• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 41

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 41

 ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80 ) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้” 

     

 

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 41
การตรวจตามระบบ
การตรวจท้อง
การตรวจท้องก็เช่นเดียวกันกับการตรวจระบบอื่นๆ ซึ่งอาจตรวจได้ด้วยการดู- คลำ- เคาะ- ฟัง เช่นเดียวกัน
โดยทั่วไป มักจะแบ่งท้องออกเป็น
1.ส่วนหน้า  
หรือ     หน้าท้อง
2.ส่วนหลัง 
  หรือ     หลังบริเวณเอว และ กระเบนเหน็บ
3.ส่วนข้าง 
   หรือ     สีข้างส่วนเอว

 

ท้องส่วนหน้า
ส่วนหน้า หรือ หน้าท้องมักแบ่งออกเป็น 9 ส่วน (ดูรูปที่ 1 ) โดย
ก. เส้นดิ่ง 2 เส้น ( เส้นที่ 1 และ 2 ในรูป) ซึ่งเป็นเส้นที่อยู่ตรงกลางระหว่างปุ่มกระดูกที่ปีกเชิงกรานหน้า( anterior superior iliac spine ) กับเส้นกลางตัวแนวดิ่ง( เส้น----ตรงกลางที่ผ่านสะดือในรูป) หรืออาจจะเรียกว่า เส้นใกล้กลาง ( paracentral line )โดยเส้นนี้จะอยู่ประมาณขอบนอกขอบนอกของกล้ามเนื้อกลางหน้าท้อง ( rectus abdominis muscles )

ข. เส้นขวาง 2 เส้น ( เส้นที่ 1 และ 2 ในรูป) ซึ่งเส้นบน ( เส้นที่ 1 ) คือเส้นในแนวขวางที่ผ่านจุดต่ำสุดของชายโครงทั้ง 2 ข้าง เส้นชายโครง ( subcostal plane ) ส่วนเส้นข้าง ( เส้นที่ 2 ) คือ เส้นในแนวขวางที่ผ่านปุ่มกระดูกเชิงกราน ด้านหน้า ( anterior superior iliac spine ) ซึ่งอาจเรียก่า เส้นปุ่มกระดูก ( transtubercular plane )ในบางแห่ง เส้นบน ( เส้นชายโครง ) อาจเปลี่ยนใช้เป็นเส้นกลางตัวแนวนอน ( transpyloric plane ) ซึ่งจะตัดผ่านกลางตัวระหว่างรอยบุ๋มเหนือกระดูกกลางหน้าอก( gular notch หรือ sternal notch) กับกระดูกหัวหน่าว ( symphysis pubis ) ซึ่งเส้นนี้จะผ่านส่วนปลายของกระเพาะอาหาร ( pylorus ) ลำไส้เล็กส่วนต้น ( first past of duodenum )ตับอ่อน ( pancreas )ขั้วไต (hilum of kidney ) ซ้ายซึ่งอยู่สูงกว่าระดับเส้นเล็กน้อยกับขั้วไตขวา ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับเส้นเล็กน้อย

   

ถ้าใช้เส้นกลางตัวแบ่งส่วนของหน้าท้อง หน้าท้องส่วนที่ 1 และที่ 3 ( hypogastic regions )จะลอยขึ้นมาอยู่บนผนังหน้าอกส่วนล่าง
จึงขอใช้เส้นชายโครงแทนการใช้เส้นกลางตัวแนวนอนในการแบ่งส่วนหน้าท้อง
โดยเส้นดิ่ง 2 เส้น และเส้นขวาง 2 เส้น เหล่านี้หน้าท้องจะถูกแบ่งออกเป็น 9 ส่วน โดยต่ละส่วนจะมีอวัยวะสำคัญๆ (ดูรูปที่ 2 ) คือ
 

ส่วนที่ 1 หรือจะเรียกว่า ส่วนใต้ชายโครงขวา ( right hypochondriac region )
อวัยวะนี้มีความสำคัญคือ ตับ ( ชึ่งรวมถึงถุงน้ำดี และท่อน้ำดี ) ความเจ็บปวดในบริเวณใต้ชายโครงขวา จึงทำให้นึกถึง โรคตับอักเสบ โรคฝีในตับ โรคนิ่วในถุงหรือท่อน้ำดี โรคถุงน้ำดีอักเสบ เป็นต้น
แต่การอักเสบของอวัยวะที่อย่าใกล้เคียงกับส่วนนี้ เช่น โรคกระเพาะอาหารและลำไส้ โดยเฉพาะลำไส้เล็กส่วนต้น และลำไส้ใหญ่ด้านขวา ซึ่งรวมถึงไส้ติ่ง ( ไส้ตัน ) ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดร้าวมาที่ส่วนนี้ได้

นอกจากนั้น ความเจ็บปวดในอวัยวอื่นที่ไม่ได้อยู่ในชิ่งท้อง ก้อาจจะทำให้เกิดความเจ็บปวดในส่วนนี้ได้ เช่น โรคปอดขวาส่วนล่างอักเสบ โรคเยื่อหุ้มปอดขวาอักเสบ เป็นต้น แม้ว่าส่วนหนึ่งของไตขวาจะอยู่ในส่วนนี้ แต่ไตเป็นอวัยวะที่อยู่ด้านหลังและอยู่นอกช่องท้อง ( extraperitinealorgan ) ความเจ็บปวดที่ไตจึงไม่ค่อยจะทำให้เกิดความเจ็บปวดในบริเวณหน้าท้อง แต่อาจร้าวลงมาปวดที่บั้นเอว และที่ท้องน้อยตรงกระเพาะปัสสาวะได้

 

 ส่วนที่ 2 หรือจะเรียกว่า ส่วนลิ้นปี่ หรือส่วนยอดอก ( epigastric region )
ส่วนนี้มีอวัยวะที่สำคัญคือ ตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้ส่วนต้น ( duodenum ) และบางส่วนของตับอ่อน
( pancreas ) ความเจ็บปวดในส่วนนี้ จึงทำให้นึกถึง โรคของตับต่างๆดังที่กล่าวไว้ในส่วนที่ 1 แต่เนื่องจากตับส่วนใหญ่อยู่ใต้ชายโครงขวา ความเจ็บปวดที่เกิดจากตับจึงมักจะเจ็บปวดที่ส่วนใต้ชายโครงขวามากกว่าที่ส่วนยอดอกนี้ ความเจ็บปวดในส่วนนี้ส่วนเดียวจึงทำให้นึกถึงโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้นอักเสบ หรือเป็นแผล โรคตับอ่อนอักเสบเป็นต้น

แต่ความเจ็บปวดของอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงกับส่วนนี้ เช่น ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดร้าวมาที่ส่วนนี้ได้ นอกจากนั้น ความเจ็บปวดในอวัยวะอื่นที่ไม่ได้อยู่ในช่องท้องก็อาจจะทำให้เกิดความเจ็บปวดในส่วนนี้ได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจะทำให้เกิดอาการจุกแน่นหรือเสียดในส่วนลิ้นปี่หรือส่วนยอดอกนี้ได้เช่นเดียวกัน
แม้ว่าส่วนหนึ่งของไตซ้ายและขวาจะอยู่ในส่วนนี้ แต่ไตเป็นอวัยวะที่อยู่ด้านหลัง และอยู่นอกช่องท้องความเจ็บปวดที่ไตจึงไม่ค่อยทำให้เกิดอาการเจ็บปวดส่วนลิ้นปี่หรือส่วนยอดอกนี้
 

ส่วนที่ 3 หรือเรียกว่า ส่วนใต้ชายโครงซ้าย ( left hypochondriac region )
ส่วนนี้มีอวัยวะที่สำคัญคือ กระเพาะอาหาร ม้าม และลำไส้ใหญ่ส่วนบนมุมซ้าย ความเจ็บปวดในส่วนนี้ จึงทำให้นึกถึงโรคกระเพาะอาหาร ม้าม ลำไส้ใหญ่ส่วนบนมุมซ้ายแต่ความเจ็บปวดของอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงกับส่วนนี้ เช่น ลำไส้เล็ก ก็ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดร้าวมาที่ส่วนนี้ได้

นอกจากนั้น ความเจ็บปวดในอวัยวะอื่นที่ไม่ได้อยู่ในช่องท้องก็อาจจะทำให้เกิดความเจ็บปวดในส่วนนี้ได้ เช่น โรคปอดซ้ายส่วนล่างอักเสบ โรคเยื่อหุ้มปอดซ้ายอักเสบ เป็นต้น แม้ว่าส่วนหนึ่งของไตซ้ายจะอยู่ในส่วนนี้ แต่ไตเป็นอวัยวะที่อยู่ด้านหลังและอยู่นอกช่องท้อง ความเจ็บปวดที่ได้จึงไม่ค่อยทำให้เกิดอาการเจ็บปวดที่ใต้ชายโครงซ้าย
 

ส่วนที่ 4 หรือเรียกว่า ส่วนเอวขวา ( right lumbar region )
ส่วนนี้มีอวัยวะที่สำคัญคือ ลำไส้ใหญ่ขวา และลำไส้เล็ก ความเจ็บปวดในส่วนนี้จึงทำให้จึงทำให้นึกถึงโรคลำไส้ใหญ่ขวา และลำไส้เล็ก แต่ความเจ็บปวดของอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงกับส่วนนี้ เช่น ไส้ติ่ง ตับ ถุงน้ำดี รังไข่ และปีมดลูกขวา ก็อาจจะปวดร้าวมาที่ส่วนนี้ได้
นอกจากนั้น ความเจ็บปวดในอวัยวะอื่นเช่น ไตขวา ตับอ่อน ก็อาจจะทำให้เกิดอาการปวดร้าวมาที่ส่วนนี้ได้ ความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อด้านข้างของผนังท้อง เพราะออกกำลังหน้าท้องมากเกินไป ไอหรือจามมากเกินไป หัวเราะมากเกินไป กระดูกหลังกดทับเส้นประสาท หัวเราะมากเกินไป


ส่วนที่ 5 หรือจะเรียกว่า ส่วนสะดือ ( umbilical region )
ส่วนนี้มีอวัยวะที่สำคัญคือ ลำไส้ใหญ่ส่วนกลางและลำไส้เล็ก ความเจ็บปวดในส่วนนี้ จึงทำให้นึกถึง โรคของลำไส้ใหญ่ส่วนกลางและลำไส้เล็ก แต่ความเจ็บปวดของอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงกับส่วนนี้ เช่น ความเจ็บปวดของอวัยวะอื่นๆ ในช่องท้องทั้งหมด อาจจะปวดร้าวมาที่ส่วนนี้ได้จนในบางครั้ง แม้ว่าอวัยวะนั้นจะอยู่ในส่วนอื่น แต่อาการเจ็บปวดอาจจะเริ่มรู้สึกที่ส่วนสะดือนี้ก็ได้ เช่น อาการของไส้ติ่งอักเสบอาจจะเริ่มรู้สึกที่สะดือนี้

ในบางคนโดยเฉพาะในเด็กอาการเจ็บปวดในช่องท้องทั้งหมดอาจจะรู้สึกว่าปวดในบริเวณสะดือนี้ ดังนั้นถ้าถามคนไข้เหล่านั้นว่า เจ็บตรงท้องส่วนไหน ให้ชี้ให้ดู เขาจะชี้ไปตรงที่สะดือทุกครั้ง ในกรณีเช่นนี้จะรู้ว่าคนไข้เจ็บที่ท้องส่วนไหนแน่ ก็โดยการคลำและกดดูเบาๆในส่วนท้องต่างๆส่วนไหนที่กดเจ็บที่สุดมักจะแสดงว่าความผิดปกติอยู่ที่ส่วนนั้น

  

ส่วนที่ 6 หรือเรียกว่า ส่วนเอวซ้าย ( left lumbar region )
ส่วนนี้มีอวัยวะที่สำคัญคือ ลำไส้ใหญ่ซ้าย และลำไส้เล็ก ความเจ็บปวดในส่วนนี้จึงทำให้จึงทำให้นึกถึงโรคลำไส้ใหญ่ซ้าย และลำไส้เล็ก แต่ความเจ็บปวดของอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงกับส่วนนี้ เช่น กระเพาะ อาหาร ม้าม รังไข่ และปีกมดลูกซ้ายก็จะปวดร้าวมาที่ส่วนนี้ได้ ม้ามหรือรังไข่ที่โตมากๆก็อาจจะย้อยลงมาหรือลอยขึ้นมาอยู่ในส่วนนี้ได้

นอกจากนี้ความเจ็บปวดในอวัยวะอื่นๆ เช่น ไตซ้าย ตับอ่อน ก็อาจจะทำให้เกิดอาการปวดร้าวมาที่ส่วนนี้ได้ ความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อด้านข้างของผนังท้อง เพราะออกกำลังกายหน้าท้องมากเกินไป ไอหรือจามมากเกินไป กระดูกหลังกดทับเส้นประสาท ก็มักจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดในส่วนนี้ได้

 

ส่วนที่ 7 หรือเรียกว่า ส่วนท้องน้อยขวา ( right iliac region )
ส่วนนี้มีอวัยวะที่สำคัญคือ กระเปาะลำไส้ใหญ่( caecum ) ไส้ติ่ง (appendix ) และลำไส้เล็กส่วนปลาย (terminal ileum ) ความเจ็บปวดในส่วนนี้จึงทำให้จึงทำให้นึกถึงโรคของกระเปาะลำไส้ใหญ่ ไส้ติ่ง และลำไส้เล็กส่วนปลาย
แต่ความเจ็บปวดของอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงกับส่วนนี้ เช่น ลำไส้ใหญ่ขวา ลำไส้เล็ก รังไข่ และปีกมดลูกขวา ก็อาจจะทำให้เกิดอาการปวดร้าวมาที่ส่วนนี้ได้ รังไข่ที่โตมากๆก็อาจจะลอยขึ้นมาอยู่ในส่วนนี้ได้

 
 

ส่วนที่ 8 หรือเรียกว่า ท้องน้อยส่วนกลาง ( suprapubic region )
ส่วนนี้มีอวัยวะที่สำคัญคือ กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ส่วนทวารหนัก และลำไส้เล็ก ความเจ็บปวดในส่วนนี้จึงทำให้จึงทำให้นึกถึง โรคของกระเพาะปัสสาวะ รวมทั้งท่อไตที่มาเปิดเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ส่วนทวารหนัก

แต่ความเจ็บปวดของอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงกับส่วนนี้ เช่น ไส้ติ่ง ปีกมดลูกซ้ายและขวา และมดลูกก็อาจจะทำให้เกิดอาการปวดร้าวมาที่ส่วนนี้ได้ความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อกลางหน้าท้องเพราะออกกำลังกายหน้าท้องมากเกินไป ไอหรือจามมากเกินไป หัวเราะมากเกินไป อวัยวะเพศอักเสบ ก็มักจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดในส่วนนี้ได้

    

ส่วนที่ 9 หรือเรียกว่า ท้องน้อยซ้าย ( left iliac region)
ส่วนนี้มีอวัยวะที่สำคัญคือ ลำไส้ใหญ่ซ้าย และลำไส้เล็ก ความเจ็บปวดในส่วนนี้จึงทำให้จึงทำให้นึกถึง โรคลำไส้ใหญ่ซ้าย และลำไส้เล็ก
แต่ความเจ็บปวดของอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงกับส่วนนี้ เช่น รังไข่ และปีกมดลูกซ้าย ก็อาจจะทำให้เกิดอาการปวดร้าวมาที่ส่วนนี้ได้ รังไข่ที่โตมากๆก็อาจจะลอยขึ้นมาอยู่ในส่วนนี้ได้

   
 

ท้องส่วนหลัง
ส่วนหลัง หรือ หลังบริเวณเอว เริ่มตั้งแต่กระดูกซี่โครงซี่ที่ 12 ( ซี่ที่ต่ำที่สุด ) จนถึงปีกกระดูกเชิงกรานด้านหลัง ความเจ็บปวดในส่วนนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากความปวดเมื่อของกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งเกิดจาการทำงานก้มๆเงยๆ หรือใช้หลังนานมากเกินไป เช่น ไปก้มยกของหนักๆ หรือบิดตัวผิดท่า ทำให้กระดูกหลังหรือหมอนรองกระดูกหลังเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาททำให้เกิดความเจ็บปวดรุนแรงที่หลัง ที่สะโพก และอาจร้าวลงมาปวดที่ขาก็ได้

ความเจ็บปวดในส่วนนี้มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่เกิดจากโรคไตอักเสบรุนแรงจนปัสสาวะเป็นหนอง หรือเป็นนิ่วในไต หรือท่อไต ส่วนโรคไตอื่นๆ ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บหรือปวดหลังในบริเวณเอวหรือกระเบนเหน็บเลย ความเจ็บปวดในส่วนนี้มีน้อยมากเท่านั้นที่เกิดจากโรคตับอ่อนอักเสบ ซึ่งมักจะเกิดในคนที่ดื่มสุราจัดหรือเป็นนิ่วในท่อน้ำดี เป็นต้น
 

ท้องส่วนข้าง
ส่วนข้าง หรือสีข้างส่วนเอวคือส่วนตรงด้านข้างระหว่างส่วนหน้า ( หน้าท้อง ) กับส่วนหลัง ( หลังบริเวณเอว )

ความเจ็บปวดในส่วนนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากความปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อข้างท้อง ซึ่งเกิดจาการทำงานหรือออกกำลังกายมากเกินไป การไอ จาม หรือหัวเราะมากเกินไป กระดูกหลังกดทับเส้นประสาท หรือการระบบของผนังท้องด้านข้างจากสาเหตุอื่น

นอกจากนั้น ในบางครั้ง คนที่เป็นนิ่วในท่อไต หรือไตอักเสบรุนแรงจนปัสสาวะเป็นหนอง อาจจะมีอาการปวดร้าวลงมาในส่วนนี้ได้.
 

( อ่านต่อฉบับหน้า )

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

47-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 47
มีนาคม 2526
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์