• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บทที่ 2 เคล็ดลับในการสร้างพลังสมาธิ พลังความคิด และจินตนาการสร้างสรรค์

                                                   

12. ยิ่งเล่นยิ่งหัวดี

ผมเป็นเด็กที่ชอบสิ่งประดิษฐ์มาตั้งแต่หัดเดินเตาะแตะ และเมื่ออายุได้ 5 ขวบ ผมก็เริ่มทำเครื่องบินจำลอง เพราะได้รับอิทธิพลมาจากลูกพี่ลูกน้องซึ่งวัยสูงกว่าผม 3 ปี ไม่นานนัก ผมก็คลั่งไคล้เครื่องบินจำลองและหมกมุ่นอยู่กับมันทั้งวัน ตั้งแต่เช้ายันเย็น ในสมองของผมมีแต่เรื่องเครื่องบินจำลองเพียงอย่างเดียว แน่ละครับ ตอนนั้นผมยังเล็กมาก เครื่องบินจำลองเครื่องแรก ๆ ของผมจึงบินไม่ค่อยจะขึ้น ผมก็พยายามใช้สมองน้อย ๆ คิดว่า ทำอย่างไรมันจึงจะบินดีขึ้น

เครื่องบินจำลองนั้น แม้จะสร้างรูปร่างดีหุ่นเพียวลม แต่ถ้ามีอาการเสียศูนย์ มันจะบินไม่ได้ ผมจึงสอบถามคุณตาซึ่งชอบเล่นเครื่องยนต์ว่า ควรจะทำอย่างไร คุณตาผมไม่ยอมแก้เครื่องบินให้ เพียงแต่อธิบายว่า ทำไมมันจึงบินไม่ได้และมีจุดเสียอยู่ตรงไหนบ้าง ท่านอธิบายให้ผมฟังอย่างละเอียดตามทฤษฎีโดยถือเสมือนว่าผมเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง และเมื่ออธิบายจบแล้วคุณตาก็บอกว่า

เครื่องบินของหนู หนูก็แก้เองสิ”

ผมยังเป็นเด็กเล็กมากเล็กมากก็จริง แต่เมื่อมีคนปฏิบัติต่อผมเหมือนผมเป็นผู้ใหญ่ และให้รับผิดชอบแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเองเช่นนี้ จึงมีผลต่อพัฒนาการของผมในภายหลังเป็นอย่างยิ่ง จินตนาการสร้างสรรค์ พลังความคิด และพลังสมาธินั้น งอกงามขึ้นมาจากจุดเล็ก ๆ แบบนี้แหละครับ เพราะว่า สมองของเด็กนั้น จะได้รับการฝึกจากการเล่นที่ถูกต้อง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการเล่นจะช่วยสร้างจุดประสานประสาท (synapse) ซึ่งเชื่อมเซลล์สมอง ทำให้สับสวิตซ์ได้เร็วและสื่อดี มีผู้ชอบกล่าวว่า เด็กสมัยนี้ ไม่รู้จักการเล่น แต่ผมว่าความจริง เด็กไม่รู้จักคิดค้นของเล่นด้วยตนเองมากกว่า

ของเล่นของเด็กสมัยนี้คือ โทรทัศน์และวิดีโอเกม เด็กจ้องแต่จอสี่เหลี่ยม ไม่ค่อยออกไปเล่นนอกบ้าน แม้ในยามที่อากาศสดชื่น ของเล่นของเด็กสมัยนี้เป็นการเล่นข้างเดียว จนไม่น่าเรียกว่า การเล่น เด็กตกอยู่ในภาวะผู้รับ (passive) แต่ฝ่ายเดียว จึงไม่เกิดจินตนาการสร้างสรรค์หรือความคิดใหม่ ๆ แล้วสมองจะพัฒนาได้อย่างไรกัน เด็กที่โตขึ้นมากับการเล่นในลักษณะ “ถูกกระทำ” (passive) เช่นนี้ อนาคตจะเป็นอย่างไร? เมื่อเขาเข้าโรงเรียนย่อมมีการสอบ หากข้อสอบที่ออกมาสามารถตอบได้ด้วยคำตอบสำเร็จรูปจากการท่องจำ เขาก็ทำได้แต่เมื่อใดที่ข้อสอบมีการพลิกแพลงเพียงเล็กน้อย เขาก็จนปัญญา เพราะไม่รู้จักวิธีการคิดด้วยตนเองเลย คนประเภทนี้เมื่อเติบโตขึ้นและออกมาสู่สังคมของผู้ใหญ่ ย่อมคิดทำอะไรด้วยตนเองไม่ได้เช่นกัน

เด็กสมัยก่อนอย่างพวกผม ขอให้มีไม้ไผ่สักปล้องเดียว ผมก็ถากทำดาบเล็ก ๆ เล่นบ้าง เอาเทียนไขลนให้ไม้ไผ่มันงอเพื่อทำของเล่นต่าง ๆ ได้มากมาย แต่เด็กสมัยนี้ทำกันไม่เป็นหรอกครับ ของเล่นคือของที่เป็นรูปร่างมาเรียบร้อยแล้วทั้งนั้น แม้จะเป็นของเล่นจำพวกตัวต่อพลาสติกก็ตาม ผู้ผลิตก็ใส่กล่องเป็นชุดมาให้เรียบร้อย ต่อเสร็จก็เป็นภาพดังที่ปรากฏบนฝากล่อง ถ้าเกิดทำส่วนประกอบหายไปสักชิ้นหนึ่ง ก็เล่นไม่ได้เสียแล้ว ของเล่นแบบนี้ ไม่ช่วยพัฒนาสมองเลย เราควรให้เด็กได้เล่นของเล่นที่เขาสนุกกับการสร้างมันขึ้นมาด้วยตนเอง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยจินตนาการสร้างสรรค์ พลังความคิด และพลังสมาธิ
การเล่นเครื่องบินจำลองของผมให้ประโยชน์ในด้านนี้มากทีเดียว เวลาแข่งกันทำที่โรงเรียน ผมต้องพยายามคิดว่าทำอย่างไรเครื่องบินของผมจึงจะบินได้สูงกว่า ไกลกว่า และนานกว่าของเพื่อน ๆ เมื่อมีการแข่งขันเครื่องบินจำลองที่ริมฝั่งแม่น้ำทามางาวะ (TAMAGAWA) ผมก็สมัครเข้าแข่งขันประชันกับพวกผู้ใหญ่ ยิ่งกว่านั้นผมยังคิดค้นเครื่องบินจำลองแบบใหม่ซึ่งมี “อุปกรณ์ถ่วงศูนย์อัตโนมัติ” และ “อุปกรณ์เก็บล้ออัตโนมัติ” ด้วยวัยเพียงไม่กี่ขวบ

ผมสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะผมพยายามปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของเครื่องบินจำลองทีละอย่าง ทีละอย่าง จนกระทั่งความรู้ของผมสะสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุที่ผมคลั่งไคล้และเอาจริงเอาจังกับเครื่องบินจำลองมาก ผมจึงมีความสามารถทางด้านนี้อย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว การสร้างเครื่องบินจำลองนี้ มีผลดีต่อผมในวัยเด็กอีกด้านหนึ่งคือ ทำให้ผมมีสุขภาพดีด้วย การเล่นเครื่องบินก็เหมือนกับการออกวิ่งไล่จับผีเสื้อหรือแมลงปอ ในสมัยก่อนแหละครับ เมื่อกลับจากโรงเรียนทำการบ้านเสร็จแล้ว ผมคว้าเครื่องบินได้ก็วิ่งออกไปกลางแจ้งทันที ผมเล่นอยู่จนใกล้ค่ำไม่ยอมกลับบ้านจนกว่าจะมองท้องฟ้าไม่เห็น เมื่อเอาเครื่องบินขึ้นผมก็วิ่งไล่ตามไปเรื่อย วิ่งไปพลาง คิดไปพลาง คราวนี้จะแก้ตรงไหนดี? ทำอย่างไรมันจึงจะบินได้ไกลกว่านี้? หาวิธีปรับปรุงเครื่องบินของผมไปตลอดทาง ขณะนั้น ผมเพิ่งอายุ 5 ขวบนะครับ การเล่นสมัยยังเด็กอยู่นี้ช่วยสร้างนิสัยที่ดีให้ผม และสร้างแนวทางให้แก่ชีวิตอนาคตของผมด้วย 

 

( อ่านต่อฉบับหน้า )

ถ้าอยากมีลูกหัวดี จากหนังสือ KODOMO NO ATAMA O YOKUSURU SEIKATSU SHUKAN
เขียนโดย DR. YOSHIRO NAKAMATSU ประธานสมาคม นักประดิษฐ์นานาชาติ
แปล/เรียบเรียง โดย พรอนงค์ นิยมค้า
 

ข้อมูลสื่อ

109-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 109
พฤษภาคม 2531
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า