• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 35

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 35

 “ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80 ) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้” 

    

 

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 35
การตรวจตามระบบ
การตรวจทรวงอก (ต่อ)
นอกจาการตรวจทรวงอกด้วยการคลำดังที่ได้กล่าวไว้ในฉบับก่อนแล้ว การคลำโดยการกดเบา ๆในส่วนต่าง ๆ เพื่อดูว่ามีจุดกดเจ็บตรงที่ใดบ้าง จะช่วยในการวินิจฉัยโรคหรือภาวะบางอย่าง เช่น

     

ก.คนไข้ที่มีอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งมักจะทำให้คนไข้หรือญาติตกอกตกใจคิดว่าเป็นโรคหัวใจ แต่ถ้าซักประวัติดี ๆ จะพบว่าอาการเจ็บหน้าอกนี้ จะเป็นมาขึ้นเวลาหายใจแรง ๆ เวลาไอ จามหรือบิวตัว(เอี้ยวตัว) ไปทางหนึ่งทางใด
เมื่อตรวจโดยการคลำและกดเบา ๆ ลงตรงส่วนที่คนไข้บ่นว่ามีอาการเจ็บ มักจะพบจุดกดเจ็บในบริเวณนั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็น บริเวณกระดูกซี่โครงด้านหน้าต่อกับกระดูกกลางหน้าอก (costo-sternal junction) หรือห่างออกมา โดยอยู่ในบริเวณรอยต่อของกระดูกซี่โครงแข็งกับกระดูกซี่โครงอ่อน (costo-chondral junction) ดังใน(รูปที่ 1)

เมื่อได้ประวัติ และการตรวจพบเช่นนี้ ก็ทำให้แน่ใจได้ว่า อาการเจ็บหน้าอกนั้น เกิดจากจากอักเสบที่ผนังอก ไม่ใช่ที่หัวใจหรือปอด ส่วนใหญ่การอักเสบที่ผนังอก แบบที่ไม่เป็นตุ่มเป็นฝีและกดเจ็บบริเวณกระดูกซี่โครงนี้มักเป็นการอักเสบที่ข้อต่อของกระดูก แบบที่เรียกกันว่า ข้อเคล็ดหรือข้อแพลง ซึ่งเกิดจากการออกกำลัง เช่นยกของ ผลักของ เล่นกีฬา โดยเฉพาะถ้าไม่ค่อยได้ออกกำลังแบบนั้นมานาน เมื่อไปออกกำลังแบบนั้น

มาก ๆ ทันที จะมีอาการปวดยอกบริเวณข้อต่อและบริเวณกระดูก เอ็นหรือกล้ามเนื้อได้
อาการเจ็บหน้าอกแบบนี้เมื่อพัก (หยุดกระทำในสิ่งที่ทำให้หน้าอกเจ็บมากขึ้น) สัก 3-7 วัน แล้วอาการมักจะดีขึ้นเอง อาจใช้น้ำมันระกำ ยาหม่อง หรือน้ำร้อนประคบ ก็จะช่วยให้หายเร็วขึ้น
ถ้าเจ็บมาก อาจใช้ยาลดไข้แก้ปวด เช่น แอสไพริน หรือพาราเซตามอล กินเป็นครั้งคราวครั้งละ
1-2 เม็ดเวลาเจ็บมาก ถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเช่น ไดอะซีแพม ครั้งละครึ่ง-1 เม็ดร่วมกับยาแก้ปวด ก็จะช่วยให้ดีขึ้นได้

ข.คนไข้ที่มีอาการซีดหรือผอมลงอย่างรวดเร็ว ถ้าคลำโดยการกดเบา ๆ ในบริเวณทรวงอกแล้วพบจุดกดเจ็บที่กระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งอย่างชัดเจน หรือพบว่ากระดูกส่วนนั้น(จุดนั้น) อ่อนหรือพอง และเจ็บกว่าส่วนอื่น(จุดอื่น) อาจทำให้นึกถึงโรคเลือดชนิดร้ายแรง หรือโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมาสู่กระดูกบริเวณทรวงอกได้
นอกจากการตรวจทรวงอกด้วยการคลำเพื่อดูสภาพของอวัยวะภายในของทรวงอกแล้ว การตรวจทรวงอกด้วยการเคาะเพื่อดูสภาพของอวัยวะภายในโดยเฉพาะปอดและหัวใจ ก็อาจทำได้เช่น

   

4.1 ปอด : การเคาะปอดอาจจะทำให้รู้ถึงสภาพของปอดได้โดยวิธีการ เช่น
1. เคาะด้วยนิ้วมือ ที่ใช้มากที่สุด คือการเคาะโดยวางนิ้วกลางข้างซ้าย(สำหรับคนที่ถนัดขวา คนที่ถนัดซ้ายใช้มือตรงกันข้าม) ลงในช่องซี่โครงแล้วเคาะด้วยนิ้วกลาง (หรือนิ้วชี้) ของมืออีกข้างหนึ่ง
(ดูรูปที่ 2)
เมื่อเคาะบริเวณของปอดที่ไม่ถูกบดด้วยกระดูกสะบัก หัวใจ และตับ จะได้เป็นเสียงโปร่ง ๆ และไม่มีแรงต้านมากนัก ไม่ว่าจะเคาะที่ด้านหน้า ด้านหลัง หรือด้านข้างของทรวงอก
เสียงโปร่งที่เคาะได้เป็นอย่างไรให้ลองเคาะกับหน้าอกของตนเองหรือของญาติพี่น้องที่ปกติ จนสามารถรู้สึกได้ว่า เสียงโปร่งแบบใดปกติ

ถ้าเสียงโปร่งนั้นดังเกินไป คล้ายเสียงตีกลอง จะแสดงว่ามีลมอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือปอดโป่งพองจากลมมาก เช่น ในโรคหืด โรคหลอมลมอักเสบเรื้อรัง หรือโรคปอดโป่งพอง เป็นต้น
ถ้าเสียงที่เคาะได้เป็นเสียงทึบคือเป็นเสียงแน่น ๆ หรือเป็นเสียงทึบสนิท คือ เกือบไม่มีเสียง จะแสดงว่า มีน้ำ (รวมถึงหนองหรือเลือด)อยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือปอดในบริเวณที่เคาะได้เสียงทึบนั้นบวมแข็ง(ปอดบวม)


การเคาะปอดทางด้านหลัง
ควรจะเคาะในท่านั่ง นั่นคือ ผู้ป่วยนั่งหันหลังให้ผู้ตรวจ ก้มตัวไปข้างหน้าและห่อไหล่เล็กน้อย เพื่อให้กระดูกสะบักทางด้านหลังแยกจากกัน
(ดูรูปที่ 3 ) ผู้ตรวจวางนิ้วกลางซ้ายลงในช่องซี่โครงในแนวตั้งหรือแนวนอนตามช่องซี่โครงก็ได้ แล้วใช้นิ้วกลางขวาเคาะลงบนนิ้วกลางซ้าย (วิธีเคาะได้กล่าวไว้อย่างละเอียดแล้วในฉบับก่อน)


   

การเคาะปอดทางด้านหลัง จะเคาะจากช่องซี่โครงบน เรียงลงมาสู่ด้านล่าง (ดูรูที่ 4) หรือจะเคาะที่ช่องซี่โครงข้างซ้ายทีข้างขวาที ในตำแหน่งที่ตรงกัน (ดูรูปที่ 5) เพื่อเปรียบเทียบความโปร่งความทึบของปอดทั้งสองข้าง ซึ่งควรจะโปร่งเท่ากันถ้าไม่เท่ากัน แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น


การเคาะปอดทางด้านข้าง
มักจะเคาะจากช่องซี่โครงบนลงมาสู่ด้านล่างที่ข้างซ้ายหรือข้างขวาให้เสร็จ แล้วจึงจะไปเคาะอีกข้างหนึ่ง

  

การเคาะปอดทางด้านหน้า
มักจะเคาะในท่าคนไข้นอนหงาย ให้เคาะแบบเดียวกับที่เคาะทางด้านหลัง แต่จะมีแนวทึบทางซ้ายและขวาต่างกันมาก เพราะมีตับทำให้ปอดขวาส่วนล่างทึบ และมีหัวใจทำให้ส่วนในด้านล่างของทรวงอกด้านหน้าทึบ(ดูรูปที่ 6)


การเคาะหาขอบบนของตับ ความทึบที่ทรวงอกขวาด้านหน้าส่วนล่าง(ดูรูปที่ 6) จะมีแนวทึบไปตามช่องซี่โครง เมื่อเคาะหน้าอกขวาจากช่องซี่โครงบน ๆ (ช่องที่ 1-2) ลงมาเรื่อย ๆ จะได้เสียงโปร่ง
เท่า ๆ กัน (เสียงปอด) จนถึงช่องซี่โครงที่ 4 หรือ 5 จะเริ่มได้เสียงทึบ(dullness) ซึ่งเป็นขอบบนของตับ เมื่อเคาะลงมาถึงช่องซี่โครงที่ 5 หรือ 6 จะได้เสียงทึบสนิท (flatness) นั่นคือ เคาะแล้วเกือบไม่ได้ยินเสียง เพราะเป็นตัวตับจริง ๆ ที่ไม่มีส่วนของปอดเข้ามาเกยบังอยู่ ส่วนขอบบนของตับที่มีปอดมาเกยบังอยู่ เมื่อเคาะจะได้เป็นเสียงทึบ(dullness)

  

สิ่งที่จะต้องระวัง ก็คือ ถ้าเคาะแรง ๆ (ใช้กำลังเคาะมาก) อาจจะทำให้รู้สึกว่าเสียงที่ได้โปร่งขึ้น เช่นเมื่อเคาะถึงช่องซี่โครงที่ 4 หรือ 5 แล้ว แทนที่จะได้เสียงทึบ กลับได้เป็นเสียงโปร่ง หรือเคาะถึงช่องซี่โครงที่ 5 หรือ 6 แล้ว แทนที่จะได้เสียงทึบสนิท กลับได้เป็นเสียงทึบ(ธรรมดา) การเคาะที่ดีที่สุดสำหรับการหาขอบเขตของตับและหัวใจ(ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป) จึงได้แก่ การเคาะที่เบาที่สุด มีเพียงพอจะทำให้เกิดเสียงและความต้านทานที่รู้สึกได้และแยกได้ว่าเป็น เสียงโปร่ง เสียงทึบ หรือเสียงทึบสนิท เท่านั้น


การเคาะหาขอบซ้ายของหัวใจ
เนื่องจากหัวใจมีรูปลักษณะต่างจากตับ (ดูรูปที่6) และไม่มีขนาดใหญ่พอที่จะแผ่เต็มทรวงอกข้างใดข้างหนึ่งเหมือนตับ การเคาะจากด้านข้างเข้ามาหากระดูกลางหน้าอก
เนื่องจากหัวใจอยู่ในบริเวณช่องซี่โครงที่ 3-5 และเอียงไปอยู่ในทรวงอกด้านซ้าย จึงมักจะเคาะหาขอบซ้ายของหัวใจเท่านั้น เพราะขอบขวาของหัวใจปกติจะอยู่ใต้กระดูกกลางหน้าอกซึ่งไม่สามารถเคาะหาขอบขวาของหัวใจได้ นอกจากในรายที่หัวใจซีกขวาโตมาก ๆ จนโผล่พ้นกระดูกกลางหน้าอกเข้ามาทางทรวงอกข้างขวา จึงจะเคาะหาขอบขวาของหัวใจได้ (ดูรูปที่ 6)

การเคาะหาขอบซ้าย (หรือขวา)ของหัวใจ ให้เคาะในช่องซี่โครงที่ 3-5โดยเคาะจากด้านข้าง (ใต้รักแร้) เข้ามาหากระดูกกลางหน้าอกในช่องซี่โครงแต่ละช่อง ในคนปกติ(ที่หัวใจไม่โต) จะเคาะได้เสียงโปร่งเท่า ๆกัน (เสียงปอด) จนเลยเส้นผ่านกลางกระดูกไหปลาร้า (mid-clavicular line) หรือหัวนม(nipple) เข้ามาข้างใน(เข้ามายังกระดูกกลางหน้าอก) จะมีจุดหนึ่งซึ่งเสียงโปร่งจะเริ่มกลายเป็นเสียงทึบ(dullness) ซึ่งเป็นขอบนอกของหัวใจที่ยังมีส่วนของปอดมาเกยบังอยู่ เมื่อเคาะเลยเข้ามาทางด้านในอีกประมาณ 2-3 เซ็นติเมตร หรือ 1 นิ้วฟุต จะได้เป็นเสียงทึบสนิท(flatness) ซึ่งเป็นส่วนของหัวใจโดยตรงที่ไม่มีส่วนของปอดมาเกยบังอยู่

ในคนปกติ ขอบซ้ายของหัวใจจะอยู่ในต่อเส้นผ่านกลางกระดูกไหปลาร้า(ไม่เลยเส้นผ่านกลางกระดูกไหปลาร้าออกไป) และขอบซ้ายสุดของหัวใจจะอยู่ตรงกับจุดที่หัวใจเต้นหรือยอดหัวใจพอดี ส่วนขอบขวาของหัวใจจะเคาะไม่พบเพราะอยู่ใต้กระดูกกลางหน้าอก
ดังนั้น ถ้าเคาะหาขอบขวาของหัวใจโผล่พ้นกระดูกกลางหน้าอกออกมา (ทางขวา) ก็แสดงว่าหัวใจซีกขวาโตซึ่งมักจะร่วมกับการคลำการเต้นของหัวใจในบริเวณหน้าหัวใจได้(ปกติการเต้นของหัวใจจะคลำได้ที่บริเวณยอดหัวใจเท่านั้น ดูหมอชาวบ้านฉบับก่อน)
ถ้าเคาะพบขอบซ้ายของหัวใจอยู่เลยผ่านเส้นผ่านกลางกระดูกไหปลาร้า(หัวนม) ออกไปทางด้านข้าง (ด้านใต้รักแร้) ก็แสดงว่าหัวใจซีกซ้ายโต ซึ่งมักจะร่วมกับการคลำพบว่ายอดหัวใจเต้นแรงและมีน้ำหนัก (heaving) และอยู่เลยเส้นผ่านกลางกระดูกไหปลาร้าออกไปทางด้านข้าง

ถ้าเคาะพบขอบซ้ายของหัวใจอยู่เลยยอดหัวใจที่คลำได้ออกไปทางด้านข้าง นั่นคือ ขอบซ้ายสุดของหัวใจที่เคาะได้ อยู่ห่างจากยอดหัวใจที่คลำได้ (ดูรูปที่ 6) มักจะแสดงว่า มีน้ำหนอง หรือเลือดในช่องเยื่อหุ้มหัวใจและน้ำหนองหรือเลือดที่มีอยู่เป็นจำนวนมากจนตรวจพบได้เช่นนี้ มักจะบีบอัดหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานไม่ได้เต็มที่ และทำให้คนไข้มีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย และบวมเท้ากับบวมท้องได้
แต่ถ้าเคาะพบขอบซ้ายสุดของหัวใจอยู่ในต่อจุดที่คลำยอดหัวใจเต้นได้ จะแสดงว่า เคาะแรงเกินไปทำให้ได้ขอบซ้ายสุดของหัวใจผิดพลาดจากที่เป็นจริง ให้เคาะด้วยกำลังที่เบาลงแล้วจะเห็นความผิดพลาดได้
 

เสียงทึบในบริเวณทรวงอก
การเคาะทรวงอก ควรเคาะบนผนังอกที่มีลักษณะเนื้อแบบเดียวกันนั่นคือ ถ้าเคาะบนช่องซี่โครง ก็ต้องเคาะบนช่องซี่โครงตลอด หรือถ้าเคาะบนกระดูกซี่โครง ก็ต้องเคาะบนกระดูกซี่โครงตลอด เพื่อจะเปรียบเทียบกับเสียงที่เคาะได้บนกระดูกซี่โครง ก็จะทำให้เข้าใจผิด คิดว่า เสียงที่ต่างกันนั้นเกิดจากสิ่งผิดปกติภายในทรวงอกได้
โดยทั่ว ๆ ไป การเคาะทรวงอกจึงเป็นการเคาะบนช่องซี่โครง เพราะการเคาะบนกระดูกซี่โครงทำให้ได้เสียงและความรู้สึกที่แยกเสียงโปร่ง เสียงทึก และเสียงทึบสนิท จากกันยาก
เสียงทึบในบริเวณทรวงอกทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง นอกจากเสียงทึบที่เกิดจากหัวใจและตับแล้ว มักจะเกิดจากความผิดปกติในปอดหรือในช่อง (โพรง) เยื่อหุ้มปอด
เสียงทึบจากหัวใจ จะเป็นเสียงทึบทางด้านหน้าของทรวงอกเท่านั้นมักจะไม่ทำให้เกิดเสียงเคาะทึบทางทรวงอกซ้ายด้านข้างและด้านหลัง แต่ในกรณีที่หัวใจโตมาก ๆ อาจจะทำให้เกิดเสียงทึบทางด้านข้างได้ ส่วนเสียงทึบทางด้านหลังที่เกิดจากหัวใจจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปอดส่วนล่างด้านหลังถูกหัวใจกดให้แฟบเท่านั้น ซึ่งพบได้น้อยมาก ดังนั้นทรวงอกซ้ายด้านข้างและด้านหลัง จึงต้องเป็นเสียงโปร่งในคนปกติ(ดูรูปที่ 6)

ส่วนเสียงทึบจากตับ จะทึบทั้งด้านหน้าและด้านข้าง เพราะตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่มาก จึงกินอาณาเขตแผ่ไปทั้ง 3 ด้าน (ดูรูปที่ 6)
เสียงทึบในบริเวณทรวงอก นอกจากเสียงทึบจากหัวใจและตับ จึงมักเกิดจากน้ำหนองหรือเลือดในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือเกิดจากปอดบวมแข็ง (ปอดบวม ปอดอักเสบ หรือที่เรียกว่า pneumonia, pneumonitis) หรือเกิดจากปอดแฟบ (atelectasis) แบบที่ไม่มีลมหรือช่องว่างในโพรงเยื่อหุ้มปอด
ในการเคาะ เสียงและความรู้สึกนี้ได้จากการเคาะ เป็นสิ่งที่จะต้องฝึกหัดเอง โดยหัดเคาะบนหน้าอก และหน้าท้องของตนเอง และของญาติพี่น้อง จนสามารถแยกได้ว่า เสียงและความรู้สึกแบบใดแสดงว่าส่วนที่เคาะนั้นโปร่ง(resonance) ทึบ(dulness หรือ dullness) หรือทึบสนิท(flatness)
เมื่อแยกเสียงและความรู้สึกทั้ง 3 ชนิดนั้นได้แล้ว อาจฝึกหัดเพิ่มเติม โดยแยกเสียงโปร่งนั้นออกเป็นเสียงโปร่งชนิดต่าง ๆ เช่น

  

เสียงโปร่งปอด (vesicular resonance) เป็นเสียงโปร่งที่เคาะได้ตั้งแต่บริเวณสามเหลี่ยมเหนือกระดูกไหปลาร้า (Kronig’s isthmus) ลงมาจนถึงช่องซี่โครงที่ 4 หรือ 5 ทางด้านหน้าซ้าย หรือช่องซี่โครงที่ 6 หรือ 7 ทางด้านขวา ยกเว้นตรงกลางที่เป็นส่วนทึบจากหัวใจ (ดูรูปที่ 7 ) ส่วนทางด้านหลัง ก็เคาะได้ตั้งแต่บริเวณ สามเหลี่ยมเหนือกระดูกสะบัก(Kronig’s isthmus) ลงไปจนถึงช่องซี่โครงที่ 10 (ดูรูปที่ 8) เมื่อเคาะในบริเวณดังกล่าวทั้งหมดนี้จะได้เสียงโปร่งปอด ซึ่งเป็นเสียงโปร่งที่เกิดจากเสียงลมในปอด ถ้าปอดส่วนใดอักเสบหรือปอดบวม เสียงโปร่งตรงส่วนนั้นจะกลายเป็นเสียงทึบ

