• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไซนัส

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองแลญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไรเรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

การตรวจรักษาอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไซนัส

แม้ว่าจะได้กล่าวถึงการตรวจรักษา “อาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไซนัส” มาถึง 3 ครั้งติดต่อกันแล้ว แต่ก็ยังมีคนที่อยากรู้รายละเอียดและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเพิ่มเติม จึงขอกล่าวเรื่องนี้ต่ออีกหน่อย

เพราะอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไซนัสนี้ เป็นกันมากและเป็นกันบ่อย โดยเฉพาะในระยะที่อากาศเปลี่ยน เช่น เปลี่ยนจากร้อนเป็นหนาว จากหนาวเป็นร้อน หรือจากร้อนเป็นฝน เป็นต้น

ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น (ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 80) ว่าคนที่มีอาการหวัด (คือ มีอาการครั่นเนื้อ ครั่นตัว) หนาวผิดปกติหนาวๆ ร้อนๆ หรือตัวร้อน (อาการไข้) และมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยตามตัวหรือศีรษะ เจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรืออื่นๆ ) อาจเป็นโรคหวัดธรรมดา (Common Coldหรือcoryza) ไข้หวัดใหญ่ (influenza) หรือเป็นอาการของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น โรคหัด (measles) โรคเหือดหรือหัดเยอรมัน (german measles) โรคอีสุกอีใส (chicken pox) โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส (viral hepatitis) หรืออื่นๆ

เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่มียาที่ใช้ฆ่าเชื้อไวรัสในร่างกายของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสจึงเป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น นั่นคือ ถ้ามีไข้สูงมากหรือปวดเมื่อยมาก ก็กินยาลดไข้ แก้ปวด ถ้าคัดจมูก น้ำมูกไหล ก็กินยาแก้คัดจมูก น้ำมูกไหล เป็นต้น ดังที่กล่าวไว้ในครั้งก่อนๆ

ดังนั้น แม้ว่าคนที่มีอาการคล้ายหวัด แล้วต่อมาปรากฏว่า เป็นโรคหัด โรคเหือด โรคอีสุกอีใส โรคตับอักเสบ หรืออื่นๆ การรักษาโรคหวัดตามอาการดังที่กล่าวมาแล้วก็จะไม่มีอันตรายใดๆ เพราะถึงจะเป็นโรคหัด โรคเหือด โรคอีสุกอีใส โรคตับอักเสบ หรืออื่นๆ ก็ให้การรักษาแบบเดียวกัน คือให้การรักษาตาอาการเท่านั้น ไม่มียาที่จะใช้รักษาโดยเฉพาะได้

ในคนที่เป็นโรคจากเชื้อไวรัสเช่นนี้ นอกจากการรักษาตามอาการแล้ว ก็ต้องพักผ่อนและรักษาความอบอุ่นของร่างกายไว้ (ยอมร้อนและเหงื่อออกดีกว่ายอมหนาว) เพราะถ้าไม่พักหรือร่างกายถูกอากาศเย็น น้ำเย็น ฝน หรืออื่นๆ จะทำให้เกิดโรคแทรก (ภาวะแทรกซ้อน) เช่น ปอดบวม (ปอดอักเสบ) หลอดลอักเสบ โรคเดิมทรุดหนักลงได้ง่าย เป็นต้น

นอกจากนั้นคนที่เป็นโรคจากเชื้อไวรัสเช่นนี้ จะต้องป้องกันไม่ให้เชื้อโรคที่มีอยู่ในร่างกายของตนไปติดผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเป็นโรคด้วย เพราะเชื้อไวรัสมักจะติดต่อง่าย เช่น

1. ทางน้ำมูก น้ำลาย ดังนั้น การไอ การจาม ซึ่งจะกระจายน้ำมูกน้ำลายออกเป็นละอองฝอยไปในอากาศ เชื้อไวรัสโดยเฉพาะเชื้อหวัด ก็จะกระจายลอยละล่องอยู่ในอากาศ คนที่สูดหายใจเข้าไปก็จะมีโอกาสติดโรคได้ง่าย

ดังนั้น คนที่เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสแล้วมีอาการไอ จาม หรือมีน้ำมูก น้ำลาย เสมหะมาก ควรจะปิดปากปิดจมูกเวลาไอหรือจาม และควรอยู่ห่างจากผู้อื่น (ไม่เข้าใกล้ชิดผู้อื่น หรือไม่เข้าไปในบริเวณที่มีคนอยู่หนาแน่น หรือในห้องที่ระบายอากาศไม่ได้ดี เช่น ห้องแอร์) เพราะจะทำให้เชื้อโรคที่ไอหรือจามออกมาไปติดผู้อื่นได้ง่าย และต้องไม่กินอาหารร่วมกับผู้อื่น หรือใช้ถ้วยชามร่วมกับผู้อื่นด้วย

