• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษา อาการหน้ามืดเป็นลม

ประชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

สาเหตุที่พบบ่อยของอาการหน้ามืดเป็นลม
1. เป็นลมธรรมดา
เป็นลมธรรมดา
(vasodepressor หรือ vasovagal syncope) : เป็นอาการหน้ามืดเป็นลมที่พบบ่อยที่สุด มักเกิดในคนที่ร่างกายและ/หรือจิตใจอ่อนแอ เช่น ไม่สบาย เพิ่งฟื้นไข้ อดนอน หิวข้าว หิวน้ำ แล้วต้องอยู่ในที่ร้อนและอบอ้าวหรือแออัด โดยเฉพาะถ้าเครียด กังวล หงุดหงิด โกรธ หรือกลัว จะเกิดอาการง่ายขึ้น คนที่ออกกำลังในที่ร้อน ก็อาจเป็นลมเพราะร้อน (heat syncope) ได้

อาการมักจะเกิดขึ้นเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะแรก
คนไข้มักจะมีอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย ใจเต้นเร็วขึ้น หรือแรงขึ้น(ใจสั่น) หายใจ แรงขึ้น ถ้าวัดความดันเลือดจะพบว่า ความดันเลือดสูงขึ้น น้ำลายสอ หาวบ่อย เมื่อมีอาการเช่นนี้แล้ว ถ้าคนไข้ได้นั่งพักหรือนอนพักในที่เย็น ๆ ดมยาดมหรือโบกพัดลมให้ชุ่มชื่นขึ้น คนไข้ก็จะเป็นลมและกลับหายเป็นปกติ แต่ถ้าคนไข้ยังอยู่ในสภาพเหมือนเดิม อาการจะเข้าสู่ระยะที่ 2

ระยะที่สอง อาการในระยะนี้ อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีอาการในระยะแรกก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการในระยะแรกนำมาก่อน แล้วต่อมาจะรู้สึกหัวเบา ตัวเบาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกปั่นป่วนในท้อง คลื่นไส้ ขนลุก หน้าซีด มือเท้าเย็นซีด เหงื่อแตก อยากปัสสาวะ หรือกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยไหว ตาพร่ามัว สิ่งรอบตัวมืดลงแล้วหมดสติ(ไม่รู้ตัว) คนไข้มักจะค่อย ๆ ฟุบหรือทรุดลงกับพื้น แต่ในบางครั้ง ถ้าระยะที่สองนี้เกิดขึ้นฉับพลัน คนไข้อาจจะล้มฟาดทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ร่างกายส่วนต่าง ๆ ได้ และในกรณีที่คนไข้ไม่สามารถฟุบหรือทรุดลงกับพื้น หรือในกรณีที่เป็นมาก คนไข้อาจมีอาการชักเกร็งจากสมองขาดเลือดได้

ถ้าตรวจคนไข้ในระยะที่สองนี้ มักจะพบว่าหัวใจเต้นช้าลง อาจจะเต้นช้ามาก และอาจจะเต้นไม่สม่ำเสมอด้วย ความดันเลือดจะตกมาก จนอาจวัดได้ยาก แต่เมื่อคนไข้ล้มลง หรือทรุดลงจนนอนราบกับพื้นได้แล้ว คนไข้จะฟื้นคืนสติในเวลาไม่กี่นาที (ภายใน 5-10 นาทีเป็นส่วนใหญ่) แต่อาจจะรู้สึกมึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ไม่มีแรง และรู้สึกไม่ค่อยสบายอยู่เป็นเวลาอีก 1-2 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้นได้

การป้องกัน :ไม่ให้เกิดอาการเป็นลมแบบนี้ขึ้นบ่อย ๆ คือ การบำรุงรักษาสุขภาพทั้งกายและใจให้แข็งแรง อย่าเข้าไปอยู่ในที่ร้อน อบอ้าว หรือแออัด ในขณะที่ร่างกายอ่อนแอ จิตใจเครียด กังวล หงุดหงิด หรือไม่สบาย และเมื่อรู้สึกกระสับกระส่าย น้ำลายสอ หาวบ่อย ๆ มึนงง หรืออื่น ๆ รีบนั่งลง โดยเฉพาะท่านั่งหรือฟุบศีรษะ ลงกับเข่าหรือโต๊ะ หรือถ้ามีที่ที่สามารนอนลงได้ให้นอนลงทันที อาการจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าปล่อยจนเป็นลมแล้ว อาการจะดีขึ้นอย่างช้า และจนมีอาการอื่น ๆ หลงเหลืออยู่แม้จะฟื้นสติแล้ว

 

2. เป็นลมเมื่อเปลี่ยนท่า
เป็นลมเมื่อเปลี่ยนท่า (orthostatic hypotension) : คืออาการหน้ามืด เป็นลมเป็นเมื่อเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่านั่ง หรือท่ายืน โดยเฉพาะถ้าลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็วจากท่านอนหรือท่านั่ง หรือการยืนอยู่เฉย ๆ เป็นเวลานาน มักเกิดกับคนไข้ที่

2.1 สูงอายุ ร่างกายอ่อนแอ โดยเฉพาะคนที่นอนอยู่กับเตียงเป็นเวลานาน ๆ (หลายวันขึ้นไป) จนกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงและไม่ตึงตัว ทำให้เวลาลุกขึ้น เลือดจะตกไปกองอยู่ที่ขา ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง

2.2 ได้รับยาที่ทำให้ความดันเลือดตกเมื่อเปลี่ยนท่า เช่น ยาลดความดันเลือดหลายชนิด, ยาขับปัสสาวะ ยาแก้อาการซึมเศร้า ยานอนหลับ เป็นต้น

2.3 ปริมาตรพร่อง(ปริมาตรเลือด หรือปริมาตรน้ำในร่างกายพร่อง) เช่น คนไข้ตกเลือด คนไข้ท้องเดินมาก คนไข้อาเจียนมาก คนไข้ปัสสาวะมาก เป็นต้น

2.4 ระบบประสาทผิดปกติ เช่น ปลายประสาทพิการ (peripheral neuropathy) จากเบาหวาน จากโรคซิฟิลิส (กามโรคชนิดหนึ่ง) หรืออื่น ๆ ระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ สมองพิการบางชนิด เป็นต้น

2.5 ขามีหลอดโป่งขด (varicose veins) มาก หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงมาก ทำให้เลือดไปคั่งอยู่ในบริเวณขาโดยเฉพาะในท่ายืน
อาการมักจะเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็วกว่าอาการเป็นลมธรรมดา คนไข้อาจเกิดอาการทันทีที่ลุกขึ้นยืน หรือหลังจากนั้นไม่กี่นาที(หลังลุกขึ้น และเดินไปแล้วสักครู่) โดยจะรู้สึกมึนงง โซเซ วิงเวียน และต้องรีบนั่งลง แต่บางครั้งก็ทำให้หน้ามืดเป็นลม จนหมดสติล้มฟาดลงจนเกิดการบาดเจ็บตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้

การป้องกัน : คนไข้ที่มีอาการหน้ามืดเป็นลมเวลาเปลี่ยนท่า จะต้องเปลี่ยนท่าช้า ๆ เช่น ลุกจากที่นอน แล้วนั่งอยู่สักพัก (อย่างน้อย 2-3 นาที) ก่อนจะลุกขึ้นยืน เมื่อลุกขึ้นยืนใหม่ ๆ ควรจะเกาะผนังหรือหัวเตียงไว้ก่อน (ถ้ารู้สึกผิดปกติจะได้รีบนั่งใหม่) ยืนสัก 1-2 นาที แล้วถ้ารู้สึกปกติดี จึงออกเดิน ก็จะลดอันตรายจากอาการหน้ามืดเป็นลมเวลาเปลี่ยนท่าได้
นอกจากนั้นจะต้องออกกำลังบริหารขาโดยการเดินหรือการย่อตัว วันละหลาย ๆ ครั้ง ๆ ละหลาย ๆ นาที ในระยะแรกควรมีคนอยู่ข้าง ๆ หรือใช้ไม้เท้า หรือโต๊ะไว้สำหรับเกาะ หรือพยุงตัวถ้าหน้ามืด
ถ้ามีโรค เช่น เบาหวาน ท้องเดิน หรืออื่น ๆ ต้องควบคุมหรือรักษาโรคเหล่านั้นให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ อาการหน้ามืดเป็นลมจะได้ดีขึ้น
ถ้ากินยาอะไร แล้วทำให้หน้ามืดเป็นลมขณะเปลี่ยนท่า จะต้องลดขนาดยานั้นลง และถ้ายังไม่ดีขึ้น ให้หยุดยาเสีย
ถ้าขามีหลอดเลือดโป่งขดมาก หรือกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ควรใส่ถุงเท้ายาวที่สวมได้ถึงเข่าหรือเหนือเข่า และยืดหดใต้(ถุงน่องอย่าหนา) หรือใช้แถบผ้ายืดหด(elastic bandage) พันขาจากเท้าหรือข้อเท้าขึ้นมาจนถึงต้นขา เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไปคั่งอยู่ที่ขาหรือตกลงไปกองอยู่ที่ขาเวลาเปลี่ยนท่า เป็นต้น

 

3. เป็นลมเพราะเบ่ง
เป็นลมเพราะเบ่ง (valsalva maneuver syncope) : คือ อาการหน้ามืด เป็นลมที่เกิดขึ้นหลังการกลั้นหายใจแล้วเบ่ง เช่น เวลาเบ่งอุจจาระในขณะท้องผูกมาก ๆ ขณะที่กำลังจะยกของหนัก ๆ หรือผลักดันของหนัก ๆ ให้เคลื่อนที่ เป็นต้น หรือในเด็กเล็ก ๆ ที่ร้องไห้อย่างมาก ก็จะเกิดการกลั้นหายใจแล้วเบ่ง ทำให้เป็นลมได้
อาการเป็นลมเพราะเบ่ง เกิดจากเลือดเข้าสู่หัวใจน้อยลง ในขณะที่กลั้นหายใจแล้วเบ่ง ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย รวมทั้งสมองน้อยลง

การป้องกัน : อย่ากลั้นหายใจแล้วเบ่งอย่างรุนแรง จะทำให้หน้ามืด เป็นลมได้
 

                               


4. เป็นลมเพราะไอ
เป็นลมเพราะไอ
(cough syncope) : คืออาการหน้ามืดเป็นลมที่เกิดจากการไออย่างรุนแรงติด ๆ กัน เช่น จากโรคไอกรน (pertussis) ซึ่งเป็นในเด็ก, ส่วนในผู้ใหญ่ มักเกิดในผู้ชายที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis) หรือโรคถุงลมพอง (pulmonary emphysema) ซึ่งเกิดจากการสูบบุหรี่
อาการเป็นลมเพราะไอ เกิดขึ้นด้วยกลไกเช่นเดียวกับอาหารเป็นลมเพราะเบ่ง เพราะมีการหายใจเข้า กลั้นหายใจ แล้วเบ่ง (เพื่อไอ) เช่นเดียวกัน

การป้องกัน : อย่าไอรุนแรง อย่าไอติด ๆ กัน และรักษาโรคที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นโดยเร็ว

 

5. เป็นลมเพราะปัสสาวะ
เป็นลมเพราะปัสสาวะ (micturition syncope) : คืออาการหน้ามืดเป็นลมในขณะหรือหลังปัสสาวะ
อาการเป็นลมเพราะปัสสาวะ อาจเกิดจาก

5.1 เป็นลมเพราะเบ่งปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากกลไกเดียวกับอาการเป็นลมเพราะเบ่ง (ข้อ 3) ป้องกันโดย อย่ากลั้นหายใจแล้วเบ่งมาก

5.2 เป็นลมหลังปัสสาวะ ซึ่งมากจะเกเพราะการกลั้นปัสสาวะไว้นาน ๆ แล้วจนสุดอาการหน้ามืดเป็นลมจะเกอดขึ้นในขณะปัสสาวะ หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย อาการมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนหลายครั้งคนไข้ทรุดตัวลงไม่ทัน ทำให้ล้มฟาดลง และเกิดการบาดเจ็บจาการที่ศีรษะ หรือร่างกายส่วนอื่นฟาดกับพื้น โถส้วม อ่างล้างมือ หรือสิ่งอื่น
 

                           
                                   
อาการเป็นลมหลังปัสสาวะ มักเกิดในผู้ชาย โดยเฉพาะหลังดื่มสุราเป็นจำนวนมาก และมักเกิดในเวลากลางคืน โดยเฉพาะเมื่อตื่นขึ้น ปัสสาวะกลางดึก เข้าใจว่าอาการเป็นลมหลังปัสสาวะ เกิดจากการที่กระเพาะปัสสาวะโป่ง (เพราะไม่ได้ปัสสาวะเป็นเวลานาน หรือเพราะดื่มสุรา หรือน้ำ ทำให้มีปัสสาวะมาก) พอพอถ่ายปัสสาวะจนสุด กระเพาะปัสสาวะที่โป่งแล้วแฟบลงทันที ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายขยายตัว ทำให้ความดันเลือดตก เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ จึงเกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้

การป้องกัน : อย่ากลั้นปัสสาวะนาน ๆ ถ้าจำเป็นต้องกลั้นปัสสาวะนาน ๆ เมื่อเวลาจะถ่ายปัสสาวะ ให้นั่งถ่าย (อย่ายืนถ่าย) และอย่าถ่ายจนสุด รอไว้อีกสัก 5-10 นาที แล้วค่อยถ่ายใหม่ ถ้ามันเกิดอาการนี้ หลังดื่มสุรา ควรหยุดหรือลดการดื่มลง
 

( อ่านต่อฉบับหน้า )

ข้อมูลสื่อ

111-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 111
กรกฎาคม 2531
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์