• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถีบจักรยานออกกำลังกาย (2)


จากข้อเขียนในตอนแรก (ฉบับที่ 107) มีผู้ต่อว่ามา หาว่าผู้เขียน (แนะนำให้ผู้อ่าน) ทำตัวเป็นวัยรุ่นหรือถีบจักรยานแข่งขัน เพราะจักรยานที่แนะนำคือ จักรยานเสือหมอบซึ่งใส่สำหรับแข่ง ก็เลยขอเนื้อที่หน้ากระดาษชี้แจงเรื่องนี้เสียหน่อย

 

                      

แรกเริ่มเดิมที ผู้เขียนก็มองจักรยานเสือหมอบในแบบนั้น คือเป็นของเด็กวัยรุ่นใช้ถีบเล่น หรือสำหรับนักกีฬาจักรยานลงแข่งขัน จนกระทั่งผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาเมื่อราวสิบกว่าปีก่อน ความประทับใจแรกที่ได้รับคือ เห็นคนถีบจักรยานเสือหมอบเต็มไปหมด ไม่ว่าลูกเล็กเด็กแดง จนถึงคนแก่หัวหงอกขาวโพลน เมื่อผู้เขียนซื้อจักรยานใช้ที่โน่น จึงลองซื้อแบบเสือหมอบดู ทำนอง “เข้าเมืองหลิ่ว หลิ่วตาตาม” และก็ได้ค้นพบความดีของมันทีละข้อ ดังที่จาระไนไข้ในตอนก่อน
ดังนั้น ถึงเราจะรู้สึกขัดเขินในตอนนี้ที่จะขี่จักรยานเสือหมอบกัน แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ จักรยานเสือหมอบจะกลายเป็นจักรยานธรรมดาเหมือนการวิ่งจ๊อกกิ้ง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่า เป็นการออกกำลังกายของนักมวย และใครอื่นที่ออกมาจ๊อกกิ้งกลายเป็นคนไม่สู้เต็มเต็งไป บัดนี้การวิ่งเพื่อสุขภาพกลับมาเป็นที่ยอมรับของคนทุกเพศวัยฉันใดฉันนั้น

กลับมาที่เทคนิคการขี่จักรยานเสือหมอบ นอกจากการเปลี่ยนเกียร์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและปั่นจำนวนรอบต่อนาทีให้พอดีแล้ว ยังมีเรื่องที่ควรรู้อีก 2-3 อย่าง
อย่างแรกคือ แฮนด์ของรถ ซึ่งในทีนี้หมายถึง คานจับด้านหน้าทั้งหมด เพราะรถเสือมอบไม่มีแฮนด์จับเฉพาะอย่างจักรยานธรรมดา เราสามารถจับตรงส่วนใดก็ได้ตามความถนัด ปกติถ้าถีบสบาย ๆ ไม่รีบร้อน จะจับตรงส่วนบนของคาน ถ้าเมื่อยขึ้นมาหรือต้องการถีบเร็วหน่อย ก็เลื่อนไปจับที่ตรงหัวเบรก ถ้าต้องการความเร็วสูงสุด (และด้านลมน้อยที่สุด) ก็ก้มลงไปจับแฮนด์ตรงส่วนล่าง (ท่าเสือหมอบ) เป็นต้น แต่ไม่ว่าเราจะจับตรงส่วนไหน ถ้าแฮนด์ไม่ได้บุด้วยวัสดุที่หนานิ่ม เช่น ยางหรือฟองน้ำ เราควรใส่ถุงมือหนังสำหรับถีบจักรยาน เพื่อป้องกันการกระแทกต่อมือมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทในอุ้งมือได้ (อาการ คือ มือชาเป็นบางส่วน) นอกจากจะใช้ถุงมือช่วยป้องกันภาวะนี้ได้แล้ว การขยับตำแหน่งที่มือจับแฮนด์บ่อย ๆ ก็ช่วยไม่ให้มีการกดที่จุดใดจุดนึ่งของฝ่ามือนานเกินไป จนทำให้เกิดการชาหรืออักเสบ