2. ทางน้ำตา น้ำเหลือง เลือด เช่น คนที่เป็นหวัดตาแดง จะแพร่เชื้อทางน้ำตา คนที่เป็นโรคอีสุกอีใส จะแพร่เชื้อทางน้ำเหลือง (น้ำหนอง) จากตุ่มอีสุกอีใส คนที่เป็นโรคตับอักเสบหรือโรคเอดส์ จะแพร่เชื้อทางเลือดได้ด้วย

ดังนั้น คนที่เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส แล้วมีอาการตาแดง จะต้องระวังไม่ใช้ผ้าเช็ดหน้าเช็ดตาร่วมกับผู้อื่น ถ้ามีตุ่มมีแผล จะต้องระวังไม่ให้น้ำเหลืองน้ำหนองถูกผู้อื่น ถ้าเป็นโรคตับอักเสบ หรือโรคเอดส์ จะต้องระวังไม่ให้เลือดของตนไปถูกผู้อื่น เช่น ในการบริจาคเลือด หรือในการฉีดยา เป็นต้น

3. ทางอุจจาระ เช่น คนที่เป็นโรคตับอักเสบ จะต้องระวังไม่ให้อุจจาระของตนกระจายออกไปได้ เช่น ไม่ถ่ายไว้ตามพื้นดิน ไม่ถ่ายไว้ตามแม่น้ำลำคลอง เป็นต้น เมื่อถ่ายอุจจาระลงในส้วมหรือในหลุมแล้ว ควรล้างมือให้สะอาด เพราะถ้ามีอุจจาระ (เศษอุจจาระที่ติดมากับมือเวลาทำความสะอาดก้น) ติดมือมา แล้วเมื่อเอามือไปจับต้องสิ่งของใด เชื้อโรคก็จะติดอยู่กับสิ่งนั้น และติดต่อไปยังผู้อื่นได้

การป้องกันไม่ให้โรคไปติดผู้อื่น และการป้องกันไม่ให้ตนเองติดโรคจากผู้อื่น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะโรคเหล่านี้ยังไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ มีแต่การรักษาตามอาการเท่านั้น

สำหรับคนที่มีอาการหวัด และมีอาการเจ็บคอด้วย นั่นคือ กลืนน้ำ น้ำลาย หรืออาหารแล้วเจ็บในคอหอย นอกจากจะรักษาอาการเจ็บคอตามที่กล่าวไว้ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 81 แล้วควรจะตรวจคอหอยด้วย (ดูวิธีการตรวจคอหอย ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 32)

การตรวจคอหอยนี้ อาจจะให้หมอ (หรือผู้ที่อ่าน “มาเป็นหมอกันเถิด” และปฏิบัติได้แล้ว) ตรวจ หรือจะตรวจเองโดยยืนอ้าปากหน้ากระจกเงา แล้วดูเงาของคอหอยตนองในกระจกเงานั้น

ถ้าคอหอย (รวมทั้งต่อมทอนซิล) ไม่อักเสบแดง หรือแดงเพียงเล็กน้อย และไม่มีจุดหนองอยู่ อาการคอเจ็บนั้นมักเกิดจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อหวัดนั่นเอง ให้การรักษาตามที่กล่าวไว้ ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 81 ก็เพียงพอแล้ว

แต่ถ้าคอหอย (ผนังของคอหอยหรือต่อมทอนซิล) แดงจัด หรือมีจุดขาวๆ เหลืองๆ หรือเขียวๆ หรือหนองอยู่ แสดงว่าอาการคอเจ็บนั้น เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (เชื้อบัคเตรี) ควรจะกินยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี (Pen-V) ด้วย

แต่ถ้าคอหอย (รวมทั้งต่อมทอนซิล) แดงเพียงเล็กน้อย และไม่มีจุดขาว จุดเหลือง จุดเขียว หรือหนอง แต่อาจเห็นน้ำมูกเป็นสายๆ ติดอยู่กับผนังคอหอยด้านหลัง แสดงว่าอาการคอเจ็บนั้น เกิดจากน้ำมูก (ในจมูก) ไหลลงไปที่คอหอย และทำให้คอเจ็บ ควรพยายามดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อล้างน้ำมูกไม่ให้คาติดอยู่ในคอ หรือขากน้ำมูกที่ติดอยู่ออก ถ้าน้ำมูกมีมาก ควรกินยาลดน้ำมูก (ยาแก้คัดจมูก) ถ้าน้ำมูกมีสีเหลืองและสีเขียว ควรจะกินยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี (Pen-V)

สำหรับอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลนั้น คนไข้บางคนมักจะเข้าใจผิดคิดว่าต้องพยายามสั่งน้ำมูกออกให้หมดแล้วจมูกจะได้โล่งและหายใจสะดวก แต่พยายามสั่งน้ำมูกบ่อยๆ หรือสั่งน้ำมูกแรงๆ กลับพบว่า จมูกยิ่งคัดมากขึ้น และหายใจลำบากมากขึ้น

ดังนั้นจึงไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงๆ หรือสั่งน้ำมูกบ่อยๆ ควรสั่งน้ำมูกเวลาที่น้ำมูกไหลจนจะหยดออกมาเท่านั้น และควรสั่งเบาๆ ยิ่งสั่งน้ำมูกบ่อยๆ หรือสั่งน้ำมูกแรงๆ เยื่อจมูกจะยิ่งมีเลือดมาคั่ง ทำให้บวมและคัดมากขึ้น นอกจากนั้นการสั่งน้ำมูกแรงๆ หรือการแคะ แกะ เกาในรูจมูก จะทำให้มีเลือดกำเดาออกได้ง่ายอีกด้วย

คนที่คัดจมูกมากๆ จนหายใจทางจมูกไม่สะดวกจากอาการหวัดหรืออาการแพ้อากาศ อาจจะช่วยให้จมูกหากคัดได้เป็นบางขณะ โดยการบีบจมูก (ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้บีบปลายจมูก)ให้แน่น ปิดปากให้แน่น แล้วสูดลมหายใจเข้าลึกๆ เป็นจังหวะๆ (โดยไม่ให้มีลมเข้าและออกจากจมูกและปากได้) ทำเช่นนั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะกลั้นหายใจต่อไปไม่ได้ จึงค่อยปล่อยนิ้วที่บีบจมูกออก จะพบว่ารูจมูกจะโล่งขึ้น ทำให้หายใจเข้าออกทางรูจมูกได้ แต่อาจจะโล่งอยู่เพียงชั่วครู่ แล้วก็คัดใหม่ แต่อาการคัดจมูกมักจะลดลง ถ้าไม่ลดลง ก็ทำซ้ำใหม่ได้

สำหรับอาการไอที่ร่วมกับอาการหวัดนั้น ถ้าไม่มีเสมหะ มีแต่อาการคันคอ ทำให้อยากไอ และไอแห้งๆ บางคนจะพยายามไอแรงๆ เพื่อให้หายคันคอ จนเจ็บคอ เจ็บอกและเจ็บท้องไปหมด ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร ควรจะดื่มน้ำบ่อยๆ และแก้อาการคันคอโดยวิธีต่างๆ ดังที่แนะนำไว้แล้ว ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 81

ถ้าไอแล้วมีเสมหะ แต่เป็นเสมหะขาวๆ ใสๆ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ควรจะไอเพียงเบาๆ พอให้เสมหะออกได้ อย่าไอแรงๆ เพราะจะทำให้เจ็บคอ เจ็บอก เจ็บท้อง และไอเป็นเลือดได้ด้วย ควรจะดื่มน้ำมากๆ และแก้อาการไอและอาการคันคอ โดยวิธีต่างๆ ดังที่แนะนำไว้แล้วในหมอชาวบ้านฉบับที่ 81

ถ้าไอแล้วมีเสมหะ และเสมหะเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือเป็นหนองซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ควรจะไอเพียงเบาๆ พอให้เสมหะออกได้เช่นเดียวกัน เพราะการไอแรงๆ นอกจากจะทำให้เหนื่อย เจ็บคอ เจ็บอก และเจ็บท้องแล้ว ยังอาจทำให้ไอเป็นเลือด หน้ามืดเป็นลม หรือหมดสติได้ด้วย คนที่เสมหะเป็นสีเหลืองหรือเขียว หรือเป็นสีอื่นนอกจากสีขาวใส ควรจะกินยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี (Pen-V) ด้วย และควรจะดื่มน้ำมากๆ และกินยาละลายเสมหะหรือยาขับเสมหะร่วมด้วย ถ้ามีอาการคันคอ เจ็บคอ ก็ใช้วิธีแก้อาการคันคอเจ็บคอดังที่กล่าวไว้ใน หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 81

การตรวจรักษาอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไซนัส จึงเป็นการตรวจรักษาที่ชาวบ้านทั่วไปสามารถทำเองได้ ไม่จำเป็นจะต้องไปโรงหมอ ร้านหมอ หรือโรงพยาบาล นอกจากว่าได้ปฏิบัติรักษาดูแล้ว อาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแทรกซ้อนอย่างอื่น จึงควรไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจพิเศษเพิ่มเติม และให้การรักษาตามสาเหตุ หรือโรคที่แทรกซ้อนขึ้นมาใหม่ต่อไป

ข้อมูลสื่อ

83-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 83
มีนาคม 2529
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์