• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รู้ได้อย่างไรสมุนไพรรักษาโรค

รู้ได้อย่างไรสมุนไพรรักษาโรค

 

พอพูดถึงการรักษาโรคโดยใช้สมุนไพร คนหนุ่มคนสาวสมัยนี้มักจะตั้งคำถามอยู่เสมอว่า “ที่แพทย์แผนโบราณให้ยาสมุนไพรกินแก้โรคนั้นโรคนี้ เห็นต้นไม้นั่นต้นไม้นี่ก็ว่าแก้อาการนั้นอาการนี้ได้ อยากรู้ว่ารู้ได้อย่างไร”

ก่อนอื่นก็ต้องขอชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องยาสมุนไพรเสียก่อน ยาสมุนไพรนั้นไม่ใช่หมายถึงแต่ต้นไม้อย่างเดียว ยาสมุนไพรนั้นหมายรวมถึงพืช สัตว์ และแร่ธาตุต่างๆ ด้วย
แพทย์แผนโบราณรู้ว่ายาสมุนไพรนั่นนี่แก้โรคอะไรนั้น เขามีคัมภีร์และทฤษฏีระบุให้ใช้รสเป็นตัวบอกว่าจะรักษาโรคใดได้บ้าง รสทั้งหมดมี 9 รส คือ

1.รสฝาด
ใช้แก้ท้องเสีย บิดมูกเลือด สมานแผล ต้มชะล้างบาดแผล กินแก้ท้องเสีย เช่น ใบฝรั่ง ใบเทียน ใบทับทิม ขมิ้นชัน ใบชา เป็นต้น
 

2.รสเผ็ดร้อน
ใช้แก้ปวดท้อง แน่นจุกเสียด ช่วยย่อยอาหาร เช่น พริกไทย ขิง ดีปลี กานพลู โหระพา ชะพลู อบเชย กะเพรา เป็นต้น
 

3.รสหอมเย็น
ใช้บำรุงหัวใจ แก้ไข้ตัวร้อนทำให้จิตใจเบิกบาน เช่น ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค เป็นต้น
 

4.รสหวาน
ช่วยชูกำลัง ทำให้ชื่นใจ เช่นน้ำตาลสด น้ำผึ้ง เป็นต้น
 

5.รสเบื่อเมา
ใช้ทาภายนอก แก้โรคผิวหนัง แก้น้ำเหลืองเสีย แก้พิษ เช่น กำมะถัน ใบชุมเห็ด เป็นต้น และรสเมาบางชนิดใช้ทำยากินให้นอนหลับ
 

6.รสเค็ม
ใช้รักษาเนื้อหนังไม่ให้เน่า โรคผื่นคันนิดหน่อย เช่น เกลือ เป็นต้น
 

7.รสเปรี้ยว
ใช้รักษาเหงือกรักษาฟันช่วยฟอกโลหิต ทำให้เลือดลมเดินสะดวก และยังเป็นยาระบายอย่างอ่อน ช่วยบำรุงผิวอีกด้วย เช่น น้ำส้ม น้ำมะกรูด น้ำมะนาว เป็นต้น
 

8.รสมัน
ใช้แก้เส้นเอ็นตึง แก้ปวดเมื่อย บำรุงเส้นเอ็น หรือผสมยาทานวด เช่น น้ำมันพืช น้ำมันหมู เมล็ดถั่ว เมล็ดงา
 

9.รสขม
ใช้แก้ร้อนใน แก้ไข้ บำรุงน้ำดี เช่น บอระเพ็ด สะเดา มะระ เป็นต้น

หมอยังต้องรู้ว่า แต่ละรสจะต้องใช้เฉพาะโรคนั้น ๆ มันมีแสลงกัน อย่างเช่น
รสมันจะไปใช้กับคนท้องเดินไม่ได้ คนท้องเดินกินมัน ๆ แล้วยิ่งอุจจาระร่วงใหญ่
คนที่เป็นไข้นั้น กินหอมเย็นได้แต่จะกินเผ็ดร้อนไม่ได้ ถ้ากินเผ็ดร้อนความร้อนยิ่งเพิ่ม ยิ่งกลุ้มตาย

มีข้อสังเกตหลายอย่างที่ใกล้เคียงแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเช่น
หอมเย็น ใช้แก้ไข้ แก้ตัวร้อน โบราณรักษาก็ใช้สมุนไพรหอมเย็นรักษาแผนปัจจุบันเขาก็แนะนำให้คนเป็นไข้ใช้น้ำเย็นเช็ดตัวลดไข้
ท้องเสียแผนปัจจุบันเขาก็มีการแนะนำให้กินน้ำชา แผนโบราณเขาว่าให้กินสมุนไพรรสฝาด ก็ตรงกัน
ถ้าเรามาเรียนรู้ตามความเข้าใจแล้ว วิชาแต่ละอย่างก็มีแนวทางและความหมายไม่ห่างกัน อยู่ที่วิธีและการใช้เท่านั้นที่ไม่เหมือนกัน เพราะแผนปัจจุบันใช้ตามหลักวิทยาศาสตร์ ส่วนแผนโบราณใช้ตามธรรมชาติหรือตามหลักของโบราณที่สืบต่อกันมา

เรื่องรสที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น ยังแถมรสพิเศษอีก 1 รส คือ รสจืดสำหรับคนเป็นโรคไต ขับปัสสาวะ ลดความร้อนในร่างกายรสยาทั้ง 9 รส นี้เป็นเฉพาะตัวยาแต่ละอย่าง สมุนไพรทุกชนิดที่ยังมิได้แปรสภาพเป็นยา จะต้องอยู่ในวง 9 รสนี้เท่านั้น แต่ละอย่างเมื่อรู้รสแล้วจะปรากฏสรรพคุณดังกล่าวนั้น การปรุงหรือผสมยาแก้โรคหมอหรือเภสัชกรจะพิจารณาตัวยาแต่ละอย่างที่มีรส ตัวยาที่นิยมใช้โดยนำมารวมกันหลาย ๆ อย่างต้องกำหนดน้ำหนักขึ้นว่า สมุนไพรชนิดใดที่ตรงสมุฏฐานของโรคก็กำหนดให้มาก ตัวอื่นที่เป็นตัวช่วยน้ำหนักก็ลดน้อยลง แล้วต้องกำหนดด้วยว่าจะใช้ทำเป็นยาชนิดใด เช่น ยาน้ำ ยาเม็ด หรือยาผง กำหนดสรรพคุณไปตามรสและฤทธิ์ของยานั้น มีวิธีการใช้ว่า เด็กรับประทานครั้งละเท่าไร ผู้ใหญ่ครั้งละเท่าไร วันละกี่ครั้ง
ยาแผนโบราณเมื่อปรุงสำเร็จรูปแล้วจะเหลือแค่ 3 รส เท่านั้น จากสมุนไพร 9 รส ซึ่งเป็นรสของตัวยาที่ยังมิได้ปรุงเป็นยา

ยา 3 รส ที่เป็นยาสำเร็จรูปแล้ว มีจำหน่ายอยู่ในร้านขายยาทั่ว ๆ ไปมีดังนี้

ก.ยารสร้อน
ได้แก่ ตัวยาที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น โกฏหัวบัว โกฏกระดูก เทียนดำ เทียนแดง ข่า พริก กะเพรา อบเชย เร่ว ลูกผักชี ยี่หร่า ฯลฯ สมุนไพรเหล่านี้กำหนดน้ำหนักแล้วผสมกัน ปรุงเป็นยาจะมีรสเผ็ดร้อน

