• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคหายได้เพราะอะไร



⇒ โรคหัวใจหรือโรคจิตใจทำเหตุ
บุญมีเดินคอตกออกจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง หลังจากได้เข้าไปตรวจร่างกาย และหมอบอกว่า “บุญมีเป็นโรคหัวใจ แต่ไม่ร้ายแรงและไม่เป็นมาก ให้กินยาตามที่หมอสั่งแล้วบุญมีจะหาย”  บุญมีรู้สึกตกใจ เสียใจ และตื้อไปหมด จนลืมถามหมอว่า ตนเป็นโรคหัวใจชนิดไหน ต้องปฏิบัติตัว อย่างไร และต้องรักษาตนไปนานเท่าไร

ระยะ 2-3 สัปดาห์ก่อนมาหาหมอ บุญมีรู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย นอนไม่ค่อยหลับ หลับแล้วก็ตื่นบ่อย ๆ ตื่นแล้วก็หลับยาก ฝันมากมาย จนบุญมีโกรธและรำคาญตนเองที่ฝันมากทำให้ตื่นสาย ตื่นแล้วก็ยังง่วงนอน ไม่สดชื่น ไปทำงานก็รู้สึกเบื่อเหนื่อย ไม่มีแรง ใจเต้นใจสั่น เบื่ออาหาร ปวดหัว มึนหัว และบางครั้งก็หน้ามืด จนทำให้งานที่คั่งค้างมาหลายเดือนยิ่งคั่งค้างมากขึ้น และเจ้านายก็ดุว่าบุญมีที่ทำงานล่าช้า  บุญมีกินยาตามหมอสั่งและหลับได้ดีขึ้น แต่บุญมีก็ห่วงกังวล เรื่องโรคหัวใจขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง จึงไม่กล้าเดินเร็ว ไม่กล้าทำงานมาก รู้สึกเหนื่อยง่าย เพลียง่าย และรู้สึกเจ็บหน้าอกตรงบริเวณที่บุญมีคิดว่า เป็นที่อยู่ของหัวใจ บุญมีกินยาที่หมอให้มาจนหมด อาการดังกล่าวก็ยังไม่หาย บุญมีจึงกลับไปหาหมอที่โรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง  โชคดีที่บุญมีเจอหมออีกคนหนึ่ง ซึ่งต่างพูดมากกว่าหมอคนก่อน เมื่อบุญมีซึ่งกลัวหมอและไม่ค่อยกล้าถามอะไรมากนัก แสดงท่าอึก ๆ อัก ๆ ก่อนจะถามว่า “หมอผมเป็นโรคหัวใจแน่หรือครับ”   บุญมีจึงได้รับคำตอบว่า “จะเรียกว่าเป็นโรคหัวใจก็ได้ หรือจะไม่เรียกว่าเป็นโรคหัวใจก็ได้ คือ หัวใจของคุณเต้นผิดจังหวะเป็นบางครั้ง แต่เมื่อคุณออกกำลัง หัวใจของคุณจะเต้นปกติ แสดงว่าที่หัวใจของคุณเต้นผิดจังหวะหรือเต้นไม่สม่ำเสมอนั้น ไม่มีอันตรายอะไร เพราะออกกำลังกายแล้วกลับเป็นปกติถ้าคุณเครียด กังวล หรือห่วงมาก หัวใจยิ่งเต้นผิดปกติมาก ถ้าคุณสบายใจ ไม่ห่วงกังวลหรือเครียด มันจะเต้นเป็นปกติ คนปกติโดยทั่วไปก็จะมีหัวใจเต้นผิดจังหวะเช่นนี้ได้เป็นครั้งคราว แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่รู้สึกว่าใจเต้นผิดจังหวะ ที่คุณรู้สึก เพราะคุณไปสนใจมันมากเกินไปจึงรู้สึกได้ ถ้าคุณทำไม่รู้ไม่ชี้เสียบ้าง คุณจะไม่รู้สึกว่าใจเต้นผิดจังหวะ อันที่จริงแล้ว หัวใจคุณก็ไม่ได้ผิดปกติอะไร บางครั้งมันจะเต้นผิดจังหวะบ้าง มันก็เหมือนคนปกติทั่วไป ที่หัวใจอาจจะเต้นผิดปกติบ้างเป็นครั้งคราวเพราะฉะนั้นคุณอย่าไปคิดว่า คุณเป็นโรคหัวใจ คุณต้องออกกำลังมากขึ้น ทำงานมากขึ้น แล้วคุณจะหายจากอาการต่าง ๆ ที่รบกวนคุณอยู่ โดยไม่ต้องกินยาอะไร

