• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เวียนหัว มึนหัว หน้ามืด

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

เวียนหัว มึนหัว หน้ามืด

การตรวจรักษาอาการเวียนหัว มึนหัว แบบฉุกเฉิน และแบบไม่ฉุกเฉิน ตลอดจนวิธีใช้ยา และวิธีปฏิบัติรักษาตัวเพื่อแก้อาการเวียนหัว และมึนหัวนั้น ได้กล่าวไว้แล้วใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ฉบับก่อนๆในขั้นตอนที่ 1 และที่ 2 ของการตรวจรักษาอาการเวียนหัว มึนหัว ที่ไม่ทราบสาเหตุ ในครั้งนี้จะกล่าวถึงขั้นตอนที่ 3 คือ การหาและรักษาสาเหตุของอาการเวียนหัว มึนหัว หน้ามืด

ขั้นตอนที่ 3 : การหาและรักษาสาเหตุ

ถ้าคนไข้มีอาการเวียนหัว มึนหัว แบบร้ายแรง (ดูวิธีแยกแบบร้ายแรงและไม่ร้ายแรง ใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ฉบับที่ 74 ) จะต้องหาสาเหตุและพยายามรักษาสาเหตุด้วยเสมอ

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัว มึนหัวแบบร้ายแรงที่น่าจะรู้ไว้ เช่น

1. โรคหลอดเลือดตีบ (cerebrovascular atherosclerosis)

ให้สงสัยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ถ้าอาการเวียนหัว มึนหัว แบบร้ายแรงนั้น เกิดขึ้นใน

1.1 คนสูงอายุ (คนแก่)

1.2 คนที่เป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะถ้าเป็นมานาน

1.3 คนที่มีอาการของสมองขาดเลือดมาก่อน เช่น มีอาการตาทั้งสองข้างมองเห็นภาพผิดไปจากปกติเห็นภาพเป็นสอง (เห็นของชิ้นเดียวเป็นสองชิ้น) , เดินโคลงเคลงโซเซ (โดยไม่ได้กินยาหรือของมึนเมา), มีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือเจ็บเสียวตามผิวหนัง ตามแขนขา, พูดจาไม่ชัด หรือตะกุกตะกัก, หรือมีอาการของอัมพฤกษ์หรืออัมพาต เป็นต้น

การรักษา : เมื่ออาการเวียนหัว มึนหัว เกิดขึ้นในกรณีดังกล่าวนอกจากการรักษาอาการเวียนหัว มึนหัวด้วยยาและวิธีปฏิบัติรักษาตัวดังได้กล่าวไว้ในครั้งก่อนๆ แล้ว ควรจะให้ยาแอสไพริน กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1-2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและ/หรือเย็น เพื่อให้เลือดแข็งตัวยากขึ้น การไหลเวียนของเลือดในสมองจะได้ดีขึ้น

ในระยะยาว อาการเวียนหัว มึนหัว อาจจะหายหรือไม่เป็นบ่อยๆ ได้

2. โรคลมตะกัง (ไมเกรน)

ให้สงสัยโรคไมเกรน ถ้าอาการเวียนหัว มึนหัว เกิดในคนที่เป็นโรคลมตะกัง (ดูเรื่องโรคลมตะกัง หรือไมเกรน ใน “มาเป็นหมอกันเถิด” “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 70 หน้า 34 ) อาการเวียนหัว บ้านหมุน อาจเกิดก่อนอาการปวดหัว หรือเกิดในขณะที่ปวดหัว หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่มีอาการปวดหัว ก็ได้

การรักษา : ถ้าสงสัยว่าอาการเวียนหัวบ้านหมุนเกิดจากโรคลมตะกังหรือไมเกรน นอกจากจะรักษาอาการเวียนหัวบ้านหมุนด้วยยา และวิธีปฏิบัติตัวดังได้กล่าวไว้ในครั้งก่อนๆ แล้ว ควรจะลองให้การรักษาและการป้องกัน แบบไมเกรน (ดูเรื่อง โรคลมตะกัง หรือไมเกรน ใน “มาเป็นหมอกันเถิด” “หมอชาวบ้าน” ฉบับ 70 หน้า 34 ) ถ้าอาการดีขึ้น อาการเวียนหัวบ้านหมุนนั้นก็เป็นไมเกรนแบบหมุน (vertiginousmigraine)

3. โรคเนื้องอกซีพี (C.P. or cerebello-pontine angle tumor)

ให้สงสัยโรคนี้ ถ้าคนไข้มีอาการหูอื้อ (มีเสียงในหู) หรือหูหนวกข้างเดียว เพิ่มขึ้นๆ เรื่อยๆ หรือหน้าซีกหนึ่งชา หรืออ่อนแรง (หน้าเบี้ยว) หรือมีอาการเดินโคลงเคลงโซเซ (ทั้งที่ไม่ได้กินยาหรือของมึนเมา)

การรักษา : ถ้าสงสัยโรคเนื้องอก ซีพี จะต้องเอกซเรย์รูหู (X-rays acoustic canal) ดูก่อน ถ้าพบรูหูชั้นในกว้าง (widened internal auditory canal) หรือมีการทำลายของกระดูกบริเวณนั้น ต้องรีบให้คนไข้ไปหาหมอผ่าตัด หรือหมอหูทันที

4. โรคที่ต้องการการรักษาด้วยยาจำพวกสเตียรอยด์ในระยะแรก :

