• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดท้อง ไส้ติ่งอักเสบ

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 61
ปลายปีที่แล้ว มีข่าวดังไปทั่วประเทศ และยังเป็นปัญหาลูกโซ่มาถึงปัจจุบัน เมื่อศาลทุ่งสงได้ตัดสินจำคุกแพทย์เป็นเวลา 3 ปี ใน "ความผิดที่กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยไม่รอลงอาญา"

ทำให้วงการแพทย์ตกใจกันมาก เป็นเหตุให้นักเรียนที่สอบเข้าเรียนแพทย์ได้สละสิทธิ์ที่จะเข้าเรียนแพทย์เป็นจำนวนมาก (หลายร้อยคน) และทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน (โรงพยาบาลอำเภอ) ต่างๆ ปฏิเสธที่จะทำการผ่าตัดฉุกเฉิน ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลจังหวัด (โรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์) หรือโรงเรียนแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินและครอบครัวต้องเดินทางไกล ซึ่งทำให้อาการเจ็บป่วยทรุดลง ได้รับการรักษาช้าลง และต้องไปรอคิวกันเป็นจำนวนมากในโรงพยาบาลใหญ่

ผลการตัดสินเช่นนั้น แม้จะกระทบวงการแพทย์ แต่เนื่องจากแพทย์มีจำนวนน้อย โดยเฉพาะในชนบท จึงมีแพทย์เพียงน้อยนิดที่ได้รับผลกระทบ แต่การที่มีคนเข้าเรียนแพทย์น้อยลง ทั้งที่ประเทศยังขาดแคลนแพทย์เป็นจำนวนมาก และการที่แพทย์ลาออกหรือขอย้ายออกจากโรงพยาบาลชุมชน เพราะไม่มีอุปกรณ์เพียงพอ และไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกแขนงในโรงพยาบาลชุมชน ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการที่ศาลตัดสินเช่นนั้นจึงตกแก่ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปอย่างมากมายและเป็นวงกว้าง และจะเป็นผลเสียในระยะยาวแก่ผู้ป่วยและประชาชนโดยเฉพาะในชนบท

เพื่อเป็นการศึกษาเพื่อการแก้ปัญหาที่กำลังบานปลายออกไป เราลองมาดูเหตุการณ์ในกรณีนี้

ผู้ป่วยหญิงวัยกลางคนไปโรงพยาบาลชุมชน (โรงพยาบาลอำเภอ) แห่งหนึ่งด้วยอาการปวดท้อง แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ในขณะนั้นมีแพทย์เพียง 2 คนในโรงพยาบาลแห่งนั้น แพทย์หญิงเป็นคนฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง เพื่อให้หน้าท้องและร่างกายส่วนล่างหมดความรู้สึก แล้วแพทย์ชายลงมือผ่าตัด ในช่วงที่ลงมีดกรีดหน้าท้อง ปรากฏว่าเลือดไหลออกมาเป็นสีม่วงดำ จึงพบว่าผู้ป่วยหยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น แพทย์ทั้ง 2 คนจึงช่วยกันกู้ชีพ (ช่วยหายใจ ปั๊มหัวใจ ฯลฯ) จนหัวใจกลับมาเต้นใหม่ และส่งผู้ป่วยต่อไปที่โรงพยาบาลใหญ่ (โรงพยาบาลมหาราชจังหวัดนครศรีธรรมราช) แต่ผู้ป่วยได้เสียชีวิตในอีก 15 วันต่อมา)

ลูกของผู้ป่วยจึงข้องใจในการตายของแม่ แต่ไม่ได้รับคำชี้แจงจากแพทย์และโรงพยาบาลให้เป็นที่พอใจ ในตอนแรกลูกขอเพียงคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น หากเป็นความผิดพลาดจริงก็ขอให้แพทย์และโรงพยาบาลทำบุญเลี้ยงพระและขอโทษแม่ของเขา จะได้จบเรื่องกันไป

แต่แพทย์รุ่นพี่ในกรุงเทพฯ และกรรมการแพทยสภาบางท่าน แนะนำว่า "ไม่ควรขอโทษ เพราะจะทำให้ญาติรู้สึกว่า แพทย์ผิดพลาด"

ญาติจึงร้องเรียนแพทยสภาและฟ้องกระทรวงสาธารณสุข โดยอาศัยพระราชบัญญัติความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ที่กำหนดว่า "หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่ง ละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้"Ž

ศาลแพ่งได้พิพากษาให้กระทรวงสาธารณสุขชดใช้ เป็นจำนวนเงินหกแสนบาท โดยคำพิพากษาระบุว่า "เป็นกรณีที่แพทย์ประมาทเลินเล่อ แต่แพทย์ไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง" ซึ่งหมายความว่าให้กระทรวงสาธารณสุขจ่ายเงินไปและมาไล่เบี้ยกับแพทย์ผู้ทำละเมิดไม่ได้ (เพราะกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ส่งแพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอไปรักษาผู้ป่วยในชนบท)

แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่ยอมจ่ายเงิน และมีการอุทธรณ์ว่า "คดีขาดอายุความ" สำหรับการเรียกร้องค่าเสียหาย ญาติผู้ป่วยจึงไม่ได้รับการชดเชย และแพทยสภาก็ตัดสินว่า คดีไม่มีมูล จึงยกคำร้องเรียน