บุญมีเดินหน้าระรื่น ยิ้มแย้มออกจากโรงพยาบาล จนแม่ค้าหาบเร่ และคนยืนรอรถเมล์หน้าโรงพยาบาล หันมามองกันใหญ่ สงสัยว่าบุญมีคงถูกหวยแล้วมารับเงินจากเจ้ามือหวยในโรงพยาบาลแน่ ๆเปล่า บุญมีไม่เคยซื้อหวย จึงไม่เคยถูกหวย แต่เป็นวันแรกในระยะ 1-2 เดือนนี้ ที่บุญมีรู้สึกสบายใจ โล่งใจ หายห่วงกังวล รู้สึกหายจากโรคและอาการต่าง ๆ ที่ครอบงำตนไว้ และเกิดความมั่นใจว่าตนจะสามารถเอาชนะงานและสิ่งต่าง ๆ ที่คั่งค้างอยู่ได้ เพราะตนไม่ได้เป็นโรคหัวใจ และไม่ได้เป็นโรคอะไรทั้งสิ้น

 

⇒ โรคเป็นสิ่งที่น่ากลัวจริงหรือ
คำว่า “โรค” ดูจะเป็นที่น่ากลัวสำหรับคนเกือบทุกคน ทั้งที่ทุกคนจะมี “โรค” อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง (อย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้าง) อยู่เกือบตลอดเวลา เช่น ปวดฟัน (โรคฟันผุ โรคเหงือก) ตาสั้น (โรคตา) คัดจมูกบ่อย ๆ (โรคแพ้อากาศ) ผื่นคัน (โรคผิวหนัง) ท้องอืดท้องเฟ้อ (โรคกระเพาะลำไส้ทำงานผิดปกติ) เป็นต้น
ดังนั้นคนที่มีโรค หรือ เป็นโรคจึงไม่ใช่คนที่จะต้องตาย พิการ ทำงานไม่ได้ หรือเที่ยวไม่ได้ อันที่จริง คนที่มีโรค (ก็ทุกคนนั่นแหละ) ยังสามารถทำงาน เที่ยว สนุกสนานได้เป็นส่วนใหญ่ ที่ทำงานไม่ได้ เที่ยวไม่ได้ สนุกสนานไม่ได้มีส่วนน้อยมาก เพราะเขาบังเอิญเป็นโรคที่มีอาการกำเริบรุนแรงในระยะนั้น ถ้าอาการทุเลาลงหรืออาการสงบ เขาจะสามารถทำงาน เที่ยว หรือ สนุกสนานได้เช่นเดียวกัน แม้จะเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น

 

⇒โรค “หายขาด” หรือ “ทุเลา”
คำว่า “หาย” จึงเป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก ถ้าคำว่า “หาย” หมายความว่า “ทุเลา” หรือ “สงบ” ลง โรคส่วนใหญ่จะมีช่วงระยะที่ทุเลาหรือสงเสมอ ซึ่งในช่วงระยะนั้น คนไข้จะรู้สึกว่า “โรคหาย” แล้วก็ได้ เพราะไม่มีอาการหรืออะไรหรือมีเพียงเล็กน้อย
แต่ถ้าคำว่า “หาย” หมายความว่า “หายขาด” คือ โรคนั้นหายไปจริง ๆ (คนไข้จะไม่เป็นโรคนนั้นอีก) แล้ว โรคส่วนใหญ่จะไม่หายขาด แม้แต่โรคหวัดคัดจมูก ก็เป็นแล้วเป็นอีกได้ แม้แพทย์จะบอกว่าคนไข้หายจากโรคหวัดแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าต่อไปภายหน้าคนไข้จะไม่เป็นโรคหวัดอีก โรคอื่น ๆ เช่น โรคฟันผุ แม้จะรักษาแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าต่อไปภายหน้าฟันจะไม่ผุอีก เป็นต้น โรคที่หายขาด (นั่นคือ หายแล้วและไม่เป็นอีก) จึงมีน้อยมาก

