• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต่อมไร้ท่อ-ฮอร์โมน

ต่อมไร้ท่อ-ฮอร์โมน

การทำงานของเซลล์ร่างกายนั้นถูกควบคุมให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อ ทั้งสองระบบนี้มีการทำงานเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก เปรียบเสมือนการสื่อสารนำคำสั่งของศูนย์บัญชาการไปยังอวัยวะต่างๆ เพื่อสั่งงานให้ส่วนของร่างกายนั้นๆ มีปฏิกิริยาตอบโต้กับสิ่งแวดล้อมภายนอก หรือความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายได้อย่างทันท่วงทีเหมาะสม

การขยับเขยื้อนส่วนต่างๆ ของร่างกาย การเต้นของหัวใจ การหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร การม้วนตัวของลิ้นในปาก เป็นผลมาจากเส้นประสาท

ส่วนการควบคุมเมตาโบลิซึ่มหรือการเผาผลาญภายในร่างกาย เพื่อให้ได้มาซึ่งลังงานและสารที่จำเป็นในการดำรงชีพ ตลอดจนกระทั่งปฎิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากภายนอก เช่น เมื่อตกใจ ร่างกายจะผลิตสารชนิดหนึ่งออกมา เรียกว่า อีปิเนฟรีน ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เหงื่ออกซึม ม่านตาขยายกว้าง เป็นการเตือนร่างกายว่าควรจะหนีหรือควรจะสู้กับสิ่งที่มาคุกคามนั้นๆ ดี ระบบเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ที่สำคัญที่สุดนี้ เรียกว่า ระบบต่อมไร้ท่อ

ต่อมไร้ท่อคืออะไร

ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่ามันไม่มีท่อ ลักษณะของมันเป็นก้อนเนื้อเล็กๆ ที่เรียกว่า ต่อม ภายในต่อมไร้ท่อจะสร้างชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นคำสั่งงานให้อวัยวะภายในร่างกายโดยเฉพาะปฏิบัติตามคำสั่งนั้นๆ สารนี้เรียกกันว่า ฮอร์โมน

ฮอร์โมนจะถูกสร้างขึ้นในต่อมไร้ท่อ เมื่อใดมีสิ่งเร้ามากระตุ้น ต่อมไร้ท่อก็จะปล่อยฮอร์โมนออกสู่กระแสเลือด ฮอร์โมนจะไหลไปจนถึงอวัยวะที่เป็นเป้าหมาย และสั่งให้อวัยวะนั้นๆ ทำงานเพื่อตอบโต้กับสิ่งที่มากระตุ้น

ต่อมไร้ท่อมีหลายต่อม แต่ละต่อมก็สร้างฮอร์โมนเฉพาะที่ทำหน้าที่เฉพาะอีกเหมือนกัน ต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในร่างกาย ได้แก่ ต่อมใต้สมอง นอกจากนั้นที่เรารู้จักกันดีก็คือ ต่อมไธรอยด์ ต่อพาราไธรอยด์ ต่อมหมวกไต กลุ่มเซลล์ในตับอ่อน เป็นต้น

ส่วนฮอร์โมนที่สร้างขึ้นมานั้นมีหลายชนิดเช่น ฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจนจากรังไข่ ฮอร์โมนเพศชาย เทสโตสเตอโรนจากอัณฑะ ฮอร์โมนไธรอยด์จากต่อมไธรอยด์ สเตียรอยด์จากต่อมหมวกไต อินซูลินจากกลุ่มเซลล์ แลงเกอร์ฮานในตับอ่อน เป็นต้น

ปัจจุบันยังมีฮอร์โมนที่สำคัญๆ ที่พบในระบบประสาท ทำหน้าท่าส่งผ่านสัญญาณในระบบประสาทอีกมากมาย รวมทั้งฮอร์โมนตัวสำคัญเอนดอร์ฟีนที่รู้จักกันดีตัวนั้นด้วย

การทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ และฮอร์โมนเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน เป็นเรื่องในระดับโมเลกุลที่เข้าใจได้ยาก และวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญพอที่จะรู้จักการทำงานของมันทุกขั้นตอน ยกตัวอย่างเช่น ฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเรารู้จักกันดีว่าถูกสร้างขึ้นมาในตับอ่อน เมื่ออินซูลินถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด มันจะควบคุมการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นพลังงาน เพื่อให้เซลล์ทั่วร่างกายได้ใช้ เช่น สมอง ตับ กล้ามเนื้อ หากในภาวะนั้นร่างกายไม่มีน้ำตาลเนื่องจากเจ้าตัวไมได้กินอาหาร ร่างกายก็จะดึงเอาพลังงานส่วนที่สะสมเอาไว้มาใช้ก่อน เพื่อรักษาการทำงานของอวัยวะส่วนที่สำคัญต่างๆ นั้นไว้ให้ทำงานต่อไปได้ตามปกติ เพื่อให้ร่างกายของเราเป็นปกติไปชั่วครู่หนึ่งก่อนที่เราจะหาอาหารป้อนให้กระเพาะได้ทัน

