• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “ความดันเลือดสูง”

 

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

              


ในฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงประเภทของความดันเลือดสูง สาเหตุ อาการ และการวินิจฉัยโรค ในฉบับนี้ จะได้กล่าวถึงการรักษาโรคต่อไป

การรักษาโรค
การรักษาโดยทั่วไป
ผู้ที่มีความดันเลือดสูงควรจะปฏิบัติรักษาตัว ดังนี้
1. ทำจิตใจให้สงบ อย่าหงุดหงิด กังวล โมโห หรือตื่นเต้นตกใจง่าย การทำสมาธิวิปัสสนาจะช่วยลดความเครียดและความดันเลือดได้

2. ระวังอาหารและน้ำหนักร่างกาย หลีกเลี่ยงอาหารไขมัน และอาหารเค็ม ถ้าอ้วนต้องลดน้ำหนักร่างกายลงโดยลดอาหารแป้งและไขมัน แล้วเพิ่มอาหารผักขึ้น

3. ออกกำลังกายด้วยการเดิน การวิ่งเหยาะ ๆ การว่ายน้ำ แล้วหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องเบ่ง เช่น การยกน้ำหนัก การเล่นกล้าม หรือการเบ่งอุจจาระ เป็นต้น

4. งดบุหรี่ ถ้าเคยดื่มสุรา ชา กาแฟ อาจดื่มต่อได้ แต่ให้ดื่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่านอนดึก

การรักษาโดยเฉพาะ
1. ภาวะความดันเลือดตัวบนสูง สำหรับภาวะความดันเลือดสูงที่มีสาเหตุที่รักษาได้ การกำจัดสาเหตุจะทำให้ความดันเลือดกลับเป็นปกติได้
สำหรับภาวะความดันเลือดตัวบนสูงที่พบในคนอายุมาก หรือที่ไม่พบสาเหตุ ส่วนใหญ่จะตอบสนองต่อการลดความเครียด จะโดยการทำสมาธิวิปัสสนา หรือโดยการใช้ยาคลายเครียดก็ได้ ส่วนการใช้ยาขับปัสสาวะและยาลดความดันอื่น ๆ ต้องระวัง เพราะมักทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หรืออาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ การรักษาที่สำคัญ คือ การปฏิบัติรักษาตัวดังที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อการรักษา โดย ทั่วไป

2. ภาวะความดันเลือดตัวล่างสูง สำหรับภาวะความดันเลือดสูงที่มีสาเหตุที่รักษาได้ การกำจัดสาเหตุ จะทำให้ความดันเลือดกลับเป็นปกติได้
สำหรับภาวะความดันเลือดสูงที่ไม่พบสาเหตุ นอกจากการรักษาโดยทั่วไปดังที่ได้กล่าวไว้แล้วควรจะใช้ยาขับปัสสาวะ และยาลดความดันอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ความดันเลือดลงสู่ปกติ เช่น

ก. ยาขับปัสสาวะ เช่น ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) เม็ดละ 50 มิลลิกรัม, (ราคาประมาณ 50 สตางค์) กินครั้งละ 1 เม็ดตอนเช้า ซึ่งจะทำให้ปัสสาวะมาก จะขับเกลือและน้ำ ออกจากร่างกายและช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้ความดันเลือดลดลง เมื่อใช้ยาตัวนี้แล้วควรกินส้มอย่างน้อยวันละ 4-5 ลูก

ข. จำพวกระย่อม (รีเซอร์ปีน - reserpine) ขนาดเม็ดละ 0.25 มิลลิกรัม (ราคาประมาณ 20 สตางค์) กินครั้งแรก 1 เม็ดก่อนนอน สัก 2-3 วัน ถ้าไม่มีอาการคัดจมูกหรือฝันร้าย ให้เพิ่มเป็น 1 เม็ดหลังอาหารเช้าเย็น กินติดต่อกันประมาณ 2-4 สัปดาห์ ความดันเลือดจะค่อย ๆ ลดลง
ไม่ควรใช้ยานี้ในคนอ้วน และคนที่เป็นแผลในกระเพะ เพราะยานี้จะทำให้เกิดกรดในกระเพาะมากขึ้น ทำให้หิว และทำให้แผลในกระเพาะกำเริบได้ นอกจากการทำให้คัดจมูก ง่วงเล็กน้อย และอาจทำให้ฝันร้ายได้

