• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษา อาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไซนัส

การตรวจรักษา อาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไซนัส

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตร ได้โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด”จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

ครั้งที่แล้วได้พูดถึงอาการหวัด อาการคัดจมูก ซึ่งเกิดจากสาเหตุต่างๆ ไปแล้ว ครั้งนี้ได้กล่าวถึงการแยกประเภทของผู้ป่วยว่ามีไข้ หรือไม่มีไข้ เพราะการรักษาจะต่างกัน

คำว่าไข้ในที่นี้ หมายถึง ตัวร้อน (รักแร้ ซอกคอ ฯลฯ ร้อน) และถ้าวัดปรอท (อุณหภูมิ) จะพบว่า อุณหภูมิสูงกว่าปกติ (ดูใน “หมอชาวบ้าน”ฉบับที่ 18) นอกจากนั้นยังหมายรวมถึง อาการ ครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวๆ ร้อนๆ หรือหนาวผิดปกติด้วย

คนไข้ที่มีอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล และมีไข้ มักเกิดจากโรคติดเชื้อ เช่น โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคหวัดตาแดง โรคตับอักเสบ โรคหัด โรคอีสุกอีใส โรคไข้เลือดออก เป็นต้น

เนื่องจากโรคเหล่านี้เกิดจากเชื้อไวรัส (เชื้อไวรัสตัวเล็กมาก จนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าและด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา) และยังไม่มียาที่จะไปฆ่าเชื้อพวกนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นยากินหรือยาฉีด การรักษาจึงประกอบด้วย

1. การพักผ่อนและการรักษาความอบอุ่นของร่างกาย:

การพักผ่อน ในที่นี้หมายถึง การหลีกเลี่ยงจากการออกกำลังกายมากเกินไป การหลีกเลี่ยงจากงานที่หนักมากเกินไป การหลีกเลี่ยงจากการโหมงาน การหลีกเลี่ยงจากการนอนดึก การหลีกเลี่ยงจากงานเลี้ยงและอื่นๆ

การรักษาความอบอุ่นของร่างกาย ในที่นี้ หมายถึง การใส่เสื้อผ้าหนาๆ การใช้ผ้าห่ม การกินอาหารร้อนๆ การดื่มน้ำร้อนๆ การไม่อยู่ในห้องแอร์ (ห้องปรับอากาศที่เย็นมาก) การใช้พัดลมเป่า การอาบน้ำเย็น การอาบน้ำในที่แจ้งหรือที่มีลมแรง และอื่นๆ

ในคนที่เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล และมีไข้ การดื่มน้ำร้อน (น้ำอุ่น) มากๆ การใส่เสื้อผ้าหนาๆ และการนอนคลุมโปง (ใช้ผ้าห่มห่อตัวในขณะที่รู้สึกหนาวควรคลุมศีรษะด้วย) เพื่อให้ร่างกายร้อนจัดและเหงื่อออกติดต่อกันประมาณ 1-2 วัน มักจะหายจากอาการหวัดได้เร็วกว่าวิธีอื่น

แต่ในเด็กที่ต่ำกว่า 6 ขวบ (ปี) หรือในคนที่ชักง่ายเมื่อมีไข้ ไม่ควรทำวิธีทำให้ตัวร้อนจัด เพราะอาจทำให้ชักได้ นอกจากนั้น ในเด็กที่ชักง่าย ควรจะให้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และยากันชัก เช่น ฟีโนบาร์บิตัลด้วย

การดื่มน้ำอุ่นมากๆ และการพักผ่อนจะเป็นประโยชน์ แม้ว่าคนที่มีอาการหวัด คัดจมูก และน้ำมูกไหล จะไม่ได้เป็นโรคไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ และต่อมาพบว่า เป็นโรคติดเชื้ออย่างอื่น เช่น โรคไข้เลือดออก โรคตับอักเสบ โรคหัด เป็นต้น

2. การไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น:

