• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาการหัวทึบ หัวตื้อ ลืมง่าย

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

อาการหัวทึบ หัวตื้อ ลืมง่าย

อาการหัวทึบ หรือสมองทึบเป็นอาการที่ได้ยินบ่อย ซึ่งมักจะมีความหมายว่า คิดอะไรไม่ค่อยออก ความคิดความอ่านไม่ฉับไว หรือไม่ค่อยทันการเหมือนคนอื่น แต่ตนเองรู้สึกว่ายังไม่ทันใจอยากให้เก่งกาจ ฉับไวมากกว่านั้น หรืออื่นๆ

อาการหัวตื้อ หรือหัวตื้อๆ อาจหมายถึง อาการหัวทึบคิดอะไรไม่ค่อยออก หรือหมายถึง อาการปวดหัว มึนหัวหรือหนักหัว หรือเบื่อหน่าย เซื่องซึม หรืออาการต่างๆ เหล่านี้รวมกัน

อาการลืมง่าย หมายถึง การจำสิ่งต่างๆ ไม่ได้ดี หรือไม่ได้นานเท่าที่ควร หรือบางครั้งก็จำได้ดีเท่ากับคนอื่น แต่ตนเองรู้สึกว่ายังจำทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมดไม่ได้ดีเท่าเดิม หรือไม่ได้นานเท่าที่ต้องการ หรืออื่นๆ

อาการต่างๆ เหล่านี้ เกือบทั้งหมดไม่ใช่อาการฉุกเฉิน ส่วนที่ฉุกเฉินจะเกิดร่วมกับอาการเจ็บหนักหรืออาการฉุกเฉิน เช่น เกิดอาการชัก อุจจาระปัสสาวะราด แล้วเกิดอาการหัวทึบหัวตื้อ หรือลืมง่ายตามมา แต่ผู้ที่มีอาการเจ็บหนักหรืออาการฉุกเฉินมักจะไม่มาหาหมอด้วยเรื่องหัวทึบ หัวตื้อ หรือลืมง่าย แต่จะมาหาด้วยเรื่องอาการเจ็บหนักหรืออาการฉุกเฉินนั้น

ดังนั้น จึงถือได้ว่าคนไข้ที่มาหาหมอด้วยเรื่อง หัวทึบ หัวตื้อ ลืมง่ายนั้น เป็นคนไข้ไม่ฉุกเฉินได้ และควรจะให้เวลาในการซักถามประวัติเพิ่มขึ้น ไม่ต้องให้การตรวจรักษาที่รีบด่วนหรือรีบร้อน เพราะการตรวจรักษาเช่นนั้น อาจทำให้พลาดการตรวจรักษาที่ถูกต้อง หรือกลายเป็นการตรวจรักษาที่ไม่จำเป็นได้

ส่วนใหญ่ของคนไข้ที่มาหาด้วยอาการหัวทึบ หัวตื้อ หรือลืมง่าย มักจะมีอาการเหล่านี้ผสมผเสปนเปกันอยู่ บางคนมีอาการหัวทึบมาก แต่มีอาการหัวตื้อน้อย บางคนมีอาการหัวทึบและลืมง่ายน้อย แต่มีอาการหัวตื้อมาก เป็นต้น ดังนั้น จึงควรถามให้แน่ชัดว่าอาการที่คนไข้เป็นนั้น เป็นอาการอะไรแน่ และอาการอะไรรบกวนคนไข้มากที่สุด

ถ้าอาการปวดหัว มึนหัว หรือเวียนหัว เป็นอาการสำคัญที่สุด ก็ให้การตรวจรักษาไปตามขั้นตอนของการตรวจรักษาอาการปวดหัว มึนหัว หรือเวียนหัว ดังได้กล่าวไว้ในฉบับก่อนๆ แล้ว