ค. ยาเมทิลดดปา (methyldopa) ขนาดเม็ดละ 250 มิลลิกรัม (ราคาประมาณ 1 บาท) ใช้ในกรณีที่ความดันเลือดตัวล่างสูงมาก เช่น (90/130 ถึง 200/140) โดยให้กิน ครั้งละ - 1 เม็ดหลังอาหาร เช้า-เย็น สัก 1-2 วัน ถ้าความดันเลือดไม่ลดลง ให้เพิ่มเป็นครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น และก่อนนอนยานี้อาจทำให้ง่วงซึม และอาจทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด เมื่อเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่ายืนทันที ถ้าเป็นเช่นนี้ให้ลดยาลง

ยาลดความดันอื่น ๆ มีอีกเป็นจำนวนมากแต่มีข้อห้ามใช้ ข้อจำกัดในการใช้ และข้อควรระวังที่ยุ่งยากอื่น ๆ จึงไม่ขอแนะนำในที่นี้
สำหรับคนที่ความดันเลือดไม่สูงมาก เช่น ต่ำกว่า 180/120 และไม่มีอาการแทรกซ้อน ให้ใช้แต่ยาขับปัสสาวะก่อน ถ้าหงุดหงิด กังวล โมโหง่าย ควรใช้ยาไดอะซีแพม (ขนาด 2 มิลลิกรัม) กินครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหารเช้า-เย็น ร่วมด้วย

สำหรับคนที่ความดันเลือดสูงปานกลาง เช่น 180/120 ถึง 200/130 ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อน ให้ใช้ยาขับปัสสาวะร่วมกับยาจำพวกระย่อม หรือใช้ยาขับปัสสาวะร่วมกับยาเมทิลโตปา
สำหรับคนที่ความดันเลือดตัวล่างสูงกว่า 130 เช่น 200/140 ควรให้คนไข้กินยาขับปัสสาวะ (ยาฟูโรซีไมด์ ขนาด 140 มิลลิกรัม) 1 เม็ด และกินยาไดอะซีแพมขนาด 5 มิลลิกรัม 1 เม็ด แล้วให้นอนพักประมาณ - 1 ชั่วโมง ถ้าความดันเลือดลดลงต่ำกว่า 180/120 ก็อาจให้การรักษาต่อได้โดยวิธีดังกล่าวข้างต้น แต่ถ้าความดันเลือดยังสูงกว่า 180/120 ควรส่งโรงพยาบาล

คนไข้ที่เป็นความดันเลือดสูงทุกคน แม้จะสามารถให้ยาเพื่อลดความดันเลือดในระยะนี้ที่ยังไม่สามารถไปหาหมอหรือไปตรวจที่โรงพยาบาลได้ แต่เมื่อมีโอกาส ควรจะไปตรวจที่โรงพยาบาล เพราะจะต้องตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ นอกจากนั้น อาจจะตรวจหาสาเหตุ ที่ทำให้เกิดความดันเลือดสูง โดยเฉพาะถ้าพบความดันเลือดสูงในคน ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี คนที่อ้วนมาก ผอมมาก มีขนมาก ขาอ่อนแรง หรือเป็นตะคริว คอพอก ปัสสาวะผิดปกติ หรืออื่น ๆ
คนไข้ที่ความดันเลือดสูง และมีอาการแทรกซ้อน เช่น เหนื่อย หอบ บวม ตามืดมัวหรือบอด หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะมาก ปัสสาวะบ่อย ขัด เป็นหนอง หรือผิดปกติ ควรจะไปตรวจที่โรงพยาบาล ไม่ควรรักษาเอง


ข้อควรจำในการรักษา
1. ภาวะความดันเลือดสูงที่มีสาเหตุ (หาสาเหตุได้) และสามารถกำจัดสาเหตุได้ อาจหายขาดได้ ดังนั้น จึงควรพยายามหาและกำจัดสาเหตุโดยเฉพาะในคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปี อ้วนมาก ผอมมาก มีขนมาก ขาอ่อนแรง เป็นตะคริวบ่อย คอพอก ปัสสาวะผิดปกติ หรืออื่น ๆ

2. แต่ภาวะความดันเลือดสูง ส่วนใหญ่ที่ไม่มีสาเหตุ (หาสาเหตุไม่พบ) หรือจะเรียกว่า โรคความดันเลือดสูง (ภาวะความดันเลือดสูงที่ไม่มีสาเหตุ) เมื่อเริ่มเป็นแล้วเกือบทั้งหมดจะเป็นอยู่ตลอดชีวิต นั่นคือ ไม่หายขาด แต่อาจจะดีขึ้นหรือหายเป็นครั้งคราว (โดยไม่ต้องใช้ยาลดความดัน) ได้ คนที่เป็นโรคความดันเลือดสูง (อย่างแน่นอน) แล้ว แม้จะรักษาจนความดันเลือดเป็นปกติ และหยุดยาลดความดันเลือดได้แล้วก็ตาม ควรระวังความมันเลือดทุก 1-3 เดือนในระยะ 6 เดือนแรก และถ้ายังปกติควรจะวัดความดันเลือดทุก 6-12 เดือนในระยะ 2-3 ปีแรก หลังจากนั้นควรวัดความดันเลือดทุก 1-2 ปี ตลอดชีวิต

3. การรักษาภาวะความดันเลือดสูง ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นการรักษาเรื้อรัง หรือการรักษาตลอด ไม่ใช่รักษาบ้างไม่รักษาบ้าง กินยาบ้างกินยาบ้าง หรือความดันเลือดลดแล้วก็หยุดยาเอง หรือยาหมดก็คิดว่าหายแล้ว เป็นต้น
ถ้าจะหยุดยาควรจะค่อย ๆ ลดยาลง แล้ววัดความดันเลือดดูว่ายังปกติดีอยู่หรือไม่ ถ้าปกติจึงจะลดยาต่อ และทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหยุดยาได้หมด โดยที่ความดันเลือดไม่ขึ้น หลังจากนั้นก็ควรจะวัดความดันเลือดเป็นครั้งคราวดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

4. การรักษาที่ไม่สม่ำเสมอหรือรักษาบ้างไม่รักษาบ้าง หรือคิดว่าหายแล้วก็หยุดรักษา และหยุดวัดความดันเลือดไปตลอด จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ๆ เช่น

4.1 อัมพาต (paralysis) ส่วนใหญ่จะเป็นอัมพาตครึ่งซีก (แขน ขา และหน้าซีด (ด้าน) เดียวกันอ่อนแรงเป็นอัมพาต) กลืนแล้วสำลัก พูดไม่ได้ ฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดในสมองตีบตันหรือแตก

4.2 หัวใจตาย หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction) จากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบและตัน ทำให้เสียชีวิตทันทีได้หรือทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ และ/หรือหัวใจล้มหรือหัวใจวายได้

4.3 หัวใจวาย หรือหัวใจล้ม (heart failure ) นอกจากจะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายดังกล่าวในข้อ 4.2 แล้ว ยังเกิดจากความดันเลือดสูงโดยตรงได้ เพราะความดันเลือดสูงทำให้หัวใจต้องทำงานเพิ่มขึ้น เมื่อทำงานเพิ่มขึ้นนาน ๆ หัวใจจะโตขึ้น ๆ และต่อมาจะทำงานไม่ไหวเกิดหัวใจวายหรือหัวใจล้มได้

