• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ล้างมือให้สะอาด ป้องกันการติดเชื้อ

การล้างมือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนไข้ ญาติ หมอ พยาบาล และบุคคลรวมทั้งที่มีส่วนในการดูแลคนไข้ เพราะมือที่สัมผัสสิ่งต่างๆ มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคและเป็นตัวกลางในการแพร่เชื้อโรคได้อย่างคาดไม่ถึง

มีการวิจัยที่สำคัญหลายเรื่อง ที่ยืนยันผลการล้างมือให้สะอาดระหว่างการรักษาพยาบาล ส่งผลให้ลดการติดเชื้อลง จนองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญ กำหนดให้เป็นเป้าหมายในการรักษาพยาบาลที่ปลอดภัย จัดทำแนวทางให้ถือปฏิบัติ รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศเป็นนโยบายสำคัญเพื่อป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล

การติดเชื้อของคนไข้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้คนไข้อาการทรุดลง ใช้เวลารักษาพยาบาลนานขึ้น เสียค่ายาและค่าใช้จ่ายมากขึ้น และเชื้อโรคที่ติดจากโรงพยาบาล มักเป็นเชื้อที่รุนแรงและดื้อยาปฏิชีวนะหลายชนิด ทำให้รักษายาก หากเชื้อโรครุนแรงจนเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต คนไข้มีอัตราการเสียชีวิตสูง บางโรงพยาบาลมากกว่าร้อยละ 50

การแพร่กระจายเชื้อโรคผ่านทางมือของบุคลากรสาธารณสุข เป็นวิธีการแพร่กระจายเชื้อโรคในโรงพยาบาลที่พบได้ง่ายกว่าวิธีทางอื่น การล้างมือเป็นกระบวนการที่ง่าย เพียงแต่ทุกคนตระหนักและปฏิบัติอย่างจริงจัง ร่วมกันจัดที่ล้างมือและน้ำยาต่างๆ ที่สะดวกต่อการใช้ของเจ้าหน้าที่ คนไข้ และญาติ ก็เป็นวิธีการป้องกันการติดเชื้อที่ได้ผล

องค์การอนามัยโลกได้จัดทำแนวทางเรื่องสุขอนามัยของมือ สำหรับโรงพยาบาล และโรงพยาบาลหลายแห่งได้นำสู่การปฏิบัติ โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่
1. จัดให้มีแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ ที่สามารถใช้ได้อย่างสะดวกที่จุดให้บริการคนไข้ เช่น ติดตั้งขวดแอลกอฮอล์ที่เตียงคนไข้ทุกเตียง วางบนรถฉีดยาทำแผล หรือติดกระเป๋าผู้ปฏิบัติงานตลอดเวลา
2. จัดให้มีน้ำสะอาดและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการล้างมือ
3. ให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับวิธีการล้างมือที่ถูกต้อง
4. แสดงสื่อเตือนใจในที่ทำงานเพื่อกระตุ้นให้มีการล้างมือ
5. สังเกตติดตามและประเมินผลการปฏิบัติ และแจ้งผลการประเมินแก่ผู้ปฏิบัติ เพื่อให้ทราบข้อบกพร่อง และนำไปปรับปรุง

โรคติดเชื้อที่ติดต่อผ่านทางมือ
1. โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด โรคหัดเยอรมัน อีสุกอีใส
2. โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย โรคตับอักเสบชนิดเอ โรคบิด อหิวาตกโรค โรคพยาธิชนิดต่างๆ
3. โรคติดต่อทางการสัมผัสโดยตรง เช่น โรคตาแดง เชื้อรา แผลผิวหนังอักเสบ โรคเริม

ผู้ดูแลรักษาคนไข้ควรล้างมือเมื่อไร
แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และญาติคนไข้ ควรล้างมือทุกครั้ง ในกรณีต่อไปนี้
1. ก่อนและหลังสัมผัสคนไข้ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้รับเชื้อโรคจากมือของผู้สัมผัส
2. ก่อนทำหัตถการสอดใส่อุปกรณ์การแพทย์ เช่น ให้น้ำเกลือ ใส่สายสวนปัสสาวะ ใส่ท่อช่วยหายใจ เพื่อป้องกันคนไข้ไม่ให้รับเชื้อโรคจากภายนอกและที่อยู่ในตัวของคนไข้เอง
3. หลังสัมผัสเลือด น้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ ของคนไข้ เพื่อป้องกันหนองจากแผลไม่ให้เชื้อโรคจากคนไข้แพร่กระจายสู่คนอื่นและสิ่งแวดล้อม
4. ก่อนสวมถุงมือและหลังถอดถุงมือเพื่อให้แน่ใจว่ามือสะอาด
5. หลังการสัมผัสสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ ของคนไข้ เช่น เสื้อผ้า ที่นอน ผ้าพันสำหรับวัดความดันโลหิต โทรศัพท์ กระโถน ลูกบิดประตู เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากคนไข้แพร่กระจายสู่คนอื่นและสิ่งแวดล้อม

                      

วิธีการล้างมือ

ก่อนล้างมือควรถอดแหวน นาฬิกา หรือเครื่องประดับที่ใส่นิ้วมือและข้อมือออก เพราะทำให้ทำความสะอาดมือได้ไม่ทั่วถึง เริ่มต้นเปิดน้ำราดให้ทั่วมือแล้วฟอกด้วยสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ 3-5 มิลลิลิตร ฟอกมือนาน 40-60 วินาที ล้างด้วยน้ำสะอาดและเช็ดด้วยผ้าหรือกระดาษสะอาดให้แห้ง หรือใช้เครื่องเป่าให้แห้ง หรืออาจใช้แอลกอฮอล์ 3-5 มิลลิลิตร แทนก็ได้ ถูมือจนแอลกอฮอล์ระเหยจนแห้ง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20-30 วินาที

ข้อปฏิบัติสำหรับญาติหรือผู้มาเยี่ยมไข้
ญาติหรือผู้มาเยี่ยมไข้ ต้องล้างมือก่อนและหลังสัมผัสคนไข้หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัวคนไข้ ไม่ควรนั่งหรือนอนบนเตียงคนไข้ ไม่ควรไปสัมผัสอุปกรณ์เครื่องใช้ของคนไข้อื่นๆ ผู้ที่มีไข้ ไอ มีน้ำมูก ท้องเสีย อาเจียน มีแผลพุพองที่ผิวหนัง ควรงดมาเยี่ยมไข้

ผมขอจบบทความนี้ด้วยคำขวัญของโรงพยาบาลหนึ่ง ซึ่งใช้ในโครงการรณรงค์การล้างมือ
สิ่งรอบตัวคนไข้ใครสัมผัส
เครื่องมือเสื้อผ้าสารพัดสิ่งคัดหลั่ง
หัตถการกับคนไข้ให้ระวัง
ให้ล้างมือก่อนและหลังทุกครั้งไป
แอลกอฮอล์หรือสบู่ถูให้ทั่ว
ล้างให้ชัวร์หกขั้นตอนสอนใจไว้
นิ้ว, มือ, ข้อมือ, สะอาดปราศโรคภัย
ใช้เวลาล้างครึ่งถึงหนึ่งนาที

ข้อมูลสื่อ

356-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 356
ธันวาคม 2551
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์