• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เท้าอวัยวะเบื้องต่ำที่สำคัญ

เท้าอวัยวะเบื้องต่ำที่สำคัญ
 

ถึงแม้ว่าเท้าของมนุษย์เราจะเป็นอวัยวะที่อยู่เบื้องต่ำ ไม่เชิดหน้าชูตาเช่นหน้า ทั้งยังเป็นเครื่องแสดงท่าทีที่หยาบคาย ถ้าถูกยกขึ้นมาอยู่ในระดับสูง แต่ก็เป็นอวัยวะที่สำคัญมาก ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอวัยวะอื่นๆ เลย มนุษย์เป็นสัตว์ที่เดินอยู่บนสองเท้า เท้าจึงต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกายทั้งหมด เมื่อมีการยืน เดิน หรือวิ่ง และยังต้องรับภาระหนักหน่วงยิ่งขึ้นเมื่อต้องใช้เตะ ถีบ ฟาด ในการเล่นกีฬาชนิดต่าง ๆ เช่น มวยไทย ตะกร้อ และฟุตบอล

สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เท้ามีความสำคัญต่อเรามากก็คือ เมื่อมีใครมาเหยียบบนนิ้วหัวแม่เท้าเพียงนิ้วเดียวหรือนิ้วเท้านิ้วในนิ้วหนึ่ง นอกจากจะรู้สึกเจ็บปวดอย่างเหลือพรรณาแล้ว ยังทำให้คุณเดินไม่ได้ นั่งไม่อยู่ นอนหลับไม่สนิท ไม่เป็นอันกินอันนอนอยู่หลายวันทีเดียว

เท้าของมนุษย์นอกจากจะต้องทำหน้าที่ดังได้กล่าวมาแล้วนี้ ยังต้องถูกจำกัดอยู่ในถุงเท้าและรองเท้าเมื่อต้องเข้าสู่สังคม ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือ ต้องเป็นตัวสังเวยแฟชั่นตามกาลสมัย ที่จะต้องถูกบีบให้เรียวเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้หรือวางอยู่บนส้นรองเท้าที่ทั้งยาวและเล็กเท่าตะปูของรองเท้าส้นสูง เพื่อให้เจ้าของดูอรชรอ้อนแอ้นขึ้น ความทุกข์ทรมานของเท้าที่จะได้รับจึงมีอยู่ไม่น้อย และสร้างความเจ็บปวดไม่สบายให้แก่เจ้าของได้อย่างมากทีเดียว

เท้าของเรามิใช่เป็นกระดูกชิ้นเดียว แต่ประกอบด้วยกระดูกชิ้นเล็ก ๆ 26 ชิ้น ปัญหาของเท้าที่พบบ่อยคือ เมื่อยเท้า ตาปลา เท้าแพลง เท้าเคล็ด ข้อเท้าอักเสบ เลือดไปเลี้ยงเท้าไม่พอ เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงเท้าผิดปกติ และโรคติดเชื้อต่าง ๆ อาการเมื่อยเท้าและเท้าเคล็ดพบได้บ่อย นอกจากมีสาเหตุจาการใช้เท้ามากเกินไปแล้ว มักเกิดจากความผิดปกติของเท้าเอง ได้แก่ เท้าแบน ซึ่งเป็นกรรมพันธุ์ โดยที่เมื่อลุกขึ้นอยู่ในท่ายืน ฝ่าเท้าทั้งหมดจะแนบติดกับพื้นไม่ปรากฏส่วนโค้งทางด้านในของเท้าทั้งสองเลย

ส่วนโค้งของเท้าเปรียบเสมือนสะพานที่ทำหน้าที่รับน้ำหนัก ดังนั้นเมื่อส่วนโค้งหายไป น้ำหนักของลำตัวจะกดโดยตรงลงที่กระดูกเท้าและพังผืด จึงทำให้เกิดอาการเมื่อยและเคล็ดได้ง่าย
คนที่มีเท้าแบนต้องทำการบริหารกล้ามเนื้อให้มีกำลังดีขึ้น ลดน้ำหนักส่วนที่เกินและเลือกใช้
รองเท้าที่เหมาะสม หรือเสริมพื้นรองเท้าด้านในให้สูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อดันฝ่าเท้าให้มีส่วนโค้งได้อย่างปกติ

ความผิดปกติของเท้าอีกชนิดหนึ่งคือ หัวแม่เท้าเบี้ยวเข้าหานิ้วอื่น เนื่องจากใส่รองเท้าที่บีบรัดอยู่เป็นเวลานานทำให้กางไม่ออก และเป็นอุปสรรคต่อการเดินอย่างปกติ ซึ่งต้องอาศัยการลงน้ำหนักที่หัวแม่เท้านี้มาก ขณะที่อีกเท้าหนึ่งจะก้าวไปข้างหน้า ทั้งยังทำให้เกิดการเสียดสีได้ง่ายที่โคนนิ้วเท้าทางด้านข้าง ทำให้ใส่รองเท้าไม่ได้ จึงควรจะใส่รองเท้าที่มีหัวรองเท้าลักษณะมนและกว้าง อาจใช้กระดาษเช็ดมือหรือสำลีวางคั่นระหว่างนิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วอื่น เพื่อช่วยให้กางออก และทำการบริหารนิ้วหัวแม่เท้าให้กางออกอยู่เป็นประจำ

ในบางคนจะพบนิ้วหัวแม่เท้าหรือนิ้วอื่นๆ งอเข้ามาและแอ่นขึ้น ทำให้ข้อนิ้วเท้าแต่ละนิ้วเกิดการเสียดสีกับพื้นรองเท้า หรือด้านบนรองเท้าเกิดความเจ็บปวดมาก ควรจะแก้ไขโดยหาผ้านิ่ม ๆ หรือฟองน้ำ กดส่วนที่นูนไว้เพื่อลดการเสียดสีและให้นิ้วเท้ายืดตรงออกไป
ในบางคนจะมีอาการเจ็บปวดที่บริเวณส้นเท้า ซึ่งอาจเกิดจากรองเท้าคับแคบ ทำให้เกิดการเสียดสีจนพองขึ้นมาเป็นตุ่มน้ำ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากกระดูกงอกภายในส้นเท้า ทำให้เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาแทบจะวางเท้าลงบนพื้นไม่ได้ลย เพราะเจ็บปวดมาก ต้องขยับเดินเป๋อยู่ชั่วครู่หนึ่งจึงจะค่อยดีขึ้น ถ้าเกิดจากสาเหตุนี้ควรคลำหาจุดเจ็บซึ่งมักจะรู้สึกว่านูนกว่าที่อื่น แล้วเจาะพื้นรองเท้าให้มีรูใหญ่กว่าจุดเจ็บหน่อย กระดูกงอกก็จะค่อย ๆ หายไป

อาการอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เจ็บคือ เล็บขบ ซึ่งจำเป็นต้องตัดเล็บให้สั้น และตัดเอาส่วนที่ขบทิ้งไป ตะไบเล็บให้เรียบ อาจจะใส่สำลีที่มุมเล็บซึ่งเป็นการช่วยได้ชั่วคราว อาการเล็บขบ ถ้าไม่รีบจัดการจะทำให้เป็นแผลและติดเชื้อได้ง่าย เกิดเป็นหนองและมีกลิ่นเหม็น จึงต้องป้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ

บางรายที่สวมใส่รองเท้าและถุงเท้าตลอดวัน จะทำให้เท้าอับชื้นและเป็นเชื้อราได้ง่าย หรือที่เราเรียกว่า เท้าฮ่องกง(ฮ่องกงฟู้ต) จึงต้องระวังให้เท้าแห้งและไม่อับชื้น โรคเชื้อราของเท้าก็จะหายไปนอกจากนี้ตาปลาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นควรจะตัดออกด้วยมีดที่สะอาด โดยเช็ดด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ หาสาเหตุที่ทำให้เกิดตาปลาซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงกดของรองเท้า หาแผ่นผ้าที่นุ่มหรือฟองน้ำใส่ข้างล่างไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นอีก

ยังมีโรคอีกหลายชนิดที่ทำให้เท้าปวดได้ เช่น โรคไข้ข้ออักเสบ รูห์มาตอยด์ โรคเก๊าท์ ส่วนในโรคเบาหวานปลายเท้าจะชาและขาดความรู้สึก ทำให้พองและเป็นแผลได้ง่าย แผลที่เกิดขึ้นนี้รักษาได้ลำบากมาก จำเป็นต้องป้องกันไว้ให้ดีที่สุด ในกรณีที่เลือดมาเลี้ยงเท้าไม่เพียงพอทำให้เท้าเป็นตะคริวได้ง่ายและบวมพบได้ในเส้นเลือดขอด โรคหัวใจ โรคไตบางชนิด จำเป็นต้องหาสาเหตุของโรคให้กระจ่าง ในขณะเดียวกัน ควรจะยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจในเวลานอน

ถ้าเส้นประสาทผิดปกติไป เช่น ในรายอัมพาต ความรู้สึกสูญเสียไปหรือมากเกินไป กล้ามเนื้ออ่อนแอหรือเกร็งแข็งตลอดเวลา ล้วนทำให้เท้าเจ็บปวดได้ และจำเป็นต้องรักษาที่ต้นเหตุ

(อ่านต่อฉบับหน้า ตอนที่ 2 “เรามาแก้และลดความเจ็บปวดของเท้าด้วยตัวเอง”)

ข้อมูลสื่อ

40-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 40
สิงหาคม 2525
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข