• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 38

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 38

 “ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80 ) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้” 

    

 

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 38
การตรวจตามระบบ
การตรวจทรวงอก (ต่อ)
การตรวจทรวงอกด้วยการฟังนอกจากจะใช้ฟังเสียงที่เกิดจากการหายใจแล้ว ยังใช้ฟังเสียงที่เกิดจากหัวใจเต้นได้ด้วย
เสียงที่เกิดจากหัวใจเต้น อาจจะแบ่งออกเป็น
ก.เสียงหัวใจ (heart sounds)
ข.เสียงฟู่ (heart murmurs)
ค.เสียงอื่น ๆ

  

ก.เสียงหัวใจ:
เสียงหัวใจที่ได้ยินชัด จะได้ยินในบริเวณทรวงอกด้านหน้าตรงตำแหนงหัวใจ (ดูรูปที่ 1) แต่อาจจะแบ่งบริเวณทรวงอกด้านหน้าของหัวใจเป็น 4 ส่วนตามตำแหน่งที่จะได้ยินเสียงผิดปกติของลิ้นหัวใจทั้ง 4 ได้ (ดูรูปที่1)เสียงหัวใจที่ได้ยินชัดใจทุกตำแหน่ง คือ เสียงหนึ่งและเสียงสอง
 

เสียงหนึ่ง (first heart sound)
คือเสียงที่ได้ยินพร้อมกับการเต้นของหัวใจ (ห้องล่าง) ดังนั้น เสียงหนึ่งคือ เสียงที่ได้ยินพร้อมกับการเต้นของหัวใจที่เห็นได้ในบริเวณหน้าอก โดยเฉพาที่ยอดหัวใจ(ดูรูปที่ 1) และพร้อมกับการเต้นของชีพจรที่คลำได้ที่คอ (การคลำชีพจรที่ข้อมือ ซึ่งมาช้ากว่าชีพจรที่คอมาก อาจจะทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเสียงสองเป็นเสียงหนึ่งได้)
 

เสียงสอง(second heart sound)
คือ เสียงที่ได้ยินขณะที่หัวใจ (ห้องล่าง) ไม่เต้น จึงฟังได้ในขณะที่ไม่เห็นการเต้นของหัวใจ และในขณะที่คลำชีพจรไม่ได้ (หรือช่วงระหว่างชีพจรเต้น)
เสียงหนี่ง มักจะทุ้มกว่า เบากว่า และยาว (นาน) กว่าเสียงสองในคนที่หัวใจเต้นไม่เร็วนัก เราจะได้ยินเสียงหนึ่งและเสียงสองติดต่อกันเป็นคู่ ๆ (ดูรูปที่ 2)
ในคนที่หัวใจเต้นเร็วมาก เสียงหนึ่งและเสียงสองที่ได้ยินจะไม่แยกกันเป็นคู่ ๆ ทำให้บางครั้งฟังไม่ออกว่าเสียงไหนเป็นเสียงหนึ่ง เสียงไหนเป็นเสียงสอง ต้องใช้การจับชีพจรหรือการเห็นการเต้นของหัวใจที่ผนังหน้าอก จึงจะแยกเสียงหนึ่งและเสียงสองได้
ในคนที่ผนังหน้าอกบาง ๆ เช่นในเด็ก ในคนที่ผอมบาง อาจจะได้ยินเสียงสามและในบางกรณีอาจจะได้ยินเสียงสี่ด้วย

  

เสียงสาม (third heart sound)
คือ เสียงที่เกิดตามหลังเสียงสอง เป็นเสียงที่เบากว่าเสียงหนึ่งและเสียงสอง (ดูรูปที่ 3) ฟังยากจะฟังได้ดีขึ้นเมื่อใช้ส่วนกรวยรับเสียง (bell piece) ของเครื่องฟัง แตะเบาๆ ในบริเวณยอดหัวใจ (apex) หรือหน้าหัวใจ (precordium) ในท่านอนหงาย

  
 

เสียงสี่ (fourth heart sound)
คือ เสียงที่เกิดตามหลังเสียงสาม โดยทั่วไปจะได้ยินติดกับเสียงหนึ่ง ทำให้ได้ยินคล้ายเสียงหนึ่งแตกเป็นเสียงสองเสียง (ดูรูปที่ 4) แต่แยกจากเสียงหนึ่งแตกเป็นสองเสียงได้เพราะ เสียงสี่เป็นเสียงละเอียด (เสียงที่มีความถี่สูง) จึงฟังชัดด้วยกรวยรับเสียง
แต่เสียงหนึ่งแตกเป็นสองเสียงเป็นเสียงที่หยาบกว่า จึงฟังชัดด้วยตลับรับเสียง และเสียงหนึ่งที่แตกเป็นสองเสียง มักจะมีความดังของทั้งสองเสียงใกล้เคียงกัน (ดูรูปที่ 4)

ส่วนเสียงสี่นั้น ค่อยกว่าเสียงหนึ่งมาก สองเสียงที่ได้ยินจึงเป็นเสียงค่อยกับเสียงดัง
เสียงหนึ่งที่ได้ยินเป็นสองเสียงนอกจากจะเป็น เสียงสี่ กับเสียงหนึ่ง และเสียงหนึ่งที่แตกเป็นสองเสียงแล้ว ยังอาจเกิดจากเสียงหนึ่งกับเสียงสะบัดพุ่ง (ejection sound) ซึ่งจะฟังได้คล้ายกับเสียงหนึ่งที่แตกเป็นสอง แต่เสียงหลัง (เสียงที่สอง) จะมีลักษณะคล้ายเสียงกลั้วคอ (เสียงกล้ำ)
ซึ่งอาจจะเกิดเป็นหลาย ๆ เสียงแทนที่จะเป็นสองเสียงก็ได้ (ดูรูปที่ 4)

ในคนที่ผนังหน้าอกหนา และมีอายุตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป การได้ยินเสียงสามและเสียงสี่ อาจจะแสดงถึงความผิดปกติของหัวใจได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะตรวจพบว่าหัวใจโตด้วย (วิธีตรวจว่าหัวใจโตหรือไม่ ให้ดูใน หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 40 ประจำเดือนสิงหาคม 2525 หน้า 77-78)

  

เสียงหนึ่ง เกิดในขณะที่หัวใจเต้น (หัวใจห้องล่างบีบตัว) ลิ้นหัวใจที่ 1 และ 3 กระแทกปิดและลิ้นหัวใจที่ 2 และ 4 เปิด ให้เลือดพุ่งออกไปปอดและไปเลี้ยงร่างกาย (ดูรูปที่ 5)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


เสียงสอง เกิดในขณะที่หัวใจไม่เต้น (หัวใจห้องล่างคลายตัว) ลิ้นหัวใจที่ 2 และ 4 กระแทกปิด และลิ้นหัวใจที่ 1 และ 3 เปิดให้เลือดไหลจากหัวใจห้องบนสู่ห้องล่าง (ดูรูปที่ 6)

เสียงสาม เกิดใจขณะที่เลือดไหลจากหัวใจห้องบนสู่ห้องล่าง และปะทะกับผนังของหัวใจห้องล่าง
(ดูรูปที่ 7) ถ้าหัวใจห้องล่างหนา (หัวใจหัองล่างโต หรือหัวใจโต) หรือแข็ง หัวใจห้องล่างจะขยายตัวออกรับเลือดที่พุ่งเข้ามาไม่ได้ดี ทำให้เสียงสามดังขึ้น ในบางกรณีเช่น คนไข้มีอาการเหนื่อยหอบหรือบวม เสียงสามที่ดังชัด จึงแสดงถึงภาวะหัวใจล้ม (ภาวะที่หัวใจห้องล่างทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือทำงานไม่ไหว)


เสียงสี่ เกิดในขณะที่เลือดไหลจากห้องบนสู่ห้องล่างในช่วงสุดท้ายซึ่งเกิดจากหัวใจห้องบนบีบตัวเต็มที่เพื่อไล่เลือดเข้าสู่หัวใจล่าง (ดูรูปที่ 8)

ถ้าหัวใจห้องล่างหนาหรือแข็ง เสียงสี่ก็จะได้ยินดังขึ้น การได้ยินเสียงสี่ในคนที่ผนังหน้าอกหนา หรือในคนที่มีอายุตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป ทำให้คิดว่าหัวใจห้องล่างผิดปกติ (หนาหรือแข็ง) จากโรคหัวใจต่างๆ โดยเฉพาะ โรคหัวใจจากความดันเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น
ตำแหน่งที่ฟังเสียงสองได้ดีคือ ตำแหน่งที่ 2 และ 4 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้ยินเสียงลิ้นหัวใจที่ 2 และ 4 กระแทกปิดได้ชัดที่สุด หรือตำแหน่งขั้วหัวใจ (base of heart)
ตำแหน่งที่ฟังเสียงหนึ่ง เสียงสาม และสี่ ได้ดี คือตำแหน่งที่ 1 และ 3 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้ยินเสียงลิ้นหัวใจที่ 1 และ 3 กระแทกปิดและได้ยินเสียงปะทะของเลือดกับผนังหัวใจห้องล่างได้ดี
 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

ข้อมูลสื่อ

44-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 44
ธันวาคม 2525
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์