ดังนั้น เรื่อง โรคหายได้เพราะอะไร ในที่นี้จึงไม่ได้หมายความว่า “โรคจะหายขาดได้อย่างไร” แต่หมายความว่า “ความเจ็บป่วยจะทุเลาหรือสงบได้อย่างไร” ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการรักษาโรคส่วนใหญ่ เพราะตราบใดที่คนเราสามารถทำงานได้ เที่ยวได้ สนุกสนานได้ ทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง ครอบครัว และสังคมได้ ก็นับได้ว่าคน ๆ นั้นมี “สุขภาพดี” แม้ว่าจะมีโรคอยู่มากบ้างน้อยบ้างในตนก็ตาม


⇒โรคที่หายได้เพราะพลังจิต
คนที่จะยิ้มได้ ทำงานได้ เที่ยวได้ สนุกสนานได้ ทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง ครอบครัว และสังคมได้ หรือคนที่มี ”สุขภาพดี” นั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี “สุขภาพจิต” ที่ดี เพราะ “จิตใจ” เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เรากระปรี้กระเปร่าสดชื่นจนทำงานได้ดี หรือซึมเซ็ง เศร้าจนทำงานไม่ได้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ และอื่น ๆ ดังนั้น โรคจะหาย (ทุเลาหรือสงบ) ได้จึงต้องการ “จิตใจ” ที่เต็มไปด้วยความหวังที่จะหายจากโรค รวมทั้งความเข้าใจและการยอมรับในสภาพของโรคนั้น เช่น ถ้าเราเป็น ”ไข้หวัด” ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียารักษาเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้หวัดได้ (ยาที่ใช้จึงเป็นยาลดไข้แก้ปวดและยาแก้ อาการคัดจมูกน้ำมูกไหลเท่านั้น)

ถ้าเรามีจิตใจที่เข้มแข็งเข้าใจ และยอมรับว่า ไข้หวัดต้องมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ตัวร้อน คอเจ็บ และปวดเมื่อย ยังไม่มียารักษาสาเหตุ และโดยทั่วไปอาการจะหาย (ทุเลาและสงบ) เองภายใน 3-7 วัน เราก็จะไม่วิตกกังวล หรือทุกข์ร้อนกับอาการเจ็บป่วยจนเกินขอบเขต ทำให้สามารถทำงานได้ตามปกติ หรือเกือบปกติ เพราะความหวังหรือความเชื่อว่าโรคนี้ไม่ร้ายแรง และจะหายเองโดยเร็ว โดยเฉพาะถ้าแต่งกายให้อบอุ่น อย่าถูกเย็น (อากาศเย็น อาบน้ำเย็น กินของเย็น ถูกฝน) และยิ่งกินของร้อน ๆ และนุ่งห่มให้ร้อนให้เหงื่อออก อาการก็จะหายเร็วขึ้น

เมื่อจิตใจมีความหวัง ความเข้าใจและการยอมรับเช่นนี้แล้ว จิตใจจะสั่งให้ร่างกายปฏิบัติตาม ทั้งในรูปธรรมที่มองเห็นได้ (เช่น การปฏิบัติตนโดยหลีกเลี่ยงความเย็น การกินของร้อน การนุ่งห่มให้ร้อน เป็นต้น) และไม่อาจมองเห็นได้ (เช่น การสร้างภูมิต้านทานเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุ ปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย) จนหายจากโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องกินยาหรือฉีดยาใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะยากินยาฉีดเพื่อรักษาไข้หวัดยังไม่มี มีแต่ยาบรรเทาอาการเท่านั้น เมื่อจิตใจไม่วิตกกังวล (ไม่รับรู้) กับอาการที่เกิดขึ้น อาการที่เกิดขึ้นถึงมากก็จะดูเหมือนน้อย ถึงรุนแรง ก็จะดูเหมือนไม่รุนแรง ทำให้ทุกข์ทรมานน้อยลง ยิ่งถ้าจิตใจมีความหวังที่จะหายจากโรค หรือมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จลุล่วงไปโดยไม่ห่วงกังวลโรคที่เป็นอยู่แล้ว บ่อยครั้งจะพบว่าโรคนั้นทุเลา และถ้าเป็นโรคที่หายเองได้ เช่น โรคไข้หวัด ก็จะพบว่าโรคนั้นหายอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าจิตใจเครียด เศร้า ซึม เซ็ง หรือท้อถอยแล้ว โรคที่เป็นน้อยก็จะกลับเป็นมาก หรือถ้าไม่ได้เป็นโรคอยู่ก็จะเกิดเป็นโรคขึ้นมาได้ เช่น โรคกระเพาะลำไส้ โรคความดันเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคคอพอกเป็นพิษ มะเร็ง เป็นต้น

แม้ว่าจิตใจจะทำให้เกิดโรคได้ แต่จิตใจก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะทำให้โรคหายหรือทุเลาได้ การกระทำใดๆ ที่ทำให้จิตใจมีความหวัง หรือความเชื่อว่าตนจะหายจากโรค จึงช่วยทำให้โรคหายหรือทุเลาได้

 

⇒ความเชื่อและกระบวนการรักษาโรค
การรักษาด้วยเวทมนตร์คาถา หรือไสยศาสตร์ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย เช่น กรณีที่เป็นข่าวครึกโครมทั่วประเทศ เรื่อง หมอน้อย (เด็กชายอายุ 3 ปี 7 เดือน) แห่งอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา สามารถรักษาโรคทุกชนิดโดยใช้กิ่งไม้อะไรก็ได้กิ่งเล็ก ๆ นิดเดียวให้คนไข้ไปต้มกิน โดยอาศัยความเชื่อของคนไข้ และญาติว่า กิ่งไม้นั้น ๆ คือยาที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ส่งมา (ธนู ชาติธนานนท์ “หมอน้อย-ใครหลอกใคร” แพทยสภาสาร เดือนตุลาคม 2529 , ปีที่ 15 : หน้า 510-512)
คนไข้จำนวนไม่น้อยที่ไปรักษากับ “หมอน้อย” จึงดีขึ้น สบายขึ้น ทุเลาจากอาการที่ทรมานตนเองมานาน ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจึงเป็นการดีขึ้นทางจิตใจ การดีขึ้นทางจิตใจ จะทำให้อาการทางกายต่าง ๆ พลอยดีขึ้นด้วย และถ้าอาการทางการต่าง ๆ มีสาเหตุเกิดจากจิตใจดังในกรณีของบุญมีที่กล่าวข้างต้น อาการเหล่านั้นอาจจะหายไปได้หมด และเรียกได้ว่า “โรคหายแล้ว”

นอกจากนั้นโรคทางกายหลายอย่างจะหายเองได้ เช่น โรคหวัด โรคหัด อีสุกอีใส ไข้รากสาดน้อย (ไทฟอยด์) ตับอักเสบ โรคตัวจี๊ด โรคไข้เลือดออก เมื่อเป็นอยู่สักพักแล้วส่วนใหญ่จะหายเอง แต่โรคไข้รากสาดน้อย (ไทฟอยด์) ถ้าได้รับยาที่ไปกำจัดสาเหตุ (ยาปฎิชีวนะ) จะทำให้ไข้หายเร็วขึ้นและไม่มีโรคแทรก (ภาวะแทรกซ้อน) อื่น ส่วนโรคตัวอย่างอื่น ๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ถ้าปฏิบัติรักษาตัวได้ดี โรคจะหายเองได้เร็วขึ้น

 

⇒จิตใจสำคัญกว่ายา
ในการรักษาโรคแผนฝรั่ง (แผนปัจจุบัน) ก็มีการค้นพบเสมอว่า ยาจำนวนมากที่ใช้รักษาโรค ที่จริงแล้วมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากแป้งธรรมดา เพราะเมื่อทำการวิเคราะห์วิจัยจริง ๆ แล้ว พบว่าผลที่ได้นั้น ไม่ต่างจากยาหลอก (placebo) เลย
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการประชุมทางวิชาการประจำปีของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีคณะแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์คณะหนึ่ง รายงานการวิจัยยาตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นยาลดกรดที่ใช้กันทั่วไปและมีสรรพคุณดีมากในการรักษาโรคแผลในลำไส้ส่วนต้น (duodeual ulcer) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า โรคกระเพาะเป็นแผล หรือโรคแผลในกระเพาะ โดยให้ยาลดกรดกับยาหลอก (placebo) ซึ่งปรุงแต่งให้มีลักษณะสีและรสเหมือนกัน โดยทั้งแพทย์ที่ใช้ยาและคนไข้ที่กินยาไม่รู้ว่ากินยานั้น เป็นยาจริงหรอยาหลอก หลังจากรักษาครบ 4 สัปดาห์ ตรวจคนไข้ใหม่และแกะรหัสดูว่า คนไข้คนใดกินยาจริง คนไข้คนใด กินยาหลอก ปรากฏว่าคนไข้ที่กินยาจริง (กินยาลดกรด) แผลในลำไส้ หายร้อยละ 74 ส่วนคนไข้ที่กินยาหลอก แผลในลำไส้หายร้อยละ 52

แสดงให้เห็นว่า แม้ยาจริงจะทำให้แผลหายได้มากกว่ายาหลอก แต่ยาหลอกซึ่งไม่มีสรรพคุณใด ๆ ในการลดกรด ก็สามารถทำให้แผลหาย ได้ถึงร้อยละ 52 (หายมากกว่าครึ่ง) ผลจากการวิจัยนี้ แสดงว่า โรคแผลในลำไส้จากกรดมากนี้หายเองได้มากกว่าครึ่งใน 4 สัปดาห์ หรืออาจจะแสดงว่า คนไข้ที่เป็นแผลในลำไส้เมื่อได้กินยา (แม้จะเป็นยาหลอก) แล้ว ก็รู้สึกสบายใจและเชื่อมั่นว่าตนเองจะหายจากโรค จึงทำให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ (แผล) จนกระทั่งกลับเป็นปกติใหม่ได้
น่าจะทำการวิจัยต่อว่า คนไข้ที่กินยาหลอกกับคนไข้ที่ไม่ได้กินยาอะไรเลย ประเภทใดจะหายจากโรคมากกว่ากัน จะทำให้รู้สึกถึงอิทธิพลของจิตใจ (จากการรู้สึกว่าได้กินยา) มากขึ้น

อิทธิพลของจิตใจนี้ยังเห็นได้ง่าย ๆ และเห็นได้ทั่วไป เช่น เมื่อคนไข้ได้พบแพทย์ที่ตนศรัทธา เชื่อมั่น หรือเคยตรวจรักษากันมานาน พอพบแพทย์เท่านั้นอาการเจ็บป่วยจะดีขึ้นทันที จนมักพูดกันเสมอว่า

พอคนไข้เห็นหน้าหมอเท่านั้น อาการก็หายไปกว่าครึ่งแล้ว” (ทั้งที่หมอยังไม่ได้ตรวจและให้ยาเสียด้วยซ้ำไป) เมื่อหมอตรวจเสร็จ คุยกับคนไข้เสร็จ คนไข้ที่ศรัทธาในตัวหมอมาก ๆ อาจจะลุกขึ้นเดินกลับบ้านอย่างสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และรู้สึกเหมือนหายจากโรคแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้กินยาที่หมอให้เลยคนไข้เหล่านี้เป็นโรคทางกายจริง ๆ เสียด้วย ไม่ได้เป็นโรคประสาทหรือโรคทางจิต แต่อิทธิพลของจิตใจ ทำให้อาการทางกายต่าง ๆ ลดลงได้ แต่ในบางกรณีก็เพิ่มขึ้นได้ ถ้าโดนแพทย์ดุว่า ตวาดหรือขับไล่ไสส่งอิทธิพลของจิตจึงมีความสำคัญมากทั้งต่อโรคที่เกิดจากจิตใจ และโรคที่เกิดขึ้นทางกาย

ตัวอย่างของการรักษาด้วยความรัก ความเมตตา และความเชื่อยังมีอยู่มากมาย ที่รายงานใหม่ในเร็ว ๆ นี้ คือ ที่หมู่บ้านจอมศรี อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งชาวบ้านผู้หนึ่ง (นายสี ญาสันโน) ได้ทำการรักษาโรคให้แก่ชาวบ้านโดยการถามสารทุกข์สุขดิบ ปลอบโยน แนะนำ และให้ยึดมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ต้นโพธิ์) โดยไม่ได้ให้ยา น้ำมนต์ หรือเวทมนตร์คาถาใด ๆ และปรากฏว่าคนไข้จำนวนไม่น้อยก็ดีขึ้นจากโรคที่เป็นอยู่ (นฤมล สินสุพรรณ และคณะ หมอ (หนุ่ม) น้อยรายใหม่ที่อีสาน แพทยสภาสาร เดือนมกราคม 2531 ; ปีที่ 17 : หน้า 43-46)

