• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อย่าเข้าใจยาสมุนไพรผิด

อย่าเข้าใจยาสมุนไพรผิด

 

ผู้เขียนต้องขอออกตัวเสียก่อนว่าไม่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และยาแผนปัจจุบันมากมายนัก แต่อาศัยชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือของกองส่งเสริมอาหาร, กระทรวงสาธารณสุข ได้ปริมาณค่าของพืชพันธุ์ธัญญาหารไว้โดยละเอียด พืชพันธุ์ธัญญาหารนั้นก็คือสมุนไพร ที่หมอโบราณนำมาปรุงผสมเป็นยารักษาโรคตามหลักโบราณนั่นเอง ล้วนแต่มีคุณค่าน่าสนใจ

แล้วอย่างนี้ บางท่านที่คิดว่ายาสมุนไพรไม่มีประโยชน์ จะจริงหรือ ?
อาหารการกินที่จัดอยู่ในเภสัชวัตถุของหมอโบราณ ล้วนแต่เป็นอาหารที่เราใช้กินอยู่ทุกวัน เป็นเรื่องของประชาชนที่ควรรู้ไว้ จะได้ประโยชน์มากเพราะกินดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย
การกินเพื่อสร้างเสริมสุขภาพทุกคนมีโอกาสทำได้ ยิ่งต้องทำงานหนักเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีเช่นสภาพปัจจุบัน การกินให้ถูกต้องนับว่าเป็นยอดปัจจัยที่สำคัญที่สุด

ปัญหามีอยู่ว่า กินแต่ข้าวอย่างเดียวคงจะมีชีวิตอยู่ไม่นาน ต้องมีอาหารอื่นผสมเพื่อจะได้คุณค่าอาหารครบอย่างที่เราเรียกว่า กับข้าว กับข้าวนี้เอง คือ สมุนไพร แต่ทำเป็นรูปอาหาร
เมืองไทยมีอาหารอยู่มากมาย อาหารที่จำเป็นต่อชีวิตจำพวกถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วฝักยาว ถั่วเหลือง ถั่วแขก ถั่วพู ฯลฯ อาหารเหล่านี้เอามาปรุงแต่งแล้วเรียกว่า กับข้าว ก็ได้
หมอโบราณได้จัดอาหารเหล่านี้ให้เป็นยาคือ ใช้เมล็ดทำยา ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงไขข้อ บำรุงร่างกาย แก้ร้อนใน บำรุงสตรีมีครรภ์ ฯลฯ

การวิเคราะห์ของกองส่งเสริมอาหารได้กล่าวไว้ว่า คนเราถ้าขาดวิตามินเอ มาก ๆ ตาก็จะเสีย (โบราณเรียกว่า ตาบอดกลางคืน หรือเกล็ดกระดี่ขึ้นตา) จนอาจมองอะไรไม่เห็น
ในถั่วมีวิตามินเอมาก เช่น ในถั่วแขก และถั่วฝักยาวมี 100 กรัม มีวิตามินเอ ถึง 630 ยูนิต
ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลืองเมื่อใช้ถั่วหนัก 100 รัม ต้มน้ำตาลทรายแดง จะได้พลังงานและความร้อน 400 แคลอรี่

นอกจากอาหารจำพวกถั่ว อาหารที่จำเป็นก็คือ ผัก คนไทยรู้จักกันดีเพราะเมื่อสมัยก่อนจนถึงปัจจุบันนี้รัฐบาลก็ยังแนะนำให้ประชาชนทำสวนครัวปลูกผัก เป็นการประหยัดดีภายในครอบครัว
เมืองไทยมีดินดี มีน้ำสะอาด ปลูกผักที่ไหนก็ขึ้นที่นั่น เช่น
ปลูกผักบุ้ง มีประโยชน์มาก กินแล้วตาสว่าง แก่แล้วก็ยังไม่ต้องสวมแว่นเพราะผักบุ้ง 100 กรัม มีวิตามินดังนี้
วิตามินเอ 3.300 ยูนิต
วิตามินบี 1 0.09 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.12 มิลลิกรัม
ไบอาซิน 0.60 มิลลิกรัม
วิตามินซี 137 มิลลิกรัม

ผักชี เข้ากับอาหารต้ม ๆ ยำ ๆ เกือบทุกอย่าง เป็นอาหารโปรดของคนไทยและยังเป็นสมุนไพรสำคัญของหมอแผนโบราณอีกด้วย เช่น
ลูกผักชี หมอแผนโบราณใช้ทำยาขับลมในท้อง แก้คลื่นเหียนอาเจียน
รากผักชี ต้มเอาน้ำกินกับยาเขียว แก้ไข้หัดสุกใส
คนไทยชอบกินผักชี เป็นผักชนิดเดียวเหมือนยาดำแทรกลงในอาหารทุกชนิด เป็นกับแกล้มแกงจืด ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด ฯลฯ ผักชี 100 กรัม มีวิตามินดังนี้
วิตามินเอ 5.940 ยูนิต
วิตามินบี 1 0.10 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.12 มิลลิกรัม
ไบอาซิน 1.0 มิลลิกรัม
วิตามินซี 83 มิลลิกรัม

