• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการหน้ามืดเป็นลม

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถอะ” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

อาการหน้ามืดเป็นลม เป็นอาการที่พบบ่อยมากอีกอาการหนึ่ง คนไข้ที่มาบอกว่า เป็นลมหน้ามืดหรือหน้ามืดเป็นลม แต่ละคนจะให้ความหมายของอาการนี้ไม่เหมือนกัน เช่น

บางคนจะบอกว่า อาการเป็นลมหน้ามืดของตนนั้นมีอาการแน่นท้อง อึดอัด ลมตีขึ้น ต้องเรอเอิ้ก ๆ แล้วอาการก็ดีขึ้น บางคนจะบอกว่า อาการเป็นลมหน้ามืดของตนนั้นมีลักษณะคล้ายหัวเบา ตัวเบา แขนขาอ่อนแรง ต้องยืนพิงหรือนั่งพิงอะไรสักหน่อย แล้วก็ดีขึ้น บางคนจะบอกว่า อาการเป็นลมหน้ามืดของตนนั้น มีอาการใจสั่น ใจหวิว วิงเวียน มึนงง หรืออ่อนเพลีย อาจเป็นอยู่สักครู่เดียว หรือเป็นวัน ๆ ก็มี
ตัวอย่างอาการที่กล่าวถึงข้างต้น อาจจะใช่หรือไม่ใช่อาการเป็นลมหน้ามืดก็ได้ ในที่นี้จะถือว่าตัวอย่าง อาการดังกล่าวข้างต้นคืออาการเป็นลมหน้ามืด ก็ต่อเมื่ออาการเหล่านั้นทำให้เกิดลักษณะของอาการหน้ามืดเป็นลมจริง ๆ ดังนี้ คือ

 

อาการหน้ามืด (impending faint หรือ presyncope) หมายถึงอาการวิงเวียนหัว ตามัวจนมองอะไรพร่าไปหมด หรือวูบไปคล้ายจะไม่รู้สึกตัว(หมดสติ) แต่ยังรู้สึกตัวอยู่(ยังไม่หมดสติ) อาการเวียนหัวในที่นี้ไม่ใช่อาการวิงเวียน (vertigo) ที่เกิดจากความรู้สึกว่าสิ่งที่อยู่รอบตัว(บ้าน)หมุน หรือตัวเองหมุน(ดูเรื่อง เวียนศีรษะ ในมาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 72-77)

 

อาการเป็นลม (faint หรือ syncope) หมายถึง อาการหมดสติไปชั่วขณะ จากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลงทันที ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายลดลงทันที(ปริมาณเลือดจากหัวใจ หรือ cardiac output ลดลงทันที) ทำให้สมองโดยทั่วไปขาดแคลนเลือดไปเลี้ยงฉับพลัน จึงทำให้หมดสติไปชั่วครู่ (ในเวลาพริบตาเดียว ไม่กี่วินาที หรืออาจเป็นเวลาหลายนาที แต่ไม่ถึงชั่วโมง)

การวินิจฉัย : โดยทั่วไปจะวินิจฉัยอาการหน้ามืดเป็นลมได้ จากการที่คนไข้ล้มลง ทรุดลง หรือฟุบลง ไม่รู้สึกตัวหรือไม่ค่อยรู้สึกตัว แต่ยังหายใจได้ และคลำชีพจรได้ ส่วนคนไข้ที่มีอาการหน้ามืด จะยังรู้สึกตัวอยู่ แต่อาจจะมึนงง รู้สึกหวิวหรือวูบและอ่อนแรงลงเท่านั้น    


การรักษา : เมื่อพบคนไข้ที่เป็นลม                                  
1. ควรรีบให้คนไข้นอนราบ หัวต่ำ (ไม่หนุนหมอน) และใช้หมอน หรือสิ่งอื่นยกขาให้สูงขึ้น


                          

2. สังเกตการณ์หายใจและคลำชีพจรที่คอ หรือที่ขาหนีบ ถ้าคนไข้หายใจได้และเราคลำชีพจรของ
เขาได้ จึงอาจถือว่าคนไข้เป็นลม (ถ้าคลำชีพจรที่คอและที่ขาหนีบไม่ได้ ต้องถือว่าหัวใจหยุด และรีบฟื้นชีวิตทันที ถ้าคนไข้หายใจลำบากต้องช่วยหายใจก่อน ดูการรักษาคนไข้ที่ฉุกเฉินและเจ็บหนัก ในมาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 64-65)

                          


3. คลายเสื้อผ้า (เครื่องนุ่มห่ม) ที่คับ ให้หลวมออก

4. กันไม่ให้คนมามุงล้อมผู้ป่วย

5. ใช้พัดหรือสิ่งอื่นโบกลมให้ผู้ป่วย

6. อาจให้คนไข้สูดดมยา เช่น ยาหม่อง พิมเสน แอมโมเนียหอม หัวหอม หรืออื่น ๆ

7. อาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็น(ในที่ที่อากาศร้อน)เช็ดหน้า คอ แขนขา และลำตัวของคนไข้
โดยทั่วไปคนไข้เป็นลมที่ได้รับการรักษาข้างต้น จะกลับฟื้นคืนสติในเวลาไม่กี่นาที ถ้าคนไข้ไม่ฟื้นคืนสติหลังการปฐมพยาบาลข้างต้น จะต้องตรวจรักษาแบบคนไข้หมดสติ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในฉบับต่อ ๆ ไป

8. เมื่อคนไข้ฟื้นคืนสติแล้ว ควรให้นอนพักหรือนั่งพักอย่างน้อยสัก 1-2 ชั่วโมง เพราะถ้าให้คนไข้
ลุกขึ้น หรือกลับไปทำงานทันที จะเกิดอาการหน้ามืดเป็นลมอีกได้

9. เมื่อคนไข้รู้สึกตัวดีแล้ว ต้องตรวจหาสาเหตุของอาการเป็นลม เพื่อให้การป้องกันและรักษาสา
เหตุ คนไข้จะได้ไม่เกิดอาการเป็นลมขึ้นอีก หรือถ้าเกิดขึ้นอีกก็ไม่รุนแรง และไม่ทำให้เกิดอันตรายได้
สำหรับคนไข้ที่มีอาการหน้ามืด ให้รักษาเช่นเดียวกับคนไข้ที่เป็นลม แต่อาจให้นั่งแทนนอน (ถ้าไม่มี
ที่นอนที่สะอาดและไม่ขัดต่อความรู้สึก)
เป็นต้น

การหาสาเหตุ
: สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการหน้ามืดเป็นลมจะรู้ได้โดยการซักประวัติให้ดี การตรวจร่างกายจะให้ประโยชน์ในกรณีที่มีสิ่งผิดปกติหลงเหลือให้ตรวจพบเท่านั้น แต่ก็ควรตรวจร่างกายเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีความผิดปกติใด ๆ หลงอยู่

( อ่านต่อฉบับหน้า )

 

ข้อมูลสื่อ

110-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 110
มิถุนายน 2531
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์