• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การแพทย์ก้าวหน้า การสาธารณสุขก้าวไกล ใต้ร่มพระบารมี (ตอนที่ 2)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพพลานามัยของประชาชน ดังกระแสพระราชดำรัส

"การแพทย์และการสาธารณสุข เป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของการพัฒนาประเทศ ไม่มีประเทศใดในโลก จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างสมบูรณ์แบบหากในประเทศนั้นๆ ยังมีสุขภาพพลานามัยไม่ดีพอ"Ž

"คนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติก็คือ ทรัพยากรบุคคลหรือพลเมืองนั่นเอง"Ž

"การที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้"

Ž
การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค
พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุขนั้น ในระยะแรก พ.ศ.2493-2505 พระองค์ทรงตั้งเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ต่อมาในระหว่างปี พ.ศ.2503-2513 ทรงมีพระราชดำริโครงการต่างๆ ที่จะสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเผชิญปัญหา และสามารถพึ่งตนเองได้ โดยเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ได้จากโครงการส่วนพระองค์ ที่พระองค์ทรงริเริ่มและปฏิบัติภายในเขตพระราชฐานจิตรลดาจนสัมฤทธิผล เช่น โรงโคนมสวนจิตรลดา โรงสีข้าวทดลอง การเพาะเลี้ยงปลานิล เป็นต้น

พระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการป้องกันและควบคุมโรค และทรงวางแผนกลยุทธ์ในการปฏิบัติ ส่งผลให้ประเทศไทยเราเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถป้องกันและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พ.ศ.2494 โรคโปลิโอระบาด พระองค์ทรงพระราชทาน พระราชทรัพย์ จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและโรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ส่งผลให้การกวาดล้างโปลิโอในประเทศไทยประสบความสำเร็จ และในปัจจุบันไม่พบคนไข้โรคโปลิโอในประเทศไทยเป็นเวลามานานกว่า 10 ปี

พ.ศ.2498 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มงานควบคุมโรคเรื้อนตามแนวทางใหม่ พระองค์ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ รับโครงการควบคุมโรคเรื้อนไว้เป็นโครงการในพระราชดำริ สร้างอาคารสำหรับการศึกษาวิจัย ป้องกันรักษาและควบคุมโรค ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานนามอาคารหลังนี้ว่าสถาบันราชประชาสมาสัย

เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2501 ได้เกิดโรคอหิวาต์ระบาดในกรุงเทพฯ และติดต่ออย่างรวดเร็วไปอีก 35 จังหวัด มีคนไข้จำนวนมาก นับว่าเป็นการระบาดที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน พระราชทรัพย์จัดตั้ง "ทุนปราบอหิวาตกโรค" เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดนี้ ซึ่งทำให้มีคนเป็นโรคนับหมื่นคน และทำให้คนไข้ตาย 625 คน ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในการพระราชทานความช่วยเหลือ จึงทำให้โรคระบาดนี้สงบลง ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2502

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบว่า การขาดสารไอโอดีนในบางท้องถิ่นเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคคอพอก

ในปี พ.ศ.2534 พระองค์ทรงริเริ่มโครงการนำร่องเกลือเสริมไอโอดีน ที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ พระองค์ทรงสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเกลือเสริมไอโอดีน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเกลือเสริมไอโอดีนจำนวน 2,419 ตัน ให้แก่กระทรวงสาธารณสุขและสภากาชาดไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแนวทางให้สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยรับหน้าที่ในการช่วยแก้ปัญหายาเสพติด โดยจัดหน่วยยุวพุทธสงเคราะห์ขึ้น ในปี พ.ศ.2516 เป็นอาสาสมัครถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนทั่วไปและแนะนำผู้ติดยาให้ไปบำบัดรักษา

มูลนิธิเพื่อส่งเสริมการวิจัยและการสังคมสงเคราะห์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ ในการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อส่งเสริมการวิจัยและการสังคม สงเคราะห์ด้านต่างๆ เช่น มูลนิธิพัฒนาอนามัย มูลนิธิอานันทมหิดล มูลนิธิวิจัยประสาทในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิสายใจไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิรางวัลมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิต่างๆ ที่พระองค์โปรดเกล้าฯ จัดตั้งขึ้นมีส่วนสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างสรรค์นวัตกรรมในด้านต่างๆ และหลายมูลนิธิดำเนินกิจกรรมสงเคราะห์ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งการให้การสงเคราะห์ประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติ และภาวะวิกฤติต่างๆ

"มูลนิธิราชประชานุเคราะห์นี้ถือว่าเป็นคล้ายบริษัทประกันใหญ่สำหรับบ้านเมือง ผู้ที่เคราะห์ร้ายจะได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและอย่างเร็วที่สุด โดยที่ผู้อื่นที่ไม่ได้เคราะห์ร้ายเท่า ได้ช่วยสมทบทุนและสิ่งของให้แก่มูลนิธิ"Ž
                                                                                                                               กระแสพระราชดำรัส 
                                                                                                       เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2513

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 เกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ ในภาคใต้ของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความสูญเสียชีวิตผู้คนและทรัพย์สินเสียหายอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน 60 ล้านบาท และการปฏิบัติภารกิจที่รวดเร็วอย่างเป็นระบบของทีมงานจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งร่วมกันสร้างพลังความสามัคคีและการอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือกันของคนไทยทั้งชาติ เมื่อต้องเผชิญวิกฤตการณ์

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ทรงตั้งพระปณิธานไว้ว่า

"หม่อมฉันรู้สึกอยู่เสมอว่า การสาธารณสุขนั้นเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งเป็นเครื่องบำรุงกำลังของชาติไทย และเป็นสาธารณประโยชน์แก่มนุษยชาติทั่วไปด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสอันใดซึ่งหม่อมฉันจะช่วยออกกำลังกาย และสติปัญญา หรือทรัพย์ อันเป็นผลที่จะทะนุบำรุงให้การนั้นเจริญขึ้นแล้ว หม่อมฉันยินดีปฏิบัติเสมอ"Ž

พระราชโอรสของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสืบสานพระราชปณิธานด้วยดวงจิตที่เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ จนประเทศไทยมีระบบการแพทย์ที่ก้าวหน้า การสาธารณสุขที่ก้าวไกล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้พสกนิกรของพระองค์มีสุขภาพดีถ้วนหน้า

ข้อมูลสื่อ

359-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 359
มีนาคม 2552
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์