“อะไรเอ่ยตอนเช้า 4 ขา กลางวัน 2 ขา ตอนเย็น 3 ขา” เมื่อครั้งยังเป็นเด็กอยู่ที่ชั้นประถม มีบทเรียนบทหนึ่งกล่าวถึงตัวสฟินซ์ที่มีศีรษะใบหน้าเป็นคนแต่ตัวเป็นสิงห์โตของอียิปต์ในสมัยดึกดำบรรพ์ ก่อนที่จะกลายเป็นหินสามารถพูดภาษามนุษย์ได้ ชอบวางอำนาจบาทใหญ่ที่ปากทางถนน ตั้งคำถามต่อมนุษย์ที่จำเป็นต้องสัญจรไปมาบนถนนเส้นนี้ ถ้าตอบคำถามข้างบนนี้ได้ก็ยอมให้ผ่านไปได้ ปรากฏว่ามีนักปราชญ์ท่านหนึ่งสามารถตอบได้ คำตอบนั้นคือ มนุษย์นั่นเอง ตอนเด็กต้องคลาน 4 ขา โตขึ้นหลัง 1 ขวบเดินหรือวิ่งบนขา 2 ขา และตอนวัยชราตัองหาไม้เท้าช่วยอีกขาหนึ่ง
มีนักวิ่งท่านใดเคยคิดบ้างไหมว่ามนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวบนโลกนี้เท่านั้นที่วิ่งบนขา 2 ขา โดยไม่ต้องเกาะอะไรทั้งสิ้น แม้แต่ลิงชิมแพนซี ยังต้องใช้มือทั้งสองช่วยในการทรงตัวเวลาเดินบนพื้นดิน และไม่สามารถวิ่งเป็นระยะทางไกลและนานเลยทั้งยังต้องยกมือขึ้นอยู่ตลอดเวลาเช่นอย่างมนุษย์ กีฬาที่มนุษย์ทำได้ดีที่สุดจึงเป็นการวิ่ง สิ่งที่ทำให้มนุษย์วิ่งบนสองขาได้ก็คือกล้ามเนื้อของต้นขาและตะโพก และคงไม่มีนักวิ่งผู้ใดที่มีกล้ามเนื้อต้นขาและตะโพกลีบเล็ก หรืออ่อนแอไม่มีแรง แต่สำหรับผู้ที่เริ่มวิ่งนั้น โอกาสที่กล้ามเนื้อต้นขาและตะโพกปวดล้าหรือแพลงนั้นเป็นกันบ่อยมาก จนเป็นที่พออกพอใจของร้านขายยาประเภทต่าง ๆ ที่จะสามารถขายน้ำมันทาถูกล้ามเนื้อ ยาหม่อง หรือ น้ำมันบาล์ม ได้ดีอย่างเทน้ำเทท่าทีเดียว
การบาดเจ็บของต้นขา
ที่พบบ่อยเป็นการฉีกขาดของกล้ามเนื้อด้านหน้าต้นขา นอกจากนี้ยังเป็นที่กล้ามเนื้ออื่นด้านหลังต้นขาและกล้ามเนื้อตะโพก การอักเสบของข้อตะโพกจากการเสื่อมและอาการปวดเส้นประสาทเซียติคที่ทอดผ่านที่กึ่งกลางหลังตะโพกและด้านหลังต้นขาล้วนพบได้บ่อยในนักวิ่งทั้งหลาย นักวิ่งบางท่านที่ชอบวิ่งระยะทาง
ไกลๆ หรือวิ่งแข่งกันด้วยความเร็วมาก ๆ มักจะเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณต้นขา และตะโพกเสมอ โดยถ้าวิ่งด้วยความเร็วสูงเป็นเวลานาน มักจะปวดต้นขาทางด้านหน้าแต่ถ้าวิ่งเป็นระยะทางไกลๆ จะปวดหรือเมื่อยล้าที่กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง และสามารถกดหาจุดเจ็บที่กล้ามเนื้อได้
อาการปวดเมื่อยนี้พบได้บ่อยโดยเฉพาะในคนที่กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรงหรือไม่ได้ทำการอุ่นเครื่องก่อนการวิ่ง เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น แสดงว่ากล้ามเนื้อนั้นทำงานหนักเกินไปเสียแล้ว ควรหยุดพักการวิ่งชั่วคราว ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ แล้วใช้น้ำมันหม่องหรือบาล์มทาถูและบีบนวดบริเวณที่ปวด เมื่อจะเริ่มต้นวิ่งต่อไปควรทำการอุ่นเครื่องและยืดกล้ามเนื้อต้นขาทั้งด้านหน้าและด้านหลังก่อนการวิ่งทุกครั้ง (ท่าการอุ่นเครื่องและยืดกล้าเนื้อ เขียนไว้แล้วในตอนที่ 1 ฉบับเดือนพฤศจิกายน หน้า 42)
