1.1 ถ้ามีอาการเจ็บคอเวลากลืนอาหารและน้ำ หรือรักษาแบบข้อ 1.2 ถ้ามีอาการไอร่วมด้วย

1.4 ถ้าเจ็บหรือจุกแน่นในคอเหมือนมีอะไรมาติดคอทำให้หายใจไม่สะดวกเวลาทำงานหนัก เวลาอาบน้ำ หรือกินอิ่มมาก นั่งพักแล้วดีขึ้น หรือลองอมยาไนโตรกลีเซอรีนไว้ที่ใต้ลิ้นแล้วดีขึ้นใน 2-3 นาที อาการเจ็บหรือจุกแน่นในคอมักเกิดจากการเจ็บหัวใจจากภาวะหัวใจขาดเลือด ที่อาการเจ็บนั้นร้าวมาที่คอให้พกยาอมไนโตรกลีเซอรีนติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อที่จะได้ใช้อมทุกครั้งที่มีอาการเจ็บอกหรือจุกแน่นในคอ และพยายามพักผ่อนอย่าให้เกิดอาการขึ้นบ่อยๆ และถ้ามีเวลาควรจะไปหาหมอ เพื่อการตรวจรักษาเพิ่มเติม (ดูรายละเอียดการรักษาอาการเจ็บอกในเรื่องการตรวจรักษาอาการเจ็บอกในโอกาสต่อไป)

1.5 ถ้าเจ็บๆแสบๆตั้งแต่กลางคอลงไปถึงกลางอก ที่ไม่ได้เกิดหลังทำงานหนัก แต่มักเกิดร่วมกับการอาเจียนหรือเรอเปรี้ยว(เรอแล้วมีน้ำเปรี้ยวๆออกมาในปาก) หรืออาการกลืนอาหารลำบาก มักแสดงว่าอาการเจ็บคอนั้นเกิดจากหลอดอาหารอักเสบ หรือตีบตัน ให้ดำเนินการตรวจรักษาต่อไปตามหัวข้อ 4

1.6 ถ้าใช้มือกดภายนอกแล้วเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ กระดูก ต่อมธัยรอยด์ หรือที่อื่น อาการเจ็บนั้นมักจะอยู่ที่อวัยวะภายนอกคอ ให้ดำเนินการรักษาแบบอาการเจ็บข้างนอกคอ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

1.7 ถ้ามีอาการเจ็บหรือปวดในบริเวณอื่นด้วย เช่น เจ็บหน้าอกแล้วร้าวมาจุกที่คอ (ดูข้อ 1.4) หรือปวดศีรษะ ปวดหู แล้วร้าวมาปวดที่คอ หรืออื่นๆ มักจะแสดงว่าอาการเจ็บคอนั้นเป็นอาการเจ็บหรือปวดที่ร้าวมาจากที่อื่น ให้ดำเนินการรักษาที่ต้นตอของอาการเจ็บนั้น




2. ถ้าเจ็บในคอหอย
ให้อ้าปากและดูคอหอยของคนไข้ (สำหรับคนที่ต้องการตรวจตนเองก็อาจทำได้โดยอ้าปาก และดูคอหอยของตนเองในกระจกเงา) แล้วให้คนไข้ออกเสียง “อา” ดังๆ เพื่อให้โคนลิ้นแนบลงกับพื้นปาก และให้เพดานปากและลิ้นไก่กระดกขึ้นจะได้เห็นคอหอยได้ชัดเจนขึ้น (ดูวิธีการตรวจคอหอยในหมอชาวบ้านฉบับที่ 32)            

2.1 ถ้าคอหอยไม่แดงจัดและไม่มีจุดหรือฝ้าขาว เหลือง หรือสีอื่นที่บริเวณคอหอยและต่อมทอนซิล อาการเจ็บคอนั้นส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น เชื้อหวัด หรือเกิดจากการระคายคอด้วยอาหารบางชนิด เช่น แกงจืดใบตำลึง ด้วยสารเคมี เช่น กรด รวมทั้งกรดจากมะนาวหรือของเปรี้ยว ด่าง รวมทั้งน้ำปูนที่ใช้ทำอาหาร ยาฆ่าแมลง เป็นต้น หรือด้วยสิ่งอื่นๆ เช่น ก้างปลา วัตถุมีคม เป็นต้น


การรักษา
ถ้าคอเจ็บจากการกินยาฆ่าแมลงหรือกรด ด่างอย่างแรง หรือยังมีก้างปลาหรือวัตถุมีคมติดอยู่ ควรรีบพาไปโรงพยาบาล แม้ยังไม่มีอาการหนัก
แต่ถ้าคอเจ็บจากสาเหตุอื่นและยังกลืนน้ำและอาหารได้ ให้ดื่มหรือจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอหรือระคายคอ หรือจะดื่มน้ำผึ้งผสมมะนาวที่รสไม่เข้มข้นมาก หรือน้ำหวานที่ไม่หวานจัด ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ จะบรรเทาอาการเจ็บคอได้
ถ้ายังเจ็บคอมาก อาจใช้ยากวาดคอ เช่น ยากวาดคอ(Mandl’s paint) ขององค์การเภสัชกรรม ก็จะช่วยลดอาการเจ็บคอลงได้ หรือจะกินยาพาราเซตามอลช่วยบรรเทาปวดก็ได้

2.2 ถ้าคอหอยแดงจัดหรือมีจุดหรือฝ้าขาว เหลือง หรือสีอื่น ที่คอหอยหรือต่อมทอนซิล ซึ่งมักจะร่วมด้วยอาการไข้ (ตัวร้อน) ด้วย ให้กินยาเพนวี (เม็ดละ 250 มิลลิกรัม) ครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 4 ครั้งก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง และให้ดื่มน้ำบ่อยๆ หรือใช้น้ำเกลือ (น้ำผสมเกลือพอให้เค็มปะแล่มๆ) อมบ้วนปากแล้วกลั้วคอบ่อยๆ และใช้วิธีรักษาเช่นเดียวกับข้อ 1.1 ร่วมด้วย
หมายเหตุ
ผู้ที่แพ้ยาเพนิซิลลิน ห้ามกินยาเพนวี


3. ถ้าเจ็บในหลอดลม

ให้ตรวจรักษาดังนี้
3.1 ถ้าฟังปอดไม่พบเสียงหวีด (ดูวิธีการตรวจปอด ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 36) ให้การรักษาดังนี้

3.1.1 ถ้าเสมหะขาว ให้ดื่มน้ำมากๆ จิบน้ำร้อนหรือยาแก้ไอ เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ ยาแก้ไอสกิลเล่แอมมอน หรือจิบน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง หรือยาแก้ไออื่นๆ ที่ช่วยลดอาการคันคอหรือระคายคอ ถ้ามีไข้สูงหรือปวดเมื่อยตามตัว อาจกินยาแก้ปวดลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอลได้

3.1.2 ถ้าเสมหะเขียวหรือเหลืองหรือเป็นหนอง นอกจากจะรักษาแบบหัวข้อ 3.1.1 แล้ว ควรกินยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี ในหัวข้อ 2.2 หรือแอมพิซิลลิน (ขนาด 500มิลลิกรัม) ครั้งละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร 3 เวลาและก่อนนอน ผู้ที่แพ้เพนิซิลลินห้ามกินยาเพนวีและแอมพิซิลลิน และให้ใช้ยาโคไตรม็อกซาโซล (cotrimoxazole) กินครั้งละ 2 เม็ด หลังอาหารเช้าและเย็น ผู้ที่แพ้ยาซัลฟาห้ามกินยาโคไตรม็อกซา
โซล

3.1.3 ถ้าเสมหะมีเลือดสีแดงสดปนออกมากับเสมหะ เลือดออกมาไม่มาก และออกหลังจากการไอรุนแรง ไม่ต้องตกใจ ให้พยายามไอให้เบาลง หรือใช้การกระแอมช่วย (แทนการไอ) เพราะการไอรุนแรงจะทำให้เส้นเลือดฝอยในบริเวณหลอดลมหรือคอหอยปริแตก ทำให้มีเลือดสีแดงสดออกมาได้ นอกจากนั้นให้รักษาตามหัวข้อ 3.1.1 และ 3.1.2

3.1.4 ถ้าเสมหะมีเลือดสีคล้ำ (เลือดเก่าๆ) และออกมาเป็นก้อน หรือสีช้ำเลือดช้ำหนองหรือมีเลือดออกมาก ควรพยายามไอให้เบาลงหรือใช้การกระแอมช่วย และเก็บเสมหะปนเลือดนั้นไปตรวจหาเชื้อวัณโรคและเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ถ้าเคยเป็นเช่นนี้มาก่อนและหมอบอกว่าไม่ได้เป็นวัณโรค แต่เป็นโรคหลอดลมโป่งพอง ให้รักษาแบบข้อ 3.1.2

3.2 ถ้าฟังปอดพบเสียงหวีดให้การรักษาดังนี้

3.2.1 ถ้าเสมหะขาว
ให้การรักษาแบบหัวข้อ 3.1.1 และให้ยาขยายหลอดลม เช่น ยาอะมีโนฟิลลีน (aminophyline) ขนาด 200 มิลลิกรัม หรือ ธีโอฟิลลีน (theophyline) ขนาด 200 มิลลิกรัม กินครั้งละ ครึ่ง-1 เม็ด หลังอาหาร 3 เวลา และก่อนนอน หรือเวลาที่ไอ หอบ หรือหายใจมีเสียงหวีด

3.2.2 ถ้าเสมหะสีเขียวหรือเหลือง ให้การรักษาแบบหัวข้อ 3.2.1 และให้ยาปฏิชีวนะ เช่น แอมพิซิลลิน หรือโคไตรม็อกซาโซล (ดูรายละเอียดในข้อ 3.2.1) ด้วย


                            

4. ถ้าเจ็บในหลอดอาหาร
ให้การรักษาดังนี้
4.1 ถ้าเจ็บๆแสบๆโดยเฉพาะถ้ามีอาการเรอเปรี้ยวร่วมด้วย ให้กินยาลดกรดชนิดน้ำครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ทุก 1-2 ชั่วโมง จนไม่มีอาการ แล้วลดเหลือครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ หลังอาหาร 1-2 ชั่วโมงและก่อนนอน จนอาการหายขาดแล้วจึงหยุดยาได้
นอกจากนั้นควรระวังตนอย่ากินอาหารให้อิ่มมาก อย่านอนราบลงหลังอาหาร อย่าดื่มสุรา ชา กาแฟ และอย่ากินของเผ็ดหรือแสบร้อนมาก เพราะจะทำให้โรคหลอดอาหารอักเสบ (esophagitis) หายยาก

4.2 ถ้าเจ็บๆ แน่นๆ หรือร่วมกับอาการกลืนลำบาก หรือร่วมกับอาการอาเจียนเป็นอาหารเก่าๆที่กินเข้าไปตั้งนานแล้วออกมา ให้สงสัยว่าหลอดอาหารตีบตัน ควรจะไปหาหมอ

 

 


 

ข้อมูลสื่อ

86-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 86
มิถุนายน 2529
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์