• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปอดทำงานได้อย่างไร

                                                             

  

  
 

ปอดเป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่ทำงานทั้งวันทั้งคืน ทุกๆวันตลอดเวลาที่เรายังมีชีวิตอยู่ ปอดจะทำงานทุก ๆ 3-4 วินาทีเพื่อสูดเอาออกซิเจนเข้าไปและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ปอดก็เหมือนกับหัวใจคือทำงานไม่ได้หยุด พวกกล้ามเนื้อ กระดูกยังดีเสียกว่า เพราะอวัยวะพวกนี้ยังมีเวลาพักในตอนที่เราหลับอากาศที่เราหายใจเข้าไปจะผ่านเข้าไปทางจมูก ที่จมูกจะมีขนเพื่อกรองเอาเศษผง ตัวแมลง ที่อาจจะปนเข้าไปกับลมหายใจออก ไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เข้าไปในเนื้อปอด จากจมูก อากาศจะผ่านลงไปทางด้านหลังของช่องปาก ที่นี่เป็นทางผ่านร่วมของทั้งอาหารและอากาศ เพื่อกันไม่ให้อาหารตกลงไปในช่องทางเดินหายใจ ร่างกายของเราจึงมีลิ้นปิดกั้นให้อาหารตกลงไปในหลอดอาหารที่อยู่ข้างหลัง หลอดคอที่เป็นทางเดินของลมหายใจ อยู่ทางด้านหน้าใต้ส่วนที่เราคลำได้เป็นลูกกระเดือก อากาศจากหลอดคอจะเข้าสู่หลอดลมใหญ่ทั้งสองข้าง จากนี้จึงแยกเข้าสู่หลอดลมเล็ก หลอดลมฝอยและเข้าสู่เนื้อปอดที่เป็นถุงลมตามลำดับ

ปอดของเรามี 2 ข้าง ซ้ายและขวา อยู่ในทรวงอก ปอดมีอากาศบรรจุอยู่ เมื่อเราหายใจเข้าปอด ปอดจะขยายออก เมื่อหายใจออกปอดก็จะหดลง การที่ลมเข้าและออกจากปอดได้นั้น เกิดขึ้นเพราะการขยายและบีบตัวของทรวงอก กลไกที่กล่าวมาคล้ายกับสูบลมที่ใช้เป่าไฟ เมื่อกะบังลมลดตัวลงและกระดูกซี่โครงขยายตัวออก อากาศก็จะไหลเข้าสู่ปอดโดยอาศัยแรงดันของบรรยากาศโลก ก็เหมือนกันกับการที่ลมเข้าสู่สูบลมเมื่อดึงมือจับทั้งสองให้ห่างออกจากกัน เมื่อหายใจเข้าเต็มที่แล้ว กล้ามเนื้อกะบังลมคลายตัว ทำให้กะบังลมถูกดันสูงขึ้นในขณะที่กระดูกซี่โครงก็ยุบตัวเป็นผลให้ทรวงอกแฟบลงบีบปอดให้ปล่อยอากาศออกไป เหมือนกับการหุบมือจับของสูบลมเข้าหากันเราควรฝึกหายใจให้ลึก ๆ เป็นนิสัยเพื่อให้ได้ออกซิเจนเข้าไปให้ร่างกายได้ใช้แต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก ๆปอดมีน้ำหนักเบา เนื้อปอดมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ ประกอบด้วยถุงลมเป็นจำนวนมาก ถุงลมเหล่านี้เล็กมากต้องมองผ่านกล้องจุลทรรศน์จึงจะเห็น ถุงลมนี้มีผนังบางประกอบด้วยเซลล์ปอดและเนื้อเยื่อที่ยืดหดได้ ในช่วงหายใจเข้า ถุงลมจะพองออกให้อากาศเข้าไปเต็มถุง ในช่วงหายใจออก ถุงลมจะหดเล็กลง

 


 

กระบวนการหายใจของคนเราไม่ได้จบลงแค่การสูดเอาอากาสเข้าปอดแล้วปล่อยออกมาเท่านั้น ในปอดออกซิเจนในอากาศจะซึมผ่านผนังเส้นเลือดฝอยในปอด เข้าสู่กระแสเลือด เม็ดเลือดจะจับออกซิเจนเอาไว้ไหลวนเวียนไปส่งให้เซลล์ร่างกายได้ใช้ในระดับเซลล์ของร่างกายออกซิเจน จะซึมออกจากผนังเส้นเลือดฝอยผ่านน้ำที่หล่อเลี้ยงเซลล์เข้าสู่เซลล์ร่างกายในที่สุด คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นของเสียจากเซลล์ก็จะซึมผ่านน้ำหล่อเลี้ยงเซลล์เข้าสู่เส้นเลือดฝอยส่วนที่เป็นเส้นเลือดดำ ในทำนองกลับกันกับที่ออกซิเจนเข้าสู่เซลล์ คาร์บอนไดออกไซด์ที่แขวนลอยอยู่ในน้ำเลือดก็จะเข้าสู่ปอดแล้วซึมผ่านผนังเซลล์ปอดปนออกไปกับอากาศที่เราหายใจออกไป จะเห็นได้ว่ากระบวนการหายใจก็คือการแลกเปลี่ยนออกซิเจนซึ่งเป็นก๊าซที่ร่างกายต้องการกับคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นของเสีย การหายใจจึงเกิดขึ้นได้ 2 ระดับคือที่ระดับเซลล์ปอดหรือในปอดกับที่ระดับเซลล์ของร่างกายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
 

 
ในลมหายใจออกนอกจากจะมีก๊าซที่เป็นของเสียแล้ว เซลล์ปอดยังปล่อยให้น้ำบางส่วนกำจัดทิ้งออกไปกับลมหายใจด้วย เมื่อเราหายใจรดกระจก กระจกจะเป็นฝ้าจากไอน้ำที่ปนออกมากับลมหายใจ ถ้าไม่สังเกตมาก่อนจะทดลองเดี๋ยวนี้เลยก็ได้ เดินไปที่กระจกแล้วหายใจรดดู ลองจับฝ้าที่เกิดขึ้นแล้วจะรู้ว่าฝ้าที่เกิดขึ้นเปียกชื้น น้ำส่วนนี้เป็นส่วนที่ร่างกายไม่ต้องการแล้ว ในวันหนึ่ง ๆ ปอดจะกำจัดน้ำทิ้งได้ถึง 4 แก้ว ในเด็ก ๆ จะมีปริมาณ 2 แก้ว
 

     

    
การสูบบุหรี่นั้นก่อให้เกิดผลเสียอย่างไรต่อปอดบ้าง
ควันบุหรี่ที่สูดเข้าไปกับลมหายใจก็จะผ่านหลอดลมใหญ่ หลอดลมเล็ก หลอดลมฝอยเข้าสู่ถุงลมปอดเช่นเดียวกับลมหายใจปกติ ควันสกปรกของบุหรี่ไม่ได้กลับออกมาพร้อมกับลมหายใจออกทั้งหมดหากแต่จะมีส่วนที่เกาะติดแน่นกับผนังหลอดลมและอุดอยู่ในถุงลมปอด เมื่อสูบบุหรี่ไปเป็นเวลานานทางเดินอากาศที่เป็นทางเข้าออกของลมหายใจก็จะสกปรก เช่นเดียวกันกับหิ้งหรือชั้นหรือบริเวณเหนือเตาไฟที่เต็มไปด้วยเขม่าควัน ในห้องครัวเรายังมีทางทำความสะอาดได้ แต่ในปอดความสกปรกที่เกาะติดอยู่เป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อทางเดินอากาศตีบตัน การเข้าออกของลมหายใจก็ลำบาก โดยเฉพาะลมหายใจออก ทำให้มีลมหายใจคั่งค้างอยู่ในปอดเกิดภาวะปอดพองลม การหายใจหรือการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะถูกกระทบกระเทือน เมื่อร่างกายมีออกซิเจนใช้น้อยลงก็จะเหนื่อยง่ายไม่มีแรง อีกประการหนึ่งการที่เขม่าควันบุหรี่จับเกาะอยู่ในหลอดลมก่อให้เกิดการระคายเคืองแก่เนื้อเยื่อที่เราเรียกว่าการอักเสบ นอกจากนี้นิโคตินยังเป็นสาเหตุของมะเร็งปอดอีกด้วย คนที่สูบบุหรี่นาน ๆจะเกิดอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพองและเป็นมะเร็งปอดได้

ปอดเป็นแหล่งที่มาของพลังงานสำคัญของร่างกายเรา เราจึงควรดูแลปอดให้แข็งแรง เพราะเรารู้แล้วว่าโรคร้ายต่าง ๆ อาจจะเกิดกับปอดได้
1.หายใจอากาศที่บริสุทธิ์ พยายามหลีกเลี่ยงอากาศที่สกปรก เพราะอากาศที่เต็มไปด้วยสิ่งสกปรกเช่น บริเวณโรงงานที่มีควันมาก ในถนนที่เต็มไปด้วยไอเสียรถยนต์ หากสูดเข้าไปในปอดทุกวัน เศษฝุ่นจะทำลายเนื้อปอดได้

2.การไปเที่ยวชายทะเลหรือในสวนสาธารณะเป็นครั้งคราวจะทำให้เราได้อากาศที่บริสุทธิ์

3.หลีกเลี่ยง ป้องกันตนเองไม่ให้เป็นหวัดบ่อย ๆ เพราะการเป็นหวัดจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่หลอดลมและปอดได้ แม้ว่าโรคหวัดจะไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ถ้าเป็นบ่อย ๆ ไม่หายสักทีผนังบุจมูก หลอดลมและปอดจะอ่อนแอลงและเกิดโรคแทรกได้

4.หากเป็นหืดต้องปรึกษาหมอ และกินยาตามที่หมอสั่ง

5.งดสูบบุหรี่ เพราะควันบุหรี่จะทำให้ปอดเสีย

  

ข้อมูลสื่อ

64-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 64
สิงหาคม 2527
พญ.ลลิตา ธีระศิริ