• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการเจ็บอก (ต่อ)

การตรวจรักษาอาการเจ็บอก (ต่อ)



คนไข้เจ็บอกที่มีอาการเจ็บหนักหรือฉุกเฉิน เมื่อได้รับการปฐมพยาบาลและการรักษาขั้นต้นจนอาการดีขึ้นพอที่จะเคลื่อนย้ายคนไข้ไปที่โรงพยาบาลแล้ว ควรจะรีบส่งคนไข้ไปโรงพยาบาล
สำหรับคนไข้ที่มีอาการเจ็บ ปวด แสบ แน่น หรืออื่นๆ ที่บริเวณอก แต่ไม่มีอาการเจ็บหนัก หรือฉุกเฉิน อาจจะให้การตรวจรักษาเป็นขั้นตอน ตามแผนภูมิที่ 1 คือ

 



ให้ถามคนไข้ว่า อาการเจ็บอกนั้น กดเจ็บไหม หรือรู้สึกเจ็บมากขึ้นเวลาหายใจ ไอ จาม หรือเคลื่อนไหวอก (แบะอก ห่อไหล่ บิดตัว) หรือไม่ จากคำถามนี้ จะแบ่งคนไข้ออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. ใช่ คนไข้มีอาการกดเจ็บตรงบริเวณที่บ่นเจ็บด้วย หรือคนไข้รู้สึกเจ็บมากขึ้นเวลาหายใจเข้าหรือออก เวลาไอ จาม หรือเคลื่อนไหวอก เช่น แบะอก ห่อไหล่ บิดตัว ก้มตัว หรือแอ่นอก เป็นต้น

2. ไม่ใช่ คนไข้ไม่มีอาการกดเจ็บตรงบริเวณที่บ่นเจ็บ และไม่รู้สึกเจ็บมากขึ้นเวลาหายใจ ไอ จาม หรือเคลื่อนไหวอก

3. ไม่แน่ใจ หมายความว่า คนไข้ไม่แน่ใจว่า อาการเจ็บอกนั้น กดเจ็บหรือไม่ หรือบางครั้งก็กดเจ็บ บางครั้งก็กดไม่เจ็บ บางครั้งก็เจ็บมากขึ้นเวลาหายใจ ไอ จาม หรือเคลื่อนไหวอก บางครั้งก็ไม่เจ็บมากขึ้น เป็นต้น

1. สำหรับคนไข้ประเภทที่หนึ่ง
ที่มีอาการกดเจ็บตรงบริเวณที่ที่บ่นเจ็บ หรือรู้สึกเจ็บมากขึ้นเวลาหายใจเข้าหรือออก เวลาไอ จาม หรือเคลื่อนไหวอก ให้ตรวจรักษาดังนี้
1.1 ถ้ามีอาการน้อยและตรวจไม่พบสาเหตุ :
ให้ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน หรือพาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด เวลาปวด ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง (ห้ามใช้แอสไพรินในคนที่เป็นโรคกระเพาะ และให้ดื่มน้ำตามสัก 1-2 แก้วเวลากินยา ส่วนยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ในคนที่เป็นโรคตับ) นอกจากนั้นอาจให้ยาคลายประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น ไดอะซีแพม (ขนาด 2 มิลลิกรัม) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อคลายเครียดและช่วยลดอาการปวดลง

1.2 ถ้ามีอาการมาก หรือตรวจพบสาเหตุ :
ให้รักษาอาการปวดและรักษาสาเหตุด้วย
โดยทั่วไป ผู้ที่มีอาการเจ็บอกมาก และกดเจ็บด้วยหรือเจ็บอกมากขึ้นเวลาหายใจ ไอ จาม หรือเคลื่อนไหวอกด้วย มักจะตรวจพบสาเหตุเสมอ

                 
สาเหตุแรกคือ ที่ผิวหนัง
ถ้าผิวหนังบริเวณที่เจ็บมีฝี แผล หรือการอักเสบอื่นๆ อาการเจ็บอกก็น่าจะเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ ให้ทำการรักษาฝี แผล หรือการอักเสบนั้น แล้วอาการเจ็บอกจะดีขึ้น ถ้ายังเจ็บมาก อาจให้ยาแก้อาการเจ็บ เช่น แอสไพริน หรือพาราเซตามอล ดังกล่าวไว้ในข้อ 1.1