เนื่องจากโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเหล่านี้ แพร่กระจายติดผู้อื่นได้ง่ายทางน้ำมูก น้ำลาย (ยกเว้นโรคไข้เลือดออก ซึ่งแพร่กระจายโดยยุง, โรคหวัดตาแดง ซึ่งแพร่กระจายทางน้ำตาด้วย, โรคอีสุกอีใส ซึ่งแพร่กระจายทางน้ำเหลืองของตุ่มและแผลที่เป็นด้วย โรคตับอักเสบซึ่งแพร่กระจายทางอุจจาระและทางเลือดด้วย) จึงควรปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอและจาม และไม่ควรเข้าไอยู่ในที่ที่มีคนมากหรือในชุมชน เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายออกไป

3. การใช้ยา:

เนื่องจากยังไม่มียาที่ใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสเหล่านี้ ยาที่ใช้จึงเป็นเพียงยาลดอาการหรือรักษาอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น และควรจะใช้เมื่อคนไข้มีอาการมากจนทนไม่ได้เท่านั้น

อนึ่ง ควรใช้แต่ยากินเท่านั้น เพราะยาฉีดนอกจากจะไม่ช่วยให้หายเร็วขึ้นหรือดีขึ้นกว่ายากินแล้ว อาจทำให้เกิดอันตรายได้ด้วย ดังเช่นที่เคยมีรายงานว่า คนที่เป็นโรคหวัดตาแดงในประเทศไทยที่ได้รับการฉีดยา มักจะเป็นอัมพาตมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดยา เป็นต้น

ยาที่ใช้ลดอาการหรือรักษาอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ที่ใช้บ่อยและไม่ค่อยมีอันตราย เช่น

1. ยาคลอร์เฟนิรามีน (chorpheniramine) เป็นยาแก้แพ้ ซึ่งใช้แก้อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรืออาการจามได้ด้วย กินครั้งละครึ่งถึงหนึ่งเม็ด เวลาที่คัดจมูกมาก น้ำมูกไหลมาก หรือจาม ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายในครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงและไม่มีอาการง่วงซึมให้กินซ้ำได้อีก 1-2 ครั้ง (ในเด็กเล็กอาจใช้ 1/4-1/2 เม็ด)

ยาแก้คัดจมูก น้ำมูกไหล บางชนิดอาจผสมตัวยาอื่น เช่น pseudoephedrine ซึ่งทำให้เยื่อจมูก ปากคอ และหลอดลมแห้งมากขึ้น แต่อาจทำให้ใจสั่นหวิว ปากคอแห้ง เสมหะหนียว ทำให้ไอลำบากได้

ยาคลอร์เฟนิรามีน กินแล้วอาจทำให้ง่วงนอน (ยาอะไรก็ตามที่กินแล้วเกิดอาการง่วงหรือซึม เมื่อเกิดอาการง่วงหรือซึมขึ้น ห้ามไปทำงานที่อาจเกิดอุบัติเหตุ เช่น การขับขี่รถ การทำงานกับเครื่องจักรกลที่เป็นอันตรายหรืออื่นๆ )

2. ยาแก้ปวดลดไข้ ที่ใช้กันบ่อยๆ จะมีฤทธิ์แก้ปวดและลดไข้ไปด้วยกัน ควรจะใช้ในกรณีที่ปวดศีรษะหรือปวดเมื่อยตามตัวอย่างมากจนทนไม่ได้ หรือในกรณีที่ไข้สูงมาก (มากกว่า38.5° เซลเซียส เท่านั้น) นอกจากในเด็กเล็กที่ชักง่ายเมื่อไข้สูง จึงควรจะใช้ยาลดไข้ตั้งแต่เริ่มมีไข้ต่ำๆ

เพราะการลดไข้มากเกินไปหรือกินยาแก้ปวด (ซึ่งจะลดไข้ไปด้วย) มากเกินไป จะทำให้ความร้อนในร่างกายลดลง ทำให้เชื้อหวัดในร่างกายคงอยู่นานขึ้น ทำให้เป็นหวัดนานขึ้น แม้จะลดไข้และบรรเทาลงได้ก็ตาม

