• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แนะนำการนวดไทย

แนะนำการนวดไทย

การนวดไทยนับเป็นวิธีธรรมชาติบำบัดที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษเรามาช้านาน สามารถนำมารักษาตนเองเป็นการรักษาเบื้องต้นที่ประหยัดและได้ระโยชน์ ในภาวะที่ประเทศของเราต้องเสียดุลการค้าอย่างมากมาย เราต้องจ่ายเงินซื้อยาจากต่างประเทศปีหนึ่งๆ ด้วยเงินมหาศาล การนวดจะช่วยให้เราไม่ต้องกินยาโดยไม่จำเป็นหรือเกินความจำเป็น

นอกจากนี้การนวดยังเป็นกรอนุรักษ์วัฒนธรรมการพึ่งตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นการสร้างความใกล้ชิดระหว่าง ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน เพราะเมื่อต่างคนต่างฝึกฝนจนมีความสามารถแล้ว ก็จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ “หมอชาวบ้าน” ครั้งนี้จะขอพาท่านมาพบกับรองศาสตราจารย์นายแพทย์กรุงไกรเจน พาณิชย์ แห่งภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คุณหมอได้สนใจการนวดแบบไทยมาเป็นเวลาเกือบสิบปีและได้ฝึกฝนวิชาการนวดไทย จากหมอแผนไทยเดิมแบบราชสำนัก นอกจากนั้นก็นำมาประยุกต์ใช้ในสอดคล้องกับการรักษาอาการต่างๆ

เรามาฟังคุณหมอพูดถึงเรื่องการนวดแผนไทยแบบไทยๆ เลยนะครับ

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องการนวด ผมอยากจะกล่าวถึงแนวทางการรักษาสุขภาพก่อนว่า แท้จริงในการรักษาสุขภาพไม่ว่าจะแผนปัจจุบันหรือแผนโบราณ เรามีหลักอยู่ว่า ต้องอาศัยการหลีกเลี่ยงและการป้องกันก่อนจะทำการแก้ไข

ก่อนอื่น เราควรใช้วิธีหลีกเลี่ยงอยู่ดีๆ เอาตัวไปเสี่ยงโรคภัยทำไม แต่ถ้าเสี่ยงไม่ได้ก็ต้องป้องกัน ถ้าเสียทีข้าศึกก็ต้องรักษา ถ้ารักษาไม่หายก็ตาย นี่เป็นสัจธรรมการนวดนั้นเราจะนำมาป้องกันหรือแก้ไขก็ได้ และก็เป็นวิธีที่ประหยัดและสะดวก เป็นวิธีธรรมชาติบำบัดอย่างหนึ่ง

คุณคิดดูถ้าเกิดมีความจำเป็นขึ้นมา ไปอยู่ที่ไหนที่ไม่มียา ไม่ว่าจะเป็นยาปัจจุบันหรือยาสมุนไพรก็ตาม จะทำอย่างไร เราก็ใช้มือของเรานี่แหละให้เป็นประโยชน์ได้ การนวดนั้นเราถือว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นวิชาการแน่ๆ ผู้ที่เรียนถูกวิธีจะรู้เลยว่าเป็นศาสตร์เพราะมีกฎเกณฑ์และระบบระเบียบแบบแผน ว่าจะทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง ส่วนศิลป์นั้น คือ ศิลปะในการนวดอย่างไรให้เหมาะสม ทั้ง 2 อย่างนี้อยู่ที่ความรู้ความชำนาญ ปฏิภาณไหวพริบรอบตัวจึงจะใช้ได้ผลดีโดยส่วนเดียว

  • พื้นฐานความรู้ก่อนนวดควรมีอะไรบ้างครับ

พื้นฐานก่อนนวดที่เราควรรู้ประการแรก คือ ส่วนต่างๆ ของร่างกายที่เรียกว่า กายวิภาคศาสตร์ หมายถึง ต้องรู้ว่ารูปร่างหน้าตาของอวัยวะเป็นอย่างไร ส่วนไหนคืออะไร เราจะรู้แบบปัจจุบันหรือแบบไทยเดิมก็ได้ ถ้าไม่รู้ก็คงต้องจำจากคำบอกเล่าต่อๆ กันมาซึ่งอาจผิดพลาดหรือเพี้ยนได้

ประการที่สอง ต้องรู้เรื่องสรีรวิทยา คือ หน้าที่ของอวัยวะต่างๆ ว่าทำงานได้แค่ไหนอย่างไร เช่น ข้อ ถ้าแผนปัจจุบันก็ว่าเคลื่อนไหวได้เท่าไร กี่องศา ขึ้นลงได้แค่ไหน สำหรับแผนไทยเดิมเขารู้ว่าข้อไหนจะเคลื่อนไหวได้ในขอบเขตจำกัดเพียงใด เช่น งอเข่า จะงอได้แค่ไหน ถ้าเข่างอติดกันได้ ก็สามารถนั่งยองๆ ได้ ถ้างอไม่ติดก็จะมีทางนั่งได้เลย เป็นต้น

ทั้ง 2 ประการข้างต้นเป็นพื้นฐานที่ต้องเรียนรู้

  • ก่อนที่จะลงมือนวดรักษาต้องทำอย่างไรบ้างครับ

ในการรักษาโรค ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าเป็นโรคอะไรก่อนใช่ไหมครับ มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นการเหวี่ยงแห เพราะฉะนั้นจะต้องมีการวิเคราะห์โรคก่อนว่า เป็นโรคอะไร โดยอาศัยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย

เนื่องจากการรักษาแผนไทยเดิมไม่มีห้องปฏิบัติการ เพราะฉะนั้นการซักประวัติและตรวจร่างกาย จึงต้องใช้ความชำนาญอย่างมาก จึงจะได้ข้อมูลว่าคนนั้นเป็นโรคอะไร สาเหตุจากอะไร ตำแหน่งที่เป็น ระยะที่เป็น เช่นเป็นมานานเท่าไร ตอนเริ่มเป็นอยู่ เป็นทันที หรือค่อยๆ เป็นทีละน้อย การดำเนินโรคที่ผ่านมามันทุเลาเองได้ไหม หรือต้องทำอย่างไรถึงทุเลา

สิ่งสำคัญต่อมา คือ คำแนะนำ มีความสำคัญมาก คือว่าควรปฏิบัติตัว อย่างไรถ้าไม่มีคำแนะนำที่ดี เป็นแล้วก็เป็นอีก น่ารำคาญมาก คำแนะนำก็มี 2 อย่างคือ 1. สิ่งที่ควรกระทำ 2. สิ่งที่พึงละเว้น (ของแสลง)

สิ่งที่ควรกระทำ เช่น ตอนนี้ควรจะออกกำลังหรือไม่เพียงใด ต้องออกกำลังพอเหมาะ คือ ไม่มากไม่น้อยเกินไป ก้มมากๆ ไม่เคยเงย ก็ต้องออกกำลังคอหรือหลังบ้างเป็นต้น

สิ่งที่พึงละเว้น หมอแผนไทยเดิมมักจะห้าม หน่อไม้ ข้าวเหนียว ยาแก้ปวด ของดอง เหล้าเบียร์ เพราะมักกินเข้าไปแล้วจะทำให้อาการเป็นมากขึ้นหรือกลับมาเป็นอีก เรื่องนี้คนไข้ต้องสังเกตด้วยตัวเอง ก่อนที่จะมีอาการเขากินาอะไร และมีอาการรุนแรงหรือรักษาหายแล้วไปกินอะไรเข้าก็มีอาการกลับมาอีก เมื่อทราบแล้วจะต้องงดกินของนั้นๆ เป็นต้น

  • เกี่ยวกับอาหารแสลงที่คุณหมอบอกว่า มีหน่อไม้ ข้าวเหนียว ซึ่งเป็นอาหารประจำวันของพี่น้องชาวอีสาน จะทำอย่างไรครับ

สำหรับหน่อไม้ ข้าวเหนียวซึ่งเป็นอาหารประจำของพี่น้องชาวอีสานก็ไม่ถือเป็นของแสลงครับ

  • การนวดมีกี่วิธีครับ

การนวดโดยทั่วไปมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

1. การนวดเฉพาะส่วนที่เป็น

2. นวดที่อื่นเพื่อส่งผลไปยังบริเวณที่เป็น

นวดเฉพาะส่วนที่เป็น เช่น เวลาปวดเมื่อยที่คอหรือลังแล้วนวดบริเวณที่ปวดเมื่อยนั้นเลย เป็นต้น

นวดที่อื่นเพื่อส่งผลยังบริเวณที่เป็น เช่น บางคนปวดหลังก้มไม่ได้หรือก้มได้นิดเดียว หลังแข็ง พอพิคราะห์โรคแล้ว นวดที่ก้านคอกับไหล่เท่านั้น ไม่ต้องนวดลงหลังเลย ปรากฏว่าคนไข้ก้มได้เป็นปกติ

ในกรณีที่นิ้วหัวแม่มือเจ็บเหยียดไม่ได้ ถ้ามีการอักเสบ ตอนแรกเขาก็ไม่นวดที่นิ้วเลย เขาจะนวดที่ต้นแขนด้านหน้าหรือปลายข้อศอกลงมา เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงจุดเจ็บก่อน พออาการเจ็บดีขึ้นก็ค่อยนวดที่หัวแม่มือ ซึ่งก็เป็นการนวดเฉพาะที่โดยตรง นับเป็นการนวดผสมผสานทั้ง 2 ลักษณะ

  • การนวดมีหลักการอย่างไรบ้าง?

