• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไต: เครื่องกรองนํ้าประจำตัว

ไต: เครื่องกรองนํ้าประจำตัว
 


เมื่อเลือดเอาอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้วของเสียที่เกิดขึ้นจากการเผาผลาญอาหารในร่างกาย ก็จะซึมกลับเข้าสู่กระแสโลหิต เพื่อนำไปกำจัดทิ้งออกนอกร่างกาย กระบวนการกำจัดของเสียนี้เป็นหน้าที่ของไต ไตเปรียบเสมือนเครื่องกรองนํ้า กรองเอาสิ่งที่เป็นปฏิกูลในเลือดออก เก็บสารที่ยังจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายให้เซลล์ร่างกายเอาไว้ใช้ สิ่งที่ไตกรองออก เช่น ยูเรีย เกลือส่วนเกิน และสารเคมีบางตัวที่ร่างกายไม่ต้องการใช้แล้ว ส่วนนํ้าตาล โปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุบางอย่าง ไตจะเลือกเก็บเอาไว้ให้ร่างกายใช้ ของเสียที่ไตกรองออกมา จะถูกขับออกนอกร่างกายในรูปของเหลวกลิ่นฉุน ที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นนํ้าปัสสาวะ

ไตมีรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วเม็ดใหญ่ สีนํ้าตาล แดง ขนาดใหญ่กว่ากำปั้นของผู้เป็นเจ้าของเล็กน้อย ไตของแต่ละคนมีอยู่สองข้าง ตำแหน่งของไต คือ บริเวณใต้ชายโครง ไตอยู่สองข้างของกระดูกสันหลังในช่องเอว วางอยู่ด้านหน้าของกล้ามเนื้อส่วนหลัง

อวัยวะในช่องท้องทั้งหมด เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ทั้งหมด ตับ ตับอ่อน เป็นต้น จะถูกห่อหุ้มโดยเยื่อบางๆ ใส แต่เหนียว ที่เรียกว่า เยื่อบุช่องท้อง ส่วนไตนั้นเป็นอวัยวะที่อยู่นอกเยื่อบุช่องท้องด้านหลัง ในทางการแพทย์จึงถือว่าไตนั้นอยู่นอกช่องท้อง เม็ดไตทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นที่ออกมาของท่อไต

ท่อไตทำหน้าที่ลำเลียงนํ้าปัสสาวะที่ออกจากไต ไปเก็บยังกระเพราะอาหารที่อยู่ส่วนกลาง ท่อไตจะพาดมาตามยาวขนานกับกระดูกสันหลังเข้าสู่ช่องเชิงกรานไปเปิดเข้าทางส่วนบนทางด้านข้างของกระเพาะปัสสาวะ

เมื่อผ่าไตออกมาดู จะเห็นว่าเนื้อไตนั้นยังมีสีแตกต่างกันให้เห็นชัด เป็นสองส่วน คือ เนื้อไตชั้นนอก กับเนื้อไตชั้นใน เนื้อไตชั้นนอกจะทำหน้าที่เป็นตะแกรงกรองเอาของเสียและเกลือส่วนเกินออกทิ้งไปกับนํ้าส่วนหนึ่ง ส่วนเนื้อไตชั้นใน เป็นชั้นที่ถัดเข้ามา มีหน้าที่ทำให้ปัสสาวะข้นขึ้น เมื่อนํ้าของเสียถูกปล่อยออกมานอกไตแล้ว ก็จะไหลรวมกันเทลงสู่ท่อไต คล้ายกับธารนํ้าเล็กๆ ที่ไหลรวมตัวกันลงสู่แม่นํ้าใหญ่และลงสู่ทะเลในที่สุด

ในแต่ละวัน ร่างกายของเราจะกลั่นนํ้าปัสสาวะออกมาได้ถึง 6 แก้ว แต่ถ้าเรากินนํ้าน้อยหรือเสียเหงื่อมาก เช่นในเวลาที่อากาศร้อนจัดๆ หรือเวลาที่เราตากแดด ไตจะไม่ปล่อยให้ร่างกายเสียนํ้าออกมาเป็นปัสสาวะ ปัสสาวะที่ออกมาก็จะมีปริมาณน้อยกว่านี้

 

ไตเป็นอวัยวะที่ทำงานได้อย่างชาญฉลาด เมื่อใดที่ร่างกายมีนํ้าล้นเกิน มีสารที่ร่างกายไม่ต้องการมากเกินปกติ ไตก็จะทำหน้าที่ขับส่วนที่ล้นเกินเหล่านี้ออกนอกร่างกาย ดังนั้นการตรวจปัสสาวะจึงช่วยในการวินิจฉัยโรคได้หลายอย่าง เช่นคนที่เป็นเบาหวานระดับนํ้าตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ไตจะขับเอานํ้าตาลส่วนเกินนี้ออกมาทางปัสสาวะ ทำให้เราตรวจพบได้และรู้ว่าคนคนนั้นเป็นโรคเบาหวาน ถ้าคนไหนมีอาการดีซ่าน ซึ่งหมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีบิลิรูบินที่เกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือดมากกว่าปกติ ไตก็จะช่วยขับเอาสารบิลิรูบินนี้ออกนอกร่างกายไป ทำให้ปัสสาวะของคนที่มีอาการดังกล่าวมีสีเหลืองจัดกว่าปกติ สำหรับยาที่เรากินเข้าไปก็เช่นเดียวกัน ไตก็จะทำหน้าที่กำจัดสารเคมีจากยาออกนอกร่างกายไป

แต่ถ้าเมื่อใดที่ร่างกายมีนํ้าน้อยหรือกำลังจะขาดเกลือแร่ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ไตก็จะทำหน้าที่เก็บนํ้า กักเกลือเอาไว้ให้ร่างกายใช้ต่อไปโดยอัตโนมัติ เช่น เมื่อร่างกายเสียเลือดไปมากๆ โดยเฉียบพลันจำนวนนํ้าเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว ไตก็จะหยุดขับนํ้าออกทันที ทำให้คนคนนั้นไม่มีปัสสาวะออกมา

ความจริงปัสสาวะในคนปกติเป็นของเหลวที่สะอาด ไม่มีเชื้อโรคกลิ่นประจำของปัสสาวะ คือ กลิ่นของยูเรีย ซึ่งเป็นสารที่แตกตัวออกมาจากโปรตีนที่เรากินเข้าไป เชื่อไหมว่าในอาฟริกาที่อยู่ในป่าลึก หรือในแถบเอสกิโมบางส่วน ชาวพื้นเมืองนิยมใช้ปัสสาวะเป็นยาฆ่าเชื้อ ล้างแผล ชาวจีนก็ใช้ปัสสาวะของเด็กอ่อนเป็นกระสายยา

กระเพาะปัสสาวะเป็นที่เก็บกักปัสสาวะ ก่อนที่จะปล่อยออกจากร่างกาย กระเพาะปัสสาวะเป็นเนื้อเยื่อที่ยืดหยุ่นได้ เมื่อนํ้าปัสสาวะถูกปล่อยออกไปหมดแล้ว กระเพาะปัสสาวะจะหดเล็กลง เมื่อใดที่นํ้าปัสสาวะไหลมาสะสมกันมากขึ้น กระเพาะปัสสาวะก็จะพองตัวออกตามปริมาณของปัสสาวะที่มีอยู่ กระเพาะปัสสาวะที่อยู่ในช่องเชิงกราน ใต้กระดูกหัวหน่าว ในผู้หญิงกระเพาะปัสสาวะจะอยู่ทางด้านหน้าของมดลูก

การปล่อยปัสสาวะออกไปนอกร่างกายนั้น ต้องอาศัยการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ และการทำงานของระบบประสาทปกติประสานกัน กล่าวคือ เมื่อใดที่กระเพาะปัสสาวะพองออกเต็มที่แล้ว เส้นประสาทอัตโนมัติก็จะรายงานให้สมองรับรู้ สมองก็จะสั่งงานออกมาตามเส้นประสาทรับความรู้สึก เราก็จะรู้สึกอึดอัดตึงในท้องน้อย และเกิดความรู้สึกอยากจะปัสสาวะ แต่เนื่องจากเรามีกล้ามเนื้อหูรูด และมีประสาทอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เรากลั้นปัสสาวะได้ เราจึงสามารถอดทนได้จนถึงสถานที่ที่เหมาะสมในการเปลื้องทุกข์ ในเด็กเล็กๆ การทำงานของประสาทส่วนนี้ยังไม่เจริญเต็มที่ จึงทำให้เด็กไม่สามารถบอกได้ว่ากระเพาะปัสสาวะเต็มแล้ว และเมื่อถึงเวลานั้น เด็กเล็กก็ไม่อาจจะกลั้นปัสสาวะอยู่ได้ ประสาทส่วนนี้จะทำงานได้อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อเด็กอายุได้ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี ดังนั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะฝึกให้เด็กปัสสาวะก็คือ อายุเด็กต้องมากกว่า 1 ปีครึ่งขึ้นไป

เมื่อปัสสาวะออกมาจากกระเพาะปัสสาวะก็ต้องผ่านท่อปัสสาวะเสียก่อน จึงจะพ้นออกไปนอกร่างกายท่อปัสสาวะของผู้ชายอยู่ในลึงค์ ของผู้หญิงวางอยู่เหนือช่องคลอดและอยู่ข้างใต้ของคลิตอริส ท่อปัสสาวะของผู้ชายจึงมีความยาวกว่าของผู้หญิง ด้วยสาเหตุนี้เอง จึงทำให้อาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะในผู้หญิงเป็นบ่อยกว่าผู้ชาย

ส่วนมากเชื้อโรคจะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะโดยการปนเปื้อนจากทวารหนัก ผ่านเข้ารูเปิดของท่อปัสสาวะ เข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการอักเสบ ถ้าทิ้งไว้ไม่รักษา เชื้อโรคก็จะไหลทวนท่อไตขึ้นไปสูงสู่ไตได้ การกลั้นปัสสาวะ จะทำให้แบคทีเรียที่เข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ มีเวลาแบ่งตัว และก่อให้เกิดอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ และนำไปสู่อาการอักเสบของไตได้

วิธีป้องกันอาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ การรักษาความสะอาดบริเวณรูเปิดของท่อปัสสาวะ ในผู้หญิงยิ่งต้องสนใจเรื่องนี้มากกว่าผู้ชาย การชำระภายหลังจากการถ่ายหนัก ต้องชำระจากด้านหน้าไปหาด้านหลัง เพื่อป้องกันเชื่อโรคที่ติดมากับอุจจาระ เข้ามาแปดเปื้อนรูเปิดของปัสสาวะ นอกจากนี้ก็ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ และหากอาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบควรได้รับการรักษาโดยเร็วและอย่างถูกหลัก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื่อโรคลามไปสู่ไตได้

ข้อมูลสื่อ

73-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 73
พฤษภาคม 2528
พญ.ลลิตา ธีระศิริ