• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษา อาการเจ็บคอปวดคอ

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

การตรวจรักษา อาการเจ็บคอปวดคอ

อาการเจ็บคอ ปวดคอ เป็นอาการที่พบบ่อย และบางครั้งทำให้งงได้ง่าย จึงควรถามให้แน่ว่า อาการเจ็บคอ ปวดคอนั้น เป็นที่ส่วนไหนของคอ เช่น

1. ถ้าเจ็บข้างในคอ อาจจะเป็น

1.1 เจ็บในคอหอย ทำให้กลืนอาหาร หรือกลืนน้ำ กลืนน้ำลาย แล้วเจ็บบางทีอยู่เฉยๆ ก็เจ็บ แต่เมื่อกลืนอาหารหรือน้ำแล้วมักเจ็บมากขึ้นบางคนอยู่เฉยๆ แล้วเจ็บคอหรือกลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ แต่ถ้ากลืนน้ำแล้วอาการเจ็บคอดีขึ้น ในกรณีหลังนี้แสดงว่าคอแห้งมาก ถ้าหมั่นจิบน้ำหรือดื่มน้ำบ่อยๆ แล้วอาการเจ็บคอจะดีขึ้น

1.2 เจ็บในหลอดลม ทำให้มีอาการคันคอหรือระคายคอ หรือแสบคอลึกๆ มักร่วมด้วยอาการไอ เสียงแหบหรือเสียงผิดปกติ ถ้าเป็นมากๆ จะแสบลึกลงไปกลางอก และมีอาการไอมากหรือมีอาการหอบด้วย

1.3 จุดแน่นในคอบริเวณลูกกระเดือกหรือใต้ลูกกระเดือก แต่ไม่เจ็บเวลากลืนหรือดื่มน้ำ และไม่มีอาการไอหรือเสียงแหบ และไม่มีอาการกดเจ็บจากภายนอก และไม่มีอาการเจ็บเวลาเอี้ยวคอไปมาหรือเวลาก้มคอเงยคอ

อาการเช่นนี้มักจะเป็นอาการจุกหรือแน่นในคอ หรือเป็นอาการคล้ายกลืนอาหารลงไปแล้วติดอยู่กลางคอ หรือเป็นอาการแน่นในคอคล้ายจะหายใจไม่ออก ควรนั่งพักและหายใจลึกๆ สัก 4-5 ครั้ง หรือดื่มน้ำอุ่นๆ สัก 2-3 อึก ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน ½ -1 ชั่วโมง ควรไปหาหมอ

ถ้าอาการดีขึ้น ให้คอยสังเกตว่าอาการเช่นนี้เกิดขึ้นอีกไหม และเกิดหลังการออกกำลังกายหรือหลังอาการโกรธ ตื่นเต้น หรือเครียด และพอนั่งพักสักครู่ อาการก็หายไปหรือไม่

ถ้าใช่ ควรพกยาอมใต้ลิ้น ไนโตรกลีเซอรีน ติดตัวไว้สัก 4-5 เม็ด เวลามีอาการจุกแน่น หรือเจ็บในคอดงที่กล่าวไว้ในหัวข้อนี้ (หัวข้อ 1.3) ควรลองเอายาไนโตรกลีเซอรีน 1 เม็ดใส่ไว้ที่ใต้ลิ้น แล้วอมไว้เฉยๆ (ไม่ต้องดื่มน้ำ และไม่ต้องกลืน) เมื่อยาละลายหมดแล้ว ถ้าอาการดีขึ้นและหายไปภายใน 2-3 นาที อาจจะเป็นอาการจุกแน่นหรือเจ็บในคอจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ให้พกยานี้ติดตัวไว้ เพื่อจะได้ใช้อมทุกครั้งที่มีอาการเจ็บหรือจุกแน่นในคอ

(ยาอมไนโตรกลีเซอรีน จะทำให้เผ็ดๆ ซ่าๆ ที่ใต้ลิ้นและอาจทำให้ปวดหัวมึนหัว เพราะฤทธิ์ขยายหลอดเลือดของมัน ซึ่งเป็นอยู่สักพักก็จะหายเอง ไม่ต้องกินยาแก้)

1.4 เจ็บในหลอดอาหาร ซึ่งอาจจะเป็นแบบเจ็บๆ แสบๆ หรือแสบร้อนมาก ตั้งแต่กลางคอลงไปถึงกลางอก ตรงตำแหน่งเดียวกับที่เราเกิดอาการแสบร้อนเวลากลืนอาหารหรือน้ำร้อนๆ ลงไป ซึ่งลักษณะอาการเช่นนี้ มักจะแสดงว่าหลอดอาหารอักเสบ

