• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการหน้ามืดเป็นลม

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

ในฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงสาเหตุที่พบบ่อยของอาการเป็นลมหน้ามืด บางสาเหตุ เช่น เป็นลมธรรมดา เป็นลมเมื่อเปลี่ยนท่า เป็นลมเพราะเบ่ง เป็นลมเพราะไอ และเป็นลมเพราะปัสสาวะ ในฉบับนี้จะได้กล่าวถึงสาเหตุที่พบบ่อยต่อจากฉบับที่แล้ว       

      

  


6. เป็นลมเพราะจิตใจ
เป็นลมเพราะจิตใจ (psychogenic syncope) : คืออาการหน้ามืดเป็นลมที่เกิดจากจิตใจ อาจแบ่งเป็น
6.1 เป็นลมธรรมดา (ดูข้อ 1) ซึ่งเกิดจากภาวะเครียด หงุดหงิด กังวล โกรธ ตื่นเต้น กลัว จนทำให้เกิดอาการหน้ามือเป็นลมขึ้น ป้องกันโดยพยายามหันเหความสนใจไปสู่สิ่งอื่น หรือนับ 1 ถึง 100 เพื่อให้จิตใจสงบลง นั่งพัก นอนพัก เพื่อป้องกันอาการหน้ามืดเป็นลม เป็นต้น

6.2 เป็นลมเพราะอุปาทาน (hysterical syncope หรือ conversion reaction syncope) เกิดจากการที่คนไข้ผิดหวังในบางสิ่งบางอย่าง แล้วความผิดหวังนั้นแสดงออกมาเป็นอาการทางกาย เช่น เป็นลม ชัก ปวดศีรษะรุนแรง ปวดท้องรุนแรง หรืออื่น ๆ นอกจากข้อ 1 และ ข้อ 6.1 ได้เพราะคนไข้ที่เป็นลมเพราะอุปาทานจะยังรู้สึกตัวเป็นปกติ (ไม่หมดสติ) ไม่มีอาการหน้าซีด มือเท้าซีด ตัวเย็น หรือเหงื่อแตก ไม่ดีขึ้นแม้จะนอนราบลงแล้ว แต่อาการจะดีขึ้นหรือหายไปถ้าอยู่คนเดียว หรือเกิดความรู้สึกว่าจะถูกทอดทิ้ง หรือจะเป็นอันตราย ถ้ายังเป็นลมอยู่ต่อไปอีก หรือถ้าได้รับคำแนะนำที่แข็งขันว่า อาการเป็นลมที่เกิดขึ้นจะรักษาได้ ข้อควรปฏิบัติอย่างอื่นคือ ให้ดมยาดม และหายใจเข้าออกช้า ๆ แล้วสักครู่จะดีขึ้น
การป้องกัน : ต้องพยายามแก้ไขความผิดหวังที่เป็นสาเหตุให้เบาบางลง หรือหมดไป ห้ามไม่ให้ดุ หรือด่าว่าคนไข้แกล้งทำ (แกล้งเป็นลม) เพราะที่จริงแล้ว คนไข้ไม่ได้แกล้ง แต่ความผิดหวังนั้นถูกเปลี่ยนเป็นอาการทางกาย ครอบครัวควรให้ความใกล้ชิด ความอบอุ่น และความช่วยเหลือแก่คนไข้ จะป้องกันไม่ให้คนไข้เป็นลมเพราะอุปาทานอีก

6.3 เป็นลมเพราะแกล้ง หรือแกล้งเป็นลม (malingering syncope) คือ การแกล้งเป็นลม อาการคล้าย ข้อ 6.2 มาก และอาจแยกจากข้อ 6.2 ได้ยากมาก ต้องอาศัยประวัติที่เป็นคนชอบแกล้งป่วย แกล้งเจ็บ และประวัติการทะเลาะเบาะแว้ง หรือความต้องการแกล้งใครสักคน (ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิด)
การป้องกัน : คล้ายข้อ 6.2 แต่อาจต้องใช้ “ไม้แข็ง” มากกว่า “ไม้นวม” และอาจต้องมีการลงโทษถ้าชอบแกล้งทำบ่อย ๆ

6.4 เป็นลมเพราะหายใจเกิน (hyperventilation syncope) : คืออาการหน้ามืดเป็นลมหลังหายใจเร็วและลึกเป็นเวลานาน คนไข้มักมีอาการแน่นอึดอัด รู้สึกหายใจไม่สะดวก จึงหายใจเร็วและแรง ต่อมาจะมีอาการมึนงง ตัวเบา หัวเบา รู้สึกริมฝีปากและมือเท้าคล้ายเป็นเหน็บชา และแข็งเกร็ง ต่อมาจะหน้ามืดเป็นลม และชักได้
การรักษา : ให้ใช้ถุงใหญ่ ๆ ครอบปากและจมูก ให้คนไข้หายใจในถุงสักพัก (5-10 นาที) แล้วจะดีขึ้น
การป้องกัน : คล้ายข้อ 1 และข้อ 6.2

 


7. เป็นลมเพราะหัวใจ
เป็นลมเพราะหัวใจ (cardiac syncope) : คือ อาการเป็นลมที่เกิดขึ้นเพราะหัวใจผิดปกติ (ไม่ใช่เพราะจิตใจผิดปกติ ดังในข้อ 6)
อาการเป็นลมเพราะหัวใจ อาจแบ่งออกเป็น
7.1 เป็นลมเพราะหัวใจเต้นผิดปกติ (syncope from cardiac arrhythmia) เช่น

ก. หัวใจหยุดเต้น (cardiac arrest) คนไข้จะหมดสติทันที และคลำชีพจรที่คอ และขาหนีบไม่ได้ ต้องรีบทำการฟื้นชีวิตทันที (ดู วิธีรักษา คนไข้ฉุกเฉินและเจ็บหนัก ในมาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 64-65) อย่าไปรอว่าคนไข้ล้มฟุบ ลงนอนราบแล้ว จะหายจากอาการเป็นลม เพราะการที่คลำชีพจรที่คอ และขาหนีบไม่ได้ ให้ถือว่า หัวใจหยุดเต้นแล้ว ต้องฟื้นชีวิตทันที มิฉะนั้น คนไข้จะตาย
การป้องกัน : รักษาโรคที่เป็นอยู่ที่ทำให้หัวใจหยุด

ข. หัวใจเต้นช้ามาก (severe bradycadia) คือ หัวใจเต้นช้ากว่า 30-40 ครั้ง/นาที คนไข้อาจจะหมดสติทันทีได้ ถ้าหัวใจเต้นช้าลงอย่างกะทันหัน (Morgagni Adams-Stroke syncope) แต่ถ้าหัวใจค่อย ๆ เต้นช้าลง หรือเต้นช้าเป็นประจำอยู่แล้ว คนไข้อาจจะไม่มีอาการอะไร แม้หัวใจจะเต้นเพียง 30-40 ครั้ง/นาที ถ้าคนไข้เป็นลมหมดสติ เพราะหัวใจเต้นช้ามาก ให้กระตุ้น โดยการทุบหน้าอก การเขย่าตัว หรืออื่น ๆ เพื่อทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ถ้ายังไม่ดีขึ้น ให้ฉีดยาอะโทรพีน (atropine) หรืออะครีนาลีน (adrenaline) เข้าเส้นครั้งละ 0.1-0.2 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ทุก 1-2 นาที จนหัวใจเต้น 50-60 ครั้ง/นาที ให้หยุดฉีดทันที
การป้องกัน : หลีกเลี่ยงจากชนวนที่ทำให้หัวใจเต้นช้าจนเป็นลม เช่น ยาบางชนิด การเบ่งเป็นต้น ถ้ามักเป็นลมหมดสติเพราะหัวใจเต้นช้าบ่อย ๆ อาจกินยาอีฟิดรีน (ephedrine) ครั้งละ 1/2-1 เม็ดทุก 3-6 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ถ้ากินยาแล้วยังมีอาการเป็นลมหมดสติบ่อย ๆ ควรใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ โดยให้แพทย์หัวใจใส่ให้

ค. หัวใจเต้นเร็วมาก (severe tachycadia) คือหัวใจเต้นเร็วกว่า 160-180 ครั้ง/นาทีในผู้ใหญ่ คนไข้อาจจะหน้ามือเป็นลมได้ ถ้าหัวใจ (ชีพจร) เต้นสม่ำเสมอ อาจลองล้วงคอให้คนไข้อาเจียน และถ้าคนไข้เพียงแต่หน้ามืด แต่ยังไม่หมดสติ ให้คนไข้หายใจเข้าเต็มที่ กลั้นหายใจแล้วเบ่งอย่างรุนแรง จนกระทั่งกลั้นหายใจต่อไปไม่ได้ อาจทำให้หัวใจเต้นช้าลงได้ ถ้าไม่สำเร็จหรือชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ ให้ส่งโรงพยาบาล
การป้องกัน : ให้รักษาโรคที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

7.2 เป็นลมเพราะหัวใจผิดปกติ เช่น ลิ้นหัวใจตีบ (cardiac valvular subvalvular stenosis) กล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction) หัวใจถูกบีบอัด (cardiac tamponade) หลอดเลือดปอดถูกอุด (pulmonary embolism) หลอดเลือดเอออร์ตาแยก (aortic dissection) เป็นต้น
การวินิจฉัย : รู้ว่าคนไข้เป็นลม เพราะหัวใจผิดปกติ โดยตรวจพบว่า หัวใจของคนไข้โต หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เสียงหัวใจผิดปกติ ความดันเลือดสูงมาก หรือต่ำมากหรือแคบมาก (ดูวิธีการตรวจความดันเลือด และหัวใจ ในมาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 40) และคนไข้ มักมีอาการอื่น ๆ ของโรคหัวใจด้วย เช่น หอบเหนื่อย บวม เจ็บอกมาก เป็นต้น
การรักษาและป้องกัน : ต้องตรวจให้รู้ว่า คนไข้เป็นโรคหัวใจชนิดใด จึงจะทำการรักษาและป้องกันได้ถูกต้อง ดังนั้น ถ้าพบว่า คนไข้เป็นลมเพราะหัวใจผิดปกติ ต้องส่งคนไข้ไปโรงพยาบาล หลังให้การปฐมพยาบาลแล้ว
 

( อ่านต่อฉบับหน้า )

 

ข้อมูลสื่อ

112-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 112
สิงหาคม 2531
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์