โรคเหล่านี้พบได้น้อยมากดังนั้น โอกาสที่จะเป็นโรคเหล่านี้จึงมีน้อยมาก ถ้าไม่แน่ใจ และสามารถไปหาหมอที่เชี่ยวชาญทางประสาทวิทยา (ไม่ใช่หมอโรคประสาท หรือหมอโรคจิต) ได้แล้ว ควรจะไปหาหมอดีกว่า ถ้าไม่สามารถจะไปหาหมอได้ ให้สงสัยว่าอาการเวียนหัว มึนหัวนั้นอาจต้องการการรักษาด้วยยาเพร็ดนิโซโลน หรือยาในจำพวกเดียวกัน ถ้าคนไข้มีอาการ

1) ทางตา เช่น ตาแดงแบบร้ายแรง (ดูวิธีแยก ตาแดงแบบร้ายแรงและไม่ร้ายแรงใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ฉบับที่ 25 หน้า 82 ) ,ตาเห็นภาพเป็นสอง (เห็นของชิ้นเดียวเป็นสองชิ้น) ,ตาแข หรือตาเหร่ทันที (นั่นคือ กรอกตาข้างหนึ่งข้างใด หรือทั้งสองข้างไม่ได้ตามปกติ), ตาพร่ามัวหรือบอด (มักจะเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งก่อน), คนที่มีอาการตาแดงแบบร้ายแรง ควรจะไปหาหมอตาทันทีที่ไปหาได้

2) ทางระบบประสาท เช่น ปวดแสบปวดร้อน หรือเจ็บเสียวเวลาลูบเบาๆ บริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง,หน้าเบี้ยว,หูอื้อ หรือหูหนวก

การรักษา : นอกจากจะรักษาอาการเวียนหัว มึนหัว บ้านหมุน ด้วยยาและวิธีปฏิบัติดังกล่าวในครั้งก่อนๆ แล้ว ถ้าไม่สามารถไปหาหมอผู้เชี่ยวชาญในทันทีได้ ให้คนไข้กินยาเพร็ดนิโซโลน (เม็ดละ 5 มิลลิกรัม) ครั้งละ 3-4 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น (คนตัวเล็กให้กินครั้งละ 3 เม็ด คนตัวใหญ่ให้กินครั้งละ 4 เม็ด) จนอาการดีขึ้น (มักดีขึ้นภายใน 3-5 วัน) แล้วให้ลดยาลงเหลือครั้งละ 2-3 เม็ด และเมื่ออาการดีขึ้นอีก ให้ลดยาลงเหลือครั้งละ 1-2 เม็ด เมื่ออาการดีขึ้นอีก ให้ลดยาลงอีกจนสามารถหยุดยานี้ได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ (เมื่อกินยาเพร็ดนิโซโลน จะต้องกินยาลดกรดครั้งละ 2 เม็ด หรือ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 4 ครั้ง 1-2 ชั่วโมง หลังอาหาร 3 มื้อ และก่อนนอน และทุกครั้งที่มีอาการหิว ปวดท้องหรือแสบท้องด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระเพาะลำไส้ อักเสบเป็นแผล และให้กินยาลดกรดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหยุดยา เพร็ดนิโซโลนแล้วอย่างน้อย 3-4 วัน) ไม่ควรกินยาเพร็ดนิโซโลนเกิน 2-3 สัปดาห์ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ ควรจะไปหาหมอทันที

การที่ใช้ยาเพร็ดนิโซโลน ซึ่งเป็นยาอันตรายมากในกรณีที่มีอาการทางตาและ/หรืออาการหน้าเบี้ยว หน้าแสบร้อน เจ็บเสียว หรือหูอื้อ หูหนวกทันที ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ตาบอด หรือระบบประสาทดังกล่าวถูกทำลายเพราะคนไข้อาจจะเป็น

4.1 งูสวัดของเส้นประสาทหู (herpes zoster of the gighth cranial nerve) : ซึ่งอาจวินิจฉัยได้ เพราะพบลักษณะของงูสวัด (เม็ดพองใสและเจ็บเสียวในรูหูชั้นนอก) พบภูมิต้านทานต่องูสวัดในเลือดเพิ่มขึ้น หรือพบเซลล์นิวเคลียสเดียว (mononuclear cells) ในน้ำไขสันหลังมากขึ้น คนไข้ที่เป็นงูสวัดเกือบทั้งหมดจะหายเอง

4.2 โรคเนื้อประสาทขาว (multiple sclerosis) : ซึ่งอาจวินิจฉัยได้ เพราะอาการทางระบบเนื้อประสาทขาวแบบสะเปะสะปะ เช่น ตาบอดข้างเดียว แขนขาอ่อนแรงข้างเดียว หรือทำอะไรสะเปะสะปะ มีความรู้สึกเจ็บเสียวเวลาลูบเบาๆ ตามผิวหนัง ปัสสาวะหรืออุจจาระราด หรืออื่นๆ

คนไข้ที่มีโรคเนื้อประสาทขาว ควรจะได้รับการรักษาจากหมอ เพราะเป็นโรคเรื้อรัง และยังไม่มีวิธีรักษาที่แน่นอน

4.3 กลุ่มอาการโคแกน (cogan’s syndrome) : เป็นกลุ่มอาการที่ทำให้เกิดอาการหมุน หูหนวก และตาแดงแบบร้ายแรง มักเป็นในคนหนุ่มสาว เนื่องจากหลอดเลือดแดงอักเสบ โดยไม่ทราบสาเหตุ การใช้ยาจำพวกสเตียรอยด์จะช่วยป้องกันอาการตาบอดและหูหนวกถาวรได้

ข้อมูลสื่อ

76-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 76
สิงหาคม 2528
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์