จะเห็นว่าการควบคุมการทำงานของร่างกายโดยระบบต่อมไร้ท่อนั้น สำคัญในการดำรงอยู่ของคนเรา ระบบนี้จะทำหน้าที่ของมันเองโดยที่เราไม่ต้องกดปุ่มกดสวิตช์แต่อย่างใด เมื่อใดที่สภาพของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ฮอร์โมนหรือต่อมไร้ท่อก็จะปล่อยคำสั่งเล็กๆ แต่สำคัญนี้ออกสู่กระแสเลือด เพื่อที่สมอง กล้ามเนื้อ ตับ หัวใจ และอวัยวะอื่นๆ จะได้ทำงานต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด

ต่อมไร้ท่อที่เราพูดถึงกันในตอนนี้ก็คือ ต่อมใต้สมอง

ต่อมใต้สมอง หรือที่เรียกว่า ต่อมพิทูอิทารี่ เป็นต่อมเล็กๆ โตเท่ากับขนาดของปลายนิ้วชี้เท่านั้นเอง แต่ก็เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในร่างกายของเรา ต่อมใต้สมองเป้ฯต่อมที่สร้างฮอร์โมนควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่ออื่นๆ เช่น ต่อมหมวกไต รังไข่ ต่อมไธรอยด์ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ต้องคอยฟังคำสั่งจากต่อมใต้สมอง การสร้างฮอร์โมนเพศหญิงของรังไข่ก็ดี การสร้างฮอร์โมนของไธรอยด์ก็ดี ต้องอยู่ในความควบคุมของต่อมใต้สมองทั้งสิ้น

ต่อมใต้สมองวางอยู่ในร่องของกระดูกรูปปีกผีเสื้อ อยู่ที่ฐานของกะโหลกศีรษะ ต่อมนี้จึงอยู่ด้านใต้ของสมอง ต่อมใต้สมองรับคำสั่งจากสารบัญชาการในสมองให้ผลิตฮอร์โมนต่างๆ ดังนี้

1. ฮอร์โมนสำหรับการเจริญเติบโต ฮอร์โมนนี้จะควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกายแต่ละคน ฮอร์โมนนี้ทำให้เด็กเติบโตได้ตามวัย หากต่อมนี้เกิดสร้างฮอร์โมนชนิดนี้ขึ้นมาไม่ได้ เด็กคนนั้นก็จะหยุดการเติบโต กลายเป็นคนตัวเล็กหรือเป้ฯคนแคระ ตรงข้ามหากต่อมใต้สมองเกิดความผิดปกติ สร้างฮอร์โมนนี้ขึ้นมามากเกินไป คนนั้นก็จะมีตัวสูงใหญ่ผิดปกติกลายเป็นยักษ์ไป

2. ฮอร์โมนเพศ เป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโตของรังไข่ในเด็กหญิง ทำให้เด็กหญิงกลายเป็นหญิงสาว เมื่อเป็นสาวแล้ว ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองก็จะควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนจากรังไข่ เพื่อให้มีไข่ตกและมีรอบเดือน ถ้าไม่มีฮอร์โมนเพศจากต่อมใต้สมอง เด็กหญิงก็จะคงเป็นเด็กไม่เป็นสาวเสียที ส่วนผู้ชายนั้น การเติบโตของอัณฑะก็ถูกสั่งงานโดยฮอร์โมนเพศจากต่อมใต้สมองเช่นเดียวกัน

3. ฮอร์โมนควบคุมการทำงานของต่อมไธรอยด์ ชื่อมันก็บอกหน้าที่อยู่แล้ว เมื่อต่อมไธรอยด์ได้รับคำสั่งจากสัญญาณทางฮอร์โมนตัวนี้ ต่อมไธรอยด์ก็จะสร้างฮอร์โมนไธรอยด์ขึ้นมา หากไม่มีฮอร์โมนชนิดนี้ ต่อมไธรอยด์ก็จะไม่ทำงาน แล้วร่างกายคนนั้นก็จะเชื่องช้า หากมีความผิดปกติตั้งแต่เด็กก็จะทำให้เด็กคนนี้โง่และหยุดการเจริญเติบโต

4. ฮอร์โมนควบคุมการทำงานของต่อมหมวกไต

5. ฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำและเกลือในร่างกาย ถ้าไม่มีฮอร์โมนชนิดนี้ เราจะเสียน้ำออกไปทางไตมากมาย ปัสสาวะบ่อยและกินน้ำ

จะเห็นได้ว่าต่อมใต้สมองถึงแม้จะเป็นต่อมเล็กนิดเดียว แต่หน้าของมันก็มีมากมาย ล้วนควบคุมการทำงานส่วนที่สำคัญๆ ของร่างกายทั้งนั้น ขาดต่อมใต้สมองหรือหากต่อมใต้สมองทำงานไมได้ ร่างกายของเราก็จะทำงานผิดปกติ หรือกลายเป็นคนพิการไป

แต่ไม่ต้องตกใจ นักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์ฮอร์โมนพวกนี้ได้หมดแล้ว แพทย์สามารถรักษาให้ร่างกายเป็นปกติเหมือนเดิมได้ หรือหากฮอร์โมนมีมากเกินไปก็จะมีวิธีจัดการให้เป็นปกติได้เช่นเดียวกัน

 

ข้อมูลสื่อ

77-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 77
กันยายน 2528
พญ.ลลิตา ธีระศิริ