ถ้าอาการลืมง่าย หมายถึง อาการลืมตัว (ไม่รู้ตัว) เป็นครั้งคราว เช่น หมดสติไป หรือกำลังเขียนหนังสืออยู่ ก็หยุดเขียนไปเฉยๆ และไม่รู้ตัวอยู่ชั่วครู่หนึ่ง แล้วกลับคืนสติและเขียนหนังสือต่อไปได้ โดยไม่รู้ตัวเองนั้นหยุดเขียนหรือไม่รู้ตัวไปชั่วครู่หนึ่ง ผู้ร่วมงานหรือญาติพี่น้องต่างหากที่สังเกตเห็น ถ้าคนไข้เป็นเช่นนั้นจริง (ไม่ได้แกล้งทำ) ก็เป็นอาการของโรคลมชักแบบหนึ่ง และไม่ใช่อาการลืมง่าย แต่เป็นอาการลืมตัวแบบไม่รู้ตัว ซึ่งจะต้องการการตรวจรักษาแบบโรคลมชัก เช่น การให้ยาฟีโนบาร์บิตัล (Phenobarbital) วันละ 1-2 เม็ด ก่อนนอน เป็นต้น

ถ้าอาการหัวทึบและลืมง่าย เกิดขึ้นด้วยกัน และเป็นมาตั้งแต่เล็กๆ เด็กที่มีอาการเช่นนี้ มักจะเดินได้ พูดได้ชักกว่าเด็กอื่นๆ ทั่วไป ถ้าเป็นเช่นนี้ มักจะเกิดจากสมองของเด็กเติบโตช้าหรือเติบโตขึ้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือสมองของเด็กได้รับการกระทบกระเทือนบ่อยครั้ง เช่น ชักบ่อยๆ เมื่อเป็นไข้ตัวร้อน (ชักจากไข้) หรืออื่นๆ

การรักษาจะมุ่งที่การป้องกันสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น ถ้าเด็กชอบชักบ่อยๆ เวลาเป็นไข้ตัวร้อน ก็ควรให้ยากันชัก เช่น ยาฟีโนบาร์บิตัล (Phnobarbital) วันละ ½ -1 เม็ดก่อนนอน ไว้จนกว่าเด็กจะโตพ้นอายุ 8-10 ปีแล้ว นอกจากนั้น เวลาเด็กเริ่มมีไข้ ควรให้ยาลดไข้ และอาจเพิ่มยากันชักขึ้นอีกเป็นวันละ 1-2 เม็ด

ส่วนการรักษาอื่นๆ จะต้องอาศัยความอดทนของพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็ก โดยพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูจะต้องเข้าใจถึงความแตกต่างของเด็ก และไม่พยายามคาดหวังว่า เด็กจะมีความปราดเปรื่องแคล่วคล่องเหมือนเด็กอื่น การพยายามบีบคั้นเด็กโดยการดุด่าว่าดีเพื่อให้เขาเป็นไปตามแบบที่ต้องการยิ่งจะทำให้เด็กทรุดลงมากกว่าที่จะทำให้ดีขึ้น ความอดทน ความเอาใจใส่ และความอบอุ่นจากพ่อแม่และผู้เลี้ยงดู โดยคิดอยู่เสมอว่า เขายังเป็นเด็ก (และเป็นเด็กที่ “โต” ช้า) จะทำให้เกิดความเอ็นดูสงสาร และความไม่คาดหวังที่จะทำให้เด็กนั้นเหมือนเด็กอื่น

ถ้าอาการหัวทึบและลืมง่าย เกิดขึ้นด้วยกัน ในวัยรุ่นและหนุ่มสาว โดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือไม่ได้เป็นอยู่ตลอดเวลา และไม่มีอาการผิดปกติอื่น นอกจากอาการทางจิตใจ เช่นเคร่งเครียด กังวล หงุดหงิดนอน ไม่หลับ เบื่อหน่าย ท้อถอย เซ็ง หรืออื่นๆ แล้ว

สาเหตุของอาการหัวทึบและลืมง่าย มักเกิดจากการใช้สมองของตนเองมากเกินไป เช่น ใช้สมองคิดถึงเรื่องนั้น เรื่องนี้มากเกินไป ห่วงใย หรือโกรธ หรือตื่นเต้นมากเกินไป หรืออาจเกิดจากการใช้ยาต้านจิตใจ ต้านประสาท เช่น ยานอนหลับมากเกินไป ซึ่งรวมถึงการใช้ยาเสพติด เช่น ยาขยัน บุหรี่ เหล้า เป็นต้น ญาติและผู้ใกล้ชิดอาจสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ และควรจะช่วยแก้ปัญหา (ไม่ใช่เพิ่มปัญหา) ให้แก่คนไข้ การดุด่าว่าตี การเคี่ยวเข็ญคาดคั้น และการปฏิบัติต่อคนไข้เหมือนเดิม มักจะเป็นการเพิ่มปัญหา หรือทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น

ผู้ที่จะให้การตรวจรักษาคนไข้ประเภทนี้ จึงต้องเป็นผู้อดทน เพราะมักจะต้องให้การรักษาไม่แต่เฉพาะสำหรับคนไข้เท่านั้น แต่สำหรับครอบครัวและผู้ใกล้ชิดของคนไข้ด้วย เมื่อได้พบคนไข้ การตรวจร่างกายคนไข้จะทำให้แน่ใจเพิ่มขึ้น ว่าร่างกายของคนไข้ไม่ผิดปกติ หรือผิดปกติเล็กน้อย เช่น ฟันผุนิดหน่อย ผอมหรืออ้วนไปบ้าง ความผิดปกติเหล่านี้ไม่สามารถจะส่งผลให้คนไข้หัวทึบ และลืมง่ายได้

เมื่อตรวจพบเช่นนั้นแล้ว การซักประวัติ โดยถามถึงความเป็นไปต่างๆ ในชีวิตประจำวันของคนไข้และครอบครัวโดยละมุนละม่อม และอย่างเป็นกันเอง โดยอาจให้ญาติหรือผู้ใกล้ชิดไปอยู่นอกห้อง หรืออยู่ห่างๆ อาจจะทำให้ผู้ตรวจรักษาทราบถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทัศนะของคนไข้ และสามารถแนะนำแนวทางที่จะช่วยให้คนไข้พ้นจากปัญหานั้นๆ อย่างกว้างๆ (โดยไม่ชี้บ่งว่าใครเป็นฝ่ายผิด ฝ่ายถูก)

หลังจากนั้น ควรจะได้พูดคุยกับญาติหรือผู้ใกล้ชิด เพื่อทราบถึงปัญหาต่างๆ ในทัศนะของเขาเหล่านั้น และพยายามหาทางสายกลางที่จะประนีประนอม ถ้าปัญหานั้นเกิดจากความขัดแย้งระหว่างคนไข้กับญาติหรือผู้อื่น ถ้าปัญหานั้น ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งระหว่างคนไข้กับญาติ หรือผู้อื่น ปัญหานั้นอาจเกิดจากการเรียนการงาน ความรัก ภาวะเศรษฐกิจสังคม ยาเสพติด หรืออื่นๆ ซึ่งจะต้องการความอดทนและความละมุนละม่อมการตะล่อมถาม และแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน กว่าจะช่วยให้คนไข้หายหัวทึบ หัวตื้อ และลืมง่ายได้

ถ้าอาการหัวทึบ และลืมง่าย เกิดขึ้นด้วยกัน ในวัยกลางคนและวัยชรา โดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และไม่มีความผิดปกติอื่น นอกจากทางอาการทางจิตใจ สาเหตุของอาการเช่นนี้มักเกิดจากการใช้สมองมากเกินไป เช่นเดียวกับในวัยรุ่นและหนุ่มสาว ส่วนน้อยอาจเกิดจากพิษสุราเรื้อรัง หรือการใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาท เช่น ยานอนหลับ ยาเสพติด หรืออาจเกิดจากการเสื่อมของสมองด้วยพยาธิสภาพ (โรค) ต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดตีบ โรคอัสซไฮเมอร์ (Alzheimer’sdisease) เป็นต้น

ข้อมูลสื่อ

78-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 78
ตุลาคม 2528
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์