ยาแก้ปวดลดไข้ที่ควรใช้ คือ ยาพาราเซตามอล (paracetamol) ในเด็กเล็กให้กินครั้งละ1/4-1/2 เม็ด ในเด็กโตกินครั้งละ 1/2-1 เม็ด และในผู้ใหญ่ครั้งละ 1-2 เม็ด ซ้ำได้ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง ถ้าอาการปวดหรืออาการไข้สูงไม่บรรเทา (ในคนไข้ที่ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือเป็นโรคตับอยู่ ไม่ควรใช้ยานี้)

ในคนที่ไม่ได้เป็นโรคกระเพาะ (ปวดท้องเวลาหิวข้าวหรือเวลากินข้าว) อาจใช้ยาแอสไพรินเพื่อแก้ปวดลดไข้ได้ แต่ในระยะที่โรคไข้เลือดออกระบาดหรือไม่แน่ใจว่าคนไข้เป็นไข้เลือดออกหรือไม่ ห้ามใช้แอสไพริน ให้ใช้ยาพาราเซตามอลแทน

อันที่จริง ในคนที่ไม่ชักง่ายเวลาไข้สูง และอาการไข้ ไม่ทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยหรืออาการรุนแรงอื่นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาลดไข้ อาจใช้การเช็ดตัว หรือการวางกระเป๋าน้ำเย็นหรือน้ำแข็งบริเวณศีรษะ (ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ) บริเวณซอกแขนและบริเวณขาหนีบเพื่อลดไข้ด้วยก็ได้

อนึ่ง คนที่มีไข้ไม่มีอาการปวดศีรษะจนทนไม่ได้ ควรใช้วิธีนอนคลุมโปงให้เหงื่อออกไข้จะลดลงและรู้สึกสบายขึ้นมากกว่าการกินยาลดไข้ และจะทำให้อาการไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่หายเร็วขึ้นด้วย

3. ยาแก้อาการเจ็บ คอคัน โดยทั่วไป อาการเหล่านี้จะดีขึ้น เมื่อจิบน้ำร้อนๆ น้ำมะนาวผสมน้ำตาลหรือน้ำผึ้ง หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ที่ทำให้ชุ่มคอ จะช่วยลดอาการเจ็บคอ-คันคอลงได้ ยาสมุนไพรบางชนิดรวมทั้งผสมมะขามป้อม ใบสังกรณีหรือใบหนุมานประสานกาย ที่นำมาเคี้ยวและอม ก็ช่วยลดอาการเจ็บคอและคันคอลงได้ นอกจากนั้นในบางคนการอมลูกกวาด (ลูกอม) ที่มีรสซ่าก็อาจจะลดอาการเจ็บคอและคันคอลงได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาอมที่มีการโฆษณาว่าจะช่วยทำลายเชื้อโรคในปากและในคอ เพราะนอกจากจะเสียเงินเพิ่มขึ้นแล้ว ยังไม่ช่วยให้อาการเจ็บคอดีขึ้น และในบางคนยาอมเหล่านี้อาจจะทำให้ปากคอแห้งและเจ็บคอเพิ่มขึ้น

ยากวาดคอขององค์การเภสัชกรรม (Mandl’s paint) เมื่อใช้สำลีพันปลายไม้ (เช่น ก้านธูป) แล้วกวาดคอ ก็จะช่วยลดอาการเจ็บคอ คันคอและอาการไอลงได้เช่นเดียวกัน ในกรณีที่ยังเจ็บคอมากการกินยาแก้ปวดก็จะช่วยลดอาการเจ็บหรืออาการปวดลงได้