เรื่องต่อมาคือ กางเกงสำหรับถีบจักรยาน เราอาจจะเคยเห็นกางเกงที่นักจักรยานใส่แล้ว ดูแปลกตาตรงขายาว เกือบถึงเข่า และค่อนข้างแนบเนื้อ นี่ก็เข้าตามกฎ “หน้าที่เป็นตัวกำหนดรูปลักษณ์” เมื่อแรกที่ผู้เขียนถีบจักรยานเสือหมอบก็ไม่เคยสนใจกางเกงแบบพิเศษ คงใส่กางเกงขาสั้นธรรมดา จนกระทั่ง ครั้งหนึ่งถีบไปทางไกล เกิดเป็นแผลถลอก ตรงขาอ่อนด้านในที่เลือดสีกับตัวอาน จึงได้เริ่มคิดถึงกางเกงจักรยาน และหามาใช้งาน ซึ่งก็ได้ผลดีในการป้องกันการเสียดสีดังกล่าว นอกจากนี้กางเกงจักรยาน ยังมีส่วนนุ่ม (ทำด้วยหนังชามัวร์ หรือผ้าขนหนู) บุตรงเป้าช่วยลดการเสียดสีในบริเวณนั้น ทำให้ขี่ด้วยความสบายมากขึ้น

อย่างสุดท้ายที่อยากแนะนำ (ความจริงเครื่องเคราสำหรับการถีบจักรยานยังมีอีกหลายอย่างมากกว่าที่คนทั่วไปคาดคิด แต่ในที่นี้เอาแต่เรื่องสำคัญที่สุดก่อน) คือ หมวกกันน็อก ผู้อ่านอาจแปลกใจ ที่ได้ยินว่า จักรยานก็มีหมวกกันน็อกเหมือนมอเตอร์ไซด์ ที่จริงจักรยานกับมอเตอร์ไซด์มีอะไรคล้ายกันหลายอย่าง ที่เหมือนกันแน่ ๆ คือ เรื่องของเนื้อหุ้มเหล็ก (แทนที่จะเป็นหลักหุ้มเนื้อเหมือนรถยนต์) ฉะนั้น อันตรายจากศีรษะฟาดพื้นเวลาเกิดอุบัติเหตุจึงเป็นเรื่องสำคัญ และสามารถป้องกันหรือผ่อนหนักเป็นเบาได้โดยการใส่หมวกกันน็อก หมวกของจักรยานจะมีขนาดเล็กกว่า และเบากว่าของมอเตอร์ไซด์ แต่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน ฉะนั้น จึงควรเลือกแบบที่มีความแข็งแรงพอสมควร เพื่อให้ว่าสามารถป้องกันอันตรายแก้ศีรษะของเราได้ ไม่ใช่ว่าใส่แล้วเหมือนกับไม่ได้ใส่อะไรเลย

หมวกกันน็อกที่ดี จะทำด้วยพลาสติกแข็ง บุด้วยโฟมหรือวัสดุอ่อนนุ่มอื่นไว้ภายใน ถ้าสามารถหาชนิดที่เข้าเกณฑ์มาตรฐานของสหรัฐอเมริกา (ANSI-American National Standard for industry) ได้ก็ยิ่งแน่ใจในความปลอดภัย หมวกจักรยานแบบทำด้วยหนังเย็บเป็นริ้ว ๆ ไม่สามารถป้องกันการกระทบกระแทกต่อศีรษะได้อย่างจริงจัง อย่างมากก็แค่ช่วยไม่ให้ศีรษะถลอกเท่านั้น จึงไม่ควรใช้

กลุ่มของผู้เขียนที่ถีบจักรยานด้วยกันล้วนใส่หมวกกันน็อกแบบที่ว่า จึงให้ชื่อว่า “ทีมหัวขาว” ตามสีของหมวก และเมื่อถอดหมวกออกมาผมบนศีรษะก็เป็นสีขาว ชื่อนี้จึงเป็นเครื่องเตือนใจในสังขารของตัวเองได้เป็นอย่างดี

 

ข้อมูลสื่อ

109-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 109
พฤษภาคม 2531
วิ่งทันโลก
นพ.กฤษฎา บานชื่น