ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไรเรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น
เวียนหัว มึนหัว หน้ามืด
นอกจากการซักประวัติ และการตรวจร่างกายเพื่อแบ่งกลุ่มอาการเวียนหัว มึนหัว หน้ามืด ออกมาเป็นกลุ่มต่างๆ ดังที่กล่าวไว้ใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ครั้งก่อนแล้ว การซักประวัติเกี่ยวกับสาเหตุ (หรืออาจจะเป็นสาเหตุได้) อาจจะทำให้การตรวจรักษาง่ายขึ้น
1. การเคลื่อนไหว
อาการเวียนหัว มึนหัว บ้านหมุน นั้น อาจเกิดขึ้นจากการเดินทางด้วยรถด้วยเรือ หรือเครื่องบิน (เรือบิน) หรือจากการเล่นม้าหมุน เล่นชิงช้า เล่นเครื่องเล่นที่มีการเคลื่อนไหววนเวียนหรือขึ้นๆ ลง หรือเหวี่ยงไปมา
ถ้าอาการเวียนหัว เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว เรามักจะเรียกว่า เป็นอาการเมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน หรือเมาจากการเคลื่อนไหว (motion sickness)
อาการเมา (เวียนหัว) แบบนี้อาจเกิดขึ้นขณะนั่งรถดูทิวทัศน์ข้างทางที่วิ่งผ่านไปเรื่อยๆ หรือในขณะนั่งดูภาพยนตร์ที่แสดงภาพวิ่ง (วิ่งหนีกัน วิ่งไล่กัน ฯลฯ) อยู่ตลอดเวลา โดยที่ลำตัวและศีรษะไม่มีการเคลื่อนไหวไปมา
อาการเมา(เวียนหัว) แบบนี้จะเกิดขึ้นง่ายและเร็วในคนบางคน ที่ไวต่อการเมาแบบนี้ คนที่เคยชินมักจะเมารถ เมาเรือ หรือเมาแบบนี้ยากกว่าคนที่ไม่เคยชิน
ในระยะแรก คนที่เป็นจะรู้สึกอ่อนเพลีย หาวบ่อย ต่อมาหน้าซีด เหงื่อออก หายใจเร็วลึก เวียนศีรษะอาจมีบ้านหมุน คลื่นไส้และอาเจียน
การรักษา
การป้องกันจะได้ผลดีกว่าการรักษาผู้ที่ชอบเมารถ เมาเรือ ควรกินยาแก้เมารถ เมาเรือ ก่อนการเดินทางอย่างน้อยครึ่ง-1 ชั่วโมง
1) ยาไดเมนไฮดรีเนต (dimenhydrinate หรือในชื่อการค้าเช่น Dramamine, Daedalon, Gravol) 1-2 เม็ด (เม็ดละ 50 มิลลิกรัม)
2) ยาเมคลีชีน (meclizine หรือในชื่อการค้า เช่น Bonamine 1-2 เม็ด (เม็ดละ 25 มิลลิกรัม)
เมื่อกินยาตัวหนึ่งตัวใดข้างต้นนี้แล้ว จะป้องกันหรือบรรเทาอาการเมาจากการเคลื่อนไหวได้ แต่จะทำให้ง่วงซึม หรือไม่กระปรี้กระเปร่าได้
ถ้าไม่ได้กินยาป่องกันไว้ก่อน แล้วเกิดอาการเมาจนเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ควรกินยาแก้เมารถ เมาเรือข้างต้น และอาจกินยาแก้คลื่นไส้เจียนอื่นร่วมด้วย (ยาแก้เมารถข้างต้นมีฤทธิ์แก้คลื่นไส้อาเจียนด้วย) เช่น
1) ยาเมโตโคลปราไมด์ (metoclopramide หรือในชื่อการค้า เช่น Plasil, Maxolon, Nausa, Primperan) 1-2 เม็ด (เม็ดละ 10 มิลลิกรัม) หรือ
2) ยาดอมเพอริโดน (domperidone หรือในชื่อการค้า เช่น Motilium, 1-2 เม็ด (เม็ดละ 10 มิลลิกรัม) หรือ
3) ยาโพรคลอรเพอราซีน (proclorperazine หรือชื่อการค้า เช่น Properan, Stemetil) 1-2 เม็ด (เม็ดละ 5 มิลลิกรัม)