  

เสียงปอดพอง (hyperresonance) เป็นเสียงโปร่งที่เคาะได้ในบริเวณที่เคาะได้เสียงโปร่งปอด แต่เสียงจะมีลักษณะโปร่งกว่า ฝึกหัดฟังและรู้สึกเสียงนี้ได้โดยให้หายใจเข้าเต็มที่แล้วกลั้นหายใจไว้ แล้วเคาะเปรียบเทียบกับเสียงโปร่งปอดที่เกิดจากการหายใจเข้าออกตามปกติ ถ้ายังแยกไม่ได้ให้เปรียบเทียบ เสียงโปร่งปอดที่เกิดจากการหายใจเข้าจนสุดกับที่เกิดจากการหายใจออกจสุด อาจจะทำให้แยกได้ชัดเจนขึ้น เสียงโปร่งมากที่เคาะได้ในการหายใจตามปกติ (ไม่ได้หายใจเข้าเต็มที่) มักพบในคนที่เป็นโรคปอดโป่งพอง (pulmonaryemphysema) หรือคนที่มีลมอยู่ในช่อง(โพรง) เยื่อหุ้มปอด (pneumothorax)


เสียงโปร่งท้อง (tympanitic resonance) เป็นเสียงโปร่งที่เคาะได้ในบริเวณสามเหลี่ยมที่ชายโครงซ้าย (Thrube’s semilunar space) และในบริเวณหน้าท้องทั่วไป เป็นเสียงที่เกิดจากลมในกระเพาะลำไส้ ถ้าบริเวณสามเหลี่ยมที่ชายโครงซ้าย (Traube’s semilunar space) มีเสียงทึบเข้ามาแทนที่ มักแสดงว่าม้านโตหรือมีก้อนเช่น มะเร็ง ฝีใต้ชายโครงซ้าย มาแทนที่เสียงโปร่งจากลมในกระเพาะลำไส้


เสียงท้องอืด (hypertympanitic resonance) เป็นเสียงโปร่งท้องที่มากผิดปกติซึ่งเคาะพบได้ในคนที่ท้องอืด (ท้องมีลมมาก) ฝึกหัดฟังเสียงนี้ได้ในคนปกติ โดยให้คนปกตินั้นดื่มน้ำอัด
ลมมาก ๆ จนกระเพาะอาหารพองด้วยลม แล้วเคาะบริเวณท้องใต้ชายโครงซ้ายจะได้ยินและรู้สึกถึงเสียงนี้ได้


เสียงโปร่งกลวง (amphoric resonance) เป็นเสียงโปร่งที่เคาะได้ในบริเวณเสียงโปร่งปอดแต่เกิดในภาวะผิดปกติ อาจจะพบในบางรายที่มีลมในช่อง(โพรง) เยื่อหุ้มปอด (pneumothorax) หรือในบางรายที่มีโพรงอากาศใหญ่ ๆในปอด (pulmonarybulla หรือ cavity) อาจจะฝึกหัดฟังและรู้สึกเสียงนี้ได้ โดยเคาะลงบนแก้มของตนเองที่โป่งพองด้วยลม