4. ยาแก้ไอ อาการไอเกิดข้นเพื่อขับเสมหะ (เสลด) ออก ทำให้เสมหะไม่ค้างอยู่ในคอ ในหลอดลม หรือในปอด ทำให้การหายใจสะดวกขึ้น และทำให้ไม่เกิดอาการปอดอักเสบ ปอดบวมหรืออาการร้ายแรงอื่นๆ ตามมา โดยทั่วไป การไอจึงเป็นของดี ทำให้เสมหะซึ่งเป็นของเสียถูกขับออกจากร่างกาย จึงไม่ควรให้ยาที่ไประงับการไอ เพราะจะทำให้เสมหะคั่งอยู่ในคอ ในหลอดลมหรือในปอด ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอย่างอื่น

การระงับการไอที่ดี คือ การไอให้เสมหะออกจากคอ หลอดลม และปอดให้หมด แล้วอาการก็จะหมดไปหรือลดลง ดังนั้น การแก้ไอที่ดีที่สุด คือ การยาขับเสมหะและยาขับเสมหะที่ดีที่สุดก็คือ น้ำ เพราะน้ำจะช่วยไปทำให้เสมหะอ่อนตัว ไม่ข้นเหนียว ทำให้ไอออกได้ง่าย อาหารหรือเครื่องดื่มที่เผ็ดหรือร้อน ก็จะช่วยให้ขับเสมหะได้ดี เช่น อาหารหรือเครื่องดื่มร้อนๆ น้ำขิง อาหารเผ็ด เป็นต้น

สำหรับผู้ที่ปฏิบัติตนดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ หรือปฏิบัติได้ครบถ้วนสมบูรณ์ การใช้ยาขับเสมหะบางชนิดอาจช่วยได้ เช่น

ยาแก้ไอสกิลเล่ (M.Scillae Ammou) ซึ่งค่อนข้างเผ็ดและซ่า ในเด็กควรผสมกับน้ำเชื่อมครึ่งต่อครึ่ง แล้วกินครั้งละ 1-2 ช้อนชาหลังอาหาร ส่วนในเด็กโตหรือผู้ใหญ่กินครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะหลังอาหาร หรือจิบเป็นครั้งคราวแก้ไอหรือแก้คันคอ

ยาแก้ไอน้ำเชื่อม (cough syrup) และยาแก้ไอน้ำดำ ก็อาจช่วยลดอาการไอลงได้บ้าง ใช้กินคล้ายกับยาแก้ไอสกิลเล่

ในกรณีที่คนไข้ไอแห้งๆ (ไม่มีเสมหะ) และมากจนเจ็บหน้าอกและหน้าท้อง โดยมีเสมหะ (รู้ได้เพราะเสียงไอนั้นแห้งมาก ไม่มีเสียงน้ำกระฉอกหรือเสียงเสมหะในคอ ควรฟังเสียงไอเป็นสำคัญ เพราะคนไข้บางคนไอเอาเสมหะออกจากหลอดลม แล้วก็กลืนลงไปเลย ไม่ขากเสมหะออกมา ทำให้คนไข้คิดว่าตนไอไม่มีเสมหะ แต่ที่จริงแล้วไอมีเสมหะ แต่กลืนเสมหะลงไป) คนไข้มักไอเพราะคันคอหรือรู้สึกระคายในคอและหลอดลม ควรใช้วิธีแก้แบบการแก้อาการเจ็บคอ-คันคอ ดังที่กล่าวไว้ในข้อ 3 (ยาแก้อาการเจ็บคอ-คันคอ) ถ้ายังไม่ดขึ้นการจิบทิงเจอร์ฝิ่น การบูน (camphorated opium tincture) เป็นครั้งคราว อาจจะช่วยลดอาการไอลงได้

ส่วนอาการเจ็บหน้าอกและหน้าท้องเพราะไอมากนั้น จะดีขึ้นเองเมื่อหยุดไอ แต่ถ้าเจ็บมาก การใช้ยาลดไข้บรรเทาปวดจะช่วยลดอาการเจ็บลงได้

ข้อมูลสื่อ

81-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 81
มกราคม 2529
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์