สรรพคุณ : แก้ปวดท้องแน่นจุกเสียด ขับลม แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อเรอเปรี้ยว บำรุงธาตุ เจริญอาหาร หรือสตรีใช้แก้ประจำเดือนไม่ปกติ หลังการคลอดบุตรขับน้ำคาวปลา
ยาโบราณประเภทนี้ ก็คงจะใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบันจำพวกยาธาตุน้ำแดง ยามิกต์ คาร์มิเนตีฟ หรือมิกต์ ซาลอน-เมนธอลนั่นเอง
ยาแผนโบราณรสเผ็ดร้อนนี้ ถ้าปรุงแล้วขอขึ้นทะเบียนยาขายทั่วไปจะต้องระบุไว้ที่เอกสารกำกับยาว่าห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ และคนเป็นไข้เพราะยานี้รสร้อน แสลงกันกับอาการเหล่านั้น
 

ข.ยารสเย็น
ได้แก่ ตัวยาที่รสไม่เผ็ด เช่นดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี ดอกมะลิ รากหญ้าคา ใบพิมเสน ใบผักกะโฉม ใบหนาใต้ใบ แว่นจันทน์เทศ แว่นจันทน์แดง ดอกลำเจียก ดอกลำดวน ดอกกระดังวา เขี้ยวเสือ งาช้าง เขี้ยวจระเข้ รากบัวหลวง ฯลฯ สมุนไพรเหล่านี้กำหนดน้ำหนักแล้วผสมกันปรุงเป็นยาจะมีรสจืด เย็น ขม ตามรสของตัวยา

สรรพคุณ : ใช้แก้ไข้ปวดหัวตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้หัด อีสุกอีใส ยาจำพวกนี้โบราณเรียกว่ายาเขียว ยาประสะจันทน์แดง ยากระทุงพิษไข้
ยาประเภทนี้รสใกล้กับยาแผนปัจจุบันพวกแอสไพริน เอพีซี พาราเซตามอล ฯลฯ
 

ค.ยารสสุขุม
ได้แก่ ตัวยาที่มีรสไม่ร้อน ไม่เย็น รสเป็นกลาง เช่น โกฏเชียง โกฏหัวบัว โกฏกระดูก เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน สมุลแว้ง เนื้อใส กฤษณา กลำพัก ขอนดอก ชลูด หญ้าฝรั่ง อำพันทอง ชะมดเชียง ฯลฯ สมุนไพรเหล่านี้ผสมกันกำหนดน้ำหนักแล้วปรุงเป็นยา จะมีรสสุขุม ไม่เผ็ดร้อน ไม่จืด เย็น เรียกว่ายาหอม

สรรพคุณ  : แก้ลมวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น บำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ แก้ไข้เป็นลม สตรีเป็นไข้ทับระดู ระดูทับไข้ แก้ลมต่างๆ แก้โลหิตพิการ ยารสสุขุมใช้ได้กับอาการเจ็บไข้ทุกอาการเพราะไม่แสลงกับโรคใด

บุคคลใดที่เกิดมาแล้วไม่เคยรับประทานยาโบราณ ข้าพเจ้าขอแย้งว่าไม่เป็นความจริง เพราะยาโบราณนั้นท่านว่าไว้ คือ ใช้กันทั้งดุ้น ทั้งแท่ง และทั้งท่อน แม้แต่พืชผักที่ท่านใช้กินเป็นอาหารก็ถือว่าเป็นยา ฉะนั้นทุกคนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยาสมุนไพรท่านว่าจะกินให้สวยงาม กินให้นอนหลับ กินให้ช่วยย่อยอาหารก็ได้ จะกินเป็นอาหารก็ได้
แพทย์แผนโบราณยังมีตัวยาประจำธาตุทั้ง 4 หรือธาตุทั้ง 5 และยังมีรสยาแก้ธาตุทั้ง 4 พิการอีกด้วย ถ้าท่านสนใจก็ติดตามอ่านเรื่องการแพทย์แผนโบราณต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

38-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 38
มิถุนายน 2525
ประเสริฐ พรหมณี