4.4 ไตวาย หรือไตล้ม (renal failure) ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุให้ความดันเลือดสูง แต่ความดันเลือดสูงเองก็เป็นสาเหตุทำให้ไตวายหรือไตล้มได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะถ้าความดันเลือดตัวล่างสูงมาก

4.5 ตามืดมัว หรือบอด (visual disturbances or blindness) เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในตาจากความดันเลือดสูง อาจมีเลือดออกที่จอตา (retinal hemorrhage) เลือดออกที่ตาขาว (conjunctival hemorrhage) หัวประสาทตาบวม (papilledema) หรืออื่น ๆ

4.6 เลือดกำเดาออกง่าย (nose-bleed หรือ epistaxis) โดยหาสาเหตุอื่นไม่ได้
การรักษาความดันเลือดสูงอย่างสม่ำเสมอ จนความดันเลือดลดลงอยู่ในระดับปกติเป็นประจำจะทำให้ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เกิดขึ้น หรือมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ทำให้ไม่ต้องเสียชีวิตหรือพิการ หรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ทั้งที่ภาวะความดันเลือดสูงเอง อาจไม่ทำให้เกิดอาการอะไรเลย
แต่ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากความดันเลือดสูงทำให้มีอาการมาก พิการได้มาก และเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันสมควรด้วย


การป้องกัน
สำหรับภาวะความดันเลือดสูง ที่มีสาเหตุนั้น การป้องกันก็คือการป้องกันที่สาเหตุเหล่านั้น ถ้าทำได้ เช่น ถ้าเคยตั้งครรภ์เป็นพิษ ก็ไม่ควรจะตั้งครรภ์อีก
สำหรับภาวะความดันเลือดสูง ที่ไม่มีสาเหตุ (โรคความดันเลือดสูง) การป้องกันให้เกิดเป็นโรคความดันเลือดสูง ยังไม่มีวิธีการที่แน่นอน วิธีที่อาจจะป้องกันได้ เช่น

1. ถ้าปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ พี่น้อง และตนเองเป็นโรคความดันเลือดสูง และ/หรือเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันเลือดสูง เมื่ออายุยังน้อย ก็ควรจะหลีกเลี่ยง จากการมีบุตร เพราะบุตรอาจจะเป็นโรคความดันเลือดสูงจากการสืบทอดทางกรรมพันธุ์นี้

2. อย่ากินอาหารเค็ม โดยเฉพาะอาหารที่เค็มจัด

3. อย่าให้อ้วน โดยเฉพาะ อย่ากินอาหารมัน และอาหารแป้ง

4. อย่าสูบบุหรี่ และดื่มสุรา ชา กาแฟ

5. อย่าเครียด โดยระลึกถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเสมอ จนไม่ต้องแก่งแย่ง แข่งขัน หรือมุ่งเอารัด เอาเปรียบกันด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่าทะเยอทะยาน หรือวางเป้าหมายเกินเอื้อม เป็นต้น

6. ออกกำลังกายเป็นประจำ

7. อยู่ในสถานที่ที่สงบ ปราศจากมลพิษทางกาย ทางใจ และในสิ่งแวดล้อม

8. มีความสันโดษ และดำรงตนเป็นธรรมชาติให้เกิดสมดุลระหว่างกายกับและสิ่งแวดล้อม
ภาวะความดันเลือดสูงและโรคความดันเลือดสูง จึงเป็นสิ่งที่ป้องกันได้บ้าง รักษาได้เกือบทั้งหมด และส่วนใหญ่รักษาได้โดยไม่ยากนัก

การวัดความดันเลือดของคนไข้ ทุกคนที่มาหาหมอ ไม่ว่าจะมาด้วยเรื่องอะไรก็ตาม โดยเฉพาะคนไข้ที่หมอยังไม่เคยวัด หรือยังไม่เคนรู้จัก จะช่วยทำให้พบคนไข้ที่เป็นโรคความดันเลือดสูงได้แต่เนิ่น ๆ เพื่อให้การรักษา ซึ่งจะป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้
 

ข้อมูลสื่อ

119-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 119
มีนาคม 2532
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์