หลักการนวดโดยทั่วไปที่ได้รวบรวมไว้คิดว่าควรมีดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย

1. ตำแหน่งนวด (จุดนวด)

เป็นตรงไหนควรจะนวดจุดไหน เรื่องนี้ขึ้นกับการวิเคราะห์โรคให้ถูก วิเคราะห์ไม่ถูกก็จะนวดไม่ถุกจุด

2. ท่านวด

หมายถึงท่าของทั้งหมอและคนไข้ ต้องคิดดูว่าคนไข้ควรจะนั่ง นอนหงาย หรือนอนตะแคงนวดถึงจะดี สำหรับการนอนคว่ำนวดคงจะไม่เหมาะ อย่างเช่น คนอ้วนจะติดที่พุง หรือผู้หญิงจะติดที่หน้าอก ท่านวดนี้จะรวมไปถึงองศาที่ตัวหมอทำกับคนไข้ ที่สำคัญต้องอยู่ในท่าที่สบายทั้งหมอและคนไข้

3. แรงที่ใช้นวด

เราควรเริ่มต้นจากน้อยไปก่อน และค่อยๆ เพิ่มขึ้น การออกแรงนวดนี้เป็นความรู้สึกละเอียดอ่อน จะบอกว่าเป็นโรคนี้ต้องใช้แรงเท่านี้ไม่ได้ เพราะคนไข้คนเดียวแต่ในระยะเวลาที่ต่างกันก็อาจต้องใช้แรงที่ต่างกันไปด้วย

4. เวลาที่ใช้นวด (แต่ละจุด)

เราต้องทราบว่าจะนวดอยู่นาน หรือนวดเพียงระยะสั้น และเวลาปล่อยจะต้องค่อยๆ ปล่อย ใช้เวลาเท่าไร ไม่ใช่กดปุ๊บปล่อยปั๊บเพราะคนไข้จะระบม

5. นวดที่ไหน (ก่อน-หลัง)

จะกดนวดบริเวณใดก่อนเช่น ตรงคอไหล่เรียงไปตามตำแหน่ง 1 2 3 4 หรือจะเป็น 4 3 2 1 ต้องรู้เช่นกันว่านวดอย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด

6. การนวดซ้ำในแต่ละคราว

เมื่อนวด 1 2 3 4 ไป 1 รอบแล้ว ต้องนวดอีกกี่รอบ อาจเป็น 2 รอบ หรือ 3 รอบ ต้องรู้หรือพิจารณาให้เหมาะสม มิฉะนั้นคนไข้อาจจะระบม

7. นวดกี่ครั้งจึงหาย

หมอที่ชำนาญจะบอกอาการได้ว่าอาการอย่างนี้นวดกี่ครั้งหาย คนไข้ไม่ว่าจะรักษาแผนไหนก็ตามอยากรู้ว่าตนเป็นอะไร นานแค่ไหนกว่าจะหาย สิ่งนี้สำคัญมากที่หมอต้องทราบและบอกคนไข้ได้

8. ระยะถี่ห่าง

กี่วันคนไข้ถึงต้องไปหาหมอครั้งหนึ่ง เป็นสิ่งที่คนไข้อยากทราบเช่นกัน ไม่ใช่นวดทุกๆ วัน คนไข้อาจระบม บางครั้งต้องหยุดให้เวลาร่างกายรักษาตนเองบ้างเพราะธรรมชาติเป็นอย่างนั้น จึงอาจนวดครั้งหนึ่งแล้วเว้นไปสัก 2-3 วัน เป็นต้น

9. ผลดีผลเสีย

เมื่อเราตรวจตามขั้นตอนแล้วจะต้องพิจารณาว่าเมื่อนวดแล้วจะมีผลดีผลเสียแค่ไหน ถ้าดี ดีเพียงไร เช่นทำ 3 ครั้งพอหรือ 3 ครั้งมากไป ผลเสียก็ต้องคิดเช่นกันไม่ใช่นวดแล้วขออีกนิด นวดมากไปจนคนไข้ได้รับอันตราย เราจะทำอะไรต้องรอบคอบมีสติสัปชัญญะอยู่เสมอ