ผักที่นำมาใช้เป็นอาหารและมีคุณค่าเช่น กะหล่ำปลี ผักโขมสวน ผักกาดหอม มะเขือ มะเขือยาวมีคุณค่าทางอาหารมาก ใน 100 กรัม มีวิตามินเอถึง 630 ยูนิต และวิตามินซีถึง 120 มิลลิกรัม
ท่านผู้อ่านครับ ผมยกตัวอย่างสมุนไพรที่หมอโบราณใช้ทำยาและทำอาหารอย่างคร่าว ๆ ให้ท่านได้ทราบว่ามีคุณค่าพอที่จะเชื่อถือได้เพียงใด

ยาสมุนไพรโบราณกินแล้วไม่มีการสะสมสารใด ๆ ไว้ในร่างกายอย่างแน่นอน เพราะเรากินอาหารเหล่านี้ตั้งแต่จำความได้จนโตอ่านหนังสือออกและมีครอบครัวแล้ว หากมีการสะสมก็คงต้องมีอันเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้ว
ท่านที่กินยาโบราณก็ต้องหาหมอโบราณที่เชื่อถือได้ ระวังหมอโบราณที่เป็นผู้ปรุงยาขายเพื่อเอาประโยชน์แต่อย่างเดียวไม่มีจรรยาแพทย์ ปรุงยาปลอมปน เอาสารหรือยาแผนปัจจุบันผสมลงไป ถ้าอย่างนี้ เกิดโทษและสะสมในร่างกายแน่นอนยาโบราณที่เป็นสมุนไพรธรรมชาติแท้ๆ จะไม่เกิดอันตรายต่อร่างกาย

หมายเหตุ :
มีผู้สงสัยเรื่องยาสมุนไพรชื่อเหงือกปลาหมอ สอบถามกันมามากผมขอเรียนให้ทราบว่า ยาชื่อเหงือกปลาหมอมิใช่ใช้ต้นเหงือกปลาหมอทำยาแต่อย่างเดียว และต้นเหงือกปลาหมอมีขึ้นอยู่ตามริมคลองทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม มิได้ขึ้นอยู่ในน้ำเค็มแต่อย่างเดียว
การทำยาแผนโบราณกำหนดไว้ว่า ต้องมี ตัวสมุนไพรตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไปจึงจะจัดเป็นยา ถ้าตัวยาอย่างเดียวจัดให้เป็นอาหารหรือน้ำกระสายยาเท่านั้น
ตำรับยาเหงือกปลาหมอนี้มีมากครับ สุดแต่ผู้เป็นหมอจะตั้งตำรับกันขึ้นมา จึงมีตัวยาไม่เหมือนกัน
ส่วนตำรับที่ผมใช้อยู่ทุกวันนี้ เป็นตำรับเก่าแก่ เป็นมรดกตกทอดมาถึงผม และผมขอบอกให้เป็นวิทยาทานและให้ท่านช่วยพิจารณาดูว่ามีตัวยาอันใดเป็นพิษเป็นภัยบ้าง แล้วกรุณาแจ้งให้ผมทราบด้วย
 

ตำรับยาเหงือกปลาหมอ
ต้นเหงือกปลาหมอทั้ง 5 คือ 1 ต้น 2 ดอก 3 ราก 4 ลูก 5 ใบ ล้างให้สะอาด หั่นตากแดดให้แห้ง หนัก 60 กรัม เหง้าขิงแห้ง เม็ดพริกไทย ดอกดีปลี ชะเอมเทศ เมล็ดข่อย หัวกะชาย ใบมะคำไก่ หญ้าฝรั่น เนื้อสมอไทย เนื้อสมอพิเภก เนื้อมะขามป้อม เนื้อสมอเทศ หนักสิ่งละ 30 กรัม ต้องสะอาดทุกอย่าง

วิธีทำ บดให้เป็นผงละเอียดอ่อนปั้นเป็นลูกกลอนกับน้ำผึ้งแท้เท่าปลายนิ้วก้อย กินครั้งละ 2 เม็ด
เช้า-เย็นก่อนอาหาร จะใช้ยาผงชงน้ำร้อนครั้งละครึ่ง- 1 ช้อนชา เวลาเช้าเย็นก็ได้ก่อนอาหาร

สรรพคุณ แก้ริดสีดวงทวาร แก้เหน็บชา แก้ปวดเมื่อย แก้เลือด,ระดูสตรีไม่ปกติ ไม่ทำให้เกิดไขมัน เป็นยาอายุวัฒนะ

ให้ท่านผู้อ่านพิจารณาดู ที่ผมเขียนลงมานี้เพราะมีผู้ข้องใจกันอยู่มากว่ามีต้นเหงือกปลาหมออย่างเดียว กินแล้วจะได้ผลอย่างไร ก็ลองดูตัวยาแต่ละตัว ถ้าไม่เข้าใจว่าตัวยาแต่ละตัวจะมีสรรพคุณอย่างไร จะเขียนสรรพคุณแต่ละตัวให้ทราบอีกต่อไป .
 

ข้อมูลสื่อ

41-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 41
กันยายน 2525
ประเสริฐ พรหมณี