อาการเจ็บในหลอดอาหาร อาจจะเป็นอาการจุกแน่นคล้ายหัวข้อ 1.3 แต่ต่างกันที่อาการจุกแน่นนี้มักจะเกิดหลังกินอาหาร และมักมีอาการกลืนไม่ค่อยลง ทำให้รู้สึกคล้ายติดคอ บางครั้งก็มีอาการอาเจียนเอาอาหารที่เพิ่งกินเข้าไปหรือกินเข้าไปนานแล้วออกมาด้วย ถ้าเป็นมาก จะกลืนอาหารไม่ได้เลย และอาจจะกลืนน้ำไม่ได้ด้วย แต่บางครั้งคนไข้อาจบอกประวัติว่ากลืนได้ แต่พอซักประวัติต่อ จะพบว่าหลังจากนั้นไม่นาน หรืออาจนานเป็นชั่วโมง คนไข้จะอาเจียนเป็นอาหารและน้ำที่ลงไปค้างอยู่ในหลอดอาหาร (ไม่ได้ผ่านลงกระเพาะ) กลับออกมา ซึ่งลักษณะอาการเช่นนี้ แสดงว่าหลอดอาการตีบหรือตัน ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาให้ถูกต้อง

1.5 เจ็บในกล้ามเนื้อ ในข้อหรือในกระดูก ซึ่งอาจเป็นอาการเจ็บข้างในคอ (คือ รู้สึกเจ็บลึกๆ อยู่ข้างใน) หรืออาจเป็นอาการเจ็บแบบข้างนอกคอ (คือ รู้สึกเจ็บเวลาเอามือไปจับไปกด แต่บางครั้งเวลาเอามือไปจับ ไปกด หรือไปบีบนวดแล้ว อาการกลับดีขึ้น)

อาการเจ็บในกล้ามเนื้อ ในข้อหรือในกระดูกนี้ มักจะมีอาการมากขึ้นเวลาเอี้ยวคอไปอยู่ในท่าหนึ่ง และมักจะมีอาการน้อยลงเมื่อเอี้ยวคอไปอยู่ในอีกท่าหนึ่ง คือไม่มีท่าที่สบายที่สุด และท่าที่ไม่สบายที่สุดได้

1.6 เจ็บร้าวมาจากที่อื่น เช่น อาการปวดศีรษะแล้วร้าวมาที่คอ อาการเจ็บอกแล้วร้าวมาที่คอ (หัวข้อ1.3) อาการปวดหูแล้วร้าวมาที่คอ เป็นต้น

2. ถ้าเจ็บข้างนอกคอ เช่น เจ็บที่ผิวหนัง อาจเป็นผื่นแดง ตุ่ม ตุ่ม พอง ฝี หรืออื่นๆ บริเวณผิวหนัง หรือเป็น “ลูกหนู” คือ เป็นก้อนที่คลำได้ใต้ผิวหนัง ซึ่งมักจะเป็นต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้น ซึ่งอาจจะเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้

หรือเป็นอาการเจ็บในกล้ามเนื้อในข้อหรือในกระดูก (หัวข้อ 1.5) หรือร้าวมาจากที่อื่น (ในหัวข้อ 1.6)

เมื่อคนไข้มาหาหมอด้วยอาการเจ็บคอ-ปวดคอ ให้ตรวจรักษาคนไข้ตามขั้นตอน ดังนี้

1. ให้แยกว่าคนไข้นั้นฉุกเฉินหรือมีอาการหนักหรือไม่ (ลักษณะของคนไข้ฉุกเฉิน หรือมีอาหารหนักให้ดูในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 64) คนไข้ที่ฉุกเฉินหรืออาการหนักนั้น ต้องรีบให้การปฐมพยาบาล จนคนไข้พอจะเคลื่อนย้ายได้แล้ว รีบเคลื่อนย้ายคนไข้ไปโรงพยาบาลทันที

2. สำหรับคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉินและไม่เจ็บหนัก ให้แยกว่าคนไข้เจ็บคอ-ปวดคอ ที่ส่วนไหนแล้วให้การตรวจรักษาตามนั้น (ดูแผนภูมิที่1)

ข้อมูลสื่อ

84-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 84
เมษายน 2529
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์