• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นางฟ้าตัวจริง

คนที่ใกล้ชิดกับคนไข้ที่นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมากที่สุดคือ พยาบาล ซึ่งให้การดูแลตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน

พยาบาลให้การรักษาพยาบาลร่วมกับแพทย์ปฏิบัติการต่อคนไข้ต่างๆ พยาบาลมีส่วนมากกว่าแพทย์เสียอีก ไม่ว่าจะเป็นการแทงเข็มเข้าเส้นเลือด เพื่อเจาะเลือดไปตรวจ การให้น้ำเกลือ การให้เลือด การฉีดยา กินยา ให้ออกซิเจน ทำแผล

การดูแลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการป้อนอาหาร ให้อาหารทางท่อ ดูแลการขับถ่าย ถ้ามีปัญหาบางครั้งต้องสวนปัสสาวะให้ หรือต้องล้วงอุจจาระให้ การช่วยทำความสะอาดช่องปากในรายที่ไม่สามารถแปรงฟันหรือบ้วนปากเองได้ การเช็ดตัว ทำความสะอาดร่างกาย การสวมใส่เสื้อผ้า การจัดเตียง จัดที่นอน จัดท่านอนที่เหมาะสม ช่วยพลิกตัวถ้าพลิกตัวเองไม่ได้ รวมทั้งการดูแลด้านจิตใจ พูดคุยให้กำลังใจ ซึ่งญาติใกล้ชิดที่อยู่ด้วยกันมาเกือบตลอดชีวิตยังมีโอกาสดูแลน้อยกว่าพยาบาลเสียอีก

สารพัดงานที่พยาบาลทำได้
เนื่องด้วยการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ด้าน ต่างๆ ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ พยาบาลจึงต้องรับหน้าที่ทำงานแทน
ยกตัวอย่างเช่น
ฉีดยาแทนแพทย์ ตรวจคนไข้แทนแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลชุมชนซึ่งมีแพทย์เพียง 3-4 คน ซึ่งต้องรับภาระตรวจคนไข้หลายร้อยคนตลอดเวลา 24 ชั่วโมงทุกวัน ซึ่งเป็นภาระงานที่มากเกินกำลังของแพทย์ พยาบาลวิสัญญีซึ่งมีหน้าที่ช่วยวิสัญญีแพทย์ แต่โรงพยาบาลจำนวนมากไม่มีวิสัญญีแพทย์ วิสัญญีพยาบาลจึงต้องทำหน้าที่แทน พยาบาลทำหน้าที่จัดยาแทนเภสัชกรนอกเวลาราชการ พยาบาลทำหน้าฟื้นฟูสภาพคนไข้แทนนักกายภาพบำบัด เป็นต้น

การดูแลคนไข้วิกฤติ พยาบาลต้องดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา ทั้งการประเมินสัญญาณชีพ การประเมินอาการแสดง การอ่านค่าและประเมินต่างๆ จากการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษ เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งโดยองค์ความรู้และทักษะ พยาบาลมีศักยภาพน้อยกว่า แพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา แต่ทุกวันนี้พยาบาลรับหน้าที่ทำงานคู่ขนานกับแพทย์ และเป็นผู้ที่คอยรายงานแพทย์เมื่อคนไข้มีอาการ เปลี่ยนแปลงทรุดลง พยาบาลจึงเป็นบุคคลสำคัญในการรักษาพยาบาลคนไข้วิกฤติ ซึ่งคนไข้ที่อาการหนักมากพยาบาลต้องเฝ้าอยู่ข้างตัวคนไข้ตลอดเวลา จึงต้องใช้อัตราพยาบาล 1 คนต่อคนไข้ 1 คน เมื่ออัตรากำลังพยาบาลไม่เพียงพอ พยาบาล 1 คนอาจต้องดูแลคนไข้ 3-4 คน

หลายโรงพยาบาลมอบหมายให้พยาบาลดูแลงาน ติดตามดูแลเยี่ยมบ้านคนไข้ งานสาธารณสุขชุมชน งานส่งเสริมสุขภาพ งานโภชนาการ งานหน่วยจ่ายกลาง (ทำให้อุปกรณ์เครื่องมือปราศจากเชื้อ) งานซักฟอกระบบ ควบคุมป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งดูแลทั้งการติดเชื้อของคนไข้ จัดการอาคารสถานที่สิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมไม่เกิดการปนเปื้อน รวมทั้งจัดการระบบบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะ

หลายโรงพยาบาลจัดตั้งศูนย์ฮอตไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนไข้และญาติ รวมทั้งประชาชนทั่วไป หลายแห่งมอบหมายให้พยาบาลทำหน้าที่นี้ เพราะเหมาะสมและทำหน้าที่ได้ดีที่สุด เนื่องด้วยต้องมีความรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุข ทักษะด้านการสื่อสาร รวมทั้งความเต็มใจในการบริการ ต้องตอบคำถามทุกรูปแบบจากผู้คนทุกประเภท

กระบวนการพยาบาล
กระบวนการพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ผูกพันกับชีวิตคน การรักษาพยาบาลต้องดูแลคนไข้อย่างเป็นองค์รวม กล่าวคือ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณของคนไข้ รวมทั้งต้องบูรณาการความรู้ทั้งด้านการรักษา การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ และการฟื้นฟูสภาพไปพร้อมๆกัน

หากพยาบาลละเลยไม่ทำตามเกณฑ์มาตรฐานหรือทำผิดพลาด ยากนักที่ใครจะรู้ได้ แม้แต่ตัวคนไข้เอง บางครั้งพยาบาลต้องอดข้าว เพียงเพื่อเพียรพยายามฉีดยาเข้าเส้นเลือดให้คนไข้เด็กนับสิบคนให้ได้ครบตามเวลาที่กำหนด เพราะหากคนไข้ได้ยาไม่ทันตามช่วงเวลา ความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดอาจไม่เพียงพอ ทำให้ประสิทธิผลการรักษาพยาบาลอาจไม่ดี

พยาบาลทำงานเป็นกะ กะละ 8 ชั่วโมง แต่ทุกวันนี้เกือบทุกแห่งพยาบาลต้องขึ้นทำงานก่อนเวลา และลงจากที่ทำงานหลังเวลา เพราะมีช่วงเวลาการส่งเวร (การสื่อสารสภาพของคนไข้และแนวทางการดูแลต่อเนื่อง) การทำงานเกินเวลา จึงเป็นภาวะปกติของพยาบาล

คนไข้ชื่นชม
จึงไม่น่าแปลกใจที่คนไข้ที่ได้รับการดูแลรักษา จะยกย่องชื่นชมพยาบาล พยาบาลคนหนึ่งมารู้ภายหลังว่าคนไข้ที่เธอทำคลอดให้ ตั้งชื่อลูกสาวตามชื่อเธอ เพราะตื้นตันในความเอื้ออาทรขณะทำคลอดให้
คนไข้คนหนึ่งถูกไฟไหม้ ต้องนอนทำแผลในโรงพยาบาลหลายเดือน เวลาผ่านไปร่วม 20 ปี ยังพูดถึงพยาบาลที่ทำแผลให้แม้ว่าจะเจ็บทุกครั้งที่ต้องทำแผล แต่สีหน้าแววตาของความเห็นอกเห็นใจ ทำให้เธอมีกำลังใจในการต่อสู้กับบาดแผลอย่างอดทน มีความหวัง และอาการดีขึ้นจนแผลหาย

เด็กน้อยคนหนึ่งติดเชื้อรุนแรง ต้องนอนฉีดยาวันละหลายเข็มนานหลายสัปดาห์ แรกๆ เขาร้องไห้ทุกครั้งที่ถูกฉีดยา แต่กลุ่มพยาบาลผู้ดูแลสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ จนเด็กให้ความร่วมมือด้วยดีไม่ร้องไห้และไม่ดิ้น

เมื่อ 20 ปีก่อน ขณะที่อหิวาตกโรคระบาด คนไข้ท้องเสียนอนให้น้ำเกลือเต็มเรือนพักคนไข้ จนโรงพยาบาลต้องเจาะเตียงเป็นช่องให้คนไข้ถ่าย แล้วเอาถังรองไว้ข้างใต้เตียง พยาบาลจบใหม่คนหนึ่งอดทนตวงปริมาณอุจจาระคนไข้ แล้วให้น้ำเกลือเข้าเส้นให้ทันปริมาณอุจจาระตามที่คุณหมอสั่ง เธอใจจดจ่อกับงานทั้งคืน ลืมความน่ารังเกียจของอุจจาระ รุ่งเช้าคนไข้ที่เธอดูแลอาการดีขึ้น ทำให้เธอเชื่อมั่นในคุณค่าของคำว่าพยาบาล

พยาบาลคนหนึ่งมีประสบการณ์ฝังใจสมัยเป็นนักเรียนพยาบาลต้องอุ้มเด็กโรคเลือดคนหนึ่งในอ้อมกอด โดยเด็กจับมือเธอแน่น ก่อนจะสิ้นลมในอ้อมกอด เธอเล่าว่า ขณะเด็กจะสิ้นลมหายใจ บังเอิญญาติไม่อยู่ เด็กจึงจับมือเธอแน่นเหมือนเป็นที่พึ่งสุดท้าย อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ในวันนั้นได้สร้างจิตวิญญาณของความเป็นพยาบาล ในการดูแลคนไข้วาระสุดท้ายมาจนถึงทุกวันนี้

พยาบาลอีกคนหนึ่งเล่าว่า คนไข้วาระสุดท้ายคนหนึ่งกุมมือเธอแน่นก่อนสิ้นชีวิต ท่ามกลางญาติที่ห้อมล้อมรอบเตียง คงด้วยช่วงเวลาวาระสุดท้ายที่ได้ดูแลกัน ทำให้คนไข้ไว้ใจเธอ และสิ้นชีวิตอย่างสงบ

วิชาชีพพยาบาลนอกจากความรู้และทักษะทางวิชาชีพแล้ว น้ำใจแห่งความรักเพื่อนมนุษย์เป็นคุณสมบัติที่มีคุณค่ายิ่ง

คุณหมอผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ป่วยด้วยโรคติดเชื้อในสมอง ได้รับการรักษาพยาบาลจนผ่านภาวะวิกฤติมีชีวิตรอดมาได้ บอกความรู้สึกว่า "ถ้าไม่เจ็บหนักใกล้ตาย ก็ยังไม่รู้คุณค่าพยาบาลดีพอ แม้จะทำงานร่วมกันมานานหลายสิบปี"Ž

หากโลกนี้มีนางฟ้า พยาบาลคือนางฟ้าตัวจริง

ฉบับหน้าโปรดติดตาม "เรียกหาพยาบาล"

ข้อมูลสื่อ

352-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 352
สิงหาคม 2551
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์