• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปู่เย็น-นายเย็น แก้วมณี

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 62
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2551 พาดหัวหน้าแรกด้านบนสุดว่า "ปิดตำนานเฒ่าทระนง 'ปู่เย็น' สิ้นใจสงบ" มีใจความโดยย่อดังนี้



"...เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 12 ตุลาคม ผู้สื่อข่าว ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ว่าเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลกำลังให้การช่วยเหลือเพื่อยื้อชีวิต นายเย็น แก้วมณี อายุ 108 ปี หรือ "ปู่เย็น เฒ่าทระนงแห่งลุ่มน้ำเพชรบุรี" จึงเดินทางไปยังโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบอาการปู่เย็น พบว่าแพทย์และพยาบาลช่วยกันปั๊มหัวใจ พร้อมใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อยื้อชีวิตให้แก่ปู่เย็น สอบถามทราบว่า...

พยาบาลและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้า ไปตรวจปู่เย็นตอนเช้าตามปกติทุกวัน...หลังตะโกนเรียกอยู่หลายครั้ง ไม่มีเสียงตอบ จึงลงไปลากเรือเข้ามาที่ริมตลิ่ง เมื่อเข้าไปในเรือ พบปู่เย็นนอนหมดสติในสภาพตัวซีดขาว ตัวเกร็งแข็งทื่อ หลังตรวจชีพจรพบว่าหยุดเต้น จึงช่วยกันปั๊มหัวใจเบื้องต้น ก่อนประสานเจ้าหน้าที่นำส่งโรงพยาบาล...

รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเผยว่า ระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลชีพจรหยุดเต้นและม่านตาขยายเปิดกว้าง เมื่อมาถึงโรงพยาบาล แพทย์และพยาบาลได้ช่วยกันปั๊มหัวใจยื้อชีวิตปู่เย็นนานกว่า 1 ชั่วโมง แต่ระบบคลื่นหัวใจไม่ตอบสนอง และสภาพร่างกายไม่ยอมรับยากระตุ้นหัวใจ ทำให้ปู่เย็นเสียชีวิตในเวลา 10.35 น. ...

ด้านแพทย์เวรอายุรกรรมกล่าวว่า ปู่เย็นเสียชีวิตเนื่องจากหัวใจล้มเหลว ทั้งนี้ ก่อนปู่เย็นจะเสียชีวิต ได้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปอดอักเสบเรื้อรัง โรคขาดสารอาหาร โรคหัวใจพองโต และแผลอักเสบเรื้อรังบริเวณข้อมือซ้าย ที่สำคัญปู่เย็นไม่สามารถเดินได้ตามปกติมาหลายวันแล้ว จึงเป็นเหตุให้หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด"

ปู่เย็นเป็นชาวเพชรบุรีโดยกำเนิด นับถือศาสนาอิสลาม บิดาชื่อนายสุข แก้วมณี มารดาชื่อนางชม แก้วมณี เดิมรับจ้างเลี้ยงวัว และแต่งงานอยู่กินกับ "ย่าเอิบ แก้วมณี" ชาวไทยพุทธจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยไม่มีฝ่ายใดเปลี่ยนศาสนา ซึ่งทั้ง 2 ครองรักกันยืนยาว แต่ไม่มีลูกด้วยกัน มีแต่ลูกสาวบุญธรรม 2 คน ซึ่งเมื่อเติบใหญ่ก็แยกย้ายไปมีครอบครัวของตนเอง

ต่อมา "ย่าเอิบ" ล้มป่วยและเสียชีวิตเมื่ออายุ 94 ปี ปู่เย็นร้องไห้กับการจากไปของภรรยาถึง 3 เดือน แล้วจึงย้ายออกจากบ้านเช่าราคาเดือนละ 800 บาท ขนทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ไม่กี่ชิ้นไปอาศัยอยู่ในเรือลำเล็ก ลอยลำอยู่ในแม่น้ำเพชรบุรี โดยมักใช้บริเวณใต้สะพานลำไยในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีแทนหลังคากันแดดกันฝน

ปู่เย็นใช้ชีวิตอยู่บนเรืออย่างเดียวดายมา 10 กว่าปี เลี้ยงชีวิตด้วยการดักอวนหาปลา เหลือกินก็ขายถูกๆ กองละ 20-30บาท และไม่คิดพึ่งพาใครแม้จะมีญาติสนิทมิตรสหาย โดยให้เหตุผลว่า "เกรงใจเขา" และ "หอยมันไม่มีมือมีตีนมันยังหากินได้ คนมีมือมีตีนถ้าหากินเองไม่ได้ ก็ให้อายหอยมัน" ปู่เย็นไม่ชอบให้ใครสงสาร แต่ชอบสงสารและเกรงใจคนอื่น

