• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เท้าอวัยวะเบื้องต่ำที่สำคัญ

เท้าอวัยวะเบื้องต่ำที่สำคัญ


ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงปัญหาที่พบบ่อยของเท้าและฉบับนี้ จะขอกล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหาของเท้าหรือลดความเจ็บปวดที่เราสามารถจะช่วยตัวเราเองก่อนเบื้องต้น

1.เลือกรองเท้าที่เหมาะกับเท้าของเรา อย่าให้หลวมหรือคับจนเกินไป และถ้าจำเป็นอาจจะต้องสั่งตัดเป็นพิเศษ รองเท้าไม่ว่าชายหรือหญิงควรจะเป็นรองเท้าหุ้มส้น หรือมีสายรัดเหนือส้นเท้า สำหรับส้นรองเท้าไม่ควรให้สูงมาก ไม่ควรเกิน 1 นิ้ว สำหรับผู้หญิงโดยมากมักใส่ส้นสูงก็ไม่ควรเกิน 1 นิ้วครึ่ง

2.ถ้าใส่รองเท้าหุ้มส้น ควรจะใส่ถุงเท้าเพื่อลดการเสียดสีระหว่างเท้าและรองเท้า และเป็นการซับเหงื่อ

3.เมื่อเวลามีโอกาสควรเดินด้วยเท้าเปล่า หรือถอดรองเท้าออกเวลาทำงาน เพื่อไม่ให้รองเท้ารัดเท้าอยู่ตลอดเวลา

4.แช่เท้าทั้งสองในน้ำร้อนอุณหภูมิไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส เมื่อมีอาการเมื่อยหรือเป็นตะคริว

5.ทำการนวดเท้าด้วยตนเอง เพื่อให้หายเหนื่อย กดหาจุดเจ็บบนฝ่าเท้าค่อย ๆ คลึงเป็นวงกลม หรือขยี้ไปมาจนกว่าจะหายเจ็บ

6. ทำการบริหารเท้าดังนี้คือ

   

ในท่านั่ง

กระดกข้อเท้าขึ้นลง หันฝ่าเท้าเข้าและออก และหมุนเท้าเป็นวงกลม
สำหรับในรายที่เท้าแบน วางเท้าราบอยู่กับพื้น หาผ้าผืนใหญ่วางเป็นทางยาวไปแนวเดียวกับความยาวของเท้า ขยับนิ้วเท้าเพื่อเก็บผ้าให้เคลื่อนไปทางส้นเท้าโดยผ่านใต้ฝ่าเท้า
 

ในท่ายืน
เขย่งเท้าขึ้นลง หรือนั่งยอง ๆ ขณะที่เท้ายังเขย่งอยู่
 

ในท่าเดิน
เดินบนสนามหญ้าด้วยเท้าเปล่าอาจสวมใส่รองเท้าผ้าใบเดินหรือวิ่งในสวนสาธารณะหากเป็นไปได้ ว่ายน้ำเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง




7. เดินให้ถูกวิธี โดยเอาส้นเท้าแตะพื้นก่อนทุกครั้ง ก่อนที่จะลงปลายเท้า และให้ปลายเท้าหันออกเล็กน้อย อย่าเดินถ่างขาหรือไขว้ขา

มนุษย์ทุกคนควรจะรักษาเท้าของตนเองให้ดี เพราะเราต้องพึ่งเท้าในช่วงเวลาถึง 2 ใน 3 ของชีวิตเรา
 

ข้อมูลสื่อ

41-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 41
กันยายน 2525
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข