• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษา อาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไซนัส

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

การตรวจรักษา อาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไซนัส

ครั้งที่แล้วได้กล่าวถึงการรักษาอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ในกรณีที่ผู้ป่วยมีไข้

เนื่องจากโรคเหล่านี้เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียาที่จะไปฆ่าเชื้อพวกนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นยาฉีดหรือยากิน การรักษาจึงใช้วิธี ดังนี้

1. การพักผ่อนและการรักษาความอบอุ่นของร่างกาย

2. การไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น

3. การใช้ยา (ตามอาการ)

4. ยาแก้ไอ

ทั้ง 4 หัวข้อได้กล่าวรายละเอียดไปแล้วในครั้งที่ผ่านมา และครั้งนี้จะได้กล่าวถึงการรักษาในหัวข้อต่อไป

5. ยาปฏิชีวนะ

โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส (เพราะยาปฏิชีวนะไม่สามารถจะฆ่าเชื้อไวรัสได้)

ดังนั้นจะใช้ยาปฏิชีวนะในโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ต่อเมื่อเสมหะหรือน้ำมูกเปลี่ยนจากสีขาว เป็น สีเหลือง สีเขียว หรือสีอื่นหรือมีอาการอื่นที่แสดงว่ามีเชื้อแบคทีเรียเข้าแทรกซ้อน เช่น เป็นไข้ (ตัวร้อน) มากขึ้นหลังจากไข้ทำท่าจะลดลงแล้ว หรือเป็นไข้ (ตัวร้อน) อยู่นานกว่า 5-7 วัน หรือไอมากขึ้น เป็นต้น

ยาปฏิชีวนะที่น่าจะใช้ในกรณีที่เสมหะหรือน้ำมูกเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีอื่น หรือมีอาการที่แสดงว่ามีเชื้อแบคทีเรียแทรก คือ

1. ยาเพนวี (Pen-V) เม็ดละ 250 มิลลิกรัม (เม็ดละ 70 สตางค์) ในเด็กให้กิน ½ เม็ดก่อนอาหารสามเวลาและก่อนนอน ในเด็กโต หรือผู้ใหญ่ให้กิน 1 เม็ด ก่อนอาหารสามเวลาและก่อนนอน เป็นเวลาอย่างน้อย 5 วันติดต่อกัน ห้ามใช้ยานี้ในคนที่แพ้ยาเพนิลซิลลิน

2. ยาโคไตรมอกซาไซล (Cottri-moxazole) เม็ดละ 70 สตางค์ ในเด็กเล็ก ให้กิน ½ เม็ดหลังอาหารเช้า-เย็น ในเด็กโต ให้กิน 1 เม็ดหลังอาหารเช้า-เย็น ในผู้ใหญ่ให้กิน 2 เม็ดหลังอาหารเช้า-เย็น เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน และควรกินน้ำมากๆ เมื่อกินยานี้ ห้ามใช้ยานี้ในคนที่แพ้ยาจำพวกซัลฟาต่างๆ

6. การตรวจรักษาเพิ่มเติม

ถ้าให้การรักษาข้างต้นแล้วคนไข้ดีขึ้นเรื่อยๆ ก็ให้การรักษาข้างต้นต่อไปแล้วคนไข้จะหายในเวลา 1-2 สัปดาห์ (1-2 อาทิตย์)

แต่ถ้าคนไข้ไม่ดีขึ้น (คือ ทรงๆ อยู่) หลัง 4-5 วัน หรือถ้าคนไข้มีอาการทรุดลง หรือมีอาการแรกซ้อนอย่างอื่น (เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง ชัก มีจุดเลือดออกตามตัว มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนมาก หรือมีอาการเจ็บหนักอื่นๆ ) ต้องให้คนไข้ไปโรงพยาบาลทันที เพราะต้องการการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจเอกซเรย์ ตรวจเสมหะ เป็นต้น แล้วจึงจะการรักษาตามสิ่งที่ตรวจพบได้จากการตรวจเพิ่มเติมนั้น

ถ้าคนไข้ไม่มีไข้ (ตัวร้อน) ซึ่งหยอดหรือยาพ่นจมูกเพื่อลดอาการชักไข้ที่คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอหรือจาม มักเกิดจากการแพ้ อาจจะแพ้อากาศ แพ้กลิ่น แพ้ฝุ่นละออง แพ้ยา หรืออื่นๆ

คนไข้กลุ่มนี้มักจะมีน้ำมูกหรือเสมหะสีขาวใสคล้ายน้ำ และจะมีอาการเป็นครั้งคราว เมื่อถูกกับสิ่งที่ตนแพ้ วิธีแก้ คือ

1. ไล่สิ่งแพ้ หรือหลีกเลี่ยงสิ่งแพ้ เช่น ถ้าคัดจมูกเวลาถูกอากาศเย็น หรือเวลาอาบน้ำเย็น ก็ควรจะหลีกเลี่ยงจากสิ่งนั้น แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ต้องทำงานในห้องแอร์ (ปรับอากาศ) ที่เย็นจัด ก็ควรจะแต่งกายให้อบอุ่น และอาจใช้ผ้าปิดปากและจมูก เพื่อให้อากาศเย็นไม่เข้าไปกระทบเยื่อจมูกและหลอดลมโดยตรง จะลดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ หรือจามลงได้

ถ้าคัดจมูก เวลาถูกลมเป่าหรือเวลาถูกฝุ่นละออง ก็พยายามหลีกเลี่ยงภาวะทั้งสองนั้น หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ควรใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก เป็นต้น

2. แก่ออกกำลัง ในที่นี้หมายถึงการออกกำลังกายเป็นประจำ แม้คนเขาจะหาว่า “แก่ออกกำลัง” ก็ไม่ต้องอายเพราะการออกกำลังกายเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายแข็งแรง ทำให้อาการแพ้โน่นแพ้นี่ง่ายลดลงและหายขาดได้

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายควรเริ่มครั้งละน้อยๆ ก่อน แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การออกกำลังกายแบบหักโหมหรือแบบไม่สม่ำเสมอ แทนที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น กลับจะทำให้ร่างกาอ่อนแอลง และอาจทำให้เกิดอาการไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่เข้าแทรกได้

3. ระวังการใช้ยา โดยเฉพาะยาหยอดหรือยาพ่นจมูก เพื่อลดอาการคัดจมูก รวมทั้งยานัตถุ์ด้วย เพราะการใช้ยาเหล่านี้จะระคายเยื่อจมูก ทำให้เยื่อจมูกหนา บวม และพองขึ้น จนอาจเกิดเป็นริดสีดวงจมูก ทำให้คัดจมูกอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่ไม่ใช้ยา หรือหมดฤทธิ์ยา

ในคนที่คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอหรือจาม เพราะแพ้สิ่งหนึ่งสิ่งใด การใช้ยาแก้แคลอร์เฟนิรามีนดังที่กล่าวไว้ข้างต้นอาจจะช่วยลดอาการแพ้ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ หรือจามลงได้

4. การตรวจรักษาเพิ่มเติม ในกรณีที่การคัดจมูกเรื้อรังเกิดขึ้นหลังอุบัติเหตุ หรือเกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวข้องกับการแพ้ หรือถ้าปฏิบัติรักษาตนดังกล่าวข้างต้นแล้ว อาการกลับทรุดลงก็ควรจะให้คนไข้ไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจพิเศษเพิ่มเติม และหาสาเหตุเพื่อจะได้ให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับสาเหตุนั้นๆ ต่อไป

ส่วนเรื่อง “ไซนัส” นั้น อันที่จริงยังมีการเข้าใจผิดกันมาก และที่ชาวบ้านพูดกัน มักหมายถึง ภาวะไซนัสอักเสบ (sinusitis) ซึ่งมักหมายถึง ภาวะโพรงกระดูกรอบจมูก (paranasalair sinuses) อักเสบ

อันที่จริง โพรงกระดูกรอบจมูกจะมีรูติดต่อกับจมูก เมื่อจมูกคัด เพราะเยื่อจมูกบวม รูติดต่อเหล่านี้จะถูกปิดไป ทำให้อากาศและน้ำมูกในโพรงกระดูกถ่ายเทไม่ได้ ทำให้เกิดอาการปวดหรือตื้อในบริเวณหว่างคิ้ว โหนกแก้ม หรือในโพรงจมูกลึกๆ ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้น และหายไปเมื่ออาการคัดจมูกลดลงและหายไปนกรณีอย่างนี้ ควรจะถือว่าไซนัสไม่ได้อักเสบ นั่นคือ ไม่ได้เป็น “โรคไซนัส”

ส่วนพวกที่ “ไซนัสอักเสบ” จริงๆ หรืออักเสบจนเป็นหนอง คนไข้จะมีอาการปวดหัวระหว่างคิ้วหรือบริเวณโหนกแก้มมาก และเมื่อคะแคงศีรษะในบางท่า อาจรู้สึกมีน้ำหรือหนองไหลออกมาในโพรงจมูก คนไข้ประเภทนี้ถ้ามีไข้สูง หรือมีอาการปวดหัวมาก อาจต้องเอกซเรย์และเจาะเอาหนองออก จึงควรจะต้องปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

ส่วนคนไข้ที่คิดว่าตนเป็น “ไซนัส” หรือถูกบอกว่าเป็น “ไซนัส” ส่วนใหญ่แล้วเป็นอาการหวัด คัดจมูก ธรรมดาและให้การตรวจรักษาดังกล่าวข้างต้น อาการจะลดลงและหายไปได้

การตรวจรักษาอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล “ไซนัส” จึงไม่ใช่ของลำบากยากเย็นอะไร ให้ฝึกปฏิบัติดังกล่าวข้างต้นอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล “ไซนัส” ได้

ข้อมูลสื่อ

82-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 82
กุมภาพันธ์ 2529
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์