เสียงโปร่งฟุด (cracked-pot resonance) เป็นเสียงที่เกิดจากลมถูกดันออกมาจากรูแคบ ๆ อาจลองฝึกหัดฟังดูได้ โดยประกบอุ้งมือเข้าด้วยกัน ให้มีลมอยู่ระหว่างอุ้งมือทั้งสอง แล้วกระแทกอุ้งมือทั้งสองเข้าหากัน จะเกิดเสียงโปร่งและมีเสียงฟุดร่วมด้วย(เสียงฟุดเกิดจากเสียงลมที่ถูกดันออกมาผ่านรู
แคบ
ๆ ) ในคนไข้เสียงนี้มักจะได้ยินชัดเจนขึ้น เมื่อใช้หูฟังจ่อไว้ที่บริเวณปากของคนไข้ที่เปิดอ้าอยู่ แล้วเคาะลงตรงบริเวณปอดที่เป็นโพรง (cavity) อาจจะได้ยินเสียงนี้ได้


เสียงโปร่งกลวง และเสียงโปร่งฟุด พบน้อยมาก จึงฝึกหัดฟังเสียงจริงให้แม่นยำและถูกต้องได้ยาก แต่เสียงโปร่งชนิดอื่น ๆ สามารถที่จะฝึกหัดจนแยกจากกันได้ดี

การเคาะทรวงอก อาจเคาะดูการเคลื่อนไหวของกะบังลมได้ จะเคาะทางด้านหน้า ด้านข้าง หรือด้านหลังก็ได้ โดยเคาะในบริเวณช่องซี่โครงที่ 4-7 ทางด้านหน้า ช่องซี่โครงที่ 6-9 ทางด้านข้าง และช่องซี่โครงที่ 9-11 ทางด้านหลัง ครั้งแรกให้เคาะหาช่องซี่โครงที่เป็นจุดต่อระหว่างเสียงโปร่งกับเสียงทึบในขณะที่คนไข้หายออกตามธรรมดา ต่อมาให้คนไข้หายใจเข้าเต็มที่ แล้วเคาะหาช่องซี่โครงที่เป็นจุดต่อระหว่างเสียงโปร่งกับเสียงทึบอีกครั้ง ในคนปกติช่องซี่โครงที่เสียงเปลี่ยนนี้จะเลื่อนต่ำลงมาประมาณ 2 ช่องในขณะหายใจเข้าเต็มที่ ถ้าช่องซี่โครงที่เสียงเปลี่ยนนี้ไม่เลื่อนต่ำลงเลยหรือเลื่อนต่ำลงน้อยมาก จะแสดงว่ากะบังลมมีการเคลื่อนไหวตามการหายใจน้อยมากซึ่งอาจเกิดจากกะบังลมเป็นอัมพาต คนไข้เป็นโรคปอดโป่งพองมาก ปอดด้านนั้นแฟบมีลม น้ำหนอง หรือเลือดในโพรงเยื่อหุ้มปอดด้านนั้น เยื่อหุ้มปอดอักเสบและเป็นพังผืดในด้านนั้น มีฝีใต้กะบังลมหรืออื่น ๆ

นอกจากการเคาะด้วยนิ้วมือแล้ว การทุบเทา ๆ ด้วยกำปั้นในบริเวณทรวงอก อาจจะทำให้ตรวจพบการอักเสบ ฝี หรือจุดกดเจ็บในส่วนลึก ๆของทรวงอกได้ เช่น
การทุบเบา ๆ บริเวณทรวงอกของด้านล่าง (บริเวณตับ) แล้วคนไข้สะดุ้ง หน้าเบ้ หรือแสดงอาการเจ็บปวด มักจะแสดงว่าตับอักเสบ ตับเป็นฝี (ฝีในตับ) เป็นต้น

การทุบเบา ๆ บริเวณกระดูกสันหลัง (ทรวงอกด้านหลังตรงกลาง) แล้วคนไข้แสดงอาการเจ็บปวด มักจะแสดงว่า กระดูกสันหลังตรงจุดที่ทุบนั้นมีความผิดปกติ เช่น เคลื่อน หัก เป็นฝี เป็นต้น
การเคาะ การทุบบริเวณทรวงอก จึงเป็นการตรวจที่สามารถทำให้ทราบความปกติและผิดปกติของอวัยวะหลายอย่าง โดยเฉพาะปอด หัวใจ และกระดูกได้
 

(อ่านต่อฉบับหน้า)


 

ข้อมูลสื่อ

41-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 41
ตุลาคม 2525
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์