ถ้าผิวหนังบริเวณที่เจ็บไม่มีลักษณะผิดปกติ ให้ลูบเบาๆ หรือใช้ชายผ้า (เศษผ้า สำลี) ลูบเบาๆ ถ้าเกิดอาการเจ็บเสียวขึ้นอย่างมาก (neuralgia) แสดงว่า ปลายประสาทบริเวณนั้นอักเสบ ซึ่งถ้าต่อมาเกิดเป็นตุ่ม หรือตุ่มพองขึ้นในบริเวณนั้น ก็แสดงว่าคนไข้เป็นงูสวัด (herpes zoster)
การรักษาปลายประสาทอักเสบ ไม่ว่าจะเกิดจากงูสวัดหรือไม่ ให้รักษาแบบข้อ 1.1 และให้ยาวิตามินบีรวมอย่างเข้ม (Vitamin B Complex forte) ร่วมด้วยโดยให้กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร เป็นเวลาประมาณ 7-10 วัน

ส่วนตุ่มพองหรือแผลของงูสวัดนั้น ให้รักษาความสะอาดโดยการล้างด้วยน้ำและสบู่ หรือเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70% (ถ้าไม่มี ใช้เหล้าขาว 40 ดีกรีแทนก็ได้) ห้ามไปแคะ แกะ หรือบ่งตุ่มพองให้แตกออก เพราะจะทำให้เชื้อโรคอื่นเข้าแทรก เกิดเป็นหนองเป็นแผลลุกลามมากขึ้น (ยาฝรั่งที่ใช้กินหรือทาเพื่อรักษางูสวัดมีราคาแพงมากและมักไม่ได้ผล แต่ยาจีน(ซื้อได้ตามร้ายขายยาจีน) ซึ่งเป็นผงสีเหลืองๆ กลิ่นหอมใช้ผสมเหล้าขาวแล้วทา มักจะทำให้ผื่นแห้งและยุบเร็ว และช่วยลดอาการปวดได้ และราคาไม่แพง)

ถ้าผิวหนังบริเวณที่เจ็บไม่มีลักษณะผิดปกติ และลูบเบาๆแล้วไม่เจ็บ ให้ลองกดบริเวณที่เจ็บเบาๆ หรือให้เคลื่อนไหวทรวงอก เช่น แบะอก (แบะไหล่) ห่อไหล่ บิดอก

- ถ้าเจ็บเหมือนกับอาการเจ็บที่เป็นอยู่ แสดงว่า กระดูกเอ็น ข้อและ/หรือกล้ามเนื้อในบริเวณทรวงอกขัดยอก เคล็ดหัก หรืออักเสบ ให้ประคบด้วยน้ำร้อน ให้ยาแก้ปวดและยาคลายประสาทและกล้ามเนื้อ(ดูข้อ 1.1) ถ้าไม่ดีขึ้น ควรไปโรงพยาบาล

- ถ้าเจ็บ แต่ไม่เหมือนกับอาการเจ็บที่เป็นอยู่ อาจเป็นโรคประสาท (ประสาทอ่อน กังวลหรือเครียด) ให้ประคบด้วยน้ำร้อน ให้ยาแก้ปวดและยาคลายประสาทและกล้ามเนื้อ (ดูข้อ 1.1) ถ้าไม่ดีขึ้น ควรไปโรงพยาบาลเช่นเดียวกัน

ถ้าผิวหนังบริเวณที่เจ็บไม่มีลักษณะผิดปกติ และกดบริเวณที่เจ็บหรือให้เคลื่อนไหวทรวงอกแล้วไม่เจ็บ แต่เวลาหายใจลึกๆ ไอ หรือจามแล้วเจ็บ อาการเจ็บนั้นมักเกิดจากเยื่อหุ้มปอดและ/หรือปอดอักเสบ การตรวจร่างกายโดยการดู คลำ เคาะ ฟังปอด (ทรวงอก) ให้ละเอียดขึ้น (ดูวิธีการตรวจปอดใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 40) อาจจะทำให้พบสิ่งผิดปกติหรือสาเหตุของการเจ็บนี้ เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ ปอดอักเสบ (ปอดบวม) เป็นต้น

ในกรณีเช่นนั้น ควรจะไปตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เยื่อหุ้มปอดอักเสบ ปอดอักเสบ หรืออื่นๆ ที่โรงพยาบาลต่อไป เพื่อจะได้รักษาให้ถูกต้องและหายขาดจากโรคที่เป็นได้



 

ข้อมูลสื่อ

90-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 90
ตุลาคม 2529
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์