นอกจากยาแล้ว สิ่งที่ช่วยป้องกันหรือลดอาการเมาจากการเคลื่อนไหว คือ การนอนราบและหลับตาเสีย หรืออาจจะไปอยู่ในส่วนของพาหนะที่โปร่ง (อากาศถ่ายเทสะดวก หรือมีลมเย็นพัด ถูกต้องใบหน้า) และมองไปข้างหน้ายังจุดที่ไม่มีการเคลื่อนไหว
ถ้ามีอาการเมามากใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้น ให้หลับตาและกินยาเพิ่มขึ้น เพื่อให้หลับเสีย หรือถ้าเป็นไปได้ ให้ออกจากพาหนะนั้น และอาการจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
2. ที่สูง
คนบางคนเมื่อขึ้นไปอยู่ที่สูงๆ แล้วจะเกิดอาการเวียนหัว โงนเงน หน้ามืด หรืออื่นๆ ซึ่งอาจเรียกว่า เมาที่สูงหรือเวียนหัวบนที่สูง (height dizziness)
การรักษา
การป้องกันให้ผลดีกว่าการรักษา โดยการหลีกเลี่ยงไม่ขึ้นไปบนที่สูง โดยเฉพาะที่ที่หวาดเสียว เช่นไม่มีผนังกั้น กำแพง หรือรั้วกันตกเป็นต้น ควรพยายามฝึกตนเองให้ชินกับความสูงน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มความสูงขึ้นเรื่อยๆ
การรักษาเมื่อเกิดอาการ (เช่น เวียนหัว โงนเงน หรือหน้ามืด) เมื่ออยู่บนที่สูง รีบนั่งลงกับพื้นมองสิ่งที่ใกล้ตัว อย่ามองสิ่งที่อยู่ใต้ลงไปหรือต่ำลงไป นั่งพักจนอาการหาย แล้วค่อยเดินทางต่อหรือกลับ
3. สารพิษหรือพิษจากยา
อาการเมา เวียนหัว มึนหัว เกิดขึ้นเสมอหลังได้รับสารมึนเมา เช่น สุรา ยาดองเมา บุหรี่ กัญชา ฝิ่น ทั้งยาที่ใช้แก้อาการเมาศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน (ที่ได้กล่าวไว้ในเรื่องเมารถ เมาเรือด้วย) นอกจากนั้นยาอีกหลายชนิดแม้แต่ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) เช่น สเตรปโตมัยซิน (streptomycin) กานามัยซิน (kanamycin) เจนตามัยซิน (gentamicin) ก็ทำให้เกิดอาการเช่นนี้ได้
การรักษา
การป้องกันให้ผลดีกว่าการรักษาโดยการหลีกเลี่ยงไม่กิน ดื่ม หรือเสพ ของมึนเมาต่างๆ โดยเฉพาะถ้ารู้ว่าตนนั้นเมาง่ายหรือแพ้สิ่งเสพย์นั้น
สำหรับผู้ที่เกิดอาการมึนเมาขึ้นแล้ว ต้องหยุดกิน หยุดดื่ม หรือหยุดเสพย์ สิ่งมึนเมานั้นทันที ถ้าเป็นสุรายาดอง หรือสิ่งที่กินเข้าไปใหม่ๆ ควรจะล้วงคอให้อาเจียน สิ่งมึนเมาเหล่านั้นเสีย แล้วนอนพัก แต่ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนตลอดเวลา หรืออาเจียนเป็นเลือดหรือไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือมีอาการเจ็บหนักอื่นๆ (ดูอาการเจ็บหนักหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 64 และ 65)
สำหรับคนไข้ที่กินยาหรือฉีดยาหรือใช้ยาอยู่ ถ้ามีอาการเวียนศีรษะ เดินไม่ตรงทาง โคลงเคลงลง โงนเงน หรืออื่นๆ ควรหยุดใช้ยาทันที ถ้าหยุดยานั้นแล้วอาการดีขึ้น อาการเวียนศีรษะ ฯลฯ อาจเกิดจากยานั้น ถ้าคนใช้ไม่จำเป็นต้องใช้ยานั้นอีก ก็เลิกใช้ยานั้นเสีย
แต่ถ้าคนไข้จำเป็นต้องใช้ยานั้นให้ลองใช้ยานั้นดูใหม่ ถ้าเกิดอาการอีกก็ให้ลองหยุดยาดูใหม่ ถ้าหยุดยาแล้วอาการหายอีก ก็แสดงว่าคนไข้ใช้ยานั้นไม่ได้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “แพ้ยา” ให้หายาตัวใหม่เพื่อทดแทนยาที่แพ้นั้น
4. การเอี้ยวคอ หรือก้มหน้าเงยหน้า
ถ้าคนไข้มีอาการเวียนหัว มึนหัว เวลาเอี้ยวคอไปมา หรือเวลาก้มหน้าเงยหน้า แสดงว่าอาการเวียนหัวนั้น เกิดจากกระดูกคอผิดปกติไปกดทับ หรือ หักงอหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองส่วนหลัง (vertebral artery) หรือเกิดจากหูชั้นใน หรือระบบประสาทที่เกี่ยวข้องผิดปกติ
การรักษา
พยายามให้คอหรือศีรษะอยู่นิ่ง ในระยะที่มีอาการ อาจใส่ปลอกคอ (cervical collar or brace) จะทำให้คอและศีรษะอยู่นิ่งๆ ได้ดีขึ้น
ถ้ามีอาการมาก อาจกินยาแก้เมารถ เมาเรือ ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ในขณะที่มีอาการ หรือถ้าเป็นบ่อยๆ อาจจะกินครั้งละครึ่ง-1เม็ด ตอนเช้า-กลางวัน และเย็น และ 1-2 เม็ดก่อนนอน (ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้)
เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ควรพยายามออกกำลังกายด้วยการเดิน หรือเดินสลับวิ่ง เพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ และให้บริหารคอด้วย
วิธีบริหารคอ ควรทำทั้งแบบที่ให้คอเคลื่อนไหวไปมา และแบบที่ให้คออยู่นิ่งๆ
วิธีบริหารคอแบบให้คอเคลื่อนไหวไปมา คือ การก้มหน้าเงยหน้า หันซ้าย หันขวา และแกว่งคอ (ศีรษะ) ไปรอบๆ (เวียนขวาบ้างเวียนซ้ายบ้าง) เมื่อเริ่มทำ ให้ทำอย่างช้าๆ ก่อน เมื่อไม่เวียนหัวแล้ว จึงค่อยๆ ทำให้เร็วขึ้น แต่ห้ามทำแบบสะบัดคอ (สะบัดหัว) หรือแบบรุนแรง เช่น ให้ผู้อื่นจับคอแล้ว หันคออย่างรุนแรงทันที (เช่นในร้านตัดผม) จะทำให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์
วิธีบริหารคอแบบให้คอและหัว(ศีรษะ) อยู่นิ่งๆ แล้วใช้ฝ่ามือข้างใดข้างหนึ่งดันศีรษะแต่ละด้าน โดยไม่ให้ศีรษะและคอเคลื่อนไปตามแรงดันนั้น นั่นคือ ให้เกร็งคอไว้ในขณะที่ใช้มือดันศีรษะ เพื่อให้กล้ามเนื้อคอได้ออกกำลังสู้กับแรงดันจากฝ่ามือ เมื่อเริ่มทำให้ออกแรงดันค่อยๆ ก่อน และให้ทำทั้ง 4 ด้าน (4 ทิศ คือหน้าผาก 1, และข้างศีรษะด้านซ้าย 1, ท้ายทอย 1, และข้างศีรษะด้านขวา 1) สลับกันไปเรื่อยๆ จนเริ่มรู้สึกเมื่อยที่คอก็หยุดได้ แล้วเมื่อใดว่าง (ขณะทำงาน ขณะดูโทรทัศน์ ฯลฯ ) ก็ให้ทำเช่นนั้นอีก
การบริหารคอบ่อยๆ เป็นประจำ จะป้องกันและรักษาอาการเวียนหัว มึนหัว เวลาเอี้ยวคอ หรือเวลาก้มหน้าเงยหน้าได้
5. การเปลี่ยนท่า
ถ้าคนไข้มีอาการเวียนหัว มึนหัว เวลาเปลี่ยนท่าจากท่านอน เป็นท่านั่ง หรือท่ายืน โดยเฉพาะจากท่านั่งยองๆ เป็นท่ายืน แสดงว่าร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้เลือดตกลงไปที่ขาและเท้ามากในท่ายืน จึงมีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอในท่านั่งหรือท่ายืน ทำให้เกิดอาการเวียนหัว มึนหัว หรือหน้ามืดเป็นลมได้
อาการจะเกิดขึ้นในทันทีที่ลุกขึ้น หรืออาจจะเกิดหลังจากนั้นสักครู่หนึ่ง (เช่น หลังจากลุกขึ้นและเดินไปหลายก้าวแล้ว)
การรักษา
เมื่อเกิดอาการ รีบนั่งหรือนอน ลงทันที มิฉะนั้นอาจเป็นลมหมดสติทำให้ล้มลง ทำให้ศีรษะ ลำตัว หรือแขนขา ฟาดพื้นเกิดอันตรายขึ้นได้
เมื่อไม่มีอาการแล้ว ควรออกกำลังเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ เช่น การเดิน การวิ่ง หรือเดินสลับวิ่ง ที่สำคัญและช่วยมาก คือการย่อเข่าขึ้นๆ ลงๆ (นั่นคือ ยืนตรง มือเท้าสะเอว แล้วย่อเข่าลงจนก้นเกือบติดพื้น แล้วก็ลุกขึ้นยืนตรงใหม่) ถ้าทำเช่นนี้บ่อยๆ เป็นประจำ ทำให้หายจากอาการเวียนหัวเมื่อเปลี่ยนท่าได้
สำหรับผู้ที่เวียนหัวเมื่อเปลี่ยนท่าและกำลังกินยาหรือใช้ยาอยู่ ควรสงสัยว่าอาการเวียนหัวอาจเกิดจากยานั้น ให้หยุดยาไว้ก่อน และปรึกษาหมอคนให้ยานั้น กินแล้วทำให้เวียนหัว เมื่อเปลี่ยนท่าได้หรือไม่ ยาหลายอย่างทำให้เป็นเช่นนั้นได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ (ยาลดบวม) ยาลดความดันเลือด ยานอนหลับ เป็นต้น แม้แต่สุรา ชา กาแฟ ก็ทำให้เกิดอาการเวียนหัวเมื่อเปลี่ยนท่าได้
หมายเหตุ
สำหรับผู้ที่ชอบเวียนหัวเวลาเปลี่ยนจากท่านอนหงายเป็นท่านอนตะแคงซ้ายหรือขวา ให้ถือว่าเป็นอาการเวียนหัวแบบที่เกิดจากการเอี้ยวคอหรือก้มหน้าเงยหน้า ให้รักษาแบบการเวียนหัวที่เกิดจากการเอี้ยวคอหรือก้มหน้าเงยหน้า (ดูข้อ4)
6. การเป็นหวัด คัดจมูก
ถ้าคนไข้มีอาการเวียนหัว มึนหัว บ้านหมุน หลังจากที่เป็นหวัด คัดจมูก หรือครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวๆ ร้อนๆ มักเกิดจากหูชั้นในอักเสบจากเชื้อไวรัส หรือจากการแพ้อากาศ ซึ่งอาจเรียกว่า “หวัดลงหู”
อาการอาจจะเกิดขึ้นทันที จนตื่นขึ้นมา บ้านก็หมุนไปหมด หรืออาการอาจจะเป็นเพียงมึนหัว เวียนหัวก็ได้
การรักษา
เมื่อมีอาการ ให้นอนนิ่งๆ หลับตา และถ้าหลับได้ให้หลับเสีย (ถ้าหลับเองไม่ได้ ให้กินยาแก้เมารถ เมาเรือ ดังกล่าวข้างต้น ก็จะช่วยให้หายเวียนหัว จะทำให้หลับได้ดีขึ้น) ส่วนมากหลังจากหลับได้สักพัก เมื่อตื่นขึ้นมาอาการจะดีขึ้น
ถ้าอาการไม่หายหรือเป็นมาก ให้กินยาแก้เมารถ เมาเรือ ครั้งละครึ่ง-1 เม็ด ตอนเช้า-กลางวัน-เย็น และ 1-2 เม็ดก่อนนอน
รักษาความอบอุ่นของร่างกาย โดยแต่งกายให้ร่างกายอบอุ่น ดื่มและกินแต่ของร้อนๆ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ถ้าอาการไม่ดีขึ้นเลยภายใน 3-4 วันควร จะปรึกษาแพทย์
เมื่อไม่มีอาการแล้ว ควรออกกำลังกายเพิ่มขึ้นๆ เพราะผู้ที่ชอบเวียนหัว มึนหัว หน้ามืดเป็นลมเวลาเป็นหวัด คัดจมูก มักเป็นคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย และไม่ค่อยแข็งแรง หรือเป็นคนที่ชอบนอนดึก นอนและอยู่ในห้องปรับอากาศ (ห้องแอร์) เป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ค่อยระวังรักษาสุขภาพของตน
อาการเวียนหัว มึนหัว หน้ามืด เป็นลม ส่วนใหญ่จึงป้องกันได้ด้วยการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นๆ และต้องทำเป็นประจำทุกวันด้วย
- อ่าน 103,759 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้