• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการสะอึก

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

 
 

คนทุกคนหรือเกือบทุกคนคงเคยสะอึกมาแล้วอย่างน้อย 1-2 ครั้ง แต่ถ้าถามว่าสะอึกนั้นเป็นอย่างไร อาจทำให้งงและตอบไม่ถูก
อาการสะอึกในที่นี้ หมายถึง อาการหายใจเข้าอย่างแรงที่เกิดจากกล้ามเนื้อหายใจ (กะบังลมและกล้ามเนื้อซี่โครง) หดตัวอย่างรุนแรง แต่การหายใจเข้าต้องหยุดชะงักด้วยการปิดของช่องสายเสียง ซึ่งเกิดตามหลังการเริ่มหายใจเข้า ในพริบตาเดียว (ภายใน 35 มิลลิวินาที) ทำให้เกิดเสียงสะอึก (เสียงอึ๊ก ๆ) และเกิดความรู้สึกไม่สบายขึ้น
อาการสะอึกในที่นี้ จึงไม่ใช่การสะอึกเข้าใส่ (การกรากเข้าใส่ หรือการพรวดเข้าใส่) แต่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการร้องไห้ที่เป็นมากจนทำให้สะอึก หรือสะอึกสะอื้นได้เมื่อพบคนไข้ที่มีอาการสะอึกในระยะแรกให้แยกว่าคนไข้นั้นมีอาการฉุกเฉินหรือเจ็บหนักหรือไม่ (ดูแผนภูมิที่ 1)
 

  
 

คนไข้ที่สะอึกจนถือว่าฉุกเฉิน จะมีอาการอื่นร่วมด้วยดังนี้ เช่น
1. สะอึกรุนแรงจนหายใจไม่ได้หรือหายใจลำบาก
2. สะอึกตลอดเวลาจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ
3. มีอาการฉุกเฉินหรือเจ็บหนักอื่น ๆ เช่น ไข้สูง ปวดท้องมาก หน้าท้องกดเจ็บและแข็งเป็นดาน
อาเจียนมาก ไม่ค่อยรู้สึกตัว เจ็บอกมาก ไอมาก ปัสสาวะไม่ค่อยออก หลง เลอะเลือน ชัก เป็นต้น
ถ้าคนไข้มีอาการฉุกเฉิน หรือเจ็บหนัก ให้รีบรักษาอาการฉุกเฉินหรือเจ็บหนักนั้น ๆ ก่อน (ดูการ
ตรวจรักษาอาการฉุกเฉินและเจ็บหนักใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 64-65)
เมื่อคนไข้พ้นจากภาวะฉุกเฉินหรือเจ็บหนักแล้ว จึงค่อยรักษาอาการสะอึก



การวินิจฉัย :
โดยทั่วไปจะวินิจฉัยอาการสะอึกได้ไม่ยากนัก จากอาการหายใจเข้าอย่างรุนแรง และถูกหยุดทันที ทำให้ทรวงอกและหน้าท้องกระเพื่อม และเกิดเสียงสะอึกขึ้น ในรายที่เป็นน้อย ๆ อาจไม่มีเสียงสะอึก แต่ทรวงอกและหน้าท้องจะยังกระเพื่อมให้เห็น



การรักษา :
1. ถ้ามีสาเหตุที่ทำให้สะอึก หรือสงสัยว่าสิ่งใดเป็นสาเหตุ ให้บรรเทาหรือกำจัดสาเหตุนั้นก่อน เช่น ถ้าสงสัยอาหารติดคอแล้วสะอึก ให้ดื่มน้ำจนหายอาการ “อาหารติดคอ” ถ้าอาการสะอึกดีขึ้นหรือหายไป อาการสะอึกนั้นน่าจะเกิดจากสาเหตุ “อาหารติดคอ” เป็นต้น (สาเหตุที่ทำให้สะอึกจะได้กล่าวถึงต่อไป)

2. ถ้าบรรเทาหรือกำจัดสิ่งที่คิดว่าจะเป็นสาเหตุแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือไม่สามารถบรรเทา หรือกำจัดสาเหตุได้ หรือไม่รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุ อาจลองวิธีต่าง ๆ ดังนี้ เช่น
2.1 ให้ดื่มน้ำช้า ๆ จากขวด หรือแก้วน้ำใบใหญ่ ๆ โดยให้ดื่มตลอดเวลา นั่นคือ ให้กลืนน้ำติด ๆ กันไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องหายใจจนอาการสะอึกหาย หรือจนกลั้นหายใจต่อไปไม่ได้

2.2 ทำให้จาม เช่น โดยการใช้เส้นขนหรือสิ่งอื่นเขี่ยภายในจมูก ให้ดมพริกไทย ยานัตถุ์ หรือสิ่งอื่น

2.3 ให้กลืนน้ำตาลทรายขาว 1-2 ช้อนโต๊ะ โดยไม่ต้องใช้น้ำ

2.4 ให้กลั้นหายใจหรือหายใจในถุง หรือหายใจให้ตื้นและช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนอาการสะอึกดีขึ้นหรือหายไป
คนไข้ที่สะอึนรุนแรง มักจะกังวล กลัว หรือหงุดหงิด ทำให้หายใจเร็วขึ้นหรือมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สะอึกมากขึ้นด้วย คนไข้ที่เจาะคอไว้ ถ้าสะอึก มักจะสะอึกนานและรุนแรง เพราะการเจาะคอทำให้ลมเข้าออกทางรูที่เจาะโดยไม่ต้องผ่านช่องสายเสียง ดังนั้นแม่ช่องสายเสียงจะปิด แต่ลมก็ผ่านเข้าออกทางรูที่เจาะไว้ ทำให้หายใจมากกว่าปกติ จึงทำให้สะอึกนานและรุนแรง

2.5 ทำให้โกรธ กลัว ตื่นเต้น หรือเกิดอารมณ์รุนแรงอื่น ๆ อาจจะหยุดอาการสะอึกได้

2.6 ให้ยา เช่น
2.6.1 ยาคลอร์โพรมาซีน (cholorpromazine หรือชื่อการค้า เช่น largactil, matcine) เม็ดละ 25 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ดทุก 4-6 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจเพิ่มเป็นครั้งละ 2 เม็ดได้

2.6.2 ยาเฮลโลเพอริดอล (haloperidol หรือชื่อการค้า เช่น Haldol, Halomed, Halo-P, Halopol, Haricon, Halidol) เม็ดละ 0.5 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 เม็ดทุก 6-8 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจกินเม็ดละ 2 มิลลิกรัมทุก 6-8 ชั่วโมง

2.6.3 ยาไดอะซีแพม
(diazepam) เม็ดละ 2 หรือ 5 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 6-8 ชั่วโมง
ยาทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวถึงข้างต้น กินแล้วจะทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้ ดังนั้นถ้ากินยานี้แล้วเกิดอาการง่วงซึม ห้ามขัยรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายได้

3. ถ้าลองรักษาตามวิธีข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรไปโรงพยาบาล เพื่อการตรวจรักษาอื่น ๆ ต่อไป
 


สาเหตุ :

สาเหตุที่ทำให้คนเราสะอึกมีมากมาย ที่สำคัญ เช่น
1. การผิดปกติที่กะบังลม หรืออวัยวะที่อยู่ใกล้กะบังลม (ดูรูป) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด และเป็น
สาเหตุที่พบบ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 4-5 เท่า
 

  

ความผิดปกติที่ทำให้สะอึก อาจแบ่งเป็น
1.1 ความผิดปกติในช่องอก เช่น กลืนอาหารอย่างรีบร้อน อาหารติดคอ กลืนลำบาก (มะเร็ง
หลอดอาหาร หลอดอาหารตีบ
) กล้ามเนื้อหัวใจตาย (เจ็บแน่นอกมาก) ปอดอักเสบ (ไข้สูง ไอ) มีน้ำหนอง หรือเลือดในช่องอก (ไข้สูง เจ็บอก ไอ) ทรวงอกถูกกระแทก (ประวัติอุบัติเหตุ) เส้นประสาทกะบังลมถูกกระตุ้น เช่น จากการผ่าตัดช่องอก การอักเสบกลางอก (mediastintis) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma) กลางอกไประคายเส้นประสาทกะบังลม เป็นต้น

1.2 ความผิดปกติในช่องท้อง เช่น เยื่อบุช่องท้องอักเสบเฉียบพลัน (ไข้สูง ปวดท้อง หน้าท้องกด
เจ็บ และแข็งเป็นดาน)
กระเพาะลำไส้อุดตันหรือไม่ทำงาน (ปวดท้อง ท้องอืด หน้าท้องโป่งพอง และอาจกดเจ็บ อาเจียน) หลังผ่าตัดช่องท้อง ตับอ่อนอักเสบ (ไข้สูง ปวดท้องมาก ท้องอืด อาจตัวเหลือง ตาเหลือง) เป็นต้น

2. ความผิดปกติที่สมอง เช่น กะโหลกศีรษะแตก สมองถูกกระทบกระเทือน (ประวัติอุบัติเหตุ) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (ไข้สูง คอแข็ง ไม่ค่อยรู้สึกตัว) สมองถูกพิษสุรา (ประวัติดื่มสุรา) พิษจากไตไม่ทำงาน (ประวัติโรคไต ปัสสาวะผิดปกติ) เป็นต้น

3. จิตใจ เช่น ภาวะเครียด กังวล การแกล้งทำ เป็นต้น สาเหตุทางจิตใจพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะถ้าเป็นอาการสะอึกเรื้อรัง (อาการสะอึกเรื้องรังในเพศหญิง มักเกิดสาเหตุทางจิตใจ ส่วนอาการสะอึกเรื้องรังในเพศชาย มักเกิดจากสาเหตุในข้อ 1 หรือ 2)
บางครั้งอาจแยกอาการสะอึกทีเกิดขึ้นเอง จากอาการสะอึกที่เกิด เพราะการแกล้งทำ (แกล้งทำเป็นสะอึก) ได้ โดยการแอบสังเกตดูในขณะที่คนไข้ไม่รู้ตัวว่ามีคนกำลังเฝ้ามองตนอยู่หรือในขณะที่คนไข้หลับ อาการสะอึกที่เกิดจากการแกล้งทำจะหายไปในขณะหลับและในขณะที่คนไข้อยู่คนเดียว
อาการสะอึกที่เกิดจากการแกล้งทำ ควรจะได้รับการรักษา โดยสาเหตุที่ทำให้คนไข้ต้องการความสนใจหรือห่วงใยจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด และพยายามบรรเทา หรือกำจัดสาเหตุนั้นเสีย การดุว่าหรือทำเป็นไม่สนใจ อาจทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น หรือเปลี่ยนเป็นปฏิกิริยาอื่นที่รุนแรงหรืออันตรายมากขึ้นได้

การรักษาอาการสะอึก จึงไม่ใช่สิ่งยากเย็นอะไรนัก แต่ถ้าพบอาการผิดปกติอื่น เช่น ไข้สูง ไม่ค่อยรู้สึกตัว เจ็บอกมาก ปวดท้องมาก อาเจียนมาก หน้าท้องกดเจ็บ และแข็งเป็นดาน ปัสสาวะไม่ค่อยออก หรืออาการรุนแรงอื่น ๆ ควรส่งคนไข้ไปโรงพยาบาล เพราะอาการสะอึกมีความสำคัญน้อยกว่าอาการที่เกิดขึ้นร่วมด้วย
 

ข้อมูลสื่อ

109-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 109
พฤษภาคม 2531
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์