• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เทสโตสเตอโรน...สารโดปธรรมชาติ


จากการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโซล เบน จอห์นสัน ทำให้คนทั่วโลกรู้จักยาตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “สตาโนโซลอล” (stanozolol) หรืออย่างน้อยคนที่จำชื่อ ยาโดปตัวนี้ไม่ได้ก็เกิดความสนใจขึ้นมาว่า ทำไมเขา (นักกีฬา) ถึงต้องโดปกัน และไอ้เจ้ายาโดปมันไปทำอะไรให้นักกีฬา จริงหรือที่ว่า เบน จอห์นสัน ชนะคาร์ล ลูอิส ชนิดขาดลอย แถมทำสถิติโลกขึ้นใหม่อย่างชนิดเหลือเชื่อเพราะอาศัยยาโดป
ครับ เราคงไม่พูดกันถึงรายละเอียด การโดปยาของเบน จอห์นสัน แต่ก็คงรู้กันแล้วว่า ยาโดปที่เบนใช้เป็นสารจำพวกสตีรอยด์ หรือเรียกให้จำเพาะเจาะจงลงไปก็คือ สารอนาบอลิกฮอร์โมน (anabolic hormone)

คำว่าอนาบอลิกฮอร์โมนหมายถึง ฮอร์โมนที่มีฤทธิ์เสริมสร้างเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย โดยปกติร่างกายคนเราจะสร้างฮอร์โมนเหล่านี้ขึ้นมาใช้เองอยู่แล้ว เพื่อซ่อมแซมหรือเสริมสร้างอวัยวะส่วนต่าง ๆ ตัวอย่างหนึ่งของสารกลุ่มนี้คือ “เทสโดสเตอโรน” หรือฮอร์โมนเพศชาย
เทสโดสเตอโรนเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญสำหรับเพศชายอย่างมาก เพราะเป็นตัวกำหนดลักษณะประจำเพศหลาย ๆ อย่าง เช่น ขนประจำเพศ อันได้แก่ หนวด เครา ขนหน้าแข้ง เป็นต้น ในผู้ชายที่เกิดเสียงห้าวก็เพราะฮอร์โมนตัวนี้ ความกำยำล่ำสันก็เช่นกัน ฉะนั้นถ้าใครขาดฮอร์โมนดังนี้ไปก็จะมีลักษณะเป็นผู้หญิงไปเลย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ขันทีในราชสำนักจีนโบราณเมื่อตัดเอาลูกอัณฑะออกก็หมดลักษณะความเป็นชาย หรือที่เรียกสำนวนสมัยใหม่คือ หมดเอกลักษณ์ของเอกบุรุษ ทั้งนี้เพราะลูกอัณฑะเป็นแหล่งสร้างฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนที่สำคัญ

เนื่องจากผู้หญิงมีฮอร์โมนตัวนี้น้อย ผู้หญิงจึงไม่อาจแข็งแรงได้เท่าผู้ชาย เพราะจำนวนมัดกล้ามเนื้อมีน้อยกว่า นี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่ค่อยเห็นผู้หญิงที่กล้ามเนื้อเป็นมัด ๆ ชัดเจนเหมือนผู้ชาย ยกเว้นผู้หญิงประเภทสอง อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นอยู่บ้างสำหรับผู้หญิงบางคน เช่น นักเทนนิสสตรีฝีมือระดับโลกที่เรารู้จักกันดี 2 คน คือ บิลลี จีน คิง กับมาร์ตินา นาฟราติโลวา ผู้ทีรูปร่างไปทางผู้ชายหน่อย ๆ นั่นก็พอนุมานได้ว่า ปริมาณเทสโตสเตอโรนในร่างกายเธอคงมีสูงเกินกว่าผู้หญิงทั่วไป
ด้วยเหตุนี้แหละครับพวกนักกีฬาถึงได้พยายามโดปยาจำพวกฮอร์โมนอนาบอลิกกัน โดยหวังว่ายาจะไปเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้ใหญ่ขึ้น และแข็งแรงขึ้นไปอีก เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์การกีฬาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริงซักเท่าไหร่ ไอ้ที่เห็นมัน (กล้ามเนื้อ) ใหญ่ขึ้น ๆ น่ะ เป็นผลจากการฝึกซ้อมที่หนักขึ้นซะมากกว่า แถมยังมีเรื่องของการบวมน้ำเข้ามาแทรกอีก ส่วนผลทางจิตใจนั้นมีแน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะแม้แต่ให้นักกีฬากิน “ยาแป้ง” (คือเม็ดยาที่ทำจากแป้งเปล่า ๆ) ก็ยังคึกคักทันตาเห็น

โทษของการโดปยาพวกฮอร์โมนอนาบอลิกมีมากมาย จาระไนกันทั้งวันไม่หมด สรุปง่าย ๆ ว่ามีตั้งแต่ทำให้เกิดสิวไปจนถึงเป็นมะเร็งของตับ (สำนวนพ่อค้าก็ว่า “ตั้งแต่ไม้จิ้มฟัน ยันเรือรบ”) ฉะนั้นการโดปยาพวกนี้คงเป็นสิ่งไม่น่าพิสมัยสักเท่าไหร่ แต่ผู้อ่านทราบไหมครับว่า นักวิ่งได้โดปยาเหล่านี้เป็นประจำอยู่แล้วจากการออกกำลังกาย เพราะการวิ่งแต่ละครั้งจะมีผลให้ร่างกายหลั่งสารฮอร์โมนอนาบอลิกออกมาหลายตัวที่สำคัญคือ เทสโตสเตอโรน ซึ่งพบว่าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในกระแสเลือด
ดังนั้น จะเรียกว่านักกีฬาโดปยาให้ตัวเองในการออกกำลังกายแต่ละครั้งก็ยังได้ แต่เป็นการโดปตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ผิดกฎทางกีฬา และไม่มีพิษภัยอย่างใดตามมา

ผู้อ่านละครับ...จะออกไปวิ่ง “โดปยา” กันหรือยัง

 

ข้อมูลสื่อ

117-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 117
มกราคม 2532
วิ่งทันโลก
นพ.กฤษฎา บานชื่น