10. ข้อควรระวัง

ทั้งคนไข้และหมอเช่น ถ้าหมอเป็นโรคติดต่อ ก็ไม่ควรไปนวด คนไข้เป็นโรคติดต่อก็ควรรักษาให้หายก่อนจึงไปนวด หรือจุดนวดบางจุด เช่น บริเวณไหปลาร้าหรือใต้รักแร้ ถ้ากดนวดนานไปจะเกิดอันตรายต่อคนไข้ก็ต้องระวัง เป็นต้น

11. ข้อห้าม (คนไข้, หมอ)

ทำอะไรต้องมีข้อห้าม อย่างเช่น คนไข้เป็นไส้ติ่งอักเสบ ถ้าไปกดท้องไส้ติ่งแตกคนไข้ก็อาจตายได้ หรือโรคบางโรคไตหย่อนยานลงมา เราไปกดก็อาจเป็นอันตรายต่อคนไข้ได้ เป็นต้น สำหรับหมอ ถ้าไม่แข็งแรงเพราะป่วยหรือเพิ่งหายไข้ ก็ไม่ควรออกแรงนวดคนไข้เช่นกัน

12. จริยาธรรม

แน่นอนที่สุดอาชีพใดไม่มีจริยธรรมควบคู่กันไปไม่ช้าก็ต้องพินาศ เราต้องรู้ตลอดเวลาว่าเราจะไม่หลอกคนไข้ ไม่ลวนลามคนไข้หญิงด้วยกาย วาจา ใจ เป็นต้น

ทั้ง 12 ข้อนี้ก็เป็นหลักย่อยๆ สำหรับพื้นฐานของการนวดไทย

  • จากการศึกษาเกี่ยวกับการนวดไทยมานาน อาจารย์คิดว่าการนวดมีผลอย่างไรต่อสุขภาพบ้างครับ

ผลที่ได้ต่อสุขภาพเท่าที่ผมรวบรวมได้นั้นก็มี

- ช่วยให้การทำงานหรือหน้าที่ของหัวใจดีขึ้น

- ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองดีขึ้น

- ลดอาการบวมและการอักเสบ

- เพิ่มประสิทธิภาพและระยะเวลาการทำงานของกล้ามเนื้อ

- ลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลาย

- เพิ่มความตึงตัวของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ กระเพาะอาหาร และลำไส้ เมื่อการบีบตัวขึ้นก็ทำให้เจริญอาหาร ท้องไม่อืดไม่เฟ้อ

- ทำให้อารมณ์ดี แจ่มใส

- ลดความเครียด และคลายกังวล

ฯลฯ

  • เรานำผลดีของการนวดไทยมาประยุกต์ใช้อะไรได้บ้าง

การนำมาประยุกต์ใช้นั้นมีมากมาย แต่จะขอกล่าวเฉพาะที่ไม่สลับซับซ้อน เช่น

ลดอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อลาย (ปวดหลัง-ปวดเอว) อาการปวดหัว นอนไม่หลับ วิงเวียน มึนงง ใจสั่น ปวดท้อง ชนิดมีลม (เช่นท้องอืด-ท้องเฟ้อ) ท้องผูก โรคประสาทปวดหลัง ปวดก้านคอกับไหล่ ข้อแพลง มีอาการปวดชาที่แขนขา ปวดประจำเดือน รู้สึกไม่มีชีวิตชีวามึนซึม ทำให้สุขภาพโดยทั่วไปดีขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น จะเห็นได้ชัดในรายที่พื้นไข้ใหม่ๆ คือ ฟื้นแล้วไม่ฟื้นดี กระเตื้องทีละนิดๆ ถ้าได้นวดถูกจุดดีๆ คนไข้ก็นอนหลับ กินข้าวได้ จิตใจสบาย ผ่องใส ก็หายได้เร็วขึ้น ฯลฯ

  • บางคนนวดแล้วเกิดระบมจากการนวดจะทำอย่างไรได้บ้าง

เมื่อระบมนั้น วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือ ใช้ความร้อนประคบอาจ ทำง่ายๆ อย่างนี้ก็ได้เช่น เอาน้ำร้อนผสมกับน้ำเย็นให้ร้อนพอทนได้ เอาผ้าเช็ดหน้าขนหนูจุ่มลงไปพอชุ่มน้ำและบิดน้ำทิ้ง นำผ้ามาประคบส่วนที่ระบมทำอย่างนี้เช้าเย็นก็จะหาย

อย่ากินยาแก้ปวดนะครับ เพราะว่าเดี๋ยวที่นวดรักษาไปนั้นจะเสียผลได้ คือ อาการของโรคจะกลับเป็นอีก หรือบางทีอาจกลับเป็นมากขึ้นกว่าเดิมก็ได้

  • เราจะแยกอาการระบมกับการอักเสบได้อย่างไร และถ้ามีการอักเสบจะรักษาอย่างไร

การระบมนั้นก็จะมีเพียงอาการขัดและปวดเท่านั้น แต่การอักเสบนั้นต้องมีการแสดงออกให้เห็นอย่างน้อย 4 อย่าง คือ ปวด บวม แดง ร้อน และอวัยวะส่วนนั้นจะเกิดหย่อนสมรรถภาพ ตรงตำแหน่งอักเสบ ทำให้อวัยวะส่วนนั้น ทำงานไม่ได้ดีเหมือนเดิม

ถ้าอักเสบแล้ว ห้ามใช้ความร้อน ไม่ว่ายาหม่องหรือน้ำมันมวยไปทาไปถู ถ้าไปทาอาการจะยิ่งเป็นมากขึ้นจะทรมานมาก เวลาอักเสบต้องใช้ความเย็น ถ้ามีน้ำเย็นจะใช้น้ำเย็นราดเป็นการแก้ขัดก็ได้

สำหรับหมอแผนไทยเดิมเขานิยมใช้ปูนที่กินกับหมาก (ไม่ต้องใส่สีเสียด) ใส่น้ำให้ข้นและเหมือนเลน ให้เอาทั้งน้ำและเนื้อปูนเละๆ มาทา ไม่ใช่เอามาโปะนะครับ เอามาทาบางๆ ไว้ ก็จะช่วยอาการอักเสบได้ มีข้อสังเกตว่าบริเวณไหนปูนแห้งเร็วกว่าบริเวณอื่น ที่นั่นคือ จุดอักเสบ นี่เป็นการรักษาพร้อมกับการตรวจ นับว่าเป็นความฉลาดของคนรุ่นเก่า คือบรรพบุรุษของเรา เมื่อปูนแห้งก็ทาซ้ำอีกสัก 1-2 ครั้ง เพื่อลดการอักเสบแล้วจึงทำการรักษาโดยการนวดต่อไป

  • ก่อนจาก คุณหมอคิดว่าการนวดไทยจะมีบทบาทอย่างไรต่อชาวบ้าน?

ผมอยากจะพูดว่า การนวดไทยของเรานั้นเป็นมรดกตกทอดมาแต่โบราณประเทศของเรา เป็นประเทศเกตรกรรม เมื่อคนทำงานหนัก ก็มักจะปวดเมื่อย และผมเชื่อว่าในอดีตก็คงใช้วิธีการนวด ช่วยแก้ปวดเมื่อยจากการทำงาน

ต่อมาเมื่อเรารับการแพทย์ตะวันตกเข้ามา ยาสมัยใหม่ซึ่งก็มีทั้งคุณและโทษ แต่ชาวบ้านไม่เข้าใจ เวลาปวดเมื่อยก็อยากให้หายเร็วๆ หาย 100% เขาก็ไปหายามากิน ยาบางอย่างเป็นยาอันตราย ก็ได้รับอันตรายจากยานั้น เช่น เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เกิดการตกเลือด หรือกดไขกระดูกขัดขวางการสร้างเลือด เกิดการแพ้ยา เป็นต้น

ผมคิดว่าการนวดไทยจะมีส่วนช่วยได้มากในเรื่องนี้ เราอาจจะฝึกต่อๆ กัน ให้แต่ละครอบครัวรู้จักช่วยเหลือกันโดยใช้การนวดซึ่งเป็นวิธีธรรมชาติบำบัดอย่างหนึ่งสำหรับแก้ไขอาการปวดต่างๆ จากการทำงานประจำวันโดยเฉพาะชาวชนบทที่ทำงานหนัก และผู้สูงอายุซึ่งย่อมต้องปวดเมื่อยเป็นธรรมดา

สำหรับผู้ที่สนใจจริงจังอยากจะให้มีลวดลายไปถึงขั้นมืออาชีพก็ต้องฝึกฝนค้นคว้ากันมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มีแหล่งค้นคว้าจริงๆ จังๆ ก็คงจะต้องช่วยกันร่วมมือร่วมใจก็คงจะต้องช่วยกันร่วมมือร่วมใจให้เกิดข้นเพื่อสืบทอดการนวดไทยของเราให้เป็นเอกลักษณ์ และสมบัติประจำชาติต่อไป ซึ่งผมขอภาวนาให้ถึงวันนั้นโดยเร็ว

ข้อมูลสื่อ

78-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 78
ตุลาคม 2528
อื่น ๆ
รศ.นพ.กรุงไกร เจนพานิชย์