ญาติผู้ป่วยจึงไปแจ้งความกับตำรวจเพื่อเป็นคดีอาญา (เพราะอายุความของคดีอาญายาวกว่าคดีแพ่ง) แต่ตำรวจไม่รับแจ้งความ เพราะแพทยสภาตัดสินแล้วว่าคดีไม่มีมูล

ญาติผู้ป่วยจึงร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานอื่นๆ จนนำไปสู่การดำเนินคดีอาญากับแพทย์ ผู้ผ่าตัด (จำเลยที่ 1) และแพทย์ผู้ให้ยาชา (จำเลยที่ 2) เป็นคดีความกันอยู่ 5 ปี จนศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ให้ยาชาเกินขนาดจนทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3 ปี ลักษณะการกระทำความผิดค่อนข้างประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หลังเกิดเหตุก็ไม่ได้บรรเทาผลร้ายแก่ญาติผู้ตายและให้การปฏิเสธตลอดมา จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษให้ สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง

อันที่จริง ความผิดพลาดทั้งหมดอยู่ที่ระบบการสาธารณสุขของประเทศทั้งระบบ ที่ส่ง "แพทย์จบใหม่" หรือ "แพทย์ฝึกหัด" ไปดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยปราศจากการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญหรืออาจารย์ ไม่เฉพาะแต่ในโรงพยาบาลชุมชน (โรงพยาบาลอำเภอ) เท่านั้น

ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลใหญ่ๆ และแม้แต่ในโรงเรียนแพทย์จำนวนมากในปัจจุบัน ก็ยังใช้ "แพทย์จบใหม่" และ "แพทย์ฝึกหัด" เป็นกำลังหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินและเจ็บหนักที่เพิ่งมาถึงห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ความผิดพลาดต่างๆ จึงย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

ยิ่งในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลอำเภอที่มีแพทย์อยู่น้อยมาก (หลายแห่งมีแพทย์เพียง 1 คน) และส่วนใหญ่เป็น "แพทย์จบใหม่" โดยไม่มีแพทย์อาวุโสที่มีความเชี่ยวชาญคอยกำกับดูแล ความผิดพลาดจึงย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเช่นกัน

เมื่อความผิดพลาดที่แท้จริงอยู่ที่ระบบสาธารณสุขของประเทศ กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ป่วยและประชาชน ไม่ใช่ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหาย และทำให้แพทย์ที่ปฏิบัติงานตามขีดความสามารถของตนที่มีอยู่ต้องรับโทษจำคุก
เพราะการดูแลรักษาผู้ป่วยไม่ใช่วิชาคณิตศาสตร์ที่ 1 + 1 = 2 เสมอไป ในทางชีววิทยา สิ่งมีชีวิตแต่ละชีวิตจะไม่เหมือนกัน แม้แต่พี่น้องที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน ก็แตกต่างกันได้ทั้งในด้านรูปร่าง นิสัยใจคอ และการตอบสนองต่อยาหรือการผ่าตัดได้

การตรวจรักษาต่างๆ จึงมีผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนได้เสมอ ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนจะมากหรือน้อย ย่อมขึ้นกับความเชี่ยวชาญของแพทย์ สภาวะแวดล้อมในขณะนั้น (เช่น ในยามฉุกละหุก หรือคับขัน มีการจลาจลหรือภัยพิบัติ ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นมากกว่า เป็นต้น) ความเหนื่อยล้าจากภาระงานที่มากเกินไป และอื่นๆ

การลงโทษแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุขอื่นๆ ที่มีเจตนาดี หวังจะดูแลรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่บังเอิญเกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนขึ้นด้วยโทษจำคุก จึงเป็นการลงโทษที่เกินกว่าเหตุ และจะทำให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ ปฏิเสธที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยที่ตนคิดว่าอาจจะทำให้ตนต้องโทษจำคุกได้ โดยอ้างว่าตนไม่มีความเชี่ยวชาญ หรือไม่มีเครื่องมือเพียงพอหรืออื่นๆ

แล้วความทุกข์ทรมาน ความพิการ และความตายก็จะเกิดต่อผู้ป่วยฉุกเฉินและเจ็บหนักมากขึ้น เพราะต้องถูกส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่อยู่ไกลออกไป และต้องไปรอคิวรอตรวจกันเป็นเวลานานๆ เมื่อมีผู้ป่วย "แห่กัน" ไปแออัดตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ

รัฐบาล ศาล รัฐสภา แพทยสภา และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องรีบดำเนินการ เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของไทยดำเนินต่อไปได้ด้วยความราบรื่น ให้ความปลอดภัยและความสุขใจ แก่ผู้ป่วย ประชาชน และบุคลากรสาธารณสุขต่างๆ โดยถ้วนหน้ากัน

หมายเหตุ : หลังเขียนบทความนี้ ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องหมอที่ฉีดยาชาเข้าไขสันหลังจนผู้ป่วยเสียชีวิต ในเดือนกันยายน พ.ศ.2551เพราะเห็นว่าหมอไม่ได้มีเจตนาที่จะทำร้ายหรือทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ทำให้หมอทั่วประเทศโล่งใจขึ้น และคงจะกลับมาดูแลรักษาผู้ป่วยได้เหมือนเดิม แต่ระบบสาธารณสุขยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้ "หมอจบใหม่" ยังต้องไปดูแลรักษาผู้ป่วยโดยไม่มี "หมออาวุโสที่เชี่ยวชาญ" คอยดูแลเหมือนเดิมโดยเฉพาะในชนบท

ข้อมูลสื่อ

354-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 354
ตุลาคม 2551
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์