• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เวียนหัว มึนหัว หน้ามืด

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

เวียนหัว มึนหัว หน้ามืด

นอกจากการตรวจรักษาอาการเวียนหัว มึนหัว หน้ามืด ตามสาเหตุ ในกรณีที่สามารถซักประวัติหาสาเหตุของอาการดังกล่าวได้ ดังที่ได้กล่าวไว้ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 72 และ 73

แต่ในกรณีที่ไม่สามารถซักประวัติหาสาเหตุของอาการดังกล่าว ผู้เขียนได้กล่าวถึงขั้นตอนการตรวจรักษาขั้นตอนที่ 1 คือ การแยกว่าอาการเวียนหัวมึนหัว ฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน ไว้ในหมอชาวบ้านครั้งที่แล้ว ครั้งนี้จะกล่าวถึงขั้นตอนที่ 2

ขั้นตอนที่ 2 :

การรักษาตามอาการ : ถ้าคนไข้

2.1 ฉุกเฉิน : ถ้าคนไข้มีอาการเจ็บหนัก (ดูอาการเจ็บหนักใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 64-66) นอกจากการปฐมพยาบาลแล้ว จะต้องส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาให้พ้นอาการเจ็บหนัก โดยการช่วยพยุงสิ่งแสดงชีพ (vital signa) คือ ชีพจร การหายใจ ความดันเลือด และอุณหภูมิ (ความร้อนเย็น) ของร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ หรือใกล้เคียงกับระดับปกติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ดูวิธีตรวจสิ่งแสดงชีพใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้าน ฉบับ 15-16) แล้วตรวจหาและรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหนักนั้น

ถ้าคนไข้ฟื้นจากอาการเจ็บหนัก แล้วอาการเวียนหัว มึนหัวหายไป แสดงว่าอาการเวียนหัว มืนหัวนั้นน่าจะเกิดจากอาการเจ็บหนัก และถ้าคนไข้ไม่มีอาการเวียนหัว มึนหัว ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุอื่นของอาการเวียนหัว มึนหัวอีก

ถ้าคนไข้ฟื้นจากอาการเจ็บหนัก แล้วอาการเวียนหัว มืนหัวยังคงอยู่ แม้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหนักได้รับการตรวจรักษาจนหายเรียบร้อยแล้ว ก็ควรจะหาสาเหตุอื่นๆ ของอาการเวียนหัว มึนหัว ต่อไป แบบคนไข้ไม่ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม คนไข้ที่เพิ่งหายจากอาการเจ็บหนัก อาจจะมีอาการอ่อนเพลีย เวียนหัว มึนหัว เกิดขึ้นในระยะฟื้นไข้ ซึ่งอาจจะกินเวลาเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนกว่าจะรู้สึกเป็นปกติใหม่ได้

สำหรับคนไข้ที่ไม่เจ็บหนัก แต่มีอาการเวียนหัว มึนหัว แบบร้ายแรง ควรรักษาอาการเวียนหัว มึนหัวไปก่อน แล้วต้องหาสาเหตุ และให้การรักษาสาเหตุด้วย ดังขั้นตอนที่ 3

2.2 ไม่ฉุกเฉิน : สำหรับคนไข้ที่มีอาการเวียนหัว มึนหัวแบบไม่ฉุกเฉิน ควรให้การรักษาอาการ ถ้าคนไข้หายแล้วไม่เป็นอีก ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุ (นอกจากสาเหตุที่รู้ได้แล้วจากการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างคร่าวๆ) แต่ถ้าคนไข้เป็นๆ หายๆ ควรจะหาสาเหตุและให้การรักษาสาเหตุด้วยดังขั้นตอนที่ 3

การรักษาอาการ :

ยาแก้อาการเวียนหัว มึนหัว บ้านหมุน เช่น

1. ยาไดเมนฮัยดรีเนต (dimenhydrinate) หรือในชื่อการค้า เช่น Daedalon, Dramamine, Gravol เม็ดละ 50 มิลลิกรัม กินครั้งละ ครึ่ง-1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง (ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้)

2. ยาเมคลีซีน (meclizine) หรือในชื่อทางการค้า เช่น Bonamine เม็ดละ 25 มิลลิกรัม กินครั้งละ ครึ่ง-1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง (ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้)

ยาทั้ง 2 ตัวนี้ กินแล้วจะง่วงหรือซึม ถ้ากินยาอะไรแล้วง่วง ห้ามขับรถหรือทำในสิ่งที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ ยาทั้ง 2 ตัวนี้จะช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนได้ด้วย

ยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน : ถ้ากินยาแก้อาการเวียนหัว มึนหัว บ้านหมุน แล้วยังไม่หายคลื่นไส้อาเจียน ก็อาจกินยาแก้คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย เช่น

1. ยาเมโตโคลพราไมด์ (metoclopramide) หรือในชื่อการค้า เช่น Maxolon, Nausa, Plasil, Primperan เม็ดละ 10 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ด เวลาคลื่นไส้อาเจียน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1 ชั่วโมง ให้ซ้ำได้อีก 1 เม็ด

2. ยาโพรโคลเพอราซีน (prochloperazine) หรือในชื่อการค้า เช่น properan, Stematil เม็ดละ 5 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ดเวลาคลื่นไส้อาเจียน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1 ชั่วโมง ให้ซ้ำได้อีก 1 เม็ด

ยาทั้ง 2 ตัวนี้ เมื่อกินแล้วอาจทำให้ง่วงได้

ยาลดความกังวล : ซึ่งจะช่วยลดอาการเวียนหัวจากหูชั้นใน (central vestibular response) ได้ด้วย เช่น ยาไดอะซีแพม (diazepam) หรือในชื่อการค้า เช่น Diapine, Stesoline, Valium เม็ดละ 2 หรือ 5 มิลลิกรัม กินครั้งละ ครึ่ง-1 เม็ด ทุก 6-8 ชั่วโมง จะช่วยลดความกังวลและความกลัวต่างๆ กินร่วมกับยาแก้เวียนหัว หรือยาแก้คลื่นไส้อาเจียนได้ ในกรณีที่เวียนหัวจนบ้านหมุนและมีอาการรุนแรงมาก อาจฉีดยาไดอะซีแพม 5-10 มิลลิกรัม เข้าเส้นจะช่วยลดอาการลงได้

ยาไดอะซีแพม จะทำให้ง่วงได้ ถ้าใช้ยาอะไรแล้วทำให้ง่วง ห้ามขับรถ หรือทำในสิ่งที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

ยาป้องกันอาการเวียนหัวมึนหัว เช่น ยาอะโทรปีน (atropine) ถ้าให้ในขณะเริ่มมีอาการ จะทำให้อาการหายไปได้ ยา cinnarizine หรือในชื่อการค้า เช่น Cinazin, Sturgeron กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2-4 ครั้ง ก็อาจจะช่วยในคนไข้บางคนที่อายุมากและมีอาการเวียนหัว มึนหัวบ่อยๆ ได้

สิ่งอื่นๆ ที่จะช่วยป้องกันรักษาอาการเวียนหัว มึนหัว คือ

1.การหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่จะทำให้เกิดอาหารเหล่านั้น เช่น ถ้ากินเหล้า สูบบุหรี่ ขึ้นที่สูง นั่งรถ นั่งเรือ ก้มๆ เงยๆ หรือหันศีรษะไปมา แล้วเกิดอาการเวียนหัว ก็ต้องหลีกเลี่ยงจากการกระทำดังกล่าว

2. ในขณะที่เวียนหัวรุนแรง การนอนนิ่งๆ จะช่วยให้อาการลดลงหรือหายไปได้ และถ้าหลับได้ (ถ้าหลับเอง การเดิน การวิ่ง การว่ายน้ำ หรืออื่นๆ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น และทำไม่ได้ อาจกินยาแก้เวียนหัว และ/หรือยาไดอะซีแพม สัก 1-2 เม็ด เพื่อช่วยให้หลับได้) เมื่อตื่นขึ้นมา อาการมักจะลดลงหรือหายไป

3. ในกรณีที่เวียนหัวง่ายเมื่อหันศีรษะ ควรใส่ปลอกคอ เพื่อป้องกันไม่ให้หันศีรษะ (หันคอ) โดยไม่ได้ระวัง และป้องกันไม่ให้หันศีรษะหรือคอมากเกินไป

4. การออกกำลังกาย เช่น การฝึกการทรงตัว (balancing exercise) ให้การเวียนหัว มึนหัว ลดลง หรือหายไป

5. การพักผ่อนที่เพียงพอ การพักผ่อนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะการนอนหลับสนิทเท่านั้น แต่ยังหมายถึงจิตใจที่ปราศจากความเครียด ความกังวล เป็นช่วงๆ แต่ละช่วงจะนานมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน

6. อาหารที่ถูกต้อง การกินอาหารที่เหมาะสมจะช่วยทำให้ร่างกายสมบูรณ์ ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป ทำให้อาการเวียนหัว มึนหัว ลดลง หรือหายไปได้

ข้อมูลสื่อ

75-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 75
กรกฎาคม 2528
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์