ท่ายืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังทำได้ในท่านั่ง โดยนั่งให้ขาซ้ายเหยียดตรง งอขาขวาไว้ โน้มตัวไป
ข้างหน้ามากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยพยายามให้มือขวาแตะปลายเท้าซ้าย (ดังรูปที่ 1) แล้วทำสลับกัน
ในกรณีที่เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แล้วยังฝืนวิ่งต่อไปอีกเป็นเวลานาน จะทำให้กล้ามเนื้อเป็น
ตะคริวเกร็ง และอาจฉีกขาดบางส่วนได้ ซึ่งเราสามารถทดสอบว่าเกิดการฉีกขาดหรือไม่โดยถ้ากล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังฉีกขาด จะไม่สามารถงอข้อเข่าได้เต็มที่ และจะเจ็บปวดมากในขณะเหยียดเข่าออกให้ตรง แต่ถ้างอแล้วเกิดอาการปวดขึ้นแสดงว่ามีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อทางด้านหน้านอกจากนี้กล้ามเนื้อรอบๆ บริเวณที่ฉีกขากนั้นจะเกร็งแข็ง บวมและอาจมีจ้ำเลือดเกิดขึ้น ซึ่งแสดงว่าอันตรายที่ได้รับนั้นรุนแรง เมื่อมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นให้หยุดวิ่งทันที ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรกใช้น้ำแข็งประคบบริเวณที่ปวด และพันด้วยผ้าพันยืดขนาด 4 นิ้ว เพื่อกระชับกล้ามเนื้อต้นขานั้นไว้
(ดังรูป 2)
หลังจาก 48 ชั่วโมง ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ เมื่ออาการปวดลดลงแล้วควรทำการยืดกล้ามเนื้อที่เกร็งนั้นออกโดยการงอและเหยียดเข่า (ถ้าอาการปวดเพิ่มขึ้นให้หยุดทำ) อาจใช้บาล์มหรือน้ำมันหม่องทา และบีบนวดบริเวณที่เกร็ง ควรพักการวิ่งอย่างน้อย 2 วัน หรือจนกว่าอาการปวดและเกร็งลดลงจึงเริ่มต้นวิ่งใหม่ และต้องพันผ้ายืดไว้ทุกครั้งในขณะวิ่ง จนกว่าจะไม่มีอาการปวดเลย ซึ่งโดยทั่วไปใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ จึงจะวิ่งได้เป็นปกติ
นักวิ่งที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อต้นขาบ่อย ๆ หลังจากการวิ่ง แสดงว่ากล้ามเนื้อนั้นอ่อนแรง ควรทำการบริหารร่วมด้วยโดยนั่งห้อยเท้า เอาถุงทรายห้อยไว้ที่ข้อเท้า เหยียดเข่าให้ตรงและเกร็งไว้นับ 1-5 แล้วเอาลง (ดูรูป3) การขี่จักรยาน ว่ายน้ำ ก็เป็นการบริหารที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาเช่นกัน
ข้อตะโพกแพลง
อีกปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในการวิ่ง มักมีสาเหตุจากการวิ่งบนพื้นที่ไม่เรียบเสมอกัน ขาข้างหนึ่งอยู่บนพื้นที่สูงกว่าขาอีกข้างหนึ่ง เช่นวิ่งตามพื้นผิวถนนที่โค้ง หรือเกิดจากการหกล้มในลักษณะที่ข้อตะโพกบิดงอไปข้างหน้าหรือเหยียดมาข้างหลังมากเกินไป จากสองสาเหตุนี้จะทำให้เส้นเอ็นพังผืดบริเวณข้อตะโพกถูกยืดหรือมีการฉีกขาดบางส่วนได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่ได้รับ ถ้าเส้นเอ็นพังผืดถูกยืดมากเกินไป จะมีอาการปวดและยอกบริเวณข้อตะโพก ควรพักการวิ่งจนกว่าอาการปวดจะลดลง จึงค่อยเริ่มต้นวิ่งใหม่ แต่ถ้าเส้นเอ็นพังผืดถูกยืดอย่างรุนแรง จนเกิดการฉีกขาดบางส่วน ซึ่งส่วนมากสาเหตุจากการหกล้ม ทำให้เกิดการอักเสบ มีอาการปวดบวมที่ข้อตะโพกข้างนั้น และจะรู้สึกปวดมาก ถ้า ขาอยู่ในลักษณะเหยียดตรง และหมุนปลายเท้าให้แตะพื้นทางด้านในหรือด้านนอก (ดังรูป 4)
และสามารถหาจุดเจ็บได้ในส่วนลึกของข้อตะโพก เมื่อมีอาการเช่นนี้ควรหยุดพักการวิ่งอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อให้การซ่อมแซมของเส้นเอ็นพังผืดที่ฉีกขาดนั้น ถ้าปวดมากให้กินยาแอสไพริน ได้โดยกินหลังอาหารและดื่มน้ำมาก ๆ เมื่ออาการปวดในข้อตะโพกลดลง ให้เริ่มต้นวิ่งใหม่ โดยในวันแรกวิ่งระยะทางสั้น ๆ ก่อนและเพิ่มระยะทางมากขึ้นเรื่อย ๆ ในวันต่อมาเมื่ออาการปวดลดลง แต่ถ้าอาการปวดเป็นอยู่นานเกินกว่า 3 สัปดาห์ ควรไปโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาทางด้านกายภาพบำบัดต่อไป โดยใช้การอบด้วยความร้อน หรือการนวดด้วยไฟฟ้า ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจทำให้ข้อตะโพกเสื่อมได้ง่ายในภายหลัง
ในกรณีที่หกล้มเอาตะโพกกระแทกกับพื้นแข็ง แล้วทำให้เคลื่อนไหวข้อตะโพกไม่ได้ เวลายืนลงน้ำหนักจะเจ็บปวดมาก ให้สงสัยว่าอาจมีกระดูกต้นขาส่วนที่ใกล้ข้อตะโพกหักร่วมด้วย (โดยเฉพาะถ้าพบในนักวิ่งที่สูงอายุ) ต้องรีบนำส่งแพทย์ทันที เพื่อทำการฉายรังสีเอ็กซ์ดูว่ามีกระดูกหักหรือไม่ จะได้ทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
อาการปวดบริเวณข้อตะโพกที่พบได้บ่อยอีกแบบหนึ่ง คือการปวดร้าวตามข้อตะโพกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง และอาจมีอาการปวดร้าวตามขาร่วมด้วย การปวดแบบนี้ไม่ได้มีส่วนสาเหตุมาจากข้อตะโพกโดยตรง แต่เป็นการปวดตามทางเดินของเส้นประสาทเซียติคที่ออกจากบริเวณหลังส่วนล่างและทอดมาตามขา การปวดนี้เกิดจากการกดทับถูกเส้นประสาทนี้ บริเวณหลังส่วนล่าง เป็นที่น่าสังเกตว่า การปวดตามเส้นประสาทนี้ เมื่อกดดูจะไม่พบจุดเจ็บบนกล้ามเนื้อ ในบริเวณที่เจ็บปวด แต่อาการปวดจะมากขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนหงายและยกขาข้างที่ปวดขึ้นตรง ๆ (ดังรูปที่ 5)ถ้ามีอาการปวดเช่นนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
- อ่าน 64,406 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้