 

⇒ความจำเป็นของการแพทย์แผนปัจจุบัน
การแพทย์ฝรั่ง (การแพทย์แผนปัจจุบัน) มักมองข้ามความสำคัญของจิตใจ หรือ “พลังจิต” ในการทำให้หายหรือทุเลาจากโรค จึงต้องใช้ยาและหรือการผ่าตัดมากหรือบ่อยกว่าที่จำเป็น ทำให้เกิดพิษและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นผลจากยาและการผ่าตัดเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จิตใจจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำให้หายหรือทุเลาจากโรค แต่โรคจำนวนไม่-น้อย ที่มีสาเหตุที่รักษาให้หายได้อย่างรวดเร็วโดยยา และ/หรือการผ่าตัด ควรหรือต้องได้รับการรักษาด้วยยา และ/หรือการผ่าตัดถ้าทำได้ เพราะจะทำให้โรคหายเร็วขึ้นและลดความทุกข์ทรมานลง เช่น โรคติดเชื้อจำนวนมาก (เช่น ปวดบวม ไข้รากสาดน้อย(ไทฟอยด์) วัณโรค หนองใน พยาธิลำไส้ มีหนอง หรืออื่น ๆ) โรคกระเพาะลำไส้ทะลุ ไส้ติ่งอักเสบ ไส้ติ่งแตก เป็นต้น

 

⇒ทางเลือกอื่น ๆ ในการเยียวยา รักษาโรค
นอกจากยา (ยาในที่นี้ หมายความรวมถึง ยาสมุนไพร และยาอื่น ๆ ด้วย) และ/หรือการผ่าตัดแล้ว การรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น การนวด การประคบ การอบเย็น การอบร้อน การฉายแสง การออกกำลัง การฝึกแบบโยคี หรืออื่น ๆ อาจทำหรือช่วยทำให้โรคหายหรือทุเลาได้ด้วย
นอกจากนั้น โรคอาจจะหายหรือทุเลาได้เอง หรือโดยที่เราไม่รู้ว่ามันหายหรือทุเลาได้อย่างไร ทั้งที่บางครั้งเราแน่ใจว่าคนไข้คงจะแย่ หรือไม่รอดภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ จากสถิติที่รวบรวมได้จากคนไข้รายอื่น ๆ แต่กลับปรากฏว่าคนไข้รายนี้ รายนั้นกลับดีขึ้นหรือรอดชีวิตอยู่ได้นานเกินกว่าที่คาดหมายอย่างมากมาย


⇒สรุป
โรคที่รู้สาเหตุและสามารถรักษาสาเหตุได้ด้วยยา การผ่าตัด และ/หรือรักษาทางกายอื่น ๆ ย่อมจะหายหรือทุเลาได้รวดเร็วขึ้นด้วยยา การผ่าตัด และ/หรือวิธีรักษานั้น ๆ โดยเฉพาะถ้าคนไข้มีกำลังใจและสภาพจิตใจและร่างกายพร้อมสำหรับการรักษาดังกล่าวส่วนโรคที่ไม่รู้สาเหตุหรือรู้สาเหตุแต่ยังไม่สามารถรักษาสาเหตุได้ มักจะหายหรือทุเลาได้ด้วยจิตใจ ที่มีความหวัง มีความเข้าใจและยอมรับในสภาพของโรคของตน ทั้งนี้อาจจะอาศัยความศรัทธาหรือความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในผู้ให้การรักษา หรือในสิ่งอื่น ๆ ซึ่งขึ้นกับความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี และความยึดถือของตนและสังคมของตน ความอบอุ่นที่ได้รับจากญาติมิตร ครอบครัว และสังคม มักจะช่วยให้จิตใจของคนไข้เข้มแข็งขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีโรคจำนวนมากที่หายเองได้ อาจหายเองได้หรือหายโดยไม่ทราบว่าหายได้อย่างไร ผู้ที่เป็นโรคจึงไม่ควรท้อถอย วิตกกังวล หรือเศร้าซึมจนเกินกว่าเหตุ เพราะจะทำให้โรคทรุดลง หรือรู้สึกว่าโรคทรุดลง และทำให้มีอาการมากขึ้นได้
 

ข้อมูลสื่อ

111-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 111
กรกฎาคม 2531
อื่น ๆ
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์