หลังฝนตกหนักจนเรือล่มเมื่อวันที่ 19 กันยายน จนปู่เย็นต้องลงไปแช่น้ำอยู่นาน ต่อมามีคนมาเห็นและช่วยไว้ ตอนแรกปู่เย็นไม่ยอมไปโรงพยาบาล เพราะห่วงเรือ แต่ในที่สุดก็ยอมไป และทางจังหวัดได้ช่วยนำเรือไปซ่อมให้ประมาณ 2 สัปดาห์ ปู่เย็นจึงขอกลับไปอยู่ที่เรืออีกทั้งที่ไม่ค่อยสบาย และเดินลงเรือเองไม่ได้ แต่ทางโรงพยาบาลก็ให้พยาบาลไปเยี่ยมดูแลทุกเช้า จนเช้าวันที่ 12 ตุลาคมที่พบปู่เย็นหมดสติ นอนตัวเกร็งแข็งทื่ออยู่ในเรือ ในลักษณะตาเบิกโพลง ปากเปิดอ้า และม่านตาขยายกว้าง

เป็นการจบตำนานของ "เฒ่าทระนงแห่งลุ่มน้ำเพชรบุรี" ที่เป็นตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมงอมืองอเท้า ต่อสู้เพื่อดำรงชีวิตของตนอย่างทรหด เรียบง่าย สมถะ และสันโดษ ไม่ยอมขอความช่วยเหลือหรือคิดพึ่งพาผู้อื่น แม้แต่แพทย์และโรงพยาบาล เพราะรู้สึก "เกรงใจ" และไม่อยากเบียดเบียนผู้อื่น

แต่จากข่าวการตายของ "ปู่เย็น" และภาพการปั๊มหัวใจชายชราอายุ 108 ปีในสื่อมวลชนต่างๆ รวมทั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ได้แสดงให้เห็นถึงการขาดวิจารณญาณและจริยธรรมของแพทย์และพยาบาลที่เกี่ยวข้องหลายประการ เช่น
1. การเผยแพร่ภาพการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโดยไม่ได้รับคำอนุญาตของผู้ป่วยและ/หรือญาติที่มีสิทธิโดยชอบธรรมตามกฎหมาย เป็นการผิดมารยาทในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

2. การพยายามกู้ชีพหรือการพยายามฟื้นชีวิต (เช่น ปั๊มหัวใจ ใส่ท่อช่วยหายใจ) ในคนที่ตัวเย็นซีดและแข็งทื่อแล้ว เป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์ เพราะคนคนนั้นเสียชีวิตมานานแล้ว ไม่สามารถฟื้นชีวิตขึ้นมาได้
การปั๊มหัวใจ การใส่ท่อช่วยหายใจ ฯลฯ จึงเป็นการ "ทำร้าย" (ทำอันตราย) ต่อศพ (ร่างกายของผู้เสียชีวิต) เพราะจะทำให้กระดูกหัก ปากคอเป็นแผล ผิวหนังเป็นรอยไหม้จากการช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้า เป็นต้น

3. การใช้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ มาทำการกู้ชีพ "ปู่เย็น" อยู่ชั่วโมงกว่า เป็นการใช้บุคลากรและทรัพยากรที่ควรเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยฉุกเฉินอื่นๆ อย่างผิดพลาด ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินอื่นๆ ไม่ได้รับการตรวจ รักษาอย่างรวดเร็วและเหมาะสมเท่าที่ควร โดยเฉพาะในวันหยุดราชการ (วันอาทิตย์) ที่จะมีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ ขึ้นปฏิบัติงานน้อยกว่าปกติอยู่แล้ว

4. การปฏิบัติการกู้ชีพในผู้ป่วยที่ตายแล้ว การปฏิบัติการกู้ชีพในผู้ป่วยที่ชราภาพมากแล้วและเป็นโรคต่างๆ ที่ได้รับการรักษาแล้วไม่ดีขึ้น และการปฏิบัติการกู้ชีพเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง (แม้แต่กับผู้ป่วยทั่วไปที่หัวใจหยุดเต้นโดยไม่มีโรคร้ายแรงหรือเรื้อรังใดๆ) เป็นสิ่งต้องห้าม (ไม่ควรทำ) ในหลักสูตรการฝึกอบรมการกู้ชีพขั้นสูง (Advanced Cardiovascular Life Support) ที่ใช้กันทั่วโลก

5. การทำอันตรายต่อศพ (ร่างกายของผู้เสียชีวิต) เป็นสิ่งที่ต้องห้ามในศาสนาอิสลาม และการกู้ชีพทำให้ต้องงดพิธีกรรมทางศาสนาในระยะแรกที่จะส่งจิตวิญญาณของผู้เสียชีวิตไปสู่พระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮ์) โดยทั่วไป ผู้ป่วยชาวมุสลิมที่ใกล้ตาย ญาติจึงมักจะขอพาผู้ป่วยกลับไปตายที่บ้าน เพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนา ให้แก่ผู้ป่วยก่อนตายและหลังตายทันที

การตรวจรักษาผู้ป่วย จึงต้องคำนึงถึง "คน" (ผู้ป่วย ครอบครัว สังคม และวัฒนธรรมประเพณีของผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมของผู้ป่วย) มากกว่าการอยากทำตามใจชอบของแพทย์ และพยาบาลที่ขาดความตระหนักรู้ถึง "ศักดิ์ศรีของความเป็นคน" ตลอดจนเจตนารมณ์และความปรารถนาของผู้ป่วย เช่นเดียวกับที่เคยกระทำต่อท่านอาจารย์พุทธทาสและผู้ป่วยอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

หลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษาจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกันเสียที

ข้อมูลสื่อ

355-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 